วันพุธ, 11 ธันวาคม 2567

กำเนิดฟุตบอล มาจากนักรบชาวโรมันนิยมเล่นกันมาก

04 เม.ย. 2018
2468

ฟุตบอล กีฬายอดนิยมของคนทั่วโลก

กีฬาฟุตบอลวิวัฒนาการมาจากการเล่นฮาร์ปาสตัม (Harpastum) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากสมัยโรมัน ที่นักรบชาวโรมันนิยมเล่นกันมาก ซึ่งต่อมาจึงถูกดัดแปลงมาเป็นกีฬาซูเลอหรือซูลอ (Soule) หรือ จิโอโก เดล กัลโซ (Gioco Del Calcio) ที่มีลักษณะการเล่นคล้ายคลึงกับกีฬาฟุตบอลในปัจจุบัน ส่วนกีฬาฟุตบอลที่แท้จริงนั้น มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษเมื่อประมาณ 900 กว่าปีมาแล้ว ขณะนั้นอังกฤษตกอยู่ในปกครองของพวกเดนส์เชื้อสายโรมัน และถูกปกครองเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1046 หลังจากนั้นอังกฤษเริ่มเข้มแข็ง และสามารถขับไล่พวกเดนส์ออกจากประเทศได้ เมื่ออังกฤษมีการพัฒนาประเพศ จึงมีการขุดอุโมงค์ตามพื้นที่ต่างๆ บังเอิญคนงานคนหนึ่งขุดไปพบกะโหลกศีรษะบริเวณที่เคยเป็นที่ฝังศพของพวกเดนส์ จึงเกิดอารมแค้นที่เคยถูกพวกเดนส์กดขี่ข่มเหง เลยนำหัวกระโหลกนั้นมาเตะระบายความแค้นคนงานหลายคนก็ร่วมกันเตะกันไปมา แล้วรู้สึกว่าสนุกสนานมาก

ต่อมาชาวโรมันได้นำเกมนี้ไปเล่นในอังกฤษ ชาวอังกฤษเห็นว่าเป็นเกมที่สนุกสนานจึงปรับปรุงวิธีการเล่นเทคนิค ตลอดจนกติกาโดยเน้นให้ใช้เท้าเล่น และเล่นกันเป็นกลุ่มๆ ภายหลังเวลามีงานฉลองต่างๆ ก็จะนำเกมชนิดนี้มาเล่นให้คนชม แต่สมัยนั้นการเล่นฟุตบอลจะเล่นกันรุนแรง ถึงขนาดเลือดตกยางออกเลยทีเดียว เมื่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ทรงเห็นว่ากีฬาฟุตบอลมีความรุนแรงและทำให้เกิดการบาดเจ็บ อันเป็นข้อห้ามทางศาสนาจึงห้ามเล่นกีฬาชนิดนี้อีก ปี ค.ศ. 1863 อังกฤษจึงได้กำหนดกติกาการเล่นที่ตายตัวเพื่อให้มีขอบเขตมากขึ้นและตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นในปีเดียวกัน ดังนั้นในปี ค.ศ. 1888 สมาคมฟุตบอลอังกฤษก็จัดตั้งฟุตบอลอาชีพ และพัฒนากติกาจนเป็นมาตรฐานสากลมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ประเทศต่างๆ ได้ก่อตั้งสมาคมและจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับประเทศขึ้น เพื่อพัฒนาฝีเท้าและคัดสรรนักฟุตบอลที่มีความสามารถเพื่อเข้าร่วมแข่งขันระหว่างชาติที่จัดขึ้น เช่น ยูฟ่าคัพ  เอเชียนคัพ คิงส์คัพ ยูฟ่าแชมเปียนลีก กีฬาโอลิมปิคเป็นต้น

รู้หรือไม่ คำว่า Soccer มาจากคำว่า Association แปลว่าสมาคม ซึ่งย่อเป็น Assoc และกลายมาเป็น Soccer ในที่สุด คำนี้นิยมเรียกกันในประเทศอังกฤษ แต่ชาวอเมริกันจะเรียกว่า Football ซึ่งหมายถึง American Football ส่วนในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า ฟุตบอล

 

บัลเลต์ ระบำปลายเท้ามหัศจรรย์

บัลเลต์ หรือที่บางคนเรียกว่า “ระบำปลายเท้า” เป็นรูปแบบการเต้นระบำของประเทศทางแถบตะวันตก ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใคร เนื่องจากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีผู้คิดและพัฒนาการเต้นบัลเลต์ให้มีรูปแบบอิสระและแปลกใหม่มากขึ้น รูปแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของการเคลื่อนไหวในการเต้นบัลเลต์ จะยึดตำแหน่งและจังหวะของการใช้เท้าเป็นหลัก ซึ่งพัฒนามาจากการเต้นรำในราชสํานักเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ท่าพื้นฐานของการเต้นบัลเล่ต์ ก็คือการวางตำแหน่งขาและเท้า ศีรษะเชิดขึ้น และแขนยกชูขึ้นในลักษณะโค้ง ส่วนลำตัวและหลังจัดตั้งตรง ยกไหล่หรือหมุนไหล่เล็กน้อย สรีระของนักเต้นบัลเลต์สำคัญมาก เพราะนอกจากจะต้องมีรูปร่างที่สวยงามและร่างกายที่สมส่วนแล้ว

ถ้านิ้วเท้าเรียงเกือบเท่ากันหมดทั้ง 10 นิ้ว จะทำให้ทรงตัวได้ดีขึ้น เพราะนิ้วเท้ามีความสำคัญต่อการยืนปลายเท้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบัลเลต์ ผู้ที่หัดเต้นบัลเลต์ส่วนใหญ่ฝึกหัดมาตั้งแต่เด็กเพื่อให้มีปลายเท้าและร่างกายที่แข็งแรง โดยเฉพาะจะต้องฝึกท่าพื้นฐานต่างๆ ให้ชำนาญเพื่อไปสู่การเรียนในระดับที่สูงขึ้น

รูปแบบการเต้นบัลเลต์มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จากแต่เดิมที่เต้นแบบโรแมนติกเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ปรับเปลี่ยนพัฒนาให้ดูนุ่มนวลขึ้น ไม่ต้องมีการกระโดดและหมุนตัวมากนัก แต่เมื่อถึงตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 การเต้นบัลเล่ต์ก็เปลี่ยนไปเป็นแบบคลาสสิค บันเลต์ของชาวรัสเซียมีชื่อเสียงมาก มักนำรูปแบบมาจากโรงเรียนคลาสสิค ผสมสารรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เช่น นำศิลปะด้านกีฬามาผสมผสาน จนทำให้บัลเล่ต์มีลักษณะทางนุ่มนวลและเข้มแข็ง ปัจจุบันการแสดงบัลเล่ต์มักนำเสนอในรูปแบบของการละคร และเน้นการเต้นรำ โดยมีเรื่องราวคลาสสิค เช่น เจ้าหญิงหงส์ขาว โรมิโอและจูเลียต เจ้าหญิงนิทรา เป็นต้น

รู้หรือไม่ รองเท้าบัลเลต์ เป็นรองเท้าที่ทำขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการเต้น หัวของรองเท้าจะทำด้วยท่อนไม้ นอกนั้นจะเป็นผ้าที่แนบกับเท้า และมีสายพันเท้าที่ยาวพอพันรอบข้อเท้า กันมิให้รองเท้าหลุดระหว่างเต้นด้วย หัวรองเท้าจะมีลักษณะเป็นเหลี่ยม เพื่อให้นักบัลเลต์สามารถยืนบนปลายเท้าได้

 

กระดานโต้คลื่น กีฬาของคนรักยอดคลื่น

กีฬาโต้คลื่น เป็นกีฬาที่รู้จักกันมานานนับหลายศตวรรษแล้ว โดยเฉพาะชาวเกาะโปลินีเซีย ที่รู้จักกีฬาชนิดนี้ก่อนใครๆ ปัจจุบันมีผู้นิยมเล่นกีฬาชนิดนี้กันทั่วโลก เพราะกีฬาโต้คลื่นเป็นกีฬาที่ท้าทาย น่าตื่นเต้น และแสดงออกถึงความกล้าของมนุษย์ คลื่นที่เหมาะในการเล่นกีฬาโต้คลื่น จะต้องมีทั้งความสูงและยาวเรียกว่า “คลื่นสมบูรณ์แบบ” และนักโต้คลื่นจะต้องคอยโอกาสที่ทะเลจากผลิตพื้นที่ว่างนี้อย่างใจจดใจจ่อ ว่ากันว่าสถานที่เล่นกีฬาโต้คลื่นที่ดีที่สุดคือที่ฮาวายซึ่งเป็นหมู่เกาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีระลอกคลื่นซัดสาดเป็นทางยาวนับพันๆ กิโลเมตร เนื่องจากเป็นคลื่นที่เกิดจากพายุกลางมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นบางลูกมีความสูงถึง 9 เมตร เลยทีเดียว

การเล่นกระดานโต้คลื่น เป็นการวิ่งแข่งกับคลื่นหัวแตก (คลื่นที่กระทบฝั่งเป็นแนวขาว) นักโต้คลื่นที่ชำนาญจะชอบเล่นกระดานแฉลบหน้ากำแพงคลื่น โดยมีหัวคลื่นชะเงื้อมอยู่เหนือศีรษะ ดังนั้นผู้เล่นจึงต้องใช้ความเร็วในการลอดท้องคลื่น เพื่อมิให้ถูกคลื่นลมซัดจนจมลงกับพื้นทะเล นอกจากนี้นักโต้คลื่นยังสามารถเล่นไต่ขึ้นไต่ลงบนยอดคลื่นได้หลายครั้ง โดยอาศัยแรงดึงดูดของโลกและการย้ายน้ำหนักตัวไปข้างหลัง อุปกรณ์ที่ใช้ในกีฬาโต้คลื่น คือกระดานโต้คลื่นที่มีทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ โดยแบบดั้งเดิมจะยาวมากกว่า 2 เมตร และหนักกว่า 3.5 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตกระดานโต้คลื่นสมัยใหม่ที่ยาวไม่ถึง 2 เมตร และหนักประมาณ 3.2 กิโลกรัม เป็นมาตรฐาน ซึ่งผู้ฝึกใหม่ๆ มักจะใช้กระดานแบบใหม่นี้ แต่นักโต้คลื่นแถบฮาวายก็ยังคงนิยมกระดานโต้คลื่นแบบดั้งเดิมอยู่

 

ดิ่งพสุธา สุดยอดกีฬากลางเวหา

ถ้าใครเคยชมการแสดงดิ่งพสุธาหมู่ที่ทางกองทัพอากาศจัดขึ้น หรือบางคนอาจเคยชมภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องที่มีฉากการดิ่งพสุธาน่าตื่นเต้น ซึ่งสามารถทำให้เราขึ้นกับการแสดงเหล่านั้น คงเกิดความสงสัยว่านักดิ่งพสุธาเหล่านั้นทำได้อย่างไร และเขารู้สึกอย่างไรขณะที่ลอยคว้างอยู่บนอากาศแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม กีฬาชนิดนี้ ผู้ที่เล่นจะต้องได้รับการฝึกมาอย่างดี และต้องใจกล้าบ้าบิ่นมากทีเดียว เพราะพวกเขาต้องทิ้งตัวลงจากเครื่องบิน ซึ่งอยู่สูงจากระดับพื้นดินกว่า 3,700 เมตร พร้อมกับอุปกรณ์ คือ ร่มชูชีพที่มีสายบังคับและร่วมฉุกเฉิน เมื่อพวกเขาพุ่งหลาวออกจากประตูเครื่องบินแล้วจะต้องกางแขนขา แอ่นตัว เชิดศรีษะ ซึ่งเป็นท่ามาตรฐานที่จะทำให้สามารถทรงตัวอยู่บนอากาศและบังคับทิศทางได้

นอกจากนี้นักดิ่งพสุธาจะต้องปิดเครื่องวัดความสูงไว้กับตัว เพื่อจะบอกระดับความสูงในขณะดิ่งลงสู่พื้นดินในทุกวินาที เพื่อให้สามารถลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัยและตรงจุดหมาย โดยพวกเขาจะต้องกางร่มชูชีพเมื่ออยู่ที่ระดับความสูง 610 เมตร ก่อนถึงพื้น ช่วงเวลาในการดิ่งพสุธาจึงสั้นมากคือไม่ถึง 1 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการแสดงผาดโผนกลางอากาศร่วมด้วย นักดิ่งพสุธาก็ยิ่งมีเวลาน้อยมาก ร่มชูชีพที่นักดิ่งพสุธาใช้ในการแสดงนี้ เป็นชุดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ มีด้วยกันหลายแบบ ทุกแบบใช้หลักการทํานองเดียวกัน โดยร่มชูชีพของนักดิ่งพสุธาทั่วไปมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่ชุดของผู้ที่เพิ่งฝึกหัดใหม่จะแตกต่างกัน คือ ส่วนใหญ่ใช้เป็นแบบครึ่งวงกลม และด้านหลังของร่มเจาะเป็นรูปอักษร “L” จำนวน 2 ตัว ให้กระแสลมวิ่งผ่านช่องทั้งสองนี้เพื่อบังคับร่มให้ลงสู่จุดหมายได้ ร่มชูชีพไม่ว่าแบบใด จะต้องประกอบด้วยสายรัดตัวทำด้วยไนลอนและ “ไรเซอร์ส” ซึ่งเป็นสายไนลอนอีก 4 สาย โยงสายรัดตัวเข้ากับสายระโยงระยางจากตัวร่มรวมทั้งสายบังคับร่ม 2 เส้น สำหรับดึงให้ไปทิศทางซ้ายหรือขวา

การแสดงดิ่งพสุธาที่น่าตื่นเต้นที่สุดน่าจะเป็นการแสดงกายกรรมกลางอากาศที่เล่นรวมหมู่ แปรขบวนเป็นท่าชุดๆ ซึ่งเรียกว่า ปฏิบัติการสัมพัทธ์ เพราะจะเป็นการแสดงที่สวยงาม พร้อมเพรียง และใช้ความชำนาญสูงหากเกิดความผิดพลาด อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการกระทบกระทั่งกันได้ ดังนั้นนักดิ่งพสุธาที่ร่วมแสดงจะต้องมีการวางแผนอย่างดีและนัดหมายเวลาที่จะแปรขบวนให้แน่นอน เมื่อแสดงเสร็จแล้วก็ต้องรีบแยกตัวออกจากกันภายใน 2-3 วินาที ก่อนที่จะกางร่ม เพื่อไม่ให้ร่มพันกันเอง ปัจจุบันการแสดงดิ่งพสุธานี้มีการจัดการแข่งขันขึ้น และที่เอิกเกริกที่สุดก็น่าจะเป็นการแสดงที่จัดขึ้นในวันชาติอเมริกา และงานสำคัญๆ ระดับโลก

 

หมากรุก ชั้นเชิงบนกระดานจัตุรัส

หมากรุกเป็นเกมที่เก่าแก่ที่สุดเกมหนึ่ง สันนิษฐานว่าเริ่มมีการเล่นหมากรุกเมื่อราว 5,000 ปีก่อนในหมู่กษัตริย์และราชวงศ์ชั้นสูง ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่าเชสส์ (Chess) มาจากภาษาเปอร์เซีย แปลว่ากษัตริย์ ประเทศอินเดียเริ่มมีการเล่นหมากรุกที่เรียกกันว่า “จตุรงค์” ซึ่งเป็นการแบ่งกองทัพอินเดียในสมัยโบราณ เพราะคำว่า จตุรงค์ แปลว่ากองทัพ มีกำลัง 4 เหล่า คือ เหล่าช้าง เหล่ารถ เหล่าม้า เหล่าราบ ในสมัยนั้นกษัตริย์จะเล่นหมากรุกเพื่อให้เกิดการสู้รบกันโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ ในสมัยโมกุล หมากรุกจะนิยมเล่นกันในหมู่ราชวงศ์ และเล่นสืบต่อกันมากว่า 2,000 ปี จึงได้แพร่เข้าสู่แถบเปอร์เซีย อาหรับ และยุโรป จนหมากรุกกลายเป็นที่นิยมมกันทั่วโลก เพียงแต่ปรับเปลี่ยนหมากบนกระดานให้เหมาะสมและเป็นที่รู้กันในประเทศของตน

หมากรุกประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก คือ กระดาษสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่แบ่งช่องมาตรฐานจำนวน 64 ช่อง สีดำ 32 ช่อง และสีขาว 32 ช่อง สลับกัน ตัวหมากรุกจำนวน 16 ตัว ประกอบด้วย ราชา ราชินี อัศวิน เรือ และเบี้ย ตัวที่มีอำนาจมากที่สุดของแต่ละฝ่ายคือ ราชาและราชินี ตัวราชามีลักษณะพิเศษคือจะไม่ถูกกิน แต่จะถูกรุกฆาตเท่านั้น ซึ่งถ้าไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ก็คือการพ่ายแพ้นั่นเอง การเล่นหมากรุกมีกติกาการเดิมแต่ละตัวแตกต่างกัน ผู้เล่นต้องจำให้ได้ว่าหมากแต่ละตัวเดินอย่างไร

นอกจากนี้ที่สำคัญที่สุดผู้เล่นจะต้องใช้ไหวพริบในการรุกรับและวางแผนในการเล่นด้วย หมากรุกแพร่เข้าสู่ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1255 และได้จัดให้มีการแข่งขันหมากรุกนานาชาติขึ้นครั้งแรก ณ กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1851 หลังจากนั้นจึงได้มีการจัดตั้งสมาคมหมากรุกนานาชาติขึ้นในปี ค.ศ. 1924 ปัจจุบันการแข่งขันหมากรุกถูกจัดขึ้นทุกๆ 3 ปีส่วนหมากรุกไทยก็นิยมเล่นกันทั่วไป กระดานจะคล้ายหมากรุกสากล เพียงแต่ตัวหมากจะมีชื่อเรียกต่างกันคือ ขุน โคน เม็ด ม้า เรือ และเบี้ย นอกจากนี้ยังมีการละเล่นหมากรุกคน ที่ใช้คนมาแสดงเป็นตัวหมากด้วย

 

ที่มาและการอ้างอิง

WHAT รู้รอบเรื่องน่าทึ่งของโลก  โดย  นิภาพัชร์  ปิ่นสุวรรณ