วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

9 วิธีแก้ปัญหาสารพัดเรื่องของลูกคนเดียว แก้ซะวันนี้ไม่มีคำว่าสาย

23 ก.พ. 2018
1968

กรณีที่มีลูกคนเดียวแล้วมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้น พ่อแม่ควรแก้ไขโดยการปรับการเลี้ยงดูใหม่ให้เหมาะสม วิธีการปรับขึ้นอยู่กับวัยของเด็ก ถ้าเป็นเด็กเล็กพ่อแม่ก็เปลี่ยนทัศนคติแล้วดูแลเด็กไปตามสายกลาง เช่น ไม่ต้องช่วยเหลือเขามากเกินไป ถ้าประเมินดูแล้วว่าไม่มีอันตรายมาก ก็ควรปล่อยให้เด็กได้เล่นเพื่อให้เกิดทักษะ ไม่ต้องคอยจู้จี้จุกจิกเป็นเด็กไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง ให้ลูกมีโอกาสระบายความรู้สึกในการเล่นกับสิ่งแวดล้อมต่างๆบ้าง 9 วิธีแก้ปัญหาสารพัดเรื่องของลูกคนเดียว แก้ซะวันนี้ไม่มีคำว่าสาย

 

 

1.เด็กวัยอนุบาลอาจก้าวร้าว พ่อแม่ต้องมีความเข้าใจในการควบคุม

วัยอนุบาลความรุนแรงของปัญหาที่อาจมีคือ เด็กมีความรุนแรงก้าวร้าวเมื่อพ่อแม่ไม่ตามใจ ข้อแก้ไขคือ ถ้าเด็กชอบและสิ่งที่เด็กก้าวร้าวนั้นไม่รุนแรง ก็ไม่ต้องไปใส่ใจต่อความก้าวร้าว เด็กจะเรียนรู้ว่าเมื่อแสดงความก้าวร้าวแล้วไม่ได้ผล คือไม่ได้รับการตอบสนองอะไร แม้จะก้าวร้าวเป็นสิบ ๆ ครั้งก็ตาม เมื่อเด็กรู้ว่าไม่ได้ผลก็จะเลิกทำไปเอง แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ชอบใจอีก เช่น เข้ามาเอาใจพ่อแม่ มาช่วยทำโน่นนี่ ส่วนนี้เองเราก็แสดงให้เด็กเห็นว่าเราพอใจเด็กก็จะรับรู้ว่าทำแบบนี้แล้วพ่อแม่พอใจ

ถ้าเด็กก้าวร้าวถึงขั้นทำลายข้าวของ สิ่งที่เราต้องทำคือ “บังคับ” เช่น จับเด็กไว้นานๆ ถ้าเขาจะทำอีกก็จะถูกจับอยู่อย่างนั้น และหากเป็นเวลานานเข้า เด็กจะเรียนรู้ว่าตนเองต้องอยู่ในการควบคุมของพ่อแม่ เด็กก็จะพยายามควบคุมตัวเองไม่ทำตัวก้าวร้าวได้ เพราะหากก้าวร้าวเมื่อไรพ่อแม่ก็จะทำให้เขาเป็นฝ่ายแพ้  เด็กจะค่อย ๆ เรียนรู้เอง หลังจากนั้นพ่อแม่ต้องมีท่าทีเหมือนเดิม ไม่ต้องไปพูดซ้ำซากหรือแสดงความโกรธหงุดหงิด เวลาที่เขาหยุดก้าวร้าวแล้วเราก็บอกว่าดีมาก ไปล้างหน้าล้างตาเสีย แล้วชมว่าถ้าไม่ทำของเสียหายอย่างนี้อีกพ่อแม่ ก็รัก เดี๋ยวเราไปกินอะไรกัน เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เด็กก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ก็รักเขาเหมือนเดิมทั้งที่เมื่อกี้บังคับจับตัวเขาเอาไว้

 

2.ลูกคนเดียวเคยตัวกับการถูกชม ให้ทางโรงเรียนช่วยแก้ปัญหาได้

เด็กที่ทำอะไรนิดหน่อยแล้วพ่อแม่ก็ชมว่าเก่ง ว่าดี เด็กคิดว่าใครๆก็ต้องชมตนเองเหมือนพ่อแม่ ปัญหานี้จะแก้ได้เมื่อตอนเด็กไปโรงเรียนเล็กๆ เด็กจะเรียกร้องให้คนอื่นชม แต่เมื่อครูไม่ชมทุกครั้งเด็กก็จะเรียนรู้ไปเลยว่าครูก็ต้องให้ความสนใจในการชมคนอื่นบ้าง ในตอนแรกเด็กมีอะไรอาจไปฟ้องไปบอกครูได้เรื่อยๆ แต่เมื่อเด็กเรียนรู้โดยสังเกตุว่าครูไม่สนใจที่จะพะเน้าพะนอเขา เด็กก็จะปรับพฤติกรรมตัวเอง เพราะฉะนั้นลูกคนเดียวที่พ่อแม่มักบอกว่าอยู่ที่บ้านเอาแต่ใจตัวเองเหลือเกิน แต่อยู่ที่โรงเรียนกลับไม่มีปัญหาเลย นั้นเพราะเด็กเรียนรู้ได้ ฉะนั้นพ่อแม่ควรเอาวิธีที่ครูใช้มาใช้ที่บ้านบ้าง แต่ที่เห็นกันมากพ่อแม่มักจะแพ้ลูกเสมอ เพราะความรู้สึกที่รักลูกมาก ทำให้คอยจะยอมแพ้อย่างสิ้นเชิงเสมอ ฉะนั้นจะดูแลลูกให้ดีก็อย่ารักมากเกินไป

 

ในกรณีที่เด็กไม่ยอมปรับตัวหรือแก้ไขตนเองยาก เราอาจจะให้รางวัล เช่น ถ้าวันนี้เด็กทำดีเขาก็จะได้ดาว แต่ถ้าเขากวนครูมาก ครูก็จะหักดาวไปใน ขณะเดียวกันก็พยายามให้เด็กเข้าไปร่วมทำกิจกรรมของกลุ่มอยู่เรื่อยๆ และหากให้เขารู้จักรอคอยเมื่อต้องการจะเอาของอะไร เรื่องนี้ครูจะต้องหักตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพราะเด็กกลุ่มนี้จะเอาตัวเองเป็นหลัก ครูจะต้องบอกว่าให้ไม่ได้แล้ว หนูได้ของสิ่งนั้นไปแล้ว 2 ครั้งต้องแบ่งให้เพื่อนบ้าง ถ้าเด็กจะแย่งของครูก็จะตัดดาวหรือตัดแต้มในสมุดประจำตัวของเด็กๆ เด็กจะเรียนรู้ว่าถ้าทำดีครูก็จะให้ดาวเพิ่มถ้าทำไม่ดีก็จะถูกตัดดาว

 

3.หาเพื่อนให้ลูก หรือพาไปพบปะญาติเพื่อให้รู้จักอยู่ร่วมกับคนอื่นได้

สมัยนี้ครอบครัวใหญ่มัดอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านจัดสรร วันๆไม่ค่อยได้เสวนากับใคร ลูกจึงมักไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ออกไปเล่นข้างนอก ถ้าเป็นลูกคนเดียวที่ไม่มีพี่น้องเป็นเพื่อนเล่น เด็กอาจจะขาดพัฒนาการทางสังคม เริ่มตั้งแต่เล็กๆก็กลัวคนง่าย เพราะออกไปนอกบ้านก็ไม่มีเล่นกับใครเขา หรือเวลาไปเล่นกับเขาก็ยืนห่างๆ และจะไม่ค่อยกล้าเล่นกับใคร ความจริงสิ่งนี้เราก็ไม่ค่อยอยากให้เกิดขึ้น เพราะพัฒนาการตามปกติของมนุษย์จะต้องมีการขยายสังคมออกไปให้ไปร่วมกับคนอื่น ทางแก้ไขก็คือ ถ้าเป็นตามหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมักมีสโมสร พ่อแม่ควรปล่อยให้เด็กเข้าไปร่วม หรือถ้าไม่มีจริงๆต้องอยู่โดดเดี่ยว ทุกเสาร์อาทิตย์พ่อแม่ก็ควรพาลูกๆไปพบปะกับญาติ ๆ เพราะนี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว และการไปร่วมพบปะกับญาติจะต้องทำข้อตกลงไว้ว่า บางทีจะต้องทิ้งเด็กให้อยู่กับญาติสักครึ่งวัน เพื่อทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่มีพ่อแม่ ในขณะเดียวกันเราก็รับลูกของญาติมาอยู่กับเราบ้าง น้อยคนที่จะไม่มีญาติเลย เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่หมั่นทำอย่างนี้ลูกจะไม่ค่อยมีปัญหา

 

4.พาลูกออกไปปิกนิก มีโอกาสได้พบเจอเพื่อนใหม่ ทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคม

การให้ลูกโดยเฉพาะลูกคนเดียวได้ออกนอกบ้าน เช่น ไปปิกนิกกับพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง โดยทำอะไรไปกินได้นิดๆหน่อยๆ แล้วก็กลับมาบ้านเด็กจะมีความสุขและสนุกสนานมาก ขณะที่ลูกได้กระโดดโลดเต้นพ่อแม่ก็อาจจะนั่งอ่านหนังสือไป ลูกอาจจะไปหกล้มอะไรบ้างก็ปล่อยเขา เพราะสิ่งที่มักจะได้พบคือเด็กมักจะไปมีเพื่อนใหม่นอกเหนือจากญาติที่ไปด้วยกัน เป็นสิ่งที่แปลกมาก คือ เด็กจะมีเพื่อนใหม่ได้ภายใน 5 นาทีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถึงแม้จะไม่มีญาติก็ตามถ้าเราเห็นที่ตรงไหนมีเด็กแล้วก็พาลูกไปเล่น แล้วเราก็ปล่อยเขาอย่าไปยุ่งหรือพะเน้าพะนอเขามาก สักครู่เดียวเด็กก็เล่นกันเองได้ คนที่เป็นพ่อแม่ได้กำไรมาก คือ จะได้พักผ่อน ได้เปลี่ยนสถานที่ต่างๆแล้ว ลูกก็ยังเกิดพัฒนาการทางสังคมด้วย

 

5.หากพ่อแม่เลี้ยงดูมาไม่ถูกต้อง สามารถให้เด็กครูอนุบาลช่วยขัดเกลาได้

การให้ลูกมีเพื่อนหรือเข้ากลุ่มเพื่อนได้ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องตระหนักให้มาก เนื่องจากชีวิตมนุษย์นี้เราไม่ได้อยู่ตามลำพังของเราคนเดียวหรือครอบครัวเดียว เราต้องอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องมีการเชื่อมโยงกับนอกบ้าน เด็กต้องการการเรียนรู้การเข้าสังคม ถ้าสมมุติเด็กคนไหนไม่ค่อยกล้าเข้าสังคม พ่อแม่ก็จะต้องมีการกระตุ้นให้ออกไป เช่น มีเด็กคนนึงไม่ค่อยกล้าเลย เพราะว่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรตั้งแต่เล็กๆ เวลาเดินไปไหนต้องเดินตามหลังคอยเกาะติดชายกระโปรงแม่หรือเกาะคอพ่อ ยิ่งมีใครมาทักทายก็ยิ่งไม่กล้าคุยด้วยเข้าไปใหญ่ ที่นี้พอเข้าอนุบาล เด็กก็ไม่ค่อยกล้าแสดงออก เด็กไปติดครูเพราะหวังว่าครูจะช่วยปกป้องเหมือนกับที่แม่เคยปกป้อง สุดท้ายครูพยายามที่จะให้เด็กออกไปเล่นไปแสดงเป็นกลุ่มกับเพื่อนๆ ซึ่งเด็กก็ทำได้ แสดงว่าเด็กในลักษณะนี้ เราฝึกได้เรื่อยๆในสังคม ไม่ว่าเขาจะไม่ค่อยได้ออกสังคมก็ตาม ฝึกสักพักเขาก็จะชิน ในกรณีที่พ่อแม่เลี้ยงดูมาไม่ถูกต้อง ถ้าให้เด็กได้เข้าสังคม ไปโรงเรียนและเข้ากลุ่ม ก็จะเป็นวิธีที่จะช่วยขัดเกลานิสัยเด็กได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กวัยเล็กหรือเด็กวัยเรียนตอนต้น

 

6.เด็กขี้กังวลมากจนเสียกิจวัตรประจำวัน ต้องพบแพทย์เพื่อรักษา

สำหรับลูกคนเดียวที่ถูกทำให้เป็นคนขี้กังวลตามพ่อแม่นั้น การแก้ปัญหาก็คือลูกไม่ต้องแก้อะไร เพราะเป็นปัญหาที่พ่อแม่ที่ต้องแก้ไข โดยการลดทัศนคติที่ห่วงใยและขี้กังวลลง การลดความกังวลลงขึ้นอยู่กับสุขภาพจิตของแม่หรือพ่อว่ามีสุขภาพจิตดีเพียงใด ในส่วนนี้อาจให้คําแนะนําพ่อแม่ว่าไม่ต้องวิตกกังวลกับลูกมาก เด็กก็จะหายจากความคิดกังวลไปด้วย แต่ถ้าพ่อแม่มีพื้นฐานของสุขภาพจิตเป็นโรคประสาทขี้กังวล ก็เป็นเรื่องที่จะแก้ไขลูกให้หายวิตกกังวลได้ยาก เพราะต้องให้พ่อแม่คุยกับจิตแพทย์เพื่อทำจิตบำบัด ถ้าพ่อแม่ยังไม่หายลูกก็จะวิตกกังวลอยู่เรื่อยไป

 

เราสังเกตได้ว่าถ้าเด็กนั้นกังวลในระดับเหมือนเด็กทั่วไป ก็ถือว่าเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้ามีความกังวลมากจนกระทั่งรบกวนพัฒนาการของตนเอง หรือรบกวนกิจวัตรของตนเอง เช่น กังวลจนไม่สามารถออกไปเล่นกับเพื่อนฝูงได้ ก็เป็นการรบกวนพัฒนาการทางด้านสังคม หรือกังวลจนกระทั่งไม่เป็นอันเรียน อันนี้รบกวนพัฒนาการทางสติปัญญา หรือกังวลจนกระทั่งจะกินอะไรยากกลัวสกปรกไปหมด อันนี้ก็รบกวนพัฒนาการทางด้านกาย เพราะอาจได้รับอาหารไม่เพียงพอ เมื่อใดก็ตามที่เด็กเกิดกังวลจนเสียกิจวัตรประจำวัน หรือรบกวนต่อพัฒนาการต่างๆของเด็กแบบนี้ เมื่อนั้นก็ถึงเวลาที่จะต้องพามาพบแพทย์เพื่อรักษา แต่เด็กบางคนที่กังวลในเรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่างนี้พ่อแม่ไม่ต้องสนใจมาก ทำเฉยๆเสีย เดี๋ยวก็จะรู้ว่าความกังวลหรืองอแงไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากคนอื่นได้ เด็กก็เลิกไปเอง

 

7.เข้าใจลูกในช่วยวัยรุ่น และแก้ปัญหาด้วยหลักของเหตุผล

ถ้าลูกคนเดียวตัวเป็นวัยรุ่น โดยถูกพ่อแม่เลี้ยงมาแบบพ่อแม่ตามใจจนเคยตัว วิธีการแก้ไขแตกต่างจากเด็กเล็ก แต่ไม่แตกต่างไปจากหลักแก้ไขทั่วไป สำหรับวัยรุ่น คือ เราจะแก้ลำพังเฉพาะครู พ่อแม่ หรือจิตแพทย์เท่านั้นไม่ได้ วิธีแก้มันต้องมีการร่วมมือกันคือแก้ที่ตัวเด็กด้วย วัยรุ่นนั้นได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มเพื่อน เพราะฉะนั้นการแก้จะต้องแก้หลายทางโดย

7.1 แก้ที่ตัววัยรุ่นเอง

7.2 แก้ที่กลุ่มเพื่อน

7.3 แก้ที่พ่อแม่

7.4 แก้ที่ครู

ฉะนั้นถ้าวัยรุ่นมีลักษณะหงุดหงิดไม่ตั้งใจเรียน วิธีแก้คือต้องมีใครสักคนที่คุยกับเขา บุคคลที่เหมาะสมที่สุดคืออาจารย์แนะแนวที่โรงเรียน ซึ่งมีบทบาทสูงมาก ไม่ใช่จิตแพทย์หรือติดต่อวิทยากร เพียงแต่อาจาร์ยแนะแนวคือบุคคลที่เด็กคุ้นเคยและเห็นกันในโรงเรียน ซึ่งจะข้อบ่งชี้ว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องเพิ่มครูแนะแนวในโรงเรียนที่มีวัยรุ่น โดยครูแนะแนวนอกจากจะคุยกับเขาหรือชี้แนะให้แก่เขาว่าควรทำอย่างไรแล้ว กลุ่มเพื่อน ๆ เองก็ต้องมีการนำเข้ามาเป็นกลุ่มพูดคุยด้วยเพื่อคุยกันถึงปัญหาต่างๆว่าจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไรด้วย

 

พ่อแม่เองก็ต้องเข้าใจจิตวิทยาของวัยรุ่น ว่าเราจะไปคุมเขาเหมือนอย่างตอนที่เขายังเล็กไม่ได้ แล้ววิธีที่วัยรุ่นชอบคือพูดจากันด้วยความเข้าใจด้วยเหตุผลแต่ในขณะที่พูดด้วยความเข้าใจนั้น พ่อแม่ต้องหนักแน่นด้วยคำสั่งบางอย่าง ถ้าบอกว่า “ไม่” ก็ต้อง “ไม่” เพราะวัยรุ่นถึงเขาจะงอแงแต่ก็ยังเป็นเด็กที่มีความเกรงกลัวต่อผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อพ่อแม่เอาจริงโดยที่ยังรักเขา แล้วไม่ได้แสดงความโกรธอะไรเขา เด็กก็มักจะยอม เช่น เขาจะขอไปทัศนาจร ถ้าพ่อพูดคำเดียวว่า “ไปไม่ได้” ก็คือ “ไปไม่ได้” โดยไม่ได้แสดงความโกรธอะไร จนกระทั่งถึงวันที่พัฒนาการนั้นผ่านไปแล้ว เด็กก็จะเลิกงอแงเองเพราะเขารู้ว่ายังไงเขาก็ไม่ได้ไปแล้ว

 

8.นำเด็กเข้าค่ายเยาวชน เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันกับคนอื่น

ถ้าเด็กถูกเลี้ยงมาแบบเอาใจตัวเองและยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางทุกอย่างตลอดเวลา ปัญหาก็อาจเป็นปัญหาที่แก้ยาก แต่การแก้ปัญหาเด็กไม่มีอะไรที่เรียกว่าสายเกินไป เพียงแต่ว่าบางอย่างอาจแก้ยาก เราต้องเข้าใจจิตวิทยาวัยรุ่นก่อน ว่าเขาต้องการเป็นตัวของตัวเอง การเข้าค่ายจะช่วยแก้ปัญหาเด็กได้มาก เช่น เด็กที่มีปัญหาซึ่งพ่อแม่แก้ไม่ได้แต่สังคมอาจช่วยแก้ไขได้ โดยหากเด็กเข้าค่ายเยาวชนแล้วอาจจะดีขึ้น เพราะเด็กได้เรียนรู้เมื่ออยู่ในค่ายว่าเขาจะต้องทำอย่างไรบ้างจึงจะเข้ากับคนอื่นได้

 

9.พ่อแม่ต้องมีเหตุผลให้ลูกเท่าที่จะทำได้หากจำเป็นต้องขัดใจ

สิ่งสำคัญในการปรับตัวของพ่อแม่ เพื่อแก้ไขการเลี้ยงดูที่ผิดคือ จะต้องแสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังรักลูกอยู่ แม้จะมีความพยายามปรับพฤติกรรมจากที่เคยเป็น เช่น เมื่อเราห้ามหรือไม่ตามใจเขาแล้ว จนเหตุการณ์นั้นผ่านพ้นไป พ่อแม่ต้องมีพฤติกรรมที่เหมือนเดิม เช่น ห้ามไม่ให้ซื้อของเล่นแล้วเด็กงอแง จนสุดท้ายเด็กแพ้เรา แต่เราก็ยังแสดงความรักเหมือนเดิม เด็กที่หยุดร้องไห้แล้วเราก็อาจจะชมว่า “ดีมาก” พูดกันเข้าใจพ่อแม่ก็รักแล้ว เราก็อาจเอามือขยี้หัวเขาหน่อยเพื่อให้เด็กได้รู้ว่าพ่อแม่ยังเหมือนเดิม เวลาจะไปโรงเรียนพ่อแม่ก็ไปส่งยังคงรักเขาเหมือนเดิมทุกอย่าง เด็กเล็กๆนั้นไม่ต้องอธิบายมาก แต่ถ้าเป็นเด็กประถมหรือวัยรุ่น ต้องเข้าใจเขาและอธิบายให้เขาฟังแต่ไม่ต้องไปสาธยายหรือบ่นให้เขาฟัง

 

ที่มาและการอ้างอิง
ลูกคนเดียว เลี้ยงอย่างไรไม่เป็นปัญหา โดย รศ.นพ.อัมพล สูอำพัน