วันอาทิตย์, 6 ตุลาคม 2567

เมื่อผลกรรมของหมอทำแท้งไปตกกับลูกชาย ผู้เป็นดังแก้วตาดวงใจ

มีอยู่ระยะหนึ่งที่ข่าวการทำแท้งฮือฮาบนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่นานดูเหมือนว่า จะเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีที่อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่ง ได้นำตำรวจเข้าตรวจค้น และจับกุมเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ประกอบกิจการทำแท้งเป็นล่ำเป็นสันมาช้านาน

 

หลังจากนั้นมา ข่าวเรื่องกิจการทำแท้งก็ครึกโครมอยู่ระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ เงียบหายไป เหมือนกับหลายๆ ข่าวที่ผ่านมา ช่วงนั้น ผมเองก็บ้าเรื่องนี้กับเขาไปด้วย นั่งวงไหนก็วิพากย์วิจารณ์กันถึงเรื่องกิจการทำแท้ง แต่ก็ผลจากการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำแท้งในตอนนั้นเองทำให้ได้พล็อตเรื่องเกี่ยวกับเจ้ากรรมนายเวรมาเรื่องหนึ่ง ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่านทั่วไป และเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้คิดจะประกอบกิจการนี้ หรือกำลังประกอบกิจการนี้

 

 

อยู่ในวงการสนทนาช่วงนั้น ผมได้มีโอกาสรู้จักกับท่านอาวุโสท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นนักกฎหมายฝีมือดี เป็นทนายความที่ประสบผลสำเร็จในวิชาชีพ ท่านผู้นี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับผม ในฐานะที่เป็นหัวหน้าสำนักงานของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นทนายความ ผมไปหาเพื่อนที่สำนักงานทนายความแห่งนั้น เพื่อจะปรึกษาคดีอะไรเล็กน้อย ช่วงที่ไปถึงนั้น เพื่อนไม่อยู่สำนักงาน แต่ก็ได้พบปะกับทนายใหญ่ท่านนี้ เพราะท่านเป็นผู้ต้อนรับแทน และเมื่อทราบว่า ผมเป็นนักศึกษากฎหมายรุ่นเดียวกับเพื่อนคนนั้นก็ให้ความสนิทสนมในเวลาอันเร็ว

 

ขณะที่รอคอยเพื่อนอยู่นั้น ผมก็ได้อ่านหนังสือพิมพ์ฆ่าเวลาไป และบังเอิญหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นก็พาดข่าวเรื่องการปิดกิจการทำแท้งในโรงพยาบาลดังกล่าวแทบจะทุกฉบับ ฉะนั้น การพูดคุยกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จะเริ่มจากอะไรดี ก็ได้มีเรื่องคุยกัน คือ เรื่องจากข่าวในหนังสือพิมพ์นั่นเอง คุยกันไปคุยกันมา ทนายใหญ่ใจดีท่านนั้นก็พูดออกมาว่า “สมน้ำหน้า ไอ้พวกใจมารพวกนั้นมันจะได้รู้รสชาติของกรรมที่ตัวเองก่อไว้เสียบ้าง”

 

ผมก็วิพากษ์วิจารณ์ไปเป็นคุ้งเป็นแควเอาตามประสาคนพูดมาก แล้วอีกตอนหนึ่ง ทนายความใหญ่วัยเลย 60 ท่านก็พูดว่า “เรื่องทำแท้งนี้มันเป็นกรรมทันตาอย่างหนัก แต่คนที่ทำส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัว ผมเองได้เห็นมากับตาคนหนึ่งแล้ว” ได้ทราบเพียงเท่านี้ คนที่สนใจจะบันทึกเรื่องกฎแห่งกรรมก็เจาะตรงประเด็นไปเลย โดยขอให้ทนายรุ่นพ่อคนนั้นเล่าเรื่องที่แกบอกว่าได้เห็นมากับตาให้ฟัง

 

ต่อไปนี้ คือ คำบอกเล่าของทนายใหญ่คนนั้น ซึ่งท่านไม่ต้องการจะเปิดเผยชื่อ เพราะเกรงจะไปกระทบกระเทือนถึงเจ้าของพฤติกรรมที่จะนำมาเล่า ผมได้นำเรื่องเล่าของท่านมาถ่ายทอดอีกครั้งหนึ่ง โดยดัดแปลงสำนวน และเพี้ยนชื่อบุคคลตามความเหมาะสม ฉะนั้นคำว่า “ผม” ต่อไปนี้ให้เข้าใจว่า มิได้หมายถึงตัวผู้เขียน แต่หมายถึงตัวผู้เล่าคือ ทนายใหญ่ท่านนั้น

 

ผมเป็นคนบ้านนอก เกิดที่ภาคใต้ หมู่บ้านที่ผมอยู่แม้จะไม่เจริญนัก แต่ก็ไม่ถึงกับทุรกันดารมาก ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีฐานะพอมีพอกิน แต่มีอยู่บ้านหนึ่งจัดว่าเป็นคหบดีได้ และเป็นบ้านที่มีฐานะดีกว่าใครในหมู่บ้านเรา บ้านนั้นหัวหน้าครอบครัวชื่อ “นายฟุ้ง” เมียชื่อ “นางเขียด” นายฟุ้งและนางเขียดมีลูกเพียงคนเดียว เป็นผู้ชายชื่อ “เฟื่อง”

 

นายเฟื่องคนนี้มีอายุมากกว่าผมเพียงไม่กี่ปี ผมเรียกแกว่าพี่ พี่เฟื่องเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนเดียวกับผม และเรียนในสมัยเดียวกัน แต่ห่างกันหลายปี คือ ตอนนั้นแกเรียนอยู่ชั้น ป. 7 ส่วนผมพึ่งจะอยู่ชั้น ป. 3 แต่ผมกับพี่เฟื่องสนิทสนมกันดี เพราะเราอยู่บ้านใกล้กัน

 

พี่เฟื่องเป็นคนใจดีมาก นิสัยเรียบร้อย เป็นที่รักใคร่ของผู้คนในละแวกนั้น ซึ่งต่างกับยายเขียดและตาฟุ้งพ่อแม่ของแก ที่มีกิตติศัพท์ในทางตระหนี่ขี้เหนียวว่า เป็นอันดับหนึ่งของหมู่บ้าน แต่ว่ายายเขียดก็เป็นคนที่ชาวบ้านย่านนั้นรู้จักกันดี ตอนเด็กๆ ผมไม่ทราบหรอกว่า แกมีอาชีพอะไร รู้เพียงแต่ว่า มีคนต่างถิ่นมาถามหาบ้านแกอยู่บ่อยๆ และมีคนแปลกหน้าไปมาหาสู่บ้านแกมากเป็นพิเศษ

 

ผมจำความได้แล้ว เคยได้ยินผู้ใหญ่เขาคุยกันถึงยายเขียดทำนองว่าคิดไม่ถึงว่าแกจะผ่าเหล่าผ่ากอ เอาวิชาความรู้ของบรรพบุรุษ มาหากินในทางที่ผิดศีลธรรมอย่างนั้น ตอนนั้น ผมเองก็ไม่เข้าใจอะไรมากนัก ไม่เข้าใจว่า อะไรคือวิชาความรู้บรรพบุรุษของยายเขียด ไม่รู้ว่า ยายเขียดแกหากินผิดศีลธรรมอย่างไร รู้เพียงแต่ว่า ยายเขียดกับตาฟุ้งแกเป็นคนขี้เหนียวมาก แกเคยทำให้ผมและเพื่อนๆ ถูกพ่อแม่ลงโทษอย่างหนักหลายครั้งแล้ว ฐานไปโขมยส้มในสวนของแก

 

บริเวณข้างๆ บ้านของยายเขียดเป็นสวนส้มที่รู้กันทั่วหมู่บ้านว่ามีผลดกและรสหวานที่สุด ตอนเป็นเด็กๆ ผมกับเพื่อนจึงไปขโมยกันอยู่บ่อยๆ แกจับได้ มาฟ้องพ่อแม่ พวกเราถูกทำโทษหลายครั้งแล้วก็ต้องเข็ดไปในที่สุด

 

เมื่อผมโตขึ้นมาอีกหน่อย จึงทราบว่าการทำมาหากินผิดศีลธรรมของยายเขียดก็คือ การทำแท้ง และวิชาบรรพบุรุษของแกก็คือ วิชาหมอกลางบ้าน ได้ทราบจากคนเฒ่าคนแก่ว่า แม่ของยายเขียด ชื่อ “ยายเขียว” นั้น ได้รับมรดกตกทอดวิชาหมอกลางบ้านมาจากบรรพบุรุษ ที่ถือตกทอดกันมาหลายชั่วคนแล้ว ยายเขียวเป็นหมอตำแยที่มีชื่อเสียงมากนอกจากนี้ แกยังเป็นหมอที่รักษาโรคเกี่ยวกับเด็กที่ฝีมือดีคนหนึ่ง เล่ากันว่า คนในหมู่บ้านเราแต่ก่อน ส่วนใหญ่แกจะเป็นคนทำคลอดให้ แต่เมื่อแกตายไปวิชาแพทย์แผนโบราณต่างๆ ตกทอดมาถึงยายเขียด แต่เพราะยายเขียดเป็นคนตระหนี่ขี้เหนียวจัด จึงไม่ค่อยจะรักษาใครง่ายๆ เพราะคนในหมู่บ้านเราส่วนใหญ่แม้จะมีเงินให้ก็จริง แต่ก็ไม่มากนัก จนต่อมาไม่รู้ว่าแกได้ความคิดพลิกแพลงมาอะไรขึ้นมา จึงได้เริ่มอาชีพทำแท้ง และเพราะผลตอบแทนจากการทำอย่างนั้นดีกว่าการรักษาเด็กและทำคลอดคน แกจึงเลิกอาชีพการรักษาเด็กและทำคลอดคนไปในที่สุด โดยหันมาจับการทำแท้งเป็นอาชีพ

 

พวกผู้ใหญ่พูดกันต่อไปว่า ตั้งแต่ยายเขียดแกจับการทำแท้งเป็นอาชีพหลัก ฐานะของแกก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมีเรือกสวนไร่นามากมาย มีวัวควายหลายร้อยตัวที่ฝากให้ชาวบ้านเลี้ยง โดยให้ใช้แรงงานมันเป็นการตอบแทน นอกจากนั้นแล้ว แกยังเป็นคนที่มีเงินเก็บในธนาคารมากกว่าใครในหมู่บ้าน ถึงขนาดว่า งานบุญที่บ้านแก ผู้จัดการธนาคารจากในเมืองต้องขับรถผ่านถนนลูกรังมาสายหลาย 10 กิโลเพื่อมาร่วมงาน เพราะแกเป็นลูกค้ารายใหญ่

 

ทราบจากคำนินทาของชาวบ้านว่า ฝ่ายตาฟุ้งนั้นแต่เดิมก็ไม่มีอะไรมาก มีเพียงความขยันและขี้เหนียวเหมือนยายเขียด และเมื่อแต่งงานอยู่กินกันแล้ว ก็กลัวยายเขียดยิ่งกว่าหนูกลัวแมว ชาวบ้านจึงพูดกันว่า ถ้าจะจัดอันดับคนกลัวเมียในหมู่บ้านนั้น ตาฟุ้งต้องเอาแชมป์ไปครองตลอดชีพแน่ๆ แต่เดิมตาฟุ้งมีอาชีพทำสวนส้มข้างบ้าน แต่ต่อมา เมื่อยายเขียดได้ยึดอาชีพทำแท้ง แกก็กลายมาเป็นผู้ช่วยไปโดยปริยาย โดยมีหน้าที่เอาเด็กที่รีดออกมาจากท้องแม่ใจมารไปฝัง บริเวณที่ฝังส่วนใหญ่ก็คือ โคนส้มในสวนของแกนั้นเอง

 

ฝ่ายพี่เฟื่องนั้นก็เป็นคนที่น่าสงสารมาก เพราะถึงแม้ชาวบ้านจะไม่รังเกียจ แต่พ่อแม่ของแกไม่ค่อยยอมไห้ออกมาคบกับใคร ให้อยู่แต่บ้านแกจึงไม่ค่อยมีเพื่อน เมื่อแกเรียนจบชั้นประถมปลายจากโรงเรียนในหมู่บ้าน ยายเขียดก็ส่งให้มาเรียนต่อในเมือง ตั้งแต่นั้นมา นานๆ กว่าแกจะได้กลับบ้านสักที และกลับไปเที่ยวหนึ่งก็ไม่ได้ไปไหน อยู่แต่บ้าน และเพียงไม่กี่วันก็ต้องรีบกลับไปเรียน ตอนนั้นผมกับพี่เฟื่องแม้จะรู้จักกันค่อนข้างดี แต่ก็ไม่ค่อยได้คุยกันมากนัก

 

จนกระทั่งผมมาเรียนต่อในเมืองด้วย มาพักอยู่ใกล้กัน จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับแกมากขึ้น และตอนนั้นเองที่เราได้สนิทกันมากขึ้น แต่ผมก็ไม่เคยเล่าเรื่องที่ชาวบ้านนินทาพ่อแม่ของแกให้ฟัง พี่เฟื่องเรียนจบมัธยมในเมืองแล้ว ก็มาเรียนต่อที่กรุงเทพ แกเข้าธรรมศาสตร์ เลือกเรียนทั้งด้านบัญชี และพี่เฟื่องนี่เองที่เป็นคนแนะนำและยุยงให้ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ด้วย แต่ผมเลือกเรียนทางด้านกฎหมาย

 

พี่เฟื่องจบธรรมศาสตร์แล้วก็ออกไปทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนอยู่ระยะหนึ่ง เห็นว่าไม่ก้าวหน้า จึงได้ขอไปเรียนต่อเมืองนอก ยายเขียดกับตาฟุ้งสนับสนุนเต็มที่ เพราะเรื่องเงินทองนั้นไม่เป็นปัญหาสำหรับครอบครัวนี้ พี่เฟื่องจึงได้ไปเรียนต่อเมืองนอกอย่างสะดวกสบาย ส่วนผมก็ทู่ซี้เรียนมาได้แค่ปริญญาตรี และออกมาประกอบอาชีพทนายตั้งแต่บัดนั้นตราบจนปัจจุบัน

 

ในขณะที่เรียนอยู่เมืองนอก พี่เฟื่องได้มีโอกาสพบกับพี่นิภาภรรยาของแก ซึ่งตอนนั้นเรียนอยู่ที่เดียวกัน มันช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่พี่นิภาก็เป็นลูกคนเดียวของครอบครัว พ่อแม่ของแกมีอาชีพค้าขายและมีเชื้อสายจีนฐานะทางบ้านของแกดีกว่าพี่เฟื่องเสียด้วยซ้ำ เพราะมีที่ดินในกรุงเทพหลายแห่ง และมีกิจการค้าอยู่หลายแห่ง

 

ทั้งสองเริ่มรักที่นั่น เมื่อเรียนจบก็เดินทางกลับมาเมืองไทย ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับซึ่งกันและกัน เพราะเห็นว่าไม่ด้อยกว่าทั้งในเรื่องความรู้และฐานะ จึงได้จัดการแต่งงานให้หลังจากกลับมาอยู่เมืองไทยเพียงไม่นาน

 

กลับมาถึงประเทศไทยแล้ว ก่อนจะแต่งงาน พี่เฟื่องก็ได้รับเข้ารับราชการ ครั้งแรกเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ต่อมาก็ได้อาศัยบารมีพ่อตา ซึ่งเป็นคนที่มีความสัมพันธ์อันดีกับนักการเมืองท่านหนึ่ง ที่บังเอิญได้เป็นใหญ่เป็นโตในช่วงนั้น พี่เฟื่องได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองคนนั้น จนได้ย้ายไปประจำในกรมแห่งหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าเป็นที่มาของผลประโยชน์มหาศาลที่ใครๆ ก็อยากจะไปอยู่ ฝ่ายพี่นิภาก็สานต่อธุรกิจในครอบครัวต่อจากพ่อแม่

 

พี่เฟื่องอยู่กินกับพี่นิภาหลายปียังไม่มีลูกสักที ทั้งที่คนทั้งสองรวมทั้งพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายต่างรอคอยจะเชยชมหลาน แต่ปีแล้วปีเล่าก็ไม่มีหลานให้ได้เชยชมสักที จนในที่สุด คนทั้งสองก็ไปให้แพทย์ตรวจ มันช่างบังเอิญอะไรอย่างนั้นที่ผลการตรวจยืนยันออกมาว่า ทั้งคู่ไม่สามารถมีลูกได้เพราะฝ่ายชายเป็นหมันถาวร ส่วนฝ่ายหญิงมดลูกมีปัญหา และเมื่อสอบสวนกระบวนความย้อนหลังไปก็ได้ทราบกันตอนนั้นเองว่า พี่นิภาเคยประสบอุบัติเหตุรถชนเมื่อตอนเป็นเด็ก แต่หมอไม่ได้บอกว่ามีผลไปถึงมดลูกด้วย

 

ไม่มีใครทราบเรื่องนี้ จนกระทั่งมาถึงตอนนั้น แต่แพทย์ซึ่งเป็นเพื่อนกับพี่เฟื่องก็ได้พยายามช่วยทุกวิธี แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาตาฟุ้งเสียชีวิตลง ในขณะที่พี่เฟื่องกำลังวุ่นวายกับการจะมีลูกให้ได้นั่นเอง

 

ทางฝ่ายยายเขียดเมื่อทราบผลการตรวจของลูกชาย ก็ให้ร้อนใจยิ่งนักและเห็นว่า เมื่อพึ่งหมอทางแผนปัจจุบันไม่ได้แล้ว แกก็เที่ยวเสาะหาแพทย์แผนโบราณทั้งที่เป็นพระ เป็นชาวบ้าน ได้ทราบว่าที่ไหนมีหมอเก่งในเรื่องนี้ แกก็จะดั้นด้นไปหา เสียเงินเสียทองไปมากทีเดียว เป็นทั้งค่าเดินทางและถูกหมอพวกนั้นหลอกไปก็ไม่ใช่น้อย

 

แม้แต่พระยังหล่อแกเลย มีอยู่วัดหนึ่ง สมภารบอกว่า ถ้ายายเขียดสร้างศาลาถวายวัดนั้นแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดนั้นจะบันดาลให้ลูกชายของแกมีลูกได้ ยายเขียดเชื่อ บริจาคเงินจำนวนมากเพื่อสร้างศาลา เอาให้สวยที่สุดเท่าที่สมภารวัดนั้นอยากได้ ทั้งที่แกเป็นคนตระหนี่ได้อันดับ แต่ก็น่าแปลกใจที่เมื่อมาถึงเรื่องที่จะทำให้พี่เฟื่องมีลูก แกกลับจ่ายได้อย่างไม่มีปัญหา

 

พี่เฟื่องและพี่นิภาก็ขยันทำบุญกันเป็นพิเศษ ด้วยหวังผลบุญจากบุญนั้นจะทำให้มีลูกได้ แต่ผลบุญก็ไม่ส่งผลเสียที ทั้งสองมีอายุมากเข้าทุกวัน แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะได้ลูกไว้เชยชม จนในที่สุด ผู้หวังดีท่านหนึ่งแนะนำว่าให้เลิกวุ่นวายได้แล้ว ถ้าเกรงว่าตอนแก่ไม่มีคนรับมรดก และไม่มีคนดูแล ก็ให้ไปรับเด็กจากสถานรับเด็กอ่อนของกรมประชาสงเคราะห์มาเลี้ยงเป็นบุตรสักคน

 

สองผัวเมียรับคำแนะนำนั้น คิดใคร่ครวญกันอยู่นาน กว่าจะตัดสินใจไปเยี่ยมสถานรับเด็กอ่อนที่ว่านั้นเพื่อลองเชิง แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจ แกเทียวไปเทียวมาระหว่างสถานรับเด็กก่อนกับบ้าน จนจิตใจเริ่มผูกพันกับเด็กทารกที่ถูกทอดทิ้งพวกนั้น จิตใจเริ่มโอนเอนไปทางนั้นมากขึ้น เริ่มจากบริจาคเงินให้กับสถานรับเด็กอ่อน และต่อมาก็ตัดสินใจจะรับเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยงเป็นลูกจริงๆ

 

ด้วยอำนาจเงินที่แกบริจาคให้กับสถานรับเด็กอ่อนแห่งนั้นมาหลายครั้ง เจ้าหน้าที่สิ่งอำนวยความสะดวกให้เต็มที่ ถึงกับจัดการให้แกสามารถเลือกเด็กอ่อนเอาได้ตามลักษณะที่ต้องการ พี่เฟื่องกับภรรยาจึงเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านกับสถานรับเด็กอ่อนอีกหลายครั้ง เพื่อจะไปเลือกเด็กตามลักษณะที่ต้องการ แกเทียวไปเทียวมาอยู่นาน ได้เห็นเด็กหลายสิบคนแต่ก็ไม่ถูกใจ แต่แล้วในที่สุดก็พอใจทารกหญิงคนหนึ่งซึ่งหน้าตาน่ารักน่าชัง ผิวพรรณดี สองผัวเมียคิดเอาเองว่า คงจะมีเชื้อสายผู้ดีอยู่บ้างจึงได้ตัดสินใจเลือกเอาเด็กคนนั้นมาเลี้ยง

 

ด้วยอำนาจหน้าที่ทางราชการของพี่เฟื่อง ประกอบกับบารมีทางการเงินของพ่อตาแม่ยายและเมีย สามารถทำให้เด็กหญิงคนนั้นเป็นลูกของพี่เฟื่องและพี่นิภาอย่างถูกต้องอย่างลูกแท้ๆ ที่ให้กำเนิดเอง ไม่ใช่ในฐานะบุตรบุญธรรม พี่เฟื่องและภรรยาตั้งใจทำให้เด็กคนนั้นเป็นของแกจริงๆ โดยไม่อยากทิ้งหลักฐานให้เด็กคนนั้นสืบทราบได้ เพราะไม่ต้องการจะให้เธอน้อยใจและคลายความรักในตัวของพวกเขา ที่เฟื่องให้พี่นิกภาตั้งใจจะฝากชีวิตบั้นปลายไว้กับเด็กหญิงคนนั้น

 

พี่เฟื่องตั้งชื่อให้กับทารกคนนั้นว่า “หยาดฝน” ทั้งนี้ทราบว่าแกตั้งใจจะให้มีความหมายถึงสองนัย คือ หนึ่งจะให้คล้องจองกับชื่อของแก และเพื่อเป็นความหมายว่า การได้เธอมาเหมือนกับหยาดฝนที่หลั่งชโลมดวงใจอันเหี่ยวแห้งของผู้คนในครอบครัวนั้น

 

ฝ่ายยายเขียด ครั้งแรกที่ทราบเรื่องนั้นก็ไม่สู้จะพอใจนัก แต่เมื่อพี่เฟื่องพาเด็กหญิงหยาดฝนไปเยี่ยม ซึ่งขณะนั้นเด็กหญิงหยาดฝนอยู่ในวัยกำลังน่ารักน่าชัง ประกอบกับหน้าตาที่บ้องแบ๊ว ดวงตาใสแจ๋ว ยายเขียดได้เห็นครั้งแรกก็เทรักหมดใจ ชาวบ้านนินทากันว่า แกจูบตั้งแต่หัวจรดเท้า และเลี้ยงดูทะนุถนอมอย่างดี ไม่ต่างจากหลานในสายเลือด

 

เด็กหญิงหยาดฝนได้ทำหน้าที่หยาดฝนชโลมใจคนในครอบครัวพี่เฟื่องจริงๆ เพราะตั้งแต่ได้เธอมาทุกคนในบ้านนั้นก็ดูมีชีวิตชีวาขึ้น และบ้านที่เคยเงียบเหงากลับสดใสขึ้นเมื่อมีเสียงของเด็กหยาดฝน สองผัวเมียเลี้ยงดูเด็กหญิงหยาดฝนอย่างดี ถึงกับจ้างพยาบาลมาดูแลโดยเฉพาะ และเด็กหญิงหยาดฝนก็ตอบแทนความรักของครอบครัวนั้นด้วยหน้าตาที่นับวันจะน่ารักน่าชังยิ่งขึ้น และเป็นเด็กที่เรียบร้อย ไม่ร้องไห้โยเยสร้างความรำคาญให้กับพี่เลี้ยง

 

เด็กหญิงหยาดฝนเจริญวัยขึ้นตามลำดับ พร้อมกับความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานของพี่เฟื่อง ความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้นของภรรยา และความชรามากขึ้นของยายเขียด แต่ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แล้ววันที่ทุกคนไม่คาดคิดก็ค่อยๆ ทยอยมาแทนที่ความสุขเหล่านั้น เริ่มจากการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของยายเขียด ตามด้วยพ่อแม่ของพี่นิภา ซึ่งจากไปในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน

 

จนมาถึงความผิดปกติบางอย่างของเด็กหญิงหยาดฝน เมื่อพยาบาลที่เลี้ยงดูเริ่มผิดสังเกต เพราะว่า แม้เธอจะเจริญวัยขึ้น แต่ความเรียบร้อยไม่ซุกซนยังเหมือนเดิม วางไว้อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น มาถึงวัยที่เธอควรจะรับรู้และสื่อสารอะไรกับคนอื่นได้บ้างแล้ว แต่เธอไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ ไม่สามารถสื่อสารอะไรกับคนอื่นได้เลย

 

พยาบาลรายงานเรื่องนั้นให้พี่เฟื่องและและภรรยาทราบอย่างระมัดระวัง สองสามีภรรยาโกรธพยาบาลที่หาว่า ลูกสาวของตนสติไม่สมประกอบ แต่ในที่สุด ความจริงอันปวดราวนั้นก็ปรากฏขึ้น เมื่อร่างกายของเด็กหญิงหยาดฝนเติบโตขึ้น แต่ความรู้สึกของเธอไม่พัฒนาตาม หมอที่สนิทสนมกันกับครอบครัวนั้นนำเธอมาตรวจอย่างเป็นทางการ จึงได้ทราบว่าเธอพิการทางสมองมาแต่กำเนิด

 

ความจริงอันปวดร้าวนั้นทำเอาทำผัวเมียทุกข์ระทมไปนาน แต่ยายเขียดนับว่าโชคดีที่สิ้นชีวิตไปก่อนที่จะได้ทราบความจริงในเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามสองผัวเมียได้เทความรักทั้งหมดให้กับเด็กหญิงคนนี้ และกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาตั้งแต่เป็นทารกตัวแดงๆ จนมีวัยเติบโตขนาดนั้นไม่สามารถจะหักใจทอดทิ้งเธอได้ และที่สำคัญเรื่องที่เกิดขึ้นมาเธอไม่ได้มีความผิดเลย พวกเขาต่างหากที่ไปเลือกเธอมา ครั้นจะเอาเด็กคนอื่นมาเลี้ยงอีก ตอนนั้นก็อายุมากแล้ว คือ มีวัยเลย 50 มาแล้ว เกรงเด็กจะโตไม่ทันช่วยตัวเองได้ จะเป็นภาระไว้ให้คนอื่น ซึ่งมองไม่เห็นว่า ใครจะรับภาระนั้นต่อได้ เพราะญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายก็แทบจะหาไม่ได้ จึงได้แต่ทำใจตั้งหน้าตั้งตาเลี้ยงดูเด็กหญิงหยาดฝนต่อไป

 

บัดนี้ เด็กหญิงหยาดฝนโตเป็นสาวแล้ว หน้าตาสะสวย แต่สมองพิการ ช่วยตัวเองไม่ได้ สื่อสารกับมนุษย์ด้วยกันแทบจะไม่รู้เรื่อง พี่เฟื่องซึ่งบัดนี้อายุเกือบ 70 แล้ว แกเกษียณราชการในตำแหน่งรองอธิบดีของกรมนั้น พี่นิภาเองก็อยู่ในวัยใกล้เคียงกัน เลิกอาชีพค้าขายมาหลายปีแล้ว ทั้งคู่ต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนกับหยาดฝนบ่อยครั้ง ต้องจ้างผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้ดูแลเผลอ เธอหายออกไปจากบ้านโดยที่ไม่มีใครรู้ และบางครั้งพาไปเที่ยวไหนผู้ดูแลห่างตานิดเดียว เธอก็จะหายไป กว่าจะหาตัวได้ต้องวุ่นวายกันหลายวัน

 

ตอนนี้พี่เฟื่องกับพี่นิภาได้แต่ปลง และใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ทำบุญหวังเพียงแต่บุญนั้นจะส่งให้ชีวิตบั้นปลายจะสงบสุขสงบกว่านั้น แต่กุศลที่ว่านั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ไม่อาจจะทราบได้ เพราะบัดนี้วัยจะ 70 อยู่แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แวว

 

หากยายเขียดยังมีชีวิตอยู่ และได้รู้ว่าทรัพย์สินทั้งหลายที่แกอุตส่าห์สะสมจากบาปกรรม และเก็บหอมรอมริบแทบจะไม่กินไม่ใช้นั้นจะต้องตกเป็นของคนวิกลจริตต่างสายเลือดคนหนึ่ง ไม่ทราบเหมือนกันว่าแกจะรู้สึกอย่างไร แต่ก็นับว่า แกยังโชคดีที่ไม่ได้เห็นผลกรรมที่แกทำไว้ เล่นงานลูกชายผู้เป็นดังแก้วตาดวงใจของแกขนาดหนักเพียงไร

 

ที่มาและการอ้างอิง

กรรมอุทาหรณ์ ชุด 3 ผู้เขียน ฉลอง เจยาคม