วันพฤหัสบดี, 12 ธันวาคม 2567

เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพ: 11 ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการผิดปกติทางจิตเวช Ep.49

แต่เดิมเราเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยทางจิต เกิดจากวิญญาณภูตผีปีศาจถูกกระทำ เมื่อโลกพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการสูงขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจสมมติฐานของโลกว่า โรคทางจิตใจนั้น เกิดมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางสรีวิทยา รวมถึงปัญหาทางจิตและสังคม

ส่วนความผิดปกติทั่วไป จะแสดงออกมาทางพฤติกรรม ทำให้เราสามารถสังเกตได้ว่า มีความผิดปกติจากบุคคลทั่วไป ดังนี้

1.โรคทางจิตเวชรวมไปถึง โรคจิต โรคประสาท และปัญญาอ่อน

อาการผิดปกติทางจิตเวช จะรวมความเจ็บป่วยทั้งที่เป็นโรคจิตโดยตรง โรคประสาทและปัญญาอ่อนเข้าไปด้วยได้ โดยทั่วไปเราจะเน้นถึงโรคจิตและโรคประสาท ที่มักจะพบในผู้ใหญ่ มักจะแสดงอาการถึงความผิดปกติของจิตใจ อารมณ์ ความคิดและพฤติกรรม โรคทางจิตเวชสามารถป้องกันได้ อาทิ

ป้องกันอันตราย หรือแรงบีบคั้นทางสังคม ที่จะทำให้เกิดความเครียด ลดความเสี่ยง ด้วยการไม่ข้องแวะกับภาวะเครียดโดยไม่จำเป็น สร้างเสริมความมีสุขภาพจิตที่ดีโดยตนเองและครอบครัวเป็นหลัก ใส่ใจต่อปัญหาทางจิตใจของตน และรีบแก้ไขบริหารจิตใจ ทุกสิ่งก็จะไม่สายเกินแก้

2.โรคจิตทำให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจสูง

โรคจิต Psychosis เป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มหนึ่ง ที่มีอาการรุนแรง จนทำให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ จนไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติ มีลักษณะที่สำคัญคือ เสียการรับรู้ความเป็นจริง reality testing ทำให้ผู้ป่วยแยกไม่ออกระหว่างความเป็นจริงกับความคิดเพ้อฝัน บางครั้งทำให้เกิดอาการที่เรียกว่าประสาทหลอนหรือหลงผิด

การเสียการหยั่งรู้ตนเอง insight ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรับว่าตนป่วย หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับตน และส่วนมากไม่ยอมรับการรักษา

มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม จนเห็นได้ว่าเบี่ยงเบนไปจากปกติของคนทั่วไป เช่น ผู้ป่วยไม่อาบน้ำ ไม่แปรงฟัน เก็บของตามกองขยะกิน ทั้งที่มีฐานะพอจะซื้อกินได้ หรือนอนตามข้างถนน ทั้ง ๆ ที่มีบ้านอยู่ เป็นต้น

3.โรคจิตมีทั้งสาเหตุทางกายและสาเหตุทางใจ

สาเหตุทางกาย ที่พบได้บ่อย ได้แก่ การใช้สุรา ยาบ้า กัญชา การทำให้เกิดประสาทหลอน เช่น LSD นอกจากนั้น โรคทางกายทุกอย่าง มีผลให้การทำงานของสมองเปลี่ยนไป สามารถทำให้เกิดโรคจิตได้ เช่น โรคลมชัก มาลาเรียขึ้นสมอง ซิฟิลิสขึ้นสมอง เป็นต้น

สาเหตุทางใจ มักเกิดจากความกระทบกระเทือนใจ ที่เกิดขึ้นในระดับต้นของชีวิต หรือมีความผิดปกติในการเลี้ยงดู ทำให้มีการพัฒนาของจิตใจไม่ดีมาตั้งแต่ต้น ทำให้สัมพันธภาพกับพ่อแม่และบุคคลทั่วไปไม่ดี มีแนวโน้มต่อการเป็นโรคจิตในระยะต่าง ๆ

เราจะเห็นได้ว่า อาการของโรคจิตจัดอยู่ในขั้นที่หนักหนา เราเรียกว่า “วิกลจริต” หรือ “เพี้ยน” ส่วนคำว่า “บ้า” เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก “บ้า” บางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคจิต เช่น บ้าหวย บ้ากาม บ้าน้ำลาย เป็นต้น

4.โรคประสาทจะมีอาการวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ โดยไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร

โรคประสาท Neurosis เป็นโรคทางจิตเวชกลุ่มหนึ่ง ที่ผู้ป่วยสามารถรับรู้สภาพความเป็นจริง มีการหยั่งรู้ตนเองดี คือ รู้ว่าตนเองเจ็บป่วย และพฤติกรรมไม่ผิดปกติไปมาก จนแปลกแยกต่อสังคมที่เป็นอยู่

อาการที่สำคัญของโรคประสาท คือ อาการวิตกกังวล ซึ่งอาจแสดงออกมาโดยตรง หรือเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่น โดยอาศัยกลไกทางจิต บางครั้งอาจแสดงออกมาเป็นอาการทางกาย โดยที่ไม่ได้มีโรคทางกายจริง ๆ

ผู้ป่วยโรคประสาท อาจรู้สึกวิตกกังวลโดยไม่ทราบสาเหตุ คือ ไม่รู้ว่าตนกังวลเพราะเรื่องอะไร บางครั้งก็ไม่สมเหตุสมผล และตนเองก็รู้ว่าไม่น่าจะต้องกลัว

ผู้ป่วยบางรายมีอาการย้ำคิดย้ำทำ คือคิดอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ โดยที่ผู้ป่วยเองก็ไม่ต้องการคิดหรือทำอย่างนั้น แต่ไม่สามารถหยุดยั้งความคิดของตนเองได้ ดังนั้นผู้ป่วยอาจรู้สึกหงุดหงิด โกรธง่าย ตกใจง่าย ตึงเครียด บางทีรู้สึกตึงไปทั้งตัวหรืออ่อนเพลียหมดเรี่ยวแรง และอาจนอนไม่หลับ

อาการทางกายอาจมีได้หลายอย่าง เช่น ปวดหัว เวียนหัว มึนงง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นลม ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม รู้สึกเหมือนมีอะไรจุกที่คอ แน่นหน้าอก แน่นท้อง ชาตามตัว ชาตามแขนขา กลัวหัวใจหยุดเต้น กลัวจะควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวจนเป็นบ้าเสียสติไปเลยก็มี

5.โรคประสาทเกิดจากความขัดแย้งในจิตใจในระดับจิตใต้สำนึก

โดยมากเป็นเรื่องที่เก็บกดไว้ในจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก แล้วมาได้รับความกระทบกระเทือนใจซ้ำอีกในวัยผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการ โดยที่เรื่องราวที่มากระทบ อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่รุนแรงนัก หรือเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยคาดหมายไปล่วงหน้า โดยที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ดังจะเห็นได้ว่า อาการของโรคประสาท ทำให้ผู้ป่วยเดือดร้อนหรือทุกข์ทรมานได้ แต่ผู้ป่วยยังรับรู้ว่าตนป่วย แม้บางครั้งจะไม่รู้ว่าตนป่วยเพราะอะไรหรือเป็นอะไรกันแน่

6.โรคจิตและโรคประสาทรักษาได้โดยการใช้การบำบัดทางจิตใจเข้าช่วย

ผู้ป่วยโรคจิต มักไม่ยอมมารักษา เพราะคิดว่าตนไม่เป็นอะไร ซึ่งอาจจะต้องใช้การบังคับ หรือให้อยู่ในโรงพยาบาลในระยะแรก และให้ยารักษาโรคจิตจนกว่าอาการจะดีขึ้น แล้วจึงพิจารณาว่า ควรให้ยาไปทานนานเท่าใด แล้วแต่ลักษณะของโรคจิตชนิดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

ผู้ป่วยโรคประสาท ควรได้รับการรักษาด้วยวิธีทางจิตใจเป็นอันดับแรก ซึ่งอาจใช้จิตบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง และรู้ว่ามีความขัดแย้งที่เก็บกดไว้ในจิตใจ จะได้แก้ไขให้ตรงจุด

แต่ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถใช้จิตบำบัดได้ เพราะพื้นฐานทางจิตใจแต่ละรายไม่เหมือนกัน อาจใช้ยาคลายกังวลหรือยาแก้เศร้าตามความจำเป็น โดยทั่วไปแล้ว สามารถรักษาด้วยจิตบำบัดร่วมกับยาในการรักษาได้

7.โรคจิตและโรคประสาท จะไม่เป็นทั้ง 2 อาการในเวลาเดียวกันได้

อาการของโรคจิตกับโรคประสาท สามารถแยกได้ตาม 6 ข้อด้านบน ว่าโรคทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร แต่บางคนอาจยังสงสัยว่า จะเป็นทั้งโรคจิตและโรคประสาทพร้อมกันได้หรือไม่?

โดยหลักการแล้วไม่น่าจะเกิดได้ เพราะทั้งสองโรคนี้ มีกลไกการเจ็บปวดมาคนละแนวทางกัน จึงไม่ต้องวิตกกังวล ว่าจะเป็นทีเดียวทั้งสองอย่าง หากมีอาการของโรคจิตชัดเจน และมีอาการโรคประสาทร่วมด้วย เราก็ถือว่าเป็นโรคจิต

8.โรคจิตไม่ใช่โรคติดต่อ

คุณหมอเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยมีชายคนหนึ่งวิ่งกระหืดกระหอบไปหาจิตแพทย์ เพื่อขอฉีดยาป้องกันโรคพิษคนบ้า

เรื่องมีอยู่ว่า เขาบังเอิญไปช่วยจับผู้ป่วยโรคจิตที่กำลังคลุ้มคลั่ง แล้วถูกผู้ป่วยคนนั้นกัดเอา ทำให้เขาเกิดความคิดว่า เขาควรได้รับการฉีดยา เพราะเคยเห็นคนถูกสุนัขบ้ากัด ก็ต้องรีบไปฉีดยาป้องกัน ซึ่งก็น่าจะเหมือนกัน

แต่ความจริงแล้ว โรคพิษสุนัขบ้ากับโรคคนบ้าเป็นคนละเรื่องกัน โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งสามารถติดต่อจากสัตว์หรือซากสัตว์ไปสู่คน เป็นโรคที่ร้ายแรงมาก หากรักษาไม่ทันก็ตายลูกเดียว

ส่วนโรคคนบ้าหรือโรคจิต มักจะเกิดจากสาเหตุทางจิตใจและไม่ได้รับการรักษา แต่ไม่ได้มีการติดต่อไปสู่คนหรือสัตว์ โดยการแพร่เชื้อบางอย่าง

คนเราอาจติดโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์ได้ แต่สัตว์ไม่ได้ติดโรคบ้าหรือโรคจิตไปจากคนแน่นอน เพราะเป็นคนละโรคกัน เรียกง่าย ๆ ว่า เรื่องของคนหมาไม่เกี่ยว แต่เรื่องของหมาคนเกี่ยวได้

9.แพทย์ผู้รักษาหรือผู้คลุกคลีกกับผู้ป่วยจะไม่ติดโรคจิตเวชจากผู้ป่วย

มีหลายคนที่เป็นห่วงแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงบาลจิตเวช เพราะต้องทำงานคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคจิต เกรงว่าแพทย์จะติดโรคจากผู้ป่วย ความจริงแล้วโรคจิตไม่ใช่โรคติดต่อ และหากแพทย์มีอันเป็นไป เกิดเจ็บป่วยขึ้นมาด้วยโรคนี้ คงเป็นด้วยตัวของตัวเองมากกว่า

ซึ่งกรณีนี้ ผู้ป่วยซะอีกที่อาจคิดว่า การที่เขาได้เข้ามาอยู่โรงพยาบาล อยู่ในแวดวงของจิตแพทย์ทั้งหลาย จะทำให้เขากลายสภาพมาเป็นเหมือนกับแพทย์ได้ 

เช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งอยู่โรงพยาบาลมาเป็นเวลานาน เขาจะนึกอย่างไรไม่ทราบ จึงมาถามแพทย์ว่า “หมอครับ ผมต้องอยู่โรงพยาบาลกี่ปี ถึงจะได้เป็นผู้อำนวยการ ”  ผู้ป่วยรายนี้ จากประวัติมีความทะเยอทะยานมานานมากแล้ว ตั้งแต่ยังทำงานอยู่ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องตำแหน่งหน้าที่ ความคิดเขาจะผูกพันกับความหวังเดิม ๆ ร่วมกับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้

มีคนเป็นห่วงแพทย์อีกว่า แพทย์ทำงานแบบ นี้ต้องรับฟังเรื่องราวอันเป็นทุกข์ของผู้ป่วย ซึ่งแต่ละรายเป็นทุกข์หนักกันทั้งนั้น แล้วไม่คิดไปด้วยหรืออย่างไร?

จริง ๆ แล้วการรับฟังเรื่องราวที่ผู้ป่วยมาระบายทุกข์ให้ฟังบ่อย ๆ ทำให้รู้สึกสะเทือนใจมาก แต่แพทย์ต้องแยกแยะให้ออก ว่าคือคนละคนกัน ซึ่งแพทย์จะเข้าใจดีว่า ความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นอย่างไร และแพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมตามผู้ป่วยไปด้วย

นั่นคือแพทย์เองต้องมีจุดยืนของให้มั่นคง เพื่อสามารถช่วยให้ทุกข์ของผู้ป่วยหาย หรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ผลที่เกิดขึ้นจะช่วยให้สุขใจ แทนที่จะต้องไปนั่งทุกข์ใจ การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคจิต ไม่ต้องกลัวการติดต่อของโรค และผู้รักษาไม่จำเป็นต้องเครียดไปกับผู้ป่วย

10.ระมัดระวังการถูกโน้มน้าวจิตใจจากผู้ป่วย จนทำให้เกิดอุปทานหมู่

ผู้ป่วยโรคจิต อาจมีการชักนำบุคคลใกล้ชิด โดยเฉพาะคนที่อยู่ในปกครอง ให้เกิดอาการหลงผิดแบบเดียวกับผู้ป่วยได้ คือทำให้โรคจิตเกิดขึ้นได้ เช่น ผู้ป่วยหวาดระแวง แล้วทำให้อีกคนหนึ่งหวาดระแวงแบบเดียวกัน เป็นอิทธิพลทางจิตใจ ไม่ใช่ติดต่อกันเหมือนโรคติดเชื้อ

ซึ่งตัวอย่างเคยมีมาแล้ว ในรายที่มีอาการหลงผิดเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อบางอย่าง คิดว่าตนตายไปแล้วจะได้อยู่ใกล้ชิดพระนารายณ์ แล้วโน้มน้าวให้คนในครอบครัวทั้งหมดเชื่อตามไปด้วย ผลสุดท้ายฆ่าตัวตายกันทั้งหมด เพื่อเป็นการเร่งให้ถึงผลแห่งความเชื่อเร็วขึ้น เรียกว่า ฆ่าตัวตายเพราะอาการหลงผิดโดยแท้

การโน้มน้าวจิตใจในลักษณะนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ จะเกิดได้ก็ต้องมีความโน้มเอียงอยู่แล้วเป็นปัจจัยสำคัญ เช่น มีจิตใจที่ขาดความมั่นคง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ประกอบกับความใกล้ชิดสนิทสนม หรือต้องพึ่งพิงบุคคลผู้ชักนำอยู่แล้วเป็นพิเศษ

11.โรคจิตบางประเภทมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โรคจิตหลายชนิด มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นั่นหมายความว่า การมีบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคจิตบางอย่าง เช่น โรคอารมณ์แปรปรวนและโรคจิตเภท อาจทำให้มีโอกาสในการป่วยเป็นโรคจิตมีมากกว่าคนทั่วไป คือ อัตราการเสี่ยงสูงขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นโรคจิตแน่นอน

เมื่อเราทราบแล้วว่า โรคจิตไม่ได้เป็นโรคติดต่อก็คงสบายใจขึ้น เพราะอาจมีผู้ป่วยบางราย ที่อาจจะรบกวนประสาทอยู่บ้าง ก็ไม่ควรถือสา เพราะเขาป่วยเขาจึงเป็นเช่นนั้น เราจึงควรเข้าใจเขาให้มาก ๆ

ผู้ป่วยโรคจิตเวชเป็นกันมากจนล้นโรงพยาบาล

ปัญหาที่น่าหนักใจคือ เรื่องผู้ป่วยโรคจิตล้นโรงพยาบาล บางคนคิดว่าเป็นเพราะคนไทยเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมากขึ้น ซึ่งส่วนนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

เพราะหากเราพิจารณาถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในระยะ 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าเพิ่มเป็นทวีคูณ เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนเท่า ๆ กัน แต่จำนวนเตียงสำหรับรับผู้ป่วยจิตเวช ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของประชากร

เป็นที่น่าหนักใจว่า รัฐบาลไม่ค่อยจะให้ความสำคัญกับโรงพยาบาลจิตเวชมากนัก ซึ่งเป็นแบบนี้กันเกือบทุกประเทศ ครั้นจะเสนอให้สร้างโรงพยาบาลจิตเวช ก็ไม่กล้ากลัวถูกหาว่ามีญาติป่วย แม้แต่เศรษฐีจะบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลหรือสร้างตึกก็ไม่ค่อยยอมสร้างโรงพยาบาลจิตเวช เพราะไม่อยากเอาชื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง

ด้วยเหตุนี้ ผู้ป่วยจึงต้องล้นโรงพยาบาลจิตเวชอยู่เกือบตลอดเวลา ในระยะหลายปีที่ผ่านมา มิใช่จะมีแต่คนไทยเท่านั้น ตามโรงพยาบาลจิตเวช จะเห็นมีชาวต่างชาติมาป่วยอยู่มิใช่น้อย อาจเป็นผลข้างเคียงของปีท่องเที่ยวไทย

ฝรั่งบางรายพิศมัยโรงพยาบาลจิตเวชเมืองไทย ส่งกลับไปประเทศหลายครั้งก็ยังกลับมาอีก บอกว่าอยู่โรงพยาบาลเมืองไทยมีความสุขกว่าประเทศของเขามาก จะเห็นว่าใคร ๆ ก็ติดใจเมืองไทยด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ผู้ป่วยโรคจิต

เมื่อผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ทำให้รับผู้ป่วยไว้ได้ไม่ทั้งหมด ส่วนหนึ่งอยู่นอกโรงพยาบาล เป็นผลให้ผู้ป่วยบางรายที่ควรจะต้องอยู่โรงพยาบาล ก็ไปเพ่นพ่านอยู่ข้างนอก บางครั้งเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมาได้อีก เพราะผู้ป่วยบางรายมีอันตรายต่อคนอื่น แม้แต่การไปลอบยิงประธานาธิบดี หรือชกหน้านายกรัฐมนตรีก็เคยมาแล้ว

ความสำคัญของการเพิ่มบริการทางจิตเวช เป็นประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวไทย เพื่อให้มีเตียงรับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราควรคิดว่าจะต้องเพิ่มให้ทันกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า

อย่างปัจจุบันนี้โลกมีคนเพิ่มขึ้น มีบ้านเพิ่มขึ้น มีรถยนต์เพิ่มขึ้น เราก็ต้องมีถนน มีไฟฟ้า มีน้ำประปาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่แท้จริง

ที่มาและการอ้างอิง : อาการและการบำบัด โรคจิต โรคประสาท โดย นพ. เกษม ตันติผลาชีวะ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง