วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

12 เหตุผล กับความสมดุลของพื้นที่ในการสร้างบ้านตามหลักฮวงจุ้ย

ประเด็นของพื้นที่กับความต่ำ ความสูง หลายคนอาจนึกในใจว่าไม่น่าจะต้องนำมาเป็นคำถามให้เปลืองพื้นที่ เพราะยังไงก็ต้องสร้างบ้านให้ที่ดินสูงกว่าถนนอยู่แล้ว รวมถึงการวางตำแหน่งของบ้านซึ่งก็ต้องตามใจผู้อยู่อาศัย ซึ่งก็ไม่ผิด แต่หากเรามาพิจารณาในหลักของฮวงจุ้ยจะพบว่าสิ่งที่เราอาจมองข้ามไปอาจทำให้เราต้องตกอยู่ในสภาวะที่แก้ไขมันได้ยาก ถึงกับต้องบอกตัวเองว่า “รู้งี้ จะไม่สร้างบ้านแบบนี้เลย” 12 เหตุผลตามหลักฮวงจุ้ยนี้ จะทำให้คุณมีความกระจ่างได้มากขึ้น

 

 

1.ยึดหลักความสมดุล สูงเกินไปก็ไม่ดี ต่ำเกินไปก็ไม่ได้

หากเราถมที่ดินสูงเกินไปอาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ ตามหลักฮวงจุ้ยพูดเอาไว้เสมอว่า “ทุกอย่างต้องสมดุล” ไม่มากเกินไปหรือไม่น้อยเกินไป ต้องพอดี อะไรที่สูงเกินไป ต่ำเกินไป ย่อมกลายเป็นผลเสียทั้งสิ้น ที่ดินที่ต่ำกว่าถนนเป็นเรื่องปกติที่คนส่วนใหญ่จะรู้กันแล้วว่าไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้คนไม่ได้ดูแค่ถนนแล้ว แต่จะเปรียบเทียบจากบ้านข้างๆ หากเราจะสร้างบ้านจะต้องสูงกว่า ทำให้พื้นดินเกิดความสูงต่ำไม่เท่ากัน บางบ้านถมที่สูงกว่าถนนมากทำให้เสียสภาพที่ดีไปในทันที

ตามหลักฮวงจุ้ยบอกเอาไว้ว่า บ้านที่ยกพื้นดินสูงกว่าถนนหน้าบ้านมากๆ จะทำให้กระแสชี่ ไหลเข้าบ้านลำบากไม่ราบรื่น เปรียบเสมือนมีภูเขาหรือเขื่อนกั้นอยู่หน้าบ้าน ซึ่งหมายถึงเป็นบ้านขัดทรัพย์ไปอย่างน่าเสียดาย วิธีที่ดีที่จะต้องพิจารณาระดับของพื้นถนนเป็นหลัก ยกเว้นว่าเรารู้ล่วงหน้าแน่ๆ ว่าจะมีการทำถนนใหม่ด้านหน้าบ้านให้สูงขึ้นก็อาจจะถมที่เผื่อไว้ได้

 

2.ดินที่นำมาถมบ้าน เราจำเป็นต้องรู้แหล่งที่มา

การนำดินมาถมในตำราจะบอกว่า ดินที่นำมาถมนั้นจะต้องเป็นดินที่มีคุณภาพดี มาจากแหล่งที่ดี ห้ามนำพวกขยะ เศษหิน เศษปูน มาถมดิน ดินที่ดีจะต้องไม่มีประวัติเสีย เช่น เป็นดินที่ได้มาจากสถานที่ที่เคยเกิดภัยพิบัติ ไฟไหม้ ตึกถล่ม สุสาน หรือสถานที่ๆ มีคนตายหมู่ ในทางฮวงจุ้ยจะถือว่าเป็นอัปมงคลอย่างยิ่ง เพราะดินจะมีเชื้อแห่งความสูญเสียและจิตวิญญาณของคนตายติดมาด้วย ลักษณะดินดีส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนผสมดินเหนียวซึ่งเป็นดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูก แหล่งดินส่วนใหญ่ที่นำมาถมจึงได้มาจากทุ่งนา ไร่สวน ที่มีสภาพดินที่ดีอยู่แล้ว

 

3.วิธีแก้ไขหากจำเป็นต้องสร้างบ้านบนที่ดินมีประวัติเสีย

หากบ้านที่จำเป็นต้องปลูกสร้างบนที่ดินที่มีประวัติเสีย ก็สามารถแก้ไขได้โดยการ นำหน้าที่ดินเก่าออก แล้วเอาดินใหม่ถมเข้าไปแทน ไม่ใช่เอาดินใหม่ถล่มทัพเข้าไป อย่างนี้เชื้อดินเดิมจะยังคงอยู่และส่งผลเสียเช่นกัน

บางตำราระบุเอาไว้ว่า บริเวณที่จะสร้างบ้านจะต้องเอาตาข่ายปูรอบที่ดินก่อนที่จะสร้างบ้านลงไป เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่อยู่ใต้ดิน ไม่ให้มารบกวนคนในบ้าน ซึ่งเป็นความเชื่อของคนสมัยก่อน ตาข่ายที่นำมาปูจะต้องผ่านการทำพิธีมาก่อน จึงจะนำมาใช้ได้เพราะเป็นการแก้เรื่องของจิตวิญญาณโดยตรง

ทั้งหมดนี้พอจะเห็นได้ว่าเรื่องของที่ดินเราต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเรื่องเล็กๆน้อยๆแบบนี้บางครั้งอาจส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงชนิดที่คาดไม่ถึงเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าทำได้ตั้งแต่แรกเริ่มเราก็ไม่ควรละเลย

 

4.ตำแหน่งบ้านวางตรงไหนดี

การวางตำแหน่งบ้านก่อนการสร้างบ้านลงบนที่ดิน ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าว่างไปแล้วไม่ถูกต้องจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย บ้านที่มีพื้นที่ดินไม่มากจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้เท่าไร เพราะบ้านจะถูกบังคับไว้ ให้วางหันหน้าออกมาทางถนนหน้าบ้านอยู่แล้ว

แต่ถ้าเป็นบ้านที่มีพื้นที่มาก การเลือกวางตัวบ้านลงบนที่ดินสามารถทำได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องหันหน้าไปที่ถนนเสมอไป หากวางตัวบ้านไว้ด้านข้างของที่ดินก็ได้หรือมีบ้านที่มีมากกว่า 1 หลังที่สร้างบนที่ดินเดียวกัน ก็จะต้องเลือกตำแหน่งการวางบ้านให้ถูกต้อง ปกติการวางตำแหน่งบ้านไปในทางทิศใดนั้น จะพิจารณาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ทิศทางและดวงชะตาของเจ้าของบ้าน

สภาพแวดล้อม เช่น ที่ดินที่ติดทะเลสาบ หรือหาด จะต้องสร้างหันด้านข้างให้กับทะเลสาบ แทนที่จะหันตัวบ้านไปที่ถนนแล้วหลังบ้านเป็นทะเลสาบ เพราะถ้าหลังบ้านเป็นน้ำจะเป็นการผิดหลักฮวงจุ้ย เป็นต้น

 

5.ตัวบ้านถูกบังคับให้อยู่ตรงทางสามแพร่ง ควรวางบ้านอย่างไร

กรณีที่บ้านอยู่ตรงทางสามแพร่ง มีคนถามว่าควรวางบ้านอย่างไร คำตอบง่ายๆก็คือ วางตำแหน่งบ้านให้หลบทาง อย่าวางตัวบ้านตรงกับทาง โดยตรงเพราะตำแหน่งทางเข้าบ้าน เพราะเป็นตำแหน่งปะทะในทางฮวงจุ้ยถือว่าร้าย

 

6.ที่ดินชายธง เสียทุกด้านแต่แก้ไขได้

รูปทรงของที่ดินก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาในการวางตำแหน่งบ้าน รูปทรงที่วางตัวบ้านยากที่สุดคือ ที่ดินรูปสามเหลี่ยม หรือ “ที่ดินชายธง” เพราะทุกด้านของที่ดินจะเสีย การวางตัวบ้านจึงทำได้ยาก ยกเว้นว่าเป็นที่ดินขนาดใหญ่ การเลือกวางตำแหน่งบ้านจะไม่ค่อยมีปัญหา ตามหลักฮวงจุ้ยบอกว่า การสร้างบ้านบนที่ดินรูปสามเหลี่ยม จะต้องเลือกด้านที่ตรงที่สุดในการวางตัวบ้านห้ามเลือกวางบ้านที่พิงด้านเฉียงของสามเหลี่ยม

กรณีที่ดินเป็นรูปตัวแอล L หรือ T การวางตัวบ้าน ให้วางในด้านที่กว้างที่สุดเป็นตำแหน่งของบ้าน ห้ามเลือกด้านแคบ

 

 

7.ที่ดินรูปสี่เหลี่ยมง่ายต่อการวางตำแหน่งบ้าน

ที่ดินรูปสี่เหลี่ยมมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ไม่ว่าจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมคางหมูก็ตาม กรณีของสี่เหลี่ยมคางหมูที่มีด้านเฉียงของที่ดิน โดยหลักการวางบ้านก็ห้ามวางพิงด้านเฉียงของที่ดินอยู่แล้วและจะต้องวางบ้านที่ด้านหลังเรียบตรงจึงจะถูกหลักฮวงจุ้ย

 

8.ปรับสภาพดินช่วยในเรื่องรูปทรงของพื้นที่บ้านได้

เรื่องของการวางตัวบ้านลงบนที่ดินรูปทรงต่างๆที่ไม่ใช่รูปทรงสี่เหลี่ยม จะมีข้อยกเว้นที่ไม่กระทบในกรณีที่ว่าเป็นที่ดินผืนใหญ่ การจัดวางตัวบ้านอาจเลือกวางมุมไหนของที่ดินก็ได้ ด้วยการปรับสภาพที่ดินช่วยให้เป็นรูปทรงปกติได้ เช่น ที่ดินสามเหลี่ยมชายธง สามารถที่จะปรับพื้นที่ดินให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมได้ โดยกั้นแนวรั้วในสวนแหลมของสามเหลี่ยมในด้านใดด้านหนึ่ง ก็สามารถวางตัวบ้านได้โดยไม่มีผลกระทบในทางหลักฮวงจุ้ย

 

9.อย่าวางบ้านเหลื่อมกับบ้านอื่น

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งที่พบบ่อยในการวางตำแหน่งบ้าน คือการดูแนวบ้านของหลังอื่นก็ถือว่าสำคัญ การวางบ้านให้อยู่ในตำแหน่งของช่องลมระหว่างบ้าน ในทางฮวงจุ้ยจะถึงว่าบ้านจะถูกอิทธิพลของ “ฆาตลม” ส่งผลร้ายยิ่งกว่าถนนพุ่งชนเสียอีก นอกจากนี้เรื่องของ ช่องลม ถนน และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง จั่วบ้านตรงข้าม ถ้าเลือกที่จะเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ก็จะเป็นการดีมาก

 

10.ขนาดบ้านกับพื้นที่ดินต้องสมดุล

การจัดสร้างบ้านหลังใหญ่หรือหลังเล็กจะต้องคำนึงถึงพื้นที่ดินด้วย ตัวบ้านกับพื้นที่ดินต้องอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกัน ในทางฮวงจุ้ยระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ส่วนที่เป็น “หยิน” คือความนิ่ง กับ “หยาง” คือความเคลื่อนไหว จะต้องสมดุลกันจึงจะก่อสภาพของฮวงจุ้ยที่ดี

การทำให้สมดุลหรือสัดส่วนที่เหมาะสมหมายความว่า บ้านอยู่อาศัยถือว่าเป็นหยาง ส่วนพื้นที่ถือว่าเป็นหยิน เพราะฉะนั้นสัดส่วนที่ถือว่าดี ก็คือพื้นที่ตัวบ้านกับพื้นที่ดินว่างจะต้องมีสัดส่วนเท่ากัน เช่น พื้นที่ดินขนาด 100 ตารางวาก็ให้แบ่งตัวบ้าน 50 ตารางวา พื้นที่ดิน 50 ตารางวา ก็จะเป็นลักษณะของฮวงจุ้ยที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว บ้านที่ขายตามโครงการใหญ่ๆ มักจะไม่ใช้มาตราส่วนที่ว่ามา ส่วนใหญ่จะสร้างบ้านหลังใหญ่เกือบเต็มพื้นที่ เพราะถือว่าขายตัวบ้านไม่ใช่ขายที่ดินผู้ซื้อจึงไม่สามารถเลือกได้เลย

 

11.ซื้อเฉพาะที่ดินและปลูกบ้านเองจะทำให้วางเรื่องความสมดุลได้

คนที่ซื้อที่ดินปลูกบ้านเองจะได้เปรียบในการกำหนดขนาดของบ้านให้เหมาะสมกับพื้นที่ดิน ทางออกของผู้ที่ซื้อบ้านตามโครงการที่มักจะไม่มีพื้นที่เหลือให้กับเจ้าของบ้าน หากมีงบประมาณมากหน่อย ก็มักจะใช้วิธีซื้อที่ดินเพิ่มหลังที่ติดกับบ้านที่ซื้อ เช่น บ้าน 50 ตารางวา ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 50 ตารางวาติดกัน แล้วใช้ทำเป็นสนามจัดสวนก็จะเกิดสภาพสมดุลได้

 

12.พื้นที่ว่างมากเกินไปจะก่อสภาพที่ไม่เจริญ

หากบ้านใครที่ตัวบ้านเล็กกว่าพื้นที่ดินมาก เป็นลักษณะที่ก่อสภาพฮวงจุ้ยที่เสียได้ เพราะมีความเป็นหยินมากกว่าหยาง เช่น ตัวบ้านมีขนาด 50 ตารางวา แต่มีพื้นที่ 200 ตารางวาหรือมากกว่านั้น

 

ดังนั้นการปล่อยที่ดินให้ว่างมากจนเกินไปในทางฮวงจุ้ยจะบอกเอาไว้ว่า จะก่อสภาพที่ตายไม่เจริญ ยิ่งถ้าปล่อยรกร้างโดยไม่ได้ดูแลให้ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อคนในบ้านได้โดยตรง บ้านที่ทำสนามกว้างใหญ่จึงจะต้องหมั่นดูแลตัดหญ้าตกแต่งสวนอยู่เสมอ หรือไม่ก็ต้องมีกิจกรรมในการใช้สนามอยู่บ่อยๆ เช่น มีเด็กวิ่งเล่นบ้าง หรือไม่ก็เลี้ยงหมาแมวไว้ให้วิ่งในที่ว่างนั้นด้วย เพื่อสร้างสภาพของหยางให้เพิ่มขึ้น ถ้าบ้านไหนทำตามนี้ได้ก็ไม่ถือว่าเสีย

 

ที่มาและการอ้างอิง

ฮวงจุ้ยการสร้างบ้าน-ต่อเติมบ้าน โดย มาโนช ประภาษานนท์