วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

4 กรรม หากทำแล้วจะส่งผลตามหลักของกฎแห่งกรรม

หลักของกฎแห่งกรรม เป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และดำรงอยู่มาแล้วตั้งแต่มีโลกนี้ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบด้วยการตรัสรู้ ด้วยพระเมตตาพระมหากรุณาแก่เหล่าสัตว์ทั้งปวงในโลก พระพุทธองค์จึงทรงนำเรื่องของกฎแห่งกรรมนี้มาสั่งสอน เพื่อให้เหล่ามนุษย์และมนุษย์ทั้งหลายจะได้รู้วิธีพาตนเองออกจากทุกข์ได้จริง

 

 

กฎแห่งกรรมนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะกรรมนั้นเป็นต้นเหตุแห่งการเวียนว่าย ตาย เกิด มีปรากฏอย่างชัดเจนเป็นพุทธวจนะของพระพุทธองค์ว่า “กัมมุนา วัตตะตีโลโก” หรือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม อันแปลความได้ง่ายและชัดเจนที่สุดว่า “บุคคลทำกรรมใดไว้แล้วไม่ว่ากรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม เขาย่อมต้องรับผลแห่งกรรมนั้น” แต่แม้ว่าพุทธวจนะของพระพุทธองค์เมื่อได้กล่าวไว้เช่นนี้แล้วก็ตามก็ยังมีความสับสนและเข้าใจไขว้เขวกันมากมาย เพราะคนส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม ก็มักจะมองถึง “ผลแห่งกรรมที่ได้รับ” นั้นเป็นตัวตั้งก่อน โดยไม่ค่อยมองกันที่เหตุ ทำให้ไขว้เขวจนอาจจะลงผิด นึกไปเองว่ากฎแห่งกรรมนั้นไม่มีจริง เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาหลอกให้คนกลัวกัน

 

นั่นเป็นเพราะไปพบเห็นว่า ในบางคนที่กำลังทำชั่วอยู่ ทำไมเขากลับได้รับความสุขได้รับผลดีตอบแทนมากมาย มีลาภยศ สรรเสริญหลั่งไหลเข้ามาในชีวิต หรือแม้จะไม่มีสิ่งที่เป็นสุขเข้ามาชีวิตก็ยังไม่เดือดร้อนอะไร สามารถใช้ชีวิตไปได้ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแม้จะได้ทำกรรมชั่วหนักๆ ไว้ก็ตาม แต่ตรงกันข้ามกับคนที่กำลังประกอบคุณงามความดีอย่างสม่ำเสมอ ทำบุญมากมายมหาศาลประเภทขวานขวายทำไม่ยอมหยุดพัก ไกลแค่ไหนก็จะดั้นด้นไปทำบุญ ชีวิตกลับได้รับความทุกข์ทรมานต่างๆ มีผลไม่ดีเกิดขึ้นมากมาย ทำให้เสียทรัพย์ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้ายสบประมาทหรือได้รับความเจ็บไข้ได้ป่วยเข้ามาในชีวิต

 

การที่มองเห็นเช่นนี้ เป็นการมองไม่ตลอดสาย คนที่เราเห็นว่าดีนั้นในอดีตชาติของเขาอาจจะเคยทำกรรมไม่ดีมามากมาย คนที่เราเห็นว่าเป็นคนชั่วกลับได้ดีมีสุข ในอดีตชาติเขาอาจจะสร้างบุญใหญ่มาก่อน และต้องเข้าใจเสียก่อนว่า กรรมนั้นที่ทำมาไม่ว่าจะเป็นกรรมชั่วหรือกรรมดี เมื่อถึงเวลาส่งผลก็ต้องส่งผลไม่มีอำนาจใดมาห้ามได้ แต่คนที่จะมองเห็นตลอดสาย ตลอดชาติในอดีตชาติของเหล่าสรรพสัตว์ได้มีเพียงผู้เดียวในโลกนี้ก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น สำหรับครูบาอาจารย์บางท่านที่มีอภิญญาชั้นสูงนั้น ท่านก็เพียงแต่รู้ในบางอดีตชาติของคนเท่านั้น ท่านมองไม่เห็นทุกชาติ และถ้าท่านมีเมตตาท่านก็จะบอกเป็นบางคนสำหรับเพื่อช่วยคลายทุกข์ แต่ท่านไม่ได้มีหน้าที่อะไรในเรื่องนี้ ไม่ใช่กิจของท่านและเชื่อว่าท่านคงก็คงไม่อยากรับรู้กรรมของใครเท่าใดนัก

 

การมองไม่ตลอดสายที่อาจจะขอยกตัวอย่างให้เข้าใจ เช่น ผู้ร้ายคนหนึ่งได้ไปฆ่าคนตายมา แล้วหนีมาอยู่อีกจังหวัดหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จักเลยเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามเสียเพื่อไม่ให้คนรู้เบื้องหลัง พอมาอยู่จังหวัดนี้เขาก็เปลี่ยนพฤติกรรมกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ขยันทำมาหากิน จนมีฐานะร่ำรวยมีแต่คนยกย่อง อยู่มาวันดีคืนดี ตำรวจที่ทำคดีอยู่ก็สืบรู้ว่า เจ้าคนร้ายคนนี้แอบหนีมาอยู่ที่จังหวัดนี้ จึงตามมาจับตัวไปลงโทษ คนที่อยู่ในจังหวัดนี้ก็โวยวายว่าตำรวจจับผิดตัวแล้ว ทำไมมาจับคนดีๆ ซึ่งในความเป็นจริงคนดีที่เขาเห็นแค่ในเวลาสั้นๆ นั้นเคยเป็นคนร้ายมาก่อน และได้ก่อกรรมทำเข็ญเอาไว้ จนต้องได้รับโทษจากการกระทำนั้น อย่างนี้เรียกว่า คนที่จังหวัดนั้นมองไม่ตลอดสาย ไม่รู้ที่มาที่ไปจึงมักสรุปเอาเองเท่าที่ตาตัวเองเห็น เหมือนกับคนเราทุกคนที่เกิดมาในชาตินี้ อาจจะทำอะไรไว้มากมายในชาติที่แล้ว อาจจะเป็นร้อยชาติพันชาติในอดีต

 

แม้มาชาตินี้มีชื่อใหม่ ร่างกายใหม่ แต่จิตเดิมเป็นจิตเดียวกันกับที่เคยทำกรรมมา กรรมทุกอย่างที่เคยทำมันถูกบันทึกไว้ที่จิตไม่ว่ากรรมดีและกรรมชั่ว (โดยเฉพาะกรรมชั่วที่เจ้ากรรมนายเวรเขาตามมารังควานเขาจึงตามที่จิตเดิม ไม่ได้ตามที่ร่างกายที่เปลี่ยนไป ต่อให้ไปเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุลเป็นพันครั้ง ทำศัลยกรรมจนจำตัวเองไม่ได้ เจ้ากรรมนายเวรเขาก็ตามเจอ) แต่มาชาตินี้ไม่รู้เรื่องจำไม่ได้ว่าไปทำอะไรมาแล้วบ้างในอดีตชาติ พอกรรมนั้นมาส่งผลจึงโวยวายว่าทำไมตนเองถึงโชคไม่ดีเลย ทำไมต้องมารับผลกรรมทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำเลยในชาตินี้ ซึ่งความจริงเคยทำแต่จำไม่ได้ แต่กรรมนั้นเขาตามพบแน่นอน

 

เพราะกรรมนั้นทำตามหน้าที่ของกฎแห่งกรรม ที่ต้องส่งผลตามหน้าที่ ตามลำดับ ตามเวลา ไม่มีการยกเว้นใครหน้าไหนทั้งสิ้น เหมือนกับกฎหมายที่ต้องลงโทษคนที่เคยไปฆ่าคนตาย แต่กฎแห่งกรรมนั้นเที่ยงตรงกว่ากฎหมายหลายเท่านัก แต่กฎหมายยังมีการเปลี่ยนแปลงไปได้เพราะตั้งขึ้นมาด้วยน้ำมือมนุษย์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา แต่กฎแห่งกรรมนั้นมาจากกฎธรรมชาติ หลักการเป็นอย่างไรก็ว่าไปตามนั้นไม่มีเปลี่ยนแปลง แม้จะทำดีแค่ไหนทำดีก็ต้องอยู่ในส่วนของกรรมดี กรรมชั่วก็ต้องอยู่ในส่วนของกรรมชั่ว ไม่มีมาปะปนกันหรือมาหย่อนโทษอะไรให้ ไม่มีอำนาจใดมันเบี่ยงเบนได้ หวังว่าจะพอเข้าใจในเรื่องการมองไม่ตลอดสายแล้วว่า ทำไมคนชั่วจึงได้รับความเจริญในชาตินี้ และคนที่เราเห็นว่าดีทำไมถึงต้องพบกับเรื่องร้ายๆ ตลอดชีวิต

 

ด้วยความสลับซับซ้อนดังกล่าวของกฎแห่งกรรมนี้ อาจจะทำให้ผู้รับผลของกรรมที่ยังขาดความรู้ขาดความเข้าใจนั้น อาจจะเกิดความสับสนว่าสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปนั้นมีผลจริงหรือไม่ พอไม่เข้าใจจึงหลงผิด คิดเอาเองว่าบางครั้งลงมือทำสิ่งที่เป็นความชั่ว ก็นึกว่าไม่ใช่ความชั่ว กว่าจะรู้ตัวก็มักจะสายเกินแก้ไปเสียแล้ว หรือในคนชอบทำกรรมชั่ว แต่ชีวิตยังดีมีเงินทองมีอะไรมากมายก็นึกว่าสิ่งที่ตนทำชั่วนั้น ไม่มีผลอะไรก็เลยประมาทในการสร้างบุญและละเว้นการทำชั่ว แต่ในความจริงแล้ว กรรมชั่วใดๆ ก็ตามที่เรากำลังทำอยู่นั้นผลกรรมมันยังไม่ทันให้ผลในเวลานานเท่านั้นเอง หรืออาจจะเป็นเพราะกรรมดีเขาเคยทำเอาไว้ก่อนนั้นมาให้วาระส่งผลก่อนในขณะที่คนคนนั้นกำลังกระทำความชั่วอยู่ จึงมองดูเหมือนว่าเขา “ทำชั่วแล้วได้ดี” หรือ ทำชั่วแล้วผลชั่วไม่เกิดนั้นเอง

 

สำหรับการทำแท้ง เป็นสิ่งที่มีปัญหามากในสังคม คนที่ยังหลงผิด ไม่รู้ผลกรรมที่หนักหน่วงที่ต้องได้รับทั้งในชาตินี้และในชาติต่อไป จนคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ที่ใครๆ เขาก็ทำกันถ้ายังไม่พร้อมที่จะมีลูก คิดไปว่าทำแล้วไม่มีผลอะไรดีเสียอีกที่แก้ปัญหาได้ (ซึ่งก็คือ กรรมนั้นอาจจะไม่ถึงเวลาส่งผล หรือมีกรรมดี กรรมเก่ากำลังส่งผลอยู่) เลยทำให้ไม่รู้สึกว่าผิด ทำแล้วก็ยังทำอีก จนเมื่อถึงเวลาที่วิบากกรรมไม่ดีในเรื่องนี้มาส่งผลทำให้ชีวิตมีแต่เรื่องร้ายๆ แม้แต่อุปสรรคที่เข้ามาจึงเข้าใจ เสียใจในสิ่งที่ตนเองเป็นผู้กระทำ

 

ซึ่งอย่างที่บอกต้องรู้และเข้าใจในเรื่องกรรมเสียก่อน ถึงจะรู้ซึ้งถึงกฎแห่งกรรม ก่อนอื่นจะขออธิบายง่ายๆ ถึงกรรมที่จะส่งผลตามหลักของกฎแห่งกรรม ที่แบ่งตามการเวลาที่ให้ผลซึ่งมี 4 ประการนั่นก็คือ

1.กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน (ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม) เช่น เมื่อไปทำกรรมใดๆ มาก็เห็นผลทันตาเห็นในภพชาตินั้นเลย เช่น ไปบริจาคทานมาด้วยกำลังทรัพย์ที่มากและสม่ำเสมอก็มีเหตุให้ใจนั้นมีความสุข ทำอะไรก็เจริญรุ่งเรืองเพราะใจนั้นมีฤทธิ์ ใจนั้นมีกำลัง ด้วยอานิสงส์แห่งกรรมดีที่ทำนั้น อาจจะทำให้มีโชคลาภ รวยแบบทันตาเห็น หรือไปทำชั่ว เช่น ไปฆ่าคนตายมา ในกรรมแรกที่ได้รับ ใจก็เป็นทุกข์ทรมานต้องคอยหลบหนีการตามล่าทางจากตำรวจ จากเจ้าทุกข์ กรรมต่อมาก็ต้องถูกเขาจับไปติดคุกติดตารางหรือประหารชีวิต ให้รับผลที่ทำมา ซึ่งเห็นผลกันในชาตินี้ทันทีเช่นกัน

 

2.กรรมที่ให้ผลในชาติถัดไปจากชาติปัจจุบัน (อุปปัชชเวทนียกรรม) กรรมในลักษณะนี้เป็นคำตอบของคำถามของผู้ที่มองผลของกรรมเป็นหลักว่าทำดีทำไมไม่ได้ดี ทำชั่วทำไมไม่ได้ชั่วให้เห็นกันเลย ก็เพราะระยะเวลาแห่งการส่งผลนั้นให้ผลในชาติถัดไป เช่น ในชาตินี้เกิดมาร่ำรวยมากแต่มีความตระหนี่ถี่เหนียวมากไม่เคยทำบุญให้ทาน ประกอบอาชีพก็เอารัดเอาเปรียบคนเป็นจำนวนมากหรือประกอบอาชีพทุจริตมามาก แม้ในชาตินี้ไม่เห็นผลคือไม่ได้รับความลำบากทุกข์ร้อนใดๆ แต่ผลกลับไปปรากฏในชาติหน้า ต้องเกิดมาเป็นคนยากจนและต้องได้รับกรรมที่ทำมาแน่นอน

กรรมที่ส่งผลแน่นอนในชาติถัดไปนั้นคือ “กรรมหนัก” หรือ ครุกรรม ที่มีทั้งกรรมหนักฝ่ายดีและกรรมหนักฝ่ายไม่ดีหรือกรรมชั่ว เป็นกรรมที่มีพลังอำนาจมากให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ และไม่มีกรรมใดมาขวางกั้นได้ มีพลังแรงอย่างทันตาเห็นในชาติปัจจุบันและสามารถส่งผลถึงชาติหน้าที่ติดกันได้ นอกจากกรรมหนักที่กล่าวไปแล้วยังมีอีกหลายกรรมที่ส่งผลในชาติถัดไป กรรมที่มาจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผู้อื่น ทำให้คนที่เคยทำแท้งมาในอดีตชาติ หรือเคยฆ่าลูกมา พอมาเกิดในชาตินี้ถึงจะยังไม่เคยทำกรรมแบบนี้ แต่ถ้ากรรมชั่วนั้นถึงเวลาส่งผล ก็ต้องได้รับผลกรรมนี้

 

3.กรรมที่ให้ผลหลังจากชาติที่ 3 เป็นต้น (อปปราปรเวทนียกรรม) หมายความว่า แม้ในชาติถัดไปยังไม่เห็นผลก็ตาม แต่ผลแห่งกรรมนั้นจะให้ผลอย่างแน่นอนเมื่อ “สบโอกาส” คือถึงเวลาที่เหมาะสมเมื่อใดก็จะให้ผลเมื่อนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

4.กรรมที่ไม่ให้ผล เลิกแล้วต่อกันไป (อโหสิกรรม) เรียกว่า ผลแห่งกรรมนั้นได้รับผลสนองกันไปแล้วและไม่มีกรรมใดๆ มาทำให้ผลกรรมส่งผลต่อกันอีก หรือเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้นั้นถ้าเป็นกรรมเบาอาจจะไม่ส่งผมก็ได้ หากทำให้กรรมนั้นเป็นอโหสิกรรมไป เช่น เมื่อเราประพฤติล่วงเกินผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ แล้วไปขอให้ผู้ที่เราประพฤติล่วงเกินยกโทษให้ เมื่อท่านยกโทษให้แล้วก็ถือว่ากรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม ไม่มีความอาฆาตต่อกันอีกและต่างอโหสิกรรมเลิกแล้วต่อกัน กรรมจึงยุติไม่ส่งผลอีกต่อไปทั้งในชาตินี้และชาติหน้า

และกรรมนั้นจะเป็นอโหสิกรรมได้อีกทาง เมื่อคนที่สร้างกรรมนั้นได้ปฏิบัติธรรมชั้นสูงจนนิพพานไปเลย กรรมก็เลยต้องอโหสิกรรมไปหรือหมดกรรมไปเพราะไม่รู้จะไปส่งผลให้กับใครอีก ดังเช่นพระอรหันต์ที่บรรลุนิพพานแล้ว เพราะพระอรหันต์เป็นผู้หมดบุญหมดบาปแล้ว ไม่มีการรับผลบุญบาปอีก กรรมที่ท่านทำแม้จะเป็นกรรมดีก็เป็นอโหสิกรรมไปโดยปริยาย จากเหตุผลในเรื่องของระยะเวลาที่ให้ผลของกรรมคงพอจะเป็นคำตอบได้ว่า คนเราทำอะไรลงไปแล้วย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นอย่างแน่นอน แต่การที่ได้รับผลช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของกรรมที่ได้กระทำไว้

 

ที่มาและการอ้างอิง

เคล็ดแก้กรรมหนัก ที่มาจากลูก แบบทันตาเห็น โดย ธ.ธรรมรักษ์ และ จิตตวชิระ