วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

8 วิธีรับมือกับพัฒนาการของเด็กช่วงวัย 1-6 เดือน

05 มี.ค. 2018
2696

ในช่วง 1-3 เดือน สิ่งที่ทารกน้อยเรียนรู้คือความเชื่อใจหรือความไม่เชื่อใจ ถ้าความต้องการของเขาได้รับการสนองตอบอย่างถูกต้องและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก เขาจะรู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่ นักจิตวิทยาชื่ออีริค อีริคสันกล่าวว่า “ความเชื่อใจที่เกิดขึ้นในวัยทารกจะพัฒนาไปเป็นพฤติกรรมหลักของทารกเมื่อโตขึ้น” ได้ฟังอย่างนี้แม่คงมีคำถามตอบคือแล้วจะทำอย่างไรจึงทำให้ลูกเกิดความเชื่อใจกับคนเลี้ยงดู

 

 

1.หากลูกร้องให้อุ้มเพราะเขาต้องการความช่วยเหลือ

การดูแลลูกในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ในเวลาที่ลูกร้องไห้และแม่ต้องอุ้มทุกครั้ง จะวางลงก็ไม่ได้ แม่อาจคิดว่าจะทำให้ลูกเคยตัวหรือไม คำตอบคือเด็กอายุช่วง 1-6 เดือนแรก ร้องไห้เพราะต้องการความช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ไม่ใช่เป็นเพราะนิสัยเคยตัว ลูกอาจปวดท้องจากลมในท้อง เพราะอุ้มขึ้นมาอาจทำให้เรอลมออกมาได้ หรือการอุ้มทำให้เด็กเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้ลืมความเจ็บปวดชั่วคราว

 

ส่วนการสร้างความเคยตัวจะเกิดขึ้นกับเด็กโตประมาณ 9 เดือนขึ้นไป  เพราะลูกเรียนรู้ว่าการร้องทุกครั้งของเขาจะได้ในสิ่งที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม ทารกจะอยู่กับปัจจุบัน เพราเด็กยังไม่มีความสามารถคิดล่วงหน้าได้

 

2.การรีบเข้าไปอุ้มจะทำให้ทารกเคยตัว

เด็กบางคนที่มีปัญหาร้องโคลิกหรือเลี้ยงยากในช่วง 3 เดือน ในวัยนี้ก็จะเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงจะคอยปลอบประโลมและอุ้มทารกน้อยติดมือในช่วงเวลาร้องโคลิก เมื่อมีคนอุ้มเดินบ่อยๆอาจทำให้เกิดความเคยชิน ทำให้โตแล้วยังต้องอุ้ม คำถามคือหากลูกอายุมากกว่า 6 เดือนแล้วยังต้องให้แม่อุ้มตลอดเวลาควรทำอย่างไร

  • วิธีแรก ลองปล่อยให้ลูกรอบ้าง ไม่ควรเข้าไปอุ้มหรือวิ่งไปหาทันทีที่ร้อง แต่ให้พูดคุยกับลูกไปก่อน เช่น อีก 5 นาทีเดี๋ยวไปหา แม่ทำอาหารอยู่หรืออาบน้ำอยู่ เมื่อเสร็จจากงานแล้วค่อยไปหาลูกตามที่พูดไว้ การร้องไห้นานอีก 5-10 นาที ไม่ได้ทำลายความเชื่อใจของลูก แต่เขาจะเรียนรู้ที่จะรอคอยคุณได้

 

  • วิธีที่ 2 หากทนเสียงร้องของลูกไม่ได้ ต้องผละจากงานไปอุ้มทันที ซึ่งคุณเองก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจที่ลูกร้องไห้ แต่รู้หรือไม่ว่าลูกรับรู้ถึงความรู้สึกของคุณได้ สิ่งนี้ทำให้ลูกรู้สึกไม่มั่นใจว่าแท้จริงคุณรักเขาหรือเปล่า ทำให้เด็กยิ่งเรียกร้องมากยิ่งขึ้น

 

  • วิธีที่ 3 ข้อนี้แม่จะทนเสียงลูกไม่ได้เหมือนกัน แต่แม่ไม่ได้รู้สึกโกรธ เพราะมีความพร้อมที่จะวิ่งเข้าหาเขาตลอดเวลา ไม่ว่าลูกต้องการหรือไม่ เพราะความที่คุณเป็นแม่ที่มีความสุขกับการเลี้ยงลูกมาก จริงๆวิธีนี้ไม่ได้ทำให้ลูกเสียนิสัยเช่นกัน เพราะเขาเชื่อใจคุณ 100% ไปแล้ว

 

3.ไม่ควรทุ่มเทให้ลูกมากจนเกินไปจนมองข้ามความถูกต้อง

มีคำถามว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงชอบตามใจทารกน้อยมากนัก เหตุผลแรกคือความลุ่มหลง มักจะเป็นกับพ่อแม่ที่พึ่งมีลูกคนแรก เด็กเหมือนของเล่นชิ้นใหม่ที่เล่นได้เพลินจนลืมทุกสิ่งทุกอย่าง เหตุผลที่ 2 คือลูกเป็นความหวังและเป็นสิ่งที่พ่อแม่เคยอยากเป็นแต่ไม่ได้เป็น เหตุผลที่ 3 คือความกังวลใจไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลลูกให้อยู่รอดปลอดภัยและมีความสุขได้ ดังนั้นเมื่อลูกร้องพ่อแม่จึงอดไม่ได้ ที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อตอบสนองเสียงเรียกร้องของลูก

 

หากเป็นลูกคนที่สอง คุณจะเรียนรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงไม่ลังเลที่จะปล่อยให้ลูกร้อง เพราะแม่แน่ใจแล้วว่าสิ่งที่แม่ทำถูกอยู่แล้ว หากพ่อแม่บางคนใจอ่อนเมื่อลูกร้องให้ คนที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านจะรู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่บ้านดูแลลูก บางคนรู้สึกผิดที่โกรธลูกเวลาลูกร้องไห้ และทำให้พ่อแม่ไม่มั่นใจว่าตนเองจะดูแลลูกได้ดีหรือไม่ จึงทำทุกสิ่งเพื่อให้ลูกพอใจ บางคนรับลูกบุญธรรมมาเลี้ยงแล้วตั้งปณิธานว่า จะเป็นพ่อแม่ดีเด่น บางคนจบจิตเวชเด็กหรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาในเด็กมามาก จึงตั้งใจเป็น 2 เท่าในการดูแลลูกอย่างเต็มที่เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง

 

4.ฝึกให้ทารกรับรู้ว่าพ่อแม่ยุ่ง จึงไม่สามารถอุ้มเขาได้

แม่ที่ไม่อยากให้ลูกเคยตัวกับการตามใจ สามารถหยุดลูกได้เมื่อลูกอายุประมาณ 6 – 9 เดือน การฝึกต้องเริ่มที่พ่อแม่ก่อน พ่อแม่ต้องใจแข็งเมื่อต้องปฏิเสธคำเรียกร้องของลูก รู้เวลาตั้งกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อสร้างพฤติกรรมที่ดี คุณต้องบอกตัวเองว่า ทารกน้อยอาจโตขึ้นมาเป็นคนที่เรียกร้องอยากได้ทุกสิ่ง หรือเป็นเด็กที่อยู่บนลำแข้งของตัวเองไม่ได้เลย หากตามใจลูกมากเกินไป ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อลูกในระยะยาว คุณควรกำหนดเวลาที่จะใช้ในการทำงานบ้านหรือธุระที่คุณต้องทำ โดยที่ลูกควรถูกฝึกให้อยู่คนเดียวขณะตื่น หรือนั่งเล่นคนเดียวได้ ให้คุณทำเป็นวุ่นวายกับงานเข้าไว้ หากลูกเริ่มส่งเสียงร้องเพื่อให้อุ้ม ให้คุณพูดกับลูกในลักษณะน้ำเสียงนุ่มนวลแต่จริงจังว่า ตอนนี้แม่ต้องทำงานให้เสร็จก่อนแล้วอีกสักพักแม่ถึงจะเล่นกับหนูได้

 

แม้ลูกยังไม่เข้าใจคำพูดของคุณ แต่ลูกจะเดาได้ว่า ตอนนี้แม่ยังไม่ยุ่ง ลูกก็จะร้องไห้มากขึ้น คุณก็ไม่ควรอุ้มขึ้นมา ไม่เช่นนั้นลูกจะเรียนรู้ว่า ถ้าร้องไห้ไปเรื่อยเๆจะได้ในสิ่งที่ต้องการ คุณควรนั่งทำงานไปเรื่อยๆให้ดูยุ่งเข้าไว้ กระทั่งทำงานเสร็จแล้วบอกลูกว่า ตอนนี้แม่ทำงานเสร็จแล้วเรามาเล่นกันได้ วิธีที่จะให้ลูกเลิกนิสัยติดการอุ้มคือ นั่งลงข้างๆลูก เล่นของเล่นด้วยกัน เมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มเรียกร้องให้อุ้มเดิน ให้ทำเป็นยุ่งกับงานอีกครั้ง จำไว้ว่าการฝึกให้ลูกอดทนรอคอยเป็น ควรทำตอนที่เขาอายุ 6-12 เดือนหากลูกโตเกินไปจะฝึกยากขึ้น

 

5.เบี่ยงเบนความสนใจโดยการกระตุ้นพัฒนาการ การมองเห็นของทารก

ในช่วงเวลา 1-3 เดือน นอกจากการร้องไห้งอแงที่พ่อแม่ต้องจัดการแล้ว ก็มีส่วนที่ทารกน้อยจะต้องมีพัฒนาการในด้านอื่น ๆ อีก การวางแผนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนรู้และการใช้ชีวิตประจำวัน หากลูกมีพัฒนาการการมองเห็นที่ดีจะช่วยให้เขามีพัฒนาการด้านอื่นๆดีขึ้นตามไปด้วย เราต้องช่วยกระตุ้นพัฒนาการการมองเห็นให้ทารก เนื่องมาจากเมื่อแรกเกิดทารกมองเห็นไม่ชัดเจนเหมือนกับผู้ใหญ่ในทันที แม้จะไม่ถึงกับมองอะไรไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ แต่การมองเห็นของเขาต้องอาศัยเวลากว่าทารกจะมองเห็นภาพได้คมชัดเท่ากับผู้ใหญ่ ก็ใช้เวลาเกือบปี และในช่วง 3 เดือนแรกการมองเห็นของลูกจะมีพัฒนาการรวดเร็วที่สุด

 

ในเดือนที่ 1 ทารกจะเห็นไม่ชัด แต่ก็จำแม่ได้ พัฒนาการเมื่อแรกเกิดทารกจะมองเห็นภาพชัดเจนในระยะห่างไม่เกิน 12 นิ้ว และยังไม่สามารถจ้องมองสิ่งใดได้นาน แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม เชื่อว่าไม่เกิน 4 วันเขาจะจำหน้าคุณแม่ได้ และภายในเดือนแรก ระยะการมองเห็นจะเพิ่มเป็น 15 นิ้ว สายตาทั้งสองข้างเริ่มทำงานประสานกัน ทำให้การมองเห็นของทารกน้อยชัดมากขึ้น และเริ่มจ้องมองสิ่งต่างๆได้นานขึ้น แต่ภาพที่เขาเห็นจะเป็นวงกว้าง 45 องศาหรือเพียง 1 ใน 4 ของการมองเห็นของผู้ใหญ่เท่านั้น

 

การกระตุ้นในช่วงนี้ ต้องพยายามให้ลูกน้อยได้มองหน้าคุณแม่บ่อยๆ ด้วยการมองตาเขาใกล้ๆระยะ 8 นิ้ว เป็นระยะที่เขาจะมองเห็นหน้าแม่ชัดเจนที่สุด ทารกวัย 1 เดือนสามารถเคลื่อนสายตามองตามวัตถุใดบ้าง หากคุณแม่คุณพ่อสบตาเขาแล้วค่อยๆเคลื่อนเลื่อนหน้าไปมาช้าๆ เขาจะมองตามอย่างสนใจ ระหว่างนั้นหากคุณพูดคุยส่งยิ้มหรือหัวเราะให้ลูก นอกจากจะช่วยให้ฝึกสายตาแล้วยังทำให้ลูกอารมณ์ดีด้วย

 

 

6.ใช้ของเล่นที่มีสีสันสดใสเข้ามาช่วยกระตุ้นพัฒนาการของทารกน้อย

หากทารกน้อยเริ่มเบื่อการจ้องมองสิ่งใด ๆ แล้วก็ตาม ลองเปลี่ยนมาใช้ของเล่นแทนก็ได้ โดยนำของเล่นสีสดใสมาให้ลูกมองในระยะใกล้ๆ แล้วค่อยๆเคลื่อนของเล่นไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ขึ้นบ้าง ลงบ้าง เขาจะมองตามได้นาน แต่ต้องไม่ลืมว่า จะต้องขยับของเล่นช้าๆเท่านั้น เพราะหากคุณขยับเร็วเกินไป ลูกจะไม่สนใจเลย เด็กวัย 1 เดือนจะมองเห็นแต่สิ่งของที่อยู่ใกล้ๆเท่านั้น ระยะที่ลูกจะมองเห็นชัดที่สุดคือ 8 ถึง 10 นิ้ว และจะชอบมองสิ่งของที่มีสีสันสดใส หากคิดจะหาของเล่นรับขวัญ ก็ให้ใช้โมบายของเล่นสีสดใสมาให้ทารกเล่น ยิ่งหากเป็นแบบที่มีเสียงดนตรีประกอบด้วยลูกจะยิ่งชอบ

 

7.สีขาวดำ เป็นอีก 1 ชุดสีที่มีการพิสูจน์ว่าสามารถดึงดูดความสนใจของทารกได้

สีขาวดำจะสะดุดตาทารกมากที่สุด เมื่ออายุครบ 6 สัปดาห์ การมองเห็นของทารกจะเพิ่มเป็น 90 องศา เขาจะเริ่มมองเห็นสีสันต่างๆได้ดีขึ้น ความจริงแล้วทารกมองเห็นสีได้ตั้งแต่แรกเกิด แต่ยังไม่สามารถแยกแยะสีที่มีโทนสีใกล้เคียงกัน เช่น สีแดงกับสีส้ม แบบนี้จะแยกออกจากกันไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่ทารกชอบมองวัตถุที่มีสีสันตัดกันมากๆ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกซื้อแต่ของสีสดใสอย่างสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงินเสมอไป เพราะมีการค้นพบว่า สีที่ดึงดูดความสนใจของทารกได้มากที่สุดคือสีขาวกับสีดำ

 

การกระตุ้นช่วงนี้จะเริ่มแยกแยะประเภทของสิ่งที่มองเห็นได้จากสีสันและการเคลื่อนไหว หากคุณแม่หาของเล่นสีสดใสมาแขวนให้ลูกน้อยเล่น หนูน้อยก็จะชอบ ในช่วงวัยนี้เขาจะเริ่มเอามือไปไขว่คว้าของเล่นที่แขวนได้แล้ว แต่คุณแม่ต้องแขวนไว้ในระยะที่ลูกสามารถเอื้อมมือไปคว้าได้ จะมีประโยชน์กับพัฒนาการของสมองมากกว่าแขวนไว้ให้สูงลิบจนเขาเอื้อมไม่ได้ นอกจากใบหน้าคุณแม่และของเล่นพวกโมบายแล้ว รูปภาพที่มีสีขาวดำหรือสีสดใสเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทารกวัยนี้ชอบมาก

 

8.เปลี่ยนตำแหน่งที่นอนของทารกน้อยบ้าง เพื่อขยายมุมมองของการเรียนรู้

เดือนที่ 3 มุมมองของทารกน้อยจะเริ่มกว้างขึ้น เมื่อลูกอายุครบ 3 เดือน การมองเห็นของเขาเริ่มดีขึ้นจนปรับระยะการมองภาพไกล-ใกล้ได้ และตอนนี้ขอบเขตการมองเห็นของเขาเท่ากับผู้ใหญ่ที่สามารถมองได้ในมุม 180 องศา การที่เขามองภาพได้กว้างขึ้นและปรับระยะได้ดีขึ้น ทำให้เขาชอบมองวัตถุที่เคลื่อนไหวได้มากกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ที่ชอบจ้องมองแต่วัตถุที่หยุดนิ่งหรือเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

การกระตุ้นนอกจากการแขวนวัตถุที่มีลักษณะสามมิติและเคลื่อนไหวได้อย่างโมบายที่นำไปผูกไว้เหนือเตียง ในระยะที่ลูกเริ่มคว้าได้พร้อมกับชี้ชวนให้ลูกดูและเล่นแล้ว ควรเปลี่ยนตำแหน่งที่นอนของลูกบ่อยๆ เพื่อให้เขาได้เห็นสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เวลาที่คุณอุ้มลูกพาดบ่า ทารกจะชอบมาก เพราะนั่นทำให้ลูกได้เห็นสิ่งใหม่ๆเพิ่มขึ้น แถมยังได้เห็นของที่คุ้นเคยในมุมมองที่ต่างจากเดิมอีกด้วย

 

ความสามารถในการมองเห็น คือจุดเริ่มต้นของพัฒนาการในหลายๆด้าน การมองเห็นสิ่งของต่างๆ ทำให้ทารกอยากเอื้อมมือไปไขว่คว้า จากการไขว่คว้านำไปสู่การหยิบจับและจัดการมองเห็นได้ไกลขึ้น ทำให้ลูกพบว่ามีสิ่งต่างๆอีกมากมายที่รอให้ลูกไปค้นหา จึงกล่าวได้ว่าการมองเห็นที่ดีคือปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยผลักดันให้ทารกมีพัฒนาการคว่ำ คลาน เดิน เพื่อที่จะเข้าไปทำความรู้จักและเรียนรู้โลกกว้างต่อไป

 

ที่มาและการอ้างอิง : คัมภีร์เลี้ยงลูก,ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล) , เติบโตแข็งแรง,วรรณา หวังกิตติพร : เรียบเรียง