วันอาทิตย์, 6 ตุลาคม 2567

5 ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กแรกเกิด – 1 ขวบ พร้อมวิธีการแก้ไข

18 ก.ย. 2017
2330

ปัญหาที่เกิดกับเด็กทารกในความเป็นจริงแล้วมีมากมายร้อยแปดปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ที่พ่อแม่สามารถแก้ปัญหาให้ผ่านไปได้โดยไม่ต้องนำเด็กมาพบแพทย์ และปัญหาบางอย่างที่สร้างความกังวลใจเป็นอย่างมากจนพ่อแม่ต้องนำเด็กไปพบแพทย์เพื่อรักษา ดังนั้นในบทความนี้เราขอนำเสนอ 5 ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กแรกเกิด – 1 ขวบ พร้อมวิธีการแก้ไขให้พ่อแม่ได้เตรียมตัวรับมือและดูแลเด็กได้ถูกต้อง

 

 

1.การสะอึกของทารก

ทารกจะสะอึกได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ส่วนใหญ่อายุ 2-3 เดือน จะมีอาการสะอึกบ่อยหลังกินอิ่ม เนื่องจากกระเพาะอาหารขยายตัวจากนมที่กินเข้าไปจนทำให้มีแรงดันไปที่กล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอดและช่องท้อง เกิดเป็นเสียงของกล้ามเนื้อ กะบังลมจะหดตัวอย่างรวดเร็วขณะหายใจออกจึงทำให้ลูกสะอึก แต่การสะอึกไม่มีอันตรายใด ๆ กับทารกและจะหยุดได้เอง

วิธีการแก้ไข :

หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวล ก็ให้นำเด็กอุ้มพาดบ่าเดินไปมาซักพัก เด็กจะเรอและอาการสะอึกจะหายไปเอง หรือให้ลูกนั่งตัวตรงบนตัก แล้วใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับประคองคางลูกไว้ ให้ลูกเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วใช้มือลูบขึ้นเบาๆ ช้าๆ จากบริเวณด้านหลังเอวขึ้นมาจนถึงต้นคอลูก เพื่อทำการไล่ลมขึ้นมาอาการสะอึกจะหายไปได้ แต่หากเด็กมีอาการสะอึกนานเกินไปควรรีบพาไปพบแพทย์

 

2.แหวะนมและอาเจียน

การแหวะนม เกิดจากการไหลย้อนของนมเพราะกินนมมากเกินไป หรือมีปัญหาที่กล้ามเนื้อหูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะยังไม่แข็งแรงเต็มที่ จึงทำให้อาหารไหลย้อนออกมา เด็กจะแหวะนมมากขึ้นเวลาจับเขาเคลื่อนไหวทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น หรือกินเสร็จแล้วให้นอนทันทีอาการนี้จะดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้นหรืออยู่ในช่วงที่เริ่มนั่งได้เอง แต่บางคนอาจมีอาการต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยที่เริ่มเดิน อาจทำให้สกปรกเลอะเทอะไปบ้าง แต่ไม่อันตรายตราบเท่าที่น้ำหนักตัวของเด็กยังขึ้นเป็นปกติและเขายังมีความสุข

อาเจียน คือการที่นมหรืออาหารพุ่งจากกระเพาะอาหารออกมาทางปาก หากเกิดขึ้นไม่บ่อยและเด็กดูมีความสุขดี จะไม่ถือว่าเป็นอันตราย หากเด็กอาเจียนออกมาจนหมดแล้วจะให้เขากินนมเข้าไปใหม่หรือไม่ ขอให้สังเกตว่าเด็กยังหิวอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่หิวยังไม่ต้องให้นมเพิ่ม รอให้กระเพาะอาหารได้พักสักครู่ นมที่ลูกอาเจียนออกมาอาจเป็นนมที่พึ่งกินเข้าไปหรือเป็นนมที่กำลังถูกย่อย ซึ่งมีลักษณะเป็นลิ่มนมมีกลิ่นเปรี้ยวเนื่องจากความเป็นกรดในกระเพาะอาหาร

 วิธีการแก้ไข :

หากเด็กงอแงร้องไห้มากผิดปกติ มีอาการอาเจียนจนสังเกตได้ว่าหลังแอ่น ขณะกินนมคล้ายมีอาการปวดแสบในทรวงอกมีอาการไอหรือมีน้ำหนักตัวขึ้นน้อย อาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน หากเด็กอาเจียนรุนแรงมากกว่า 1 ครั้ง และสิ่งที่ออกมามีสีเหลืองหรือเขียวของน้ำดีปนออกมาด้วย จนถึงมีอาการไข้อ่อนเพลียซึมลง ให้สันนิฐานว่าเด็กมีอาการติดเชื้อ การอาเจียนของเด็กแม้จะดูแล้วไม่อันตราย แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวล ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์

 

3.ผื่นตามตัวและใบหน้าของเด็ก

ผื่นที่เกิดขึ้นกับเด็ก จะสร้างความทรมานใจให้กับคุณแม่มาก เพราะห่วงว่าลูกจะมีอาการอะไรมากกว่าที่เห็นหรือไม่ ดังนั้นจึงควรหาสาเหตุโดยเร็วเพื่อหาต้นเหตุแห่งปัญหา ในบางรายอาจเกิดจากการเป็นภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่แสดงออกทางผิวหนัง เรียกว่า เอโทปิค เกิดจากกรรมพันธุ์ของพ่อกับแม่ที่เป็นภูมิแพ้ เด็กจะมีผดผื่นแดง บางครั้งตุ่มจะแตกคล้ายๆหัวหนอง และจะขึ้นเป็นปื้นตามตัวและใบหน้า

วิธีการแก้ไข :

มีผื่นบางชนิดที่เป็นสัญญาณของอาการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งควรให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียด เพราะอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ แต่หากไม่มีอาการรุนแรงแพทย์จะให้ยามาทา ซึ่งไม่เกินชั่วโมงผื่นแดงจะค่อย ๆ หายไปและหายดีในที่สุด ระหว่างนี้ต้องสังเกตว่าเด็กไม่มีอาการงอแง ไม่คันหรือรำคาญด้วย คุณแม่อาจต้องใช้ครีมอาบน้ำและโลชั่นสำหรับผิวแพ้ง่าย ทาผิวให้เด็กด้วยออยลาทัม จะทำให้เด็กผิวใสหายขาดและอาการผื่นหายขาดได้

 

4.ผื่นผ้าอ้อม

เด็กอายุ 2-3 เดือน ผิวหนังจะบอบบางมาก โดยบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อมจะมีโอกาสเกิดผื่นขึ้นได้ง่ายเพราะความเปียกชื้น ผื่นผ้าอ้อมคือการอักเสบของผิวหนังบริเวณที่ผ้าอ้อมปิดอยู่ ทางการแพทย์เรียกว่า Diaper dermatitis บริเวณก้นจะแดง ลักษณะคล้ายผด ผื่นร้อน การอักเสบนั้นจะมีอาการแสบคัน ถ้าเป็นมากขึ้น อาจมีเลือดซึมออกมาด้วย ผื่นผ้าอ้อมอาจกระจายไปยังบริเวณที่อยู่นอกผ้าอ้อมด้วย เช่น เอวและรอบต้นขา อาการอักเสบที่ต้นขาตรงจุดที่สัมผัสกับผ้าอ้อมโดยตรงก็นับว่าเป็นผื่นผ้าอ้อมเช่นกัน

วิธีการแก้ไข :

การรักษาที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องใส่ผ้าอ้อมซัก 2-3 ชั่วโมงใน 1 วัน อาจเป็นหลังจากที่ถ่ายอุจจาระเมื่อล้างก้นแล้วก็ปล่อยให้ก้นเขาสัมผัสกับอากาศบ้าง การสัมผัสคุณแม่ต้องไม่ถูบริเวณที่ผิวลูกน้อยอักเสบ ให้นำสำลีไปชุบน้ำอุ่นให้ชุ่ม แล้วล้างเฉพาะจุดที่เปื้อน  ในการอาบน้ำให้ใช้น้ำอุ่นและสบู่เหลวอ่อนในการทำความสะอาด แต่หากเด็กร้องไห้ด้วยความแสบก็ให้ใช้เพียงน้ำอุ่นอย่าเดียวได้

 

5.หายใจเสียงดัง

เวลาที่เด็กแรกเกิดนอนหลับและส่งเสียงกรนเบาๆ และเสียงหายไปเวลาตื่น พบได้ในเด็กที่มีลิ้นไก่ยาวหรือเด็กที่อ้วน อาการนี้หายได้เองเมื่อโตขึ้น ส่วนเด็กที่มีเสียงเวลาหายใจอาจเกิดจากภาวะกระดูกอ่อนรอบหลอดลมยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เสียงที่ดังออกมานั้นเกิดจากหลอดลมยุบตัวลงขณะหายใจเข้า สังเกตได้จาก หากเขาเป็นหวัดจะมีเสียงดังชัดขึ้น หากจับเขานอนคว่ำเสียงจะเบาลงปกติ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อเขาอายุได้ 1 ขวบ

วิธีการแก้ไข :

หากพ่อแม่ไม่แน่ใจ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ใจได้ หรือกรณีที่เด็กหายใจเสียงดังเฉียบพลัน คือไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้ามีอาการคล้ายหวัดร่วมด้วยอาจเกิดจากโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โรคหอบหืด จึงควรพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาแต่เนิ่น ๆ

 

เรียบเรียงโดย : Siamzoneza

อ้างอิง : หนังสือคัมภีร์เลี้ยงลูก , https://www.enfababy.com/ , https://pantip.com/topic/30800664 , http://web.kao.com/