วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

กวาวเครือขาวมีสรรพคุณในการต้านมะเร็งเต้านม ป้องกันกระดูกพรุน ควบคุมคอเลสเตอรอล และลดภาวะวัยทอง Ep.56

ผลการทดลองในหนูและสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงบ่งบอกว่ากวาวเครือขาวมีสรรพคุณในการต้านมะเร็งเต้านม ป้องกันกระดูกพรุน ควบคุมคอเลสเตอรอล และลดภาวะวัยทอง และยังพบอีกว่าการใช้น้ำมันงาปรุงอาหาร และการกินโปรตีนจากถั่วเหลือง ก็สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้อย่างมากเหมือนกัน

 

 

1.กวาวเครือขาว ทั้งต้านมะเร็งเต้านม ป้องกันกระดูกพรุน ควบคุมคอเลสเตอรอล และลดภาวะวัยทอง

มีการเปิดเผยสรรพคุณของกวาวเครือขาวที่กล่าวกันว่า จะทำให้ผู้หญิงมีหน้าอกเต่งตึง หรือกวาวเครือแดงมีสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย ข้อมูลบางอย่างก็เอ่ยอ้างว่า กวาวเครือขาวเป็นสมุนไพรสำหรับสตรีวัยทอง และได้ชื่อว่าเป็นราชินีสมุนไพรไทยที่มีชื่อเสียงมานานนับร้อยปี ตามตำราแผนโบราณได้กล่าวถึงสรรพคุณของกวาวเครือไว้ดังนี้ คนอ่อนเพลีย ผอมแห้ง แรงน้อย นอนไม่หลับ กินไม่ได้ กินยานี้ 20 – 30 วัน โรคอ่อนเพลียหายสิ้น นอนหลับสบาย เดินไปมาได้ตามปกติ กวาวเครือบำรุงโลหิต บำรุงสมอง บำรุงกำลัง หญิงอายุ 70 – 80 ปี กินแล้วอ้วนท้วนสมบูรณ์ กลับมีระดูอย่างสาว นมมีไตแข็งขึ้นอีก ชายกินแล้วนมแตกพานแข็งเหมือนเด็กหนุ่ม มีกล้าม เนื้อหนังเต่งตึง เป็นต้น แต่มีข้อห้ามว่า ห้ามคนหนุ่มสาวกิน และต้องหยุดกินเมื่อมีอันตราย

 

กวาวเครือขาว ยาประเภทฮอร์โมน สารสำคัญในเครือขาวมีมากมายที่เด่นๆ ได้แก่ miroestrol, daidzein, puerarin, สารต่างๆ เหล่านี้หลายชนิดมีคุณสมบัติเป็นไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) คือเป็นเอสโตรเจนที่ได้จากพืช และออกฤทธิ์เช่นเดียวกับเอสโตรเจนทุกประการ ด้วยออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (receptor) เดียวกับเอสโตรเจน กวาวเครือขาวจึงถูกจัดเป็นยาประเภทฮอร์โมน เพราะว่ามีการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจนทุกประการ ปัจจุบันกวาวเครือชนิดรับประทานได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นตำรับยาแผนโบราณ และยาแผนโบราณสามัญ ประจำบ้าน โดยมีการรับรองว่าหากทานในปริมาณประมาณ 100 มิลลิกรัม เป็นที่ยอมรับว่าปลอดภัย และผ่านการวิจัยในความเป็นพิษระยะยาวในหนูทดลองแล้ว

 

ตำราโบราณยังกล่าวถึงการผสมกวาวเครือขาวร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ตรีผลา คือ มะขามป้อม สมอไทย สมอพิเภก โดยเฉพาะตรีผลา มีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย การกินร่วมกับกาวเครือจึงยิ่งช่วยให้ร่างกายมีสมดุลที่ดี

 

กวาวเครือกับโรคมะเร็ง ก่อนหน้านี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งบอกว่า การใช้กวาวเครือสามารถยับยั้งมะเร็งหรือป้องกันมะเร็งได้ แต่เมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา ได้มีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากจุฬาฯและสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ค้นพบศักยภาพของกวาวเครือขาวว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมได้ งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาต่อเนื่องจากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิจัยด้านเภสัชกรรมพื้นบ้านชื่อ “Journal of Ethno-pharmacolgy” ซึ่งมีเนื้อความโดยสรุปว่า รศ.ดร. พิชัย เชิดชีวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ได้ค้นพบศักยภาพของกวาวเครือขาว สายพันธุ์วิชัย 3 ในการออกฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดกวาวเครือขาวที่มีความเข้มข้นระดับปานกลางถึงปริมาณสูง และผลการต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็งนี้จะมากยิ่งขึ้นถ้ามีฮอร์โมนเอสโตรเจนด้วย ดังนั้นนักวิจัยจึงได้ดำเนินการทดลองขั้นต่อไปในสัตว์ทดลอง โดยป้อนผงกวาวเครือขาวสายพันธุ์ดังกล่าวให้หนูเพศเมียวัยหย่านมเป็นเวลานาน 28 วัน จากนั้นจึงกระตุ้นหนูทดลองให้เกิดมะเร็งเต้านมโดยใช้สารก่อมะเร็ง 7, 12 – DMBA พบว่าหนูที่ป่วยเป็นมะเร็งดังกล่าวและได้รับกวาวเครือขาว มีความรุนแรงของมะเร็งลดลงตามปริมาณกวาวเครือที่ได้รับเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้เทคนิคการย้อมสีเนื้อเยื่อมะเร็งเต้านมด้วยแอนตี้บอดี้ จำเพาะต่อตัวรับเอสโตรเจนแอลฟา และตัวรับเอสโตรเจนเบตา

 

ผลทดลองพบว่า กวาวเครือขาวมีผลลดปริมาณตัวรับเอสโตรเจนแอลฟาได้มากกว่าตัวรับเอสโตรเจนเบตา นอกจากนี้ สัดส่วนของตัวรับเอสโตรเจนแอลฟาต่อตัวรับเอสโตรเจนเบตา ยังลดลงตามการได้รับกวาวเครือขาวที่เพิ่มขึ้น แสดงว่า กวาวเครือขาวออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม ในสัตว์ทดลอง โดยการไปกดการสร้างตัวรับเอสโตรเจนแอลฟา งานวิจัยครั้งนี้ได้พิสูจน์ว่า การได้รับไฟโตเอสโตรเจน ในรูปผงแห้งที่ได้จากรากหรือหัวของพืชที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนสูง เช่น กวาวเครือขาว มีศักยภาพในการต้านมะเร็งเต้านม อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการโภชนาการเป็นหมู่มาก

 

ผู้สูงวัยกับภัยของภาวะกระดูกพรุน ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงวัยมากกว่า 60 ปี ประมาณ 7 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะเพิ่มถึง 10 ล้านคน ผู้สูงอายุเหล่านี้จะต้องเผชิญกับปัญหา “โรคกระดูกพรุน” (osteoporosis) อย่างแน่นอน โดยที่อาการของโรคจะปรากฏเมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรง ทั้งอาการปวด โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นกระดูกหัก ทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอาจพิการถึงขั้นเสียชีวิตได้ นักวิจัยได้พยายามหาหนทางศึกษาคุณสมบัติพืชสมุนไพรท้องถิ่นในประเทศ เพื่อพัฒนาตัวยาที่จะนำมาใช้ทดแทนยาป้องกันโรคกระดูกพรุนราคาแพงที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ กวาวเครือขาวจึงเป็นตัวเลือกสำคัญเพราะเป็นพืชที่ถูกนำมาใช้ทดแทนฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ได้ และยังมีสรรพคุณช่วยชะลอการลดลงของมวลกระดูก เพื่อป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน

 

งานวิจัยของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัยที่ชื่อ “ผลของกวาวเครือขาวต่อการสูญเสียมวลกระดูกในหนูขาวที่ถูกตัดต่อมบ่งเพศออก” ผลการวิจัยค้นพบว่า “กวาวเครือขาว” มีสาร “ไฟโตเอสโตรเจน” (Phytoestrogen) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติและการทำงานเหมือนกับฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า สำหรับการวิจัย ในขั้นต้นทีมวิจัยได้เตรียมสมุนไพรกวาวเครือขาว โดยเก็บส่วนหัวมาฝานและนำไปอบแห้งที่อุณหภูมิ 60 – 70 องศา แล้วนำมาป่นเป็นผง เก็บไว้ในที่มืดและไม่มีความชื้น จากนั้นนำหนูมาเลี้ยงไว้จนอายุ 7 เดือน เพื่อให้มวลกระดูกมีการเจริญเติบโตเต็มที่ และทำการแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม โดย

  • กลุ่มที่ 1 เป็นหนูกลุ่มควบคุม เป็นหนูปกติที่ไม่ได้ถูกตัดต่อมบ่งเพศออก
  • กลุ่มที่ 2 – 6 เป็นหนูที่ทำการตัดรังไข่ในกรณีของหนูเพศเมีย หรือตัดอัณฑะออกในกรณีของหนูเพศผู้ เพื่อให้หนูอยู่ในสภาวะที่มีการลดลงของฮอร์โมนเพศและเกิดภาวะกระดูกพรุนในที่สุด โดยหนูกลุ่มที่ 2 ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ และกลุ่มที่ 3 ได้รับน้ำกลั่น
  • ส่วนกลุ่มที่ 4, 5 และ 6 ได้รับกวาวเครือขาวในขนาด 10, 100 และ 1000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม ทุกๆ วัน นาน 3 เดือน จากนั้นทีมวิจัยจึงนำหนูทั้ง 6 กลุ่ม มาสแกนกระดูกเพื่อวัดมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องตรวจวัดมวลกระดูก (peripheral Quantitative Computed Tomography: pQCT)

 

ผลวิจัยพบว่าหนูในกลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ สามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกได้ประมาณ 80% ส่วนหนูในกลุ่มที่ได้รับสมุนไพรกวาวเครือขาวในขนาด 10, 100 และ 1000 มิลลิกรัม สามารถป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกได้ประมาณ 20% 85% และ 100% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับหนูกลุ่ม 3 ที่ได้รับน้ำกลั่นเพียงอย่างเดียว

 

ส่วนหนูกลุ่มที่ 3 นี้ กลับมีการสูญเสียมวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ถูกตัดต่อมบ่งเพศออก บ่งชี้ได้ว่า สมุนไพรกาวเครือขาว สามารถช่วยลดการสลายของมวลกระดูกได้เช่นเดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจน มีความน่าสนใจของสมุนไพรกวาวเครือขาวที่พบ คือความเข้มข้นของตัวยาที่ได้ใช้สมุนไพรจำนวนน้อย แต่มีความเข้มข้นของตัวยาสูง โดยผงกวาวเครือขาว 100 กรัม มีสารไฟโตเอสโตรเจนสูงถึง 140 มิลลิกรัม

 

ผงกวาวเครือขาวขนาด 100 มิลลิกรัม ทดสอบในหนูมีฤทธิ์ป้องกันการสลายกระดูกเทียบได้กับฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ในขนาด 100 ไมโครกรัม ที่สำคัญคุณสมบัติของสารไฟโตเอสโตรเจนในกวาวเครือขาวยังมีฤทธิ์ในการช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และลดภาวะกลุ่มอาการวัยทองในสตรีได้ด้วย

 

2.ใช้น้ำมันงาปรุงอาหาร ช่วยลดความดันโลหิตได้

ดูเหมือนว่าเมนูผัดๆ ทอดๆ ที่ต้องใช้น้ำมันเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปรุง จะเป็นเมนูคู่ครัวไทยอยู่เสมอ และการเลือกใช้น้ำมันให้เหมาะสม ก็มีผลต่อสุขภาพเราไม่น้อย โดยในปัจจุบันในท้องตลาดก็มีน้ำมันพืชหลากหลายชนิดให้เลือกใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย ตลอดจนน้ำมันงา ซึ่งแต่ละชนิดก็มีประโยชน์แตกต่างกันไป

 

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่นั้น น้ำมันงาน่าจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เลว เพราะได้มีการศึกษาวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยชายและหญิงที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงระดับน้อยถึงปานกลาง คือตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มม.ปรอท ส่วนตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มม.ปรอท โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้รับยาขับปัสสาวะเป็นยาลดความดันโลหิตสูงได้แก่ hydrochlorothizide หรือ ฿-blocker atenilol ติดต่อกันนาน 1 ปี ก่อนเข้าร่วมการศึกษา และก็ยังได้รับยาดังกล่าวตลอดการศึกษาด้วย เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างคือผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับน้ำมันงากลับไปประกอบอาหารในครอบครัว 4 – 5 กิโลกรัมต่อเดือน สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกไม่เกิน 4 คน โดยจะต้องใช้เฉพาะน้ำมันงาในการประกอบอาหารเพียงชนิดเดียวติดต่อกัน 45 วัน จากนั้นให้หยุดใช้น้ำมันงา เปลี่ยนมาใช้น้ำมันที่เคยใช้อยู่อีก 45 วัน มีการตรวจร่างกาย ความดันโลหิต น้ำหนักตัว, Body mass index (BM), ระดับไขมันอิเลคโตรไลท์ และเอนไซม์ในเลือด ทั้งในช่วงก่อนการศึกษาหลังจากกินน้ำมันงา 45 วัน และหลังจากหยุดกินน้ำมันงา 45 วัน

 

จากการศึกษาพบว่า การใช้น้ำมันงาแทนที่น้ำมันชนิดอื่นในการประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ทำให้ค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างกลับลงสู่ระดับปกติ น้ำหนักร่างกาย และ BMI ลดลง แต่หลังจากหยุดใช้น้ำมันงาค่าดังกล่าวกลับสูงขึ้น แต่ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดไม่แตกต่างกัน เมื่อวัดผลทั้ง 3 ช่วงเวลาที่ศึกษา ยกเว้นระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดต่ำลงเมื่อใช้น้ำมันงา และกลับสูงขึ้นเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา นอกจากนี้เมื่อวัดค่าอื่นๆ พบว่า

  • ระดับโซเดียมในเลือดลดลงในผู้ใช้น้ำมันงา และเพิ่มสูงขึ้นเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา
  • ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นเมื่อใช้น้ำมันงา และลดลงสู่ค่าปกติเมื่อหยุดใช้น้ำมันงา

การเกิด lipid peroxidation ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่ออนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่อิ่มตัว และทำให้เกิดการทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ ค่าของปฏิกิริยาดังกล่าวได้ลดลงเมื่อใช้น้ำมันงา และค่ายังคงที่หลังจากที่หยุดใช้น้ำมันงาแล้ว

 

ระดับเอนไซม์ catalase และ superoxide dismutase ในเลือดสูงขึ้น และ glutathione peroxidase ในเลือดลดลงเมื่อใช้น้ำมันงา และค่ายังคงที่หลังจากหยุดใช้น้ำมันงานแล้ว ระดับวิตามินซี วิตามินอี เบต้า-แคโรทีน และ reduced glutathione สูงขึ้นเมื่อใช้น้ำมันงาน และลดลงหลังจากหยุดใช้น้ำมันงา

 

จากข้อมูลที่พบก็แสดงว่า น้ำมันงาสามารถช่วยลดความดันโลหิต ลดการเกิด ipid peroxidation (ปฏิกิริยาทำลายเยื่อหุ้มเซลล์) และเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้อย่างดี อย่างไรก็ตาม การวิจัยครั้งนี้ก็เป็นการวิจัยที่มีการใช้น้ำมันงานร่วมกับยาขับปัสสาวะเพื่อลดความดันโลหิตสูง นับเป็นการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการกินในวิถีชีวิตของตนเองได้อย่างดี

 

3.กินโปรตีนจากถั่วเหลือง ช่วยลดความดันโลหิต

อีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ก็คือการหันมาเป็นนักมังสวิรัติที่กินโปรตีนจากถั่วเหลืองแทนการกินเนื้อสัตว์ก็คงไม่ผิด เพราะมีงานศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า โปรตีนจากถั่วเหลืองสามารถลดระดับความดันโลหิตได้ ทั้งในกลุ่มคนที่มีความดันโลหิตสูงและกลุ่มคนที่มีความดันปกติ การศึกษาที่ว่านี้เป็นการทดลองในกลุ่มผู้หญิงวัยทองจำนวน 60 คน ซึ่งเป็นคนที่มีความดันปกติ 48 คน และความดันสูง 12 คน ด้วยกลุ่มหญิงวัยทองเหล่านี้จะต้องเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่เป็นโรคหัวใจ ไม่เป็นเบาหวาน ไม่เป็นมะเร็งเต้านม ไม่ใช้ยาลดไขมัน และมีความดันโลหิตมากกว่า 165/100 นอกจากนี้นี้ยังมีการควบคุมปริมาณอาหารและพลังงานที่ได้รับต่อวัน โดยให้ได้รับพลังงานจากไขมัน 30% พลังงานจากโปรตีน 15% จากคาร์โบไฮเดรต 55% แคลเซียม 1200 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานปลาสัปดาห์ละ 2 มื้อ ได้รับปริมาณไขมันน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน และได้รับเกลือน้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างกันระหว่างกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม คือแหล่งที่มาของโปรตีน กลุ่มหนึ่งจะได้รับโปรตีนจากสัตว์ ส่วนอีกกลุ่มได้รับโปรตีนจากถั่วเหลือง ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับโปรตีนจากถั่วเหลือง สามารถลดระดับความดันโลหิตในกลุ่มผู้มีความดันโลหิตสูงได้ประมาณ 15 มิลลิเมตรปรอท หรือ 30% และลดระดับความดันโลหิตในกลุ่มผู้มีความดันปกติลง 6 มิลลิเมตรปรอท นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มที่ได้รับโปรตีนจากถั่วเหลืองยังมีระดับไขมันชนิดเลวลดลงร้อยละ 11 อีกด้วย

 

ที่มาและการอ้างอิง

50 วิธี หยุดป่วยด้วยสมุนไพร,นาถศิริ ฐิติพันธ์ เรียบเรียง