วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

ปวดข้อ 4 จุดในร่างกายที่พบบ่อยและควรระวังเป็นอย่างยิ่ง Ep.61

 

ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดจากหลายสาเหตุ “ปวดข้อ” นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาปวดที่อาจจะมีใครบางคนหรือหลายๆ คนรอบตัวเคยบ่นให้เราได้ยิน หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็อาจจะเคยประสบกับปัญหานี้มาแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตามอาการปวดบริเวณข้อที่เกิดขึ้นอาจเกิดได้ทั้งจากปัญหาข้อกระดูกโดยตรง หรือเกิดจากการที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบข้อเกิดจากการอักเสบก็ได้

 

ปวดข้อ 4 จุดในร่างกายที่พบบ่อยและควรระวังเป็นอย่างยิ่ง และอะไรคือสาเหตุของปัญหาดังกล่าว

1.เข่า

ปัญหาข้อเข่าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 เนื่องจากเป็นข้อที่ต้องแบกรับน้ำหนักตัวและมีการเคลื่อนไหวมาก จึงเกิดอาการปวดได้บ่อย สาเหตุของอาการปวดเข่าที่พบในคนอายุน้อยส่วนใหญ่มาจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา เช่น เคลื่อนไหวผิดท่าทาง สวมใส่รองเท้ากีฬาที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น สำหรับอาการปวดที่พบในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มักมีสาเหตุมาจากโรคข้อเข่าเสื่อมโดยมีความผิดปกติต่างๆ เช่น กระดูกอ่อนที่เป็นผิวของข้อเข่าสึกหรอ ยี่หุ้มข้ออักเสบหนาตัวขึ้น เอ็นรอบข้อหย่อนยานขึ้น ทำให้การกระจายการรับน้ำหนักผิดปกติ ต่อมาเกิดการเคลื่อนไหวของข้อผิดปกติ เช่น ข้อฝืด ข้อติด มีอาการปวดเสียวในข้อ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันวันของผู้ป่วย การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปนับเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม

 

2.หลัง

อาการปวดหลังเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยรองจากข้อเข่า เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สันหลังได้รับบาดเจ็บจากการยกของหนักหรือภายหลังเกิดอุบัติเหตุ อาการที่เกิดอาจเป็นเพียงหลังยอกหรือกล้ามเนื้อหลังมีการยึดหรือฉีกขาด ซึ่งสามารถหายได้เอง แต่ในบางรายอาจเกิดจากกระดูกหักทรุดหรือเคลื่อน จำเป็นต้องใช้วิธีเอกซเรย์ในการตรวจวินิจฉัย อีกสาเหตุหนึ่งที่พบได้ถึงร้อยละ 90 ของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปคือกระดูกสันหลังเสื่อม โดยเริ่มที่หมอนรองกระดูกสันหลังก่อน กล่าวคือเมื่ออายุมากขึ้น น้ำในหมอนรองกระดูกจะค่อยๆ ลดลง ประสิทธิภาพในการยืดหยุ่นจึงลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ข้อต่อเกิดความเสื่อม มีกระดูกงอก ข้อหลวม นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการเสื่อมของกระดูกสันหลัง ได้แก่ การออกกำลังกายในท่าทางที่ไม่เหมาะสม น้ำหนักตัวมาก การยกของหนักเกินไป และการสูบบุหรี่เพราะส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกได้น้อยลง

 

3.ข้อนิ้วมือ

เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 สาเหตุเกิดจากการใช้งานมากเกินไป รวมทั้งการยกของหนัก จนทำให้ปลอกหุ้มเอ็นเกิดการอักเสบ อาการที่เกิดขึ้นกับนิ้วมือผู้ป่วยส่วนใหญ่มักทนได้ ยกเว้นในกรณีที่ปวดมากจริงๆ หรือประสบปัญหานิ้วล็อก จึงมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

 

4.คอ

อาการปวดคอเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เคยประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อคออย่างรุนแรง มีพังผืดบริเวณกล้ามเนื้อคอและสะบัก และ ออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงานส่วนใหญ่ จะปวดไม่มากอาจเพียงสร้างความรำคาญทำให้ไม่สบายเนื้อสบายตัว สาเหตุหลักเกิดจากอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยขาดการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและข้อต่อ ความเครียด การสะพายหรือถือกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก เป็นต้น นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรัง ได้แก่ อาการปวดคอจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อม อันที่จริงกระดูกคอจะค่อยๆ เกิดการเสื่อมตั้งแต่อายุประมาณ 30 ปี โดยเริ่มที่หมอนรองกระดูกคอก่อน และเมื่อหมอนรองกระดูกเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ ร่างกายจะสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อขึ้นมาชดเชย เกิดเป็นกระดูกงอกและเนื้อเยื่อหนาตัวซึ่งอาจไปกดทับเส้นประสาท ส่งพลให้เกิดอาการปวดคอ ในบางรายอาจไปกดทับไขสันหลัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการเดิน เนื่องจากกระดูกไปกดทับเส้นประสาทหลักที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว หรือทำให้เกิดปัญหาด้านระบบขับถ่าย ดังนั้นหากเริ่มมีอาการปวดชาร้าวลงแขน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยรักษา

 

 

รู้จัก Vitamin D สารอาหารที่มีบทบาทต่อการคงระดับแคลเซียมในร่างกาย

วิตามินดี (แคลซิเฟอรอล)    วิตามินแห่งแสงอาทิตย์

ชื่องทางวิทยาศตร์ : แคลซิเฟอรอล   แคลซิไทรออล   เออร์โกแคลซิเฟอรอล

แคลซิเฟอรอล : เป็นวิตามินดีที่พบได้ในแหล่งธรรมชาติและสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองภายในร่างกาย โดยที่ร่างกายจะเก็บสารตั้งต้นของแคลซิเฟอรอลไว้ใต้ชั้นผิวหนัง เมื่อได้สัมผัสกับแสงอัลตราไวโอเลต ร่างกายจะสังเคราะห์สารตั้งต้นให้เป็นแคลซิเฟอรอลที่มีฤทธิ์ต่อร่างกาย แล้วลำเลียงไปใช้ในส่วนต่างๆ

แคลซิไทออล : เป็นวิตามินดี อีกรูปแบบหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้น เพื่อใช้ในการปรับระดับเกลือแร่แคลเซียมของร่างกาย

เออร์โกแคลซิเฟอรอล  :  เป็นวิตามินดีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น โดยการใช้ไขมันชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในพืชให้สัมผัสกับแสงแดด จนได้เป็นแคลซิเฟอรอน แล้วสกัดออกมาอีกทีหนึ่ง

 

วิตามินดีอยู่ในกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน ร่างกายจึงสามารถเก็บสะสมแคลซิเฟอรอลไว้ใช้งานได้ในระยะเวลานาน ที่สำคัญร่างกายสามารถสังเคราะห์แคลซิเฟอรอลได้จากแสงแดด ดังนั้นเพื่อให้เป็นการดีต่อร่างกาย การวิ่งหรือออกมาเดินเพื่อรับแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้า ซึ่งเป็นการดีต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายมีแคลซิเฟอรอลเก็บสะสมไว้ใช้งานได้อย่างล้นเหลือแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงจากการออกกำลังกายอีกด้วย

 

การทำงานของวิตามินดี

แคลซิเฟอรอล มีบทบาทต่อการคงระดับแคลเซียมในร่างกาย ร่างกายมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องใช้วิตามินดีในการปรับสมดุลของเกลือแร่แคลเซียม ทั้งในส่วนที่สะสมไว้ในกระดูก และระดับแคลเซียมในกระแสเลือด ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าแคลเซียมมีความจำเป็นต่อโครงสร้างของร่างกายมากขนาดไหน เอาแค่ว่าแคลเซียมช่วยในการสร้างกระดูก และฟัน ก็แทบไม่ต้องบรรยายถึงสรรพคุณด้านอื่นแล้ว วิตามินดีช่วยให้แคลเซียมจับตัวกับโปรตีน หรือสารชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างกระดูก ช่วยให้กระดูกคงตัวได้อย่างแข็งแรง

 

ปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายเก็บไว้ทั้งหมดจะเก็บไว้ที่กระดูก เมื่อร่างกายเกิดภาวะขาดแคลเซียม นอกจากจะดึงแคลเซียมที่เก็บสะสมไว้ไปใช้งานแล้ว ยังดึงแคลเซียมในส่วนที่เป็นเนื้อกระดูกออกไปด้วย ในส่วนนี้จึงเป็นสาเหตุให้เกิดโรคกระดูกพรุน วิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายใช้แคลเซียมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในระดับสูงสุด ช่วยลดการขับแคลเซียมของร่างกายทางปัสสาวะ และช่วยในการดูดแคลเซียมทำให้ร่างกายเผชิญภาวะขาดเกลือแร่แคลเซียมได้ยากยิ่งขึ้น จึงเหมือนเป็นตัวช่วยลดความสูญเสียเนื้อกระดูกได้อีกทางหนึ่ง

 

ประโยชน์ของแคลซิเฟอรอล

  • ช่วยในการคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย
  • ช่วยในการดูดแคลเซียมของกระเพาะอาหาร และลำไส้
  • ทำงานร่วมกับแคลเซียมในการสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างร่างกาย ทำให้กระดูก และฟันแข็งแรง
  • ช่วยในด้านพัฒนาการของเด็กทารกให้มีโครงสร้างร่างกายที่ดี และแข็งแรง
  • ช่วยในการรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคสะเก็ดเงิน และโรคกระดูกพรุน

 

แหล่งแคลซิเฟอรอล

ถึงแม้ว่าร่างกายของมนุษย์นั้น จะสามารถสร้างแคลซิเฟอรอลขึ้นมาใช้ภายในร่างกายได้เอง แต่ก็ใช่ว่าจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายที่จะใช้ในกิจกรรมต่างๆ ได้หมด เหตุเพราะเราไม่ได้อยู่ท่ามกลางแสงแดดตลอดเวลา อีกทั้งแสงแดดในบ้านเรารุนแรงเกินกว่าที่เราจะออกไปรับรังสีอัลตราไวโอเลต เพื่อให้ร่างกายใช้สังเคราะห์แคลซิเฟอรอลได้ตลอดทั้งวัน เพราะในเวลาที่แสงแดดจัดๆ ประมาณหลังช่วงเวลา 10 นาฬิกาไปแล้ว ปริมาณความเข้มข้นของรังสีอัลตราไวโอเลต และความร้อนของแสงแดด อาจสร้างปัญหาให้กับร่างกายได้มากกว่าประโยชน์ที่เราได้รับ เพื่อให้ร่างกายได้สั่งเคราะห์แคลซิเฟอรอล แสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการการสังเคราะห์แคลซิเฟอรอลของร่างกาย ควรอยู่ในช่วงเวลาที่มีแสงแดดอ่อนๆ คือ ช่วงเวลาเช้าๆ และเวลาเย็นๆ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอันตรายจากแสงแดดเองด้วย

 

ในประเทศที่ไม่ค่อยมีแสงแดด เช่น ประเทศทางแถบยุโรป มักจะพบผู้ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะร่างกายขาดวิตามินดีได้ง่าย เพราะว่าในแต่ละวันแทบจะไม่ได้เห็นแสงแดด จึงต้องเน้นการบริโภคอาหารที่ให้แคลซิเฟอรอลมากกว่าบ้านเรา อาหารส่วนใหญ่มักจะมีการเติมเออร์โกแคลซิเฟอรอล หรือเรียกง่ายๆ ว่าวิตามินดีสังเคราะห์ลงไปในวัตถุดิบ หรืออาหารที่ใช้บริโภคเป็นหลักในแต่ละวัน เช่นเติมลงไปในแป้ง หรือเครื่องดื่มประเภทนม

 

แหล่งอาหารที่แนะนำ ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสัตว์ เพราะสามารถสังเคราะห์แคลซิเฟอรอลขึ้นได้เอง แล้วเก็บทำการสะสมไว้ในชั้นไขมัน เช่นเดียวกันกับในมนุษย์ เนื้อสัตว์จึงเป็นแหล่งแคลซิเฟอรอลให้กับร่างกายได้เป็นอย่างดี

 

วิตามินดีมีความคงตัวสูง แม้จะผ่านการปรุงด้วยความร้อนเป็นเวลานาน เราก็สูญเสียแคลซิเฟอรอลไปไม่มาก เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เราควรจะรับอาหารที่ให้ไขมันควบคู่ไปกับอาหารที่ให้แคลซิเฟอรอลด้วย เพื่อให้ร่างกายดูดซึมแคลซิเฟอรอลได้ดียิ่งขึ้น และควรจะงดเว้นยาที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย พร้อมกับอาหารที่ให้แคลซิเฟอรอลเพื่อไม่ให้ไปรบกวนการดูดซึมของร่างกาย

 

ที่มาและการอ้างอิง

กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เส้นประสาท HealthToday June 2015 โดย : รศ.นพ. ทวีชัย  เตชะพงศ์วรชัย  ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

สุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ วิตามิน A – Zinc   รศ.สุกมล  ณรงค์วิทยากุล