วันพฤหัสบดี, 2 พฤษภาคม 2567

เกร็ดความรู้เรื่องสมุนไพรไทย: 5 สมุนไพรพื้นบ้านต้านมะเร็ง หากินง่ายใกล้ตัวมาก Ep.50

จริง ๆ แล้ว พืชผักสมุนไพรไทย ที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านโรคมะเร็งมีเยอะมาก ไม่ใช่เพียงแค่ 5 ชนิดที่ยกมา ซึ่งทุกคนสามารถหารับประทานในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่านั้น ผัก 1 ชนิด ไม่ได้มีฤทธิ์ในเรื่องมะเร็งเพียงอย่างเดียว ยังช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานและพลังงานอย่างอื่น ๆ ได้อีก

แต่การที่เราจะรับประทานผักชนิดใด เพื่อโรคใดโรคหนึ่ง ก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ถึงผลข้างเคียงด้วย เพราะร่างกายคนเรามีภูมิต้านทางต่างกัน ดังนั้น ของ 1 ชิ้น ไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะกับทุกคนเสมอไป

เราไปดูกันว่าพืชผักสมุนไพร 5 ชนิด ที่มีฤทธิ์ในการต่อต้านโรคมะเร็งได้ในระดับดีและรับประทานได้ง่าย ๆ มีอะไรบ้าง

1.ดอกแค

น้ำคั้นจาก “ดอกแคสด” มีสรรพคุณแก้ปวดหัว มึนหัว และคัดจมูก “ยอดแค” มีสารเบต้าแคโรทีนสูงมาก โดยสารเบต้าแคโรทีนจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคมะเร็งได้

ยอดแคมีสารเบต้าแคโรทีนมากกว่าดอกแค แต่ในขณะเดียวกันดอกแคก็มีวิตามินซีสูงกว่ายอดแคด้วยเช่นกัน

จากการวิจัยพบว่า หากรับประทานดอกแคสดๆ ประมาณ 100 กรัม จะได้วิตามินซีถึง 35 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่ามีสรรพคุณในการช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ป้องกันไข้หวัด และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกายได้อย่างมาก

2.มะขามป้อม

มะขามป้อมเม็ดกลม ๆ เล็ก ๆ แต่มีสรรพคุณที่เชื่อว่า หลายคนคงจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ก็คือการช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ

ซึ่งหากใช้กันตามวิถีภูมิปัญญาไทย ก็จะนิยมกินเป็นลูกสด ๆ หรือนำมาตำให้ละเอียด เติมเกลือและน้ำผึ้งเล็กน้อยก่อนกินก็ได้ ส่วนปัจจุบันก็มีผู้นำมะขามป้อมมาแปรรูปผลิตเป็นยาอมแก้ไอที่พกกันได้อย่างสะดวก

อย่างไรก็ตาม นอกจากสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่ามะขามป้อมยังมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งอีกด้วย

โดยนักวิจัยได้ทำการทดลองฉีดเซลล์มะเร็งชนิด Daltons lymphoma ascites cell (DLA) เข้าช่องท้องหนูทดลอง หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง จึงให้สารสกัดผลมะขามป้อมทางปาก 5 วัน โดยให้วันเว้นวัน พบว่าการให้สารสกัดจากผลมะขามป้อมปริมาณ 1.25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นั้นมีผลช่วยยืดอายุหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นมะเร็งช่องท้องได้ถึง 20 %

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาผลของการใช้สารสกัดผลมะขามป้อมต่อขนาดของก้อนมะเร็งด้วย โดยได้ทำการฉีดเซลล์มะเร็งชนิด DLA เข้าใต้ผิวหนังที่ขาขวาหลังของหนูทดลอง หลังจากนั้น 24 ชั่วโมง ให้สารสกัดผลมะขามป้อมทางปากติดต่อกัน 10 วัน

จากนั้นตรวจขนาดของก้อนมะเร็งวันที่ 30 ของการทดลอง ผลปรากฏว่าสารสกัดผลมะขามป้อมขนาด 1.25 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม มีผลทำให้ก้อนมะเร็งเล็กลงเหลือ 1.75 มิลลิเมตร

ในขณะที่กลุ่มควบคุมมีก้อนมะเร็งขนาด 4.6 มิลลิเมตร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มะขามป้อมอาจมีผลยับยั้งเอนไซม์ชนิดที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้นั่นเอง

3.ขิงผงชงละลาย

พูดถึงขิง นอกจากจะนึกถึงเต้าฮวยน้ำขิงแล้ว กับข้าวอีกหลายเมนูเราก็มีขิงเป็นส่วนประกอบที่ช่วยเสริมรสและดับคาวได้อย่างดี

แต่นอกจากความหอมอร่อยแถมด้วยเผ็ดร้อนเล็กๆ แล้ว ทราบหรือไม่ว่า ขิงยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดความดัน ลดคอเลสเตอรอล ลดอาการปวด รวมถึงช่วยแก้อาการกระวนกระวาย และคลื่นไส้อาเจียนได้

โดยในทางการแพทย์แผนจีน ก็มีขิงเป็นสมุนไพรพื้นบ้านช่วยในการบำบัดรักษาโรคมานานแล้ว อีกทั้งยังมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่า ขิงแห้งช่วยทำให้กระเพาะอาหารแข็งแรง อีกทั้งยังมีฤทธิ์ช่วยต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนด้วย

ล่าสุด ไม่เพียงประเทศตะวันออกเท่านั้น ที่ตระหนักถึงสรรพคุณของขิงในการช่วยบำบัดรักษาโรค มีรายงานจากการประชุมของสมาคมการวิจัยโรคมะเร็งแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า

ขิงสามารถช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งรังไข่ได้ ด้วยผลการวิจัยนี้ได้มาจากการที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ทำการทดลองด้วยการนำขิงผงสำเร็จรูป ที่วางขายทั่วไปมาละลายในสารละลาย แล้วนำไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งรังไข่ที่เพาะเลี้ยงไว้

พบว่าขิงนั้นมีฤทธิ์ทำให้เซลล์มะเร็งรังไข่ตายได้ โดยการทำลายเซลล์มะเร็งรังไข่ของขิงนั้น เกิดขึ้น 2 รูปแบบ คือ แบบที่หนึ่งเป็นการทำให้เซลล์มะเร็งส่งสัญญาณทำลายตัวเอง และอีกแบบหนึ่งคือกระบวนการฆ่าเซลล์แบบที่ทำให้เซลล์ย่อยสลายตัวเอง

ซึ่งการทดลองครั้งนี้ ก็ได้ผลคล้ายคลึงกับการทดลองของนักวิจัยศูนย์มะเร็งที่ประเทศอังกฤษก่อนหน้านี้ ที่พบว่าสารสกัดขิง สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ โดยผลที่เกิดขึ้นนี้อาจเกิดจากสรรพคุณของขิงในการควบคุมการอักเสบ และกลไกในการเกิดการอักเสบนั้น ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งขึ้น

ดังนั้นจึงพบว่า ขิงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้นั่นเอง ผลการวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อยที่สมุนไพรไทย ที่หาได้ไม่ยากนัก แต่มีคุณประโยชน์ในการรักษาโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม การวิจัยดังกล่าวยังถือเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ซึ่งเราก็ต้องรอติดตามต่อไป

4.ข้าวก่ำ 

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า อาหารหลักของคนไทยตั้งแต่เด็กกระทั้งเติบโตมาจนวาระสุดท้ายของชีวิต ก็คือข้าว และถามว่าข้าวที่กินกันทุกวันนี้คือข้าวพันธุ์อะไร เชื่อว่าหลายคนก็คงรู้จักเพียงข้าวหอมมะลิ บางคนรู้มากหน่อยก็อาจจะเพิ่มมาเป็นพันธุ์ กข บ้าง พันธุ์ กข 15 บ้าง หรือข้าวมะลิ 105 บ้าง

ซึ่งเป็นชื่อพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ตาม แท้ที่จริงเมืองไทยเรานั้น มีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านมากมาย ซึ่งมีประโยชน์ทั้งในเชิงคุณค่าทางโภชนาการ และมีความสัมพันธ์ทางประเพณีและวัฒนธรรมของชาวนาไทยมากมาย และข้าวก่ำก็เป็นหนึ่งในข้าวพื้นบ้าน ซึ่งเคยปลูกมากในพื้นที่แถบเชียงใหม่และน่าน

ข้าวก่ำที่กล่าวถึงนี้ ในอดีตเคยมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของชาวบ้านไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความนิยมในการนำข้าวก่ำ หรือข้าวเหนียวเมล็ดสีแดง ไปทำขนมจำพวกข้าวหลาม หรือขนมเทียนกินกัน

หรือการใช้ข้าวก่ำในการบำบัดรักษาโรค โดยมีความเชื่อว่า หากหญิงคลอดลูกแล้วตกเลือด ก็จะใช้ข้าวก่ำมาทำข้าวหลามกิน อาการก็จะทุเลา บางคนก็ใช้ในการบำบัดรักษาอาการท้องร่วง 

นอกจากนี้ ในแถบภาคใต้ก็มีภูมิปัญญาในการนำข้าวก่ำมาใช้รักษาโรคผิวหนัง โดยเฉพาะโรคจิตด้วยเช่นกัน

ภูมิปัญญาในการใช้ข้าวก่ำในการบำบัดรักษาโรคที่พูดถึงนี้ หาได้เป็นเพียงความเชื่อของชาวบ้านแต่อย่างใด เพราะปัจจุบันได้มีคณะวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยคุณค่าของโภชนาการข้าวก่ำแล้วพบว่า

ข้าวพื้นบ้านสายพันธุ์นี้ มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างแอนโทไซยานิน และแกรมมาโอไรซานอล ซึ่งสามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจ ลดคอเลสเตอรอลรวมถึงน้ำตาลในเลือดได้

ที่สำคัญทีมวิจัยยังพบว่า ข้าวก่ำนี้ยังมีสรรพคุณในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดได้อย่างดีด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ นอกจากข้าวก่ำจะมีสรรพคุณในการช่วยป้องกันและบำบัดรักษาโรคโดยเฉพาะโรคหัวใจ และโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ข้าวก่ำยังมีประโยชน์ในเชิงธรรมชาติ โดยสีออกแดงม่วงของข้าวก่ำ ยังมีส่วนช่วยป้องกันโรคและแมลงได้อย่างดี ซึ่งหากเกษตรกรปลูกสลับกับข้าวขาว ก็จะเป็นเสมือนตัวช่วยป้องกันโรคและแมลงได้ในตัวอีกด้วย

 5.ผักโขม 

ผักโขมช่วยเพิ่มพลังให้กับร่างกาย หากกินผักโขมแล้วจะแข็งแรง เหล่านี้เป็นความรู้ความจำที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อสมัยที่การ์ตูนป็อบอายกำลังฮิต

แต่ความจริงแล้ว ทราบหรือไม่ว่าคนโบราณ เขาก็ใช้ผักโขมเพื่อเป็นอาหารบำรุงน้ำนม หรือแม้แต่ใช้เป็นยาช่วยดับพิษภายในภายนอก แก้ริดสีดวงจมูก รักษาฝีแผลพุพอง รวมถึงแก้อาการคันตามผิวหนังกันมานานแล้ว

มาวันนี้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น จึงมีการศึกษาวิจัยและพบว่า เหตุที่ผักโขมมีสรรพคุณและคุณค่ามากมายนั้น ก็เพราะว่ามีสารอาหารอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน แมงกานีส  โฟเลส ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น

มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สารต่อต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซีและเบต้าแคโรทีน จะช่วยทำให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น หรือแมกนีเซียมในผักโขมก็จะช่วยควบคุมให้ความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติได้

ที่สำคัญยังพบว่าผู้หญิงที่กินผักโขมมาก ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ด้วย

นอกจากนี้ ในเวทีประชุมเรื่องอัลไซเมอร์อาจารย์เจ ฮี แกง แห่งโรงพยาบาลฮาร์เวิร์ด บริดแฮม แอนด์ วูลแมนด์ ณ เมืองบอสตัน ยังได้เสนอรายงานวิจัยที่เขาทำการศึกษาพบว่า ผักโขมรวมถึงผักบร็อกโคลี่ สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความจำเสื่อมของผู้หญิงได้

โดยได้ศึกษาพฤติกรรมการกินอาหารตลอดช่วง 10 ปีขึ้นไป ของผู้สูงอายุวัยระหว่าง 60 ปี จำนวน 13,388 คน และพบว่าผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 60 ปี ที่ชอบกินพวกผักดอง ผักใบเขียว พวกบร็อกโคลี่ ผักโขม และผักกาด มากกว่าผู้หญิงอื่น ๆ พอก้าวเข้าสู่ช่วงวัยขึ้นเลข 7 เมื่อมาทดสอบด้านความจำทักษะการพูด และด้านความสนใจ ปรากฏว่าได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าผู้ที่กินผักน้อยอย่างชัดเจนเลยทีเดียว

ที่มาและการอ้างอิง

50 วิธีหยุดป่วยด้วยสมุนไพร นาถศิริ ฐิติพันธ์ เรียบเรียง
รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์