วันอาทิตย์, 6 ตุลาคม 2567

10 หายนะกรรมของการโกหกพ่อแม่ หรือผู้มีพระคุณ

กรรมข้อนี้เป็นกรรมอย่างง่ายที่สุดที่เด็กๆ ชอบกระทำ เพราะธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนมีกลไกป้องกันตนเองอยู่เสมอ เด็กๆ นั้นเมื่อถึงเวลาจวนตัวก็สามารถโกหกได้เพื่อปกป้องตนเอง คุณผู้อ่านที่มีลูกที่โตพอจะรู้ความอยู่บ้างก็อาจสังเกตเห็นได้เมื่อลูกทำผิดใดๆ แล้วมักสร้างเหตุการณ์กลบเกลื่อน หนึ่งในวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือโกหกออกไปเพื่อป้องกันตัวเอง การโกหกเพื่อป้องกันตัวเองแม้จะถือว่าเป็นกลไกการป้องกันตัวตามธรรมชาติก็ตาม แต่หากพ่อแม่รู้ทันและจับได้ว่าลูกโกหกก็คงว่ากล่าวตักเตือน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เขาติดเป็นนิสัย เริ่มแรกก็จะโกหกในสิ่งที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วไม่มีใครจับได้ หรือพ่อแม่จับได้แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเอาความ ก็จะทำให้เขาได้ใจกระทำการโกหกในสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

 

 

เมื่อเด็กคนนั้นเติบโตขึ้นมาโดยใช้การโกหกเป็นเครื่องมือในการเอาตัวรอด เขาก็จะสามารถก่อความวุ่นวายเดือดร้อนให้กับคนอื่นได้ และสามารถแผ่ขยายการกระทำไปในสังคมจนไปถึงระดับประเทศชาติ เพราะเมื่อเชื่อว่าทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาแล้ว จึงไม่มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป ทำชั่วได้ทุกอย่างตั้งแต่การหาข้ออ้างทำลายชีวิตผู้อื่น ฉ้อโกง คอรัปชั่น เบียดเบียนผู้อื่น และนำผู้อื่นไปสู่ความเสื่อม

 

ก่อนที่คนเราจะกระทำความผิดในระดับที่ใหญ่ๆ ได้ ก็ล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำที่เล็กๆ เป็นการสั่งสมความชั่วร้ายเอาไว้ในกมลสันดาน พระพุทธเจ้าจึงระบุการห้ามพูดโกหกไว้เป็นข้อห้ามพื้นฐานในความเป็นปกติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมต้องการความจริง ไม่ต่างจากการที่มนุษย์มีวิสัยรักชีวิต และรักหวงแหนในทรัพย์สินของตนเอง

 

การโกหกนั้นเป็นเรื่องที่พ่อแม่จึงต้องสอนบุตรให้เกรงกลัวกฎแห่งการโกหกพ่อแม่ให้ดี เพราะพ่อแม่ถือเป็นผู้มีพระคุณสูงสุดของมนุษย์ทุกๆ คน การโกหกพ่อแม่ก็เท่ากับการพูดหลอกลวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระคุณสูงสุดของตนเอง หากเป็นผู้ที่ไม่มีบุตรแต่ชอบโกหกพ่อแม่มา ในชาติปัจจุบันก็จะมีปากไม่สวย ฟันไม่สวย มีกลิ่นปาก มีปัญหาเรื่องปากเรื่องฟันอยู่ตลอดเวลา การใช้ชีวิตในสังคมก็จะมีแต่คนพูดจาหลอกลวงสารพัด ด่าว่าให้เสียหาย มีคนซุบซิบนินทาเรื่องของตนเอง มีคนคอยใส่ร้ายดูหมิ่นและส่อเสียดเราอยู่เสมอ ชอบผิดสัญญาต่อเรา และมีโอกาสที่เราจะหลงเชื่อคนอื่นได้ง่าย โดนหลอกได้ง่าย อีกทั้งยังไม่มีใครเชื่อถือในคำพูด เป็นคนที่พูดอะไรแล้วมักจะถูกเมิน พูดจาติดๆ ขัดๆ พูดติดอ่าง นึกจะพูดอะไรก็จะพูดไม่ได้ดั่งใจ

 

กรรมหนักที่กระทำต่อผู้มีพระคุณสูงและผู้มีพระคุณกับตนเองเหล่านี้ พระอริยสงฆ์เป็นครูบาอาจารย์อีกท่านหนึ่งกล่าวถึงผลร้ายไว้อย่างน่าคิดมากว่า

“บุคคลที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าปรากฏว่ามีใครก็ตามที่ประมาทพลาดพลั้ง หรือคะนองปากว่ากล่าว โกหก ตำหนิติเตียน นินทาว่าร้ายด่าบริภาษ แม้จะเป็นบุคคลที่เป็นคฤหัสถ์แต่มีคุณธรรมเทียบเท่ากับผู้ที่เป็นพระอริยสงฆ์จะมีผลร้ายแรงมาก”

นอกจากนั้นในทางปฏิบัติธรรมก็มีสิทธิ์ที่จะไปไม่ถึงมรรคผล นิพพาน แม้บุคคลผู้นั้นจะพากเพียรปฏิบัติธรรมอย่างไรก็ไม่อาจสามารถบรรลุมรรคผลได้เพราะกรรมหนักเหล่านี้คอยขวางทางอยู่ และจะเกิดความหายนะอย่างร้ายแรงที่สุด 10 ประการ คือ

  1. บุคคลผู้นั้นจะยังไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ
  2. เสื่อมจากความที่บรรลุแล้ว ฌาน สมาธิ จะเสื่อมทันที
  3. สัทธรรมของบุคคลผู้นั้นย่อมไม่บริสุทธิ์
  4. เป็นผู้หลงคิดว่าตนเป็นผู้บรรลุสัทธรรม
  5. ไม่ยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์
  6. ถ้าเป็นภิกษุต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
  7. ถูกโรคเบียดเบียนอย่างหนัก
  8. เข้าถึงความเป็นบ้ามีจิตฟุ้งซ่าน
  9. หลงตายอย่างขาดสติ
  10. เมื่อตายย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

 

ผลแห่งการพูดเท็จยังให้ผลร้ายแรง ไม่ใช่กับพ่อแม่เท่านั้น หากเป็นผู้มีพระคุณที่มีบุญคุณด้วยแล้วก็จะมีผลเสียหายหนักไม่แพ้กัน โดยมีเรื่องเล่าที่เป็นอุทาหรณ์ผลกรรมแห่งการโกหกเรื่องหนึ่งอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง

 

  • เรื่องเล่า โกหกเพราะกลัวเสียทรัพย์กับผู้มีพระคุณ

มีจักษุแพทย์หรือหมอรักษาดวงตาคนหนึ่งได้เดินทางท่องเที่ยวมารักษาคนตามหมู่บ้านต่างๆ ต่อมาคุณหมอคนนี้ได้พบอีกคนหนึ่งซึ่งเธอกำลังเจ็บป่วยได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคตาจนเกือบมองไม่เห็นอยู่แล้ว หมอก็ได้ตรวจดูแล้วบอกว่า “หมอพอจะรักษาให้หายเป็นปกติได้นะ” หญิงผู้นั้นได้ฟังก็อารามดีใจตอบว่า “ถ้าคุณหมอรักษาดวงตาของดิฉันให้หายและมองเห็นผิดปกติได้ ดิฉันกับลูกชายและลูกสาวจะยอมเป็นทาสรับใช้คุณหมอไปตลอดชีวิต”

 

คุณหมอจึงได้ลงมือรักษาอาการของหญิงผู้นั้นอย่างเต็มความสามารถ และไม่นานดวงตาของนางก็หายเป็นปกติได้จริงๆ แต่พอนางหวนระลึกถึงคำพูดของตนได้และกลัวว่าจะต้องเป็นทาสของคุณหมอไปตลอดชีวิต เมื่อคุณหมอกลับไปสอบถามอาการก็ดันโกหกอย่างร้ายแรงว่า “เมื่อก่อนดวงตาของฉันเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่พอหยอดยาของท่านแล้วกลับเจ็บปวดมากกว่าเดิม” หมอรู้ทันทีว่าหญิงคนนี้พูดจาโกหกหลอกลวง ก็รู้สึกโกรธมาก เพราะตนเองก็ไม่ได้คิดจะถือสาเรื่องที่นางพูดจาสาบานนั้นไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ตั้งใจจะรักษาให้ตามสมควรเท่านั้น การพูดโกหกด้วยเหตุผลเช่นนี้ถือเป็นการดูแคลนน้ำใจของเขามาก จึงลุแก่โทสะปรุงยาขนานใหม่ให้หญิงผู้นั้นใช้หยอดตา ซึ่งเมื่อนางใช้ยาขนานใหม่หยอดตาแล้ว ตาทั้งสองข้างก็บอดสนิททันที

 

เรื่องนี้จึงเป็นตัวอย่างได้ดีว่า การพูดจาโกหกหลอกลวงผู้อื่นเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์โทษกับตัวเองได้มากมายเพียงใด และผลของการโกหกนั้นจะยังย้อนกลับมาทางร้ายคนใกล้ชิดอีกด้วย เพราะเมื่อหญิงคนนั้นตาบอดก็ไม่มีโอกาสที่จะมาทำมาหาเลี้ยงชีพเลี้ยงดูครอบครัวได้อีก ในกรณีที่คนคนหนึ่งชอบพูดโกหกเป็นนิสัยหากไปก่อกรรมเข้ากับผู้ที่เป็นพระอริยสงฆ์ที่มีเนื้อนาบุญสูงๆ แล้ว ก็จะทำให้ยิ่งให้ผลร้ายแรงกับชีวิตอีกมากมาย

 

  • เรื่องเล่า สมัยพุทธกาล เกี่ยวกับพระมหาสาวกอย่างพระมหากัสสปเถระผู้เป็นเอตทัคคะในด้านการปฏิบัติธุดงควัตรว่า

ครั้งหนึ่งท่านมหากัสสปะได้ทักไปพำนักอยู่ในป่าเขตเมืองราชคฤห์ มีภิกษุหนุ่ม 2 รูปเป็นพระรับใช้ โดยที่ภิกษุทั้ง 2 รูปนั้นมีนิสัยแตกต่างกันชัดเจน รูปหนึ่งเป็นพระว่านอนสอนง่าย มีความซื่อตรงตั้งใจปฏิบัติต่อพระมหากัสสปะด้วยดี ส่วนอิกรูปนั้นมีนิสัยตรงกันข้าม ว่ายากสอนยาก ชอบคดโกง ชอบทำดีเอาหน้า และมักกล่าววาจาโกหกเป็นประจำ การกระทำหลายๆ อย่างในการรับใช้พระมหากัสสปะนั้น ภิกษุผู้ว่ายากจะเป็นผู้ที่ออกตัวเอาหน้าก่อนทั้งสิ้น เช่น เมื่อภิกษุผู้ว่าง่ายได้ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้พระมหากัสสปะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภิกษุใจพาลก็จะเข้าไปเรียนนิมนต์พระมหากัสสปะว่า น้ำฉันน้ำใช้ตนเองได้จัดเตรียมเอาไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

หรือเมื่อในเวลาเช้าตรู่ภิกษุผู้ว่าง่ายได้ลุกขึ้นไปปัดกวาดเสนาสนะทำความสะอาดบริเวณรอบๆ กุฏิจนจะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ภิกษุใจพาลผู้นี้ก็จะทำดีเอาหน้าฉวยทำนั่นทำนี่ประหนึ่งว่าตนเองเพิ่งจะทำงานเหล่านั้นสำเร็จ เหตุการณ์ได้เป็นไปแบบนี้อยู่เสมอจนที่สุดผู้ว่าง่ายเกิดความเอือมระอา จึงต้องการจะสั่งสอนให้ภิกษุใจพาลได้ทราบถึงผลการที่ทำการหลอกลวงด้วยกิริยาต่อพระมหาเถระผู้ทรงคุณอย่างพระมหากัสสปะว่ามีผลรุนแรงเพียงใด และต้องการให้อาการหลอกลวงของภิกษุผู้นี้ปรากฏต่อหน้าพระมหากัสสปะอย่างชัดแจ้ง

 

วันหนึ่งเมื่อจวนได้เวลาอาบน้ำของพระมหากัสสะปะเถระ ภิกษุผู้ว่าง่ายได้ต้มน้ำจนเสร็จแล้วนำไปซ่อนไว้ก่อน และทำการตั้งน้ำใหม่ประมาณครึ่งกระบวยไว้บนเตา ภิกษุใจพาลผู้ว่ายากพอเห็นน้ำเดือดมีไอโพยพุ่งออกมาก็รีบไปเรียนพระเถระ นิมนต์ท่านมาสรงน้ำ กราบเรียนว่าตนได้เตรียมน้ำไว้ให้เรียบร้อยแล้วเช่นเคย เมื่อพระมหากัสสปะมาถึง ท่านจะสรงน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ เนื่องจากภาชนะนั้นมีน้ำติดอยู่เพียงก้นภาชนะเท่านั้น ภิกษุใจพาลก็ได้แต่อ้ำอึ้งตกตะลึงในสิ่งที่เห็น ภิกษุผู้ว่าง่ายจึงได้นำน้ำที่ซ่อนเอาไว้มาผสมให้พระมหาเถระอาบได้ตามปกติในเวลาเย็น พระมหากัสสปเถระจึงได้ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุใจพาลนั้นเพื่อเตือนสติเรื่องโทษของการโกหกว่า

“ธรรมดา สมณควรเป็นคนพูดจริง ไม่ควรพูดว่าทำในสิ่งที่ตนไม่ได้ทำ ไม่ควรพูดว่ารู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ การพูดเท็จทั้งๆ ที่รู้ (สัมปชานมุสาวาท) เป็นความต่ำทรามของสมณะ เป็นกรรมอันลามกของสมณะ เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธอจงอย่าทำอย่างที่เคยทำมาแล้วอีกเลย”

 

ภิกษุผู้ว่ายากแทนที่จะสำนึกถึงคำสอนและบุญคุณของครูบาอาจารย์กลับผูกโกรธแต่พระมหากัสสะปะเถระไปเสีย วันรุ่งขึ้นจึงไม่ยอมไปบิณฑบาตกับพระมหากัสสะปะด้วย ซ้ำยังเดินไปบิณฑบาตไปสู่ตระกูลที่คอยอุปัฏฐากพระมหากัสสะปะเถระอีก โดยบอกแก่ตระกูลนั้นด้วยคำโกหกอีกว่า “ที่มาเพียงรูปเดียวนั้น ก็เพราะพระมหากัสสะปะเถระไม่สบาย”

 

เมื่อเป็นดังนั้นภิกษุใจพาลจึงได้อาหารชั้นเลิศจากกูลผู้อุปัฏฐากพระมหากัสสปะจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้นำไปถวายต่อพระมหากัสสปะ เมื่อพระมหากัสสปะทราบความเรื่องนี้ก็ได้กล่าวเตือนภิกษุผู้นั้นอีกครั้งว่า

“เธอประพฤติอนาจารเห็นปานนี้ย่อมไม่ควร เธอขอของฉัน (ภัตตาหาร) จากสกุลนู้นบอกว่าเพื่อเราผู้ไม่สบายทั้งที่เธอขอมาเพื่อขบฉันเอง เป็นการหลอกลวงเลี้ยงชีพ ไม่สมควรแก่สมณะ เธออย่าประพฤติอนาจารเช่นนี้อีกเลย”

 

ภิกษุใจพาลนั้นก็ยิ่งผูกโกรธต่อพระมหากัสสปเถระมากยิ่งขึ้น ทุกเช้าเมื่อพระมหากัสสปเถระออกบิณฑบาต ภิกษุใจพาลนี้จึงได้เอาค้อนไปทุบภาชนะต่างๆ ที่เป็นของใช้ของพระมหากัสสปะจนหมดสิ้น แล้วจุดไฟเผากุฏิเสียวายวอดจนหมด เสร็จแล้วจึงหนีไป

 

ผลกรรมตามสนองทันตา กรรมที่โกหกพระมหากัสสปเถระครั้งแล้วครั้งเล่า และได้สร้างกรรมทำลายข้าวของของครูบาอาจารย์ ทำให้ภิกษุผู้นั้นต้องมีชีวิตอยู่อย่างเปรต คือเจ็บป่วยอย่างหนักจนไม่สามารถออกไปบิณฑบาตได้ ร่างกายก็ต้องผ่ายผอมซีดเซียว ในที่สุดเมื่อทำการกิริยาแล้วด้วยจิตที่คิดอกุศลต่อพระมหากัสสปะ จึงนำพาไปสู่อเวจีมหานรก ต่อมาภายหลังเรื่องนี้ได้ทราบถึงพระพุทธเจ้า โดยภิกษุพวกหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของพระมหากัสสปะเป็นผู้เล่าถวาย พระบรมราชาจึงตรัสว่า

“การเที่ยวไปผู้เดียวของกัสสปะ ประเสริฐกว่าการสมาคมด้วยคนพาลเช่นภิกษุนั้น เพราะคุณความเป็นสหายไม่มีในคนพาล การเกี่ยวข้องด้วยคนพาลแม้จะพูดดีด้วย เขาก็โกรธ ดังเช่นพระมหากัสสปเถระถ้าสั่งสอนด้วยดี แต่ภิกษุนั้นก็ผูกโกรธท่าน คนที่มีปกติพูดเท็จจะไม่ทำบาปเป็นไม่มี”

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ในคัมภีร์สัพพลหุสสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 23 เรื่องโทษของการเป็นคนโกหกนั้นให้ผลเสียและมีทุคติภูมิเป็นที่ไป ความว่า “คนที่พูดเท็จหรือพูดโกหกเป็นประจำจนติดเป็นนิสัย จะทำให้ไปเกิดในนรก ในภูมิสัตว์เดรัจฉาน ในภูมิเปรต ด้วยวิบากกรรมอย่างเบาสุด พอพ้นจากนรกนั้นแล้ว เมื่อมาเกิดในโลกนี้จะถูกใส่ร้ายป้ายสีจากคนอื่นอยู่เป็นนิจ”

 

โทษของการโกหกมีมากมายเช่นนี้ พ่อแม่จึงควรที่จะช่วยกันสอนลูก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลายเป็นคนที่ติดนิสัยโกหกก่อนที่จะสายเกินแก้ ให้เขาเติบโตขึ้นมาติดนิสัยไม่ดีและไปรอรับผลกรรมที่ทำไว้กับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก

 

ที่มาและการอ้างอิง

กรรมที่พ่อแม่ต้องรู้ ลูกต้องหยุดทำ   ผู้แต่ง ญาณกร  จิตตวชิระ ผู้แต่งร่วม