วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

บุหรี่ไฟฟ้า มีสารนิโคตินมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในร่างกายบีบตัว อันตรายถึงชีวิต Ep.63

 

                

บุหรี่ไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่พ่อค้าคิดค้นขึ้นมาขายแก่นักสูบบุหรี่ โดยอ้างว่าไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ ลักษณะเป็นแท่งคล้ายบุหรี่แต่โตกว่าเล็กน้อย ปลายหนึ่งเป็นช่องเหมือนไปป์สำหรับดูด อีกปลายเป็นหัวมีหลอดไฟให้แสงสีแดงหรือสีเขียวแล้วแต่ยี่ห้อ ตรงกลางตัวเครื่องมีที่ทำความร้อนให้สารเหลวเป็นไอระเหยโดยใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านลิเธียมและช่องใส่หลอดน้ำยาหรือผงยา น้ำยานี้ส่วนมากมีส่วนผสมสำคัญคือนิโคตินและสารให้กลิ่น หลอดน้ำยาเมื่อหมดสามารถซื้อมาเติมใหม่ได้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ได้นิโคตินเข้าสู่ร่างกาย มีการกล่าวอ้างว่าเนื่องจากไม่มีเขม่าควัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีสารก่อมะเร็ง จึงเป็นบุหรี่ที่สูบแล้วไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ (แต่ผู้เชี่ยวชาญไทยกล่าวว่าไม่ควรจะไปเชื่อโฆษณาอย่างนั้น) ทั้งยังไม่มีกฎหมายห้าม จะสูบที่ใดก็ได้

 

บุหรี่ไฟฟ้าถูกประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2003 โดยหมอจีนเพื่อช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ ต่อมาจึงแพร่ไปทั่วโลกและเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2007 สร้างมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์

 

เนื่องจากพึ่งจะมีการใช้กันไม่นาน ข้อมูลทางการแพทย์จึงยังมีไม่มาก ดังนั้นจึงยังมีการโต้เถียงกันอยู่มากว่า บุหรี่ไฟฟ้านี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร องค์การอนามัยโลกยังต่อต้าน แต่ผู้เชี่ยวชาญที่เคยศึกษาเรื่องนี้มากล่าวว่า สิ่งนี้ช่วยให้คนไข้เลิกบุหรี่ได้ถึง 81% แต่แพทย์คนอื่นกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กๆ เพราะจะทำให้เด็กที่ใช้ติดบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น และเอาไปใช้ผิดๆ เช่น เอาไปสูบกัญชา โคเคน แทนที่จะสูบนิโคตินอย่างเดียว ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารวมทั้งประเทศไทยด้วย

 

บุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะอย่างไร

บุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะเป็นแท่งคล้ายบุหรี่ ปลายข้างหนึ่งเป็นช่องเปิดเหมือนไปป์สำหรับดูด ปลายอีกข้างเป็นหัวมีหลอดไฟให้แสงสีแดงหรือเขียวหรือสีอื่นซึ่งจะติดขึ้นเวลาสูบ ในส่วนลำตัวของบุหรี่ไฟฟ้ามีช่องสำหรับใส่หลอดน้ำยาหรือผงยา ซึ่งจะถูกรมหรือให้ความร้อนจนของเหลวกลายเป็นไอ (avpor) หรือเป็นควันในกรณีที่เป็นผงยา แท่งนี้ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมซึ่งเปลี่ยนได้ และหลอดยาก็สามารถเปลี่ยนหรือเติมยาได้ น้ำยาที่ใช้มีนิโคตินผสมกับสารให้กลิ่น (บางอย่างเขาทำน้ำยาโดยไม่มีนิโคตินก็มี) เมื่อของเหลวกลายเป็นไอก็จะถูกดูดโดยคนสูบ

 

กล่าวโดยย่อ บุหรี่ไฟฟ้าคือเครื่องทำไอระเหย หรือ Vaporizer (คำว่า vape ในภาษาอังกฤษยุคใหม่เป็นคำกริยา หมายความว่าการสูดดมไอระเหยจากเรื่องที่ว่านี้) ลักษณะเด่นของมันคือ ไม่ต้องใช้ไฟแช็กจุด ไม่ต้องใช้ไม้ขีด ใช้แต่ถ่านลิเธียม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่มีกลิ่น (อ้างว่าไม่ทำให้ก่อมะเร็ง) แต่มีนิโคติน (ซึ่งมีผลเสียต่อหลอดเลือดและหัวใจ) และสารสร้างกลิ่น จำนวนความเข้มข้นของนิโคตินแปรผันไปแล้วแต่ยี่ห้อหรือขนาดยา แต่ส่วนมาก มีตัวยานิโคตินราว 18 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร (บางชนิดทำเป็นของเหลวซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าไม่มีนิโคติน)

 

บุหรี่ไฟฟ้าบางอย่างจะใช้ผงนิโคติน เวลาเข้าเครื่องรมแล้วจะได้เป็นควันออกมาให้สูบ เครื่องแบบนี้เรียกว่า อีบารากุ (e-baraku หรือ e-shisha) การสูบแบบนี้เมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา มีข้อมูลว่าการสูบอีบารากุ 45 นาที จะไดเขม่ามากกว่า 36 เท่า ได้คาร์บอนมอนอกไซด์มากกว่า 15 เท่า และได้นิโคตินมากกว่า 70 เท่าของการสูบบุหรี่ธรรมดา

 

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดเมืองไทยกล่าวว่า ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าต่างก็มีผลเสียต่อสุขภาพ อย่าไปเชื่อโฆษณาว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ จนทำให้สูบเท่าไหร่ก็ได้

 

วัยรุ่นปกติชอบของใหม่แฟชั่นใหม่ ที่สหรัฐอเมริกา วัยรุ่นเริ่มนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันมากขึ้น คิดเป็น 10% ของนักเรียนมัธยมปลาย และ 3.4% ในผู้ใหญ่  ปัจจุบันนี้คนอเมริกัน 40 ล้านคนสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้เกิดการตายมากถึง 1 ใน 5 ของสาเหตุการตายทั้งหมด ควันบุหรี่มีผลเสียต่อทุกอวัยวะ จากการสำรวจประชามติพบว่า 70% ของคนอเมริกันอยากเลิกบุหรี่ แต่การเลิกบุหรี่นั้นยาก เพราะนิโคตินเป็นยาเสพติด (ว่ากันว่าถ้าเทีบถ้าเทียบปริมาณต่อกรัมนิโคตินมีพลังเสพติดมากเป็นอันดับ 1) ปัจจุบันนี้ในสหรัฐอเมริกาการขายบุหรี่ลดลง 10% ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าภาษีเพิ่มขึ้นและที่สำคัญอย่างหนึ่งคือมี e-cigarettes เกิดขึ้น

 

บุหรี่ไฟฟ้านี้แรกเริ่มเดิมทีในปี ค.ศ. 2003 หมอจีนชื่อ Hon Lik เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมา เพื่อช่วยให้คนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น จากนั้นจึงถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกและเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2007

 

ตลาดขายบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาใหญ่ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี บางแห่งเริ่มเปิดบริการห้องดูดบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาแล้ว เรียกว่า vaping lounge ซึ่งทำให้คิดย้อนกลับถึงอดีตที่เมืองไทยมีโรงยาฝิ่น คนเสพจะเข้าไปนอนดูดฝิ่นชื่นมื่นเห็นสวรรค์รำไร ไม่ต้องเดือดร้อนทำอะไร ทำให้เสียหายต่อประเทศ (ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ฝรั่งต่างชาติสมัยก่อนเอามามอมเมาคนจีน จนเกิดสงครามฝิ่นในประเทศจีน) จนรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องออกกฎหมายห้ามเสพยาฝิ่น ปิดโรงยา เผาอุปกรณ์เครื่องสูบทิ้งกันเป็นมหกรรมประชาสัมพันธ์ ทำให้สิงห์อมควันลงแดงกันเป็นแถว จึงนับว่าเป็นการดีแล้วที่รัฐบาลมีนโยบายจะออกกฎหมายห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเมื่อเมืองไทยเสียเลย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

 

มีอะไรอยู่ในบุหรี่ไฟฟ้า

ปกติในควันบุหรี่ธรรมดามีสารเคมี 7,000 ชนิด และมีอยู่ 69 ชนิดที่ก่อมะเร็ง ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า มีนิโคตินเหลวและสารสร้างกลิ่น ซึ่งผู้ผลิตอ้างว่าไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่นิโคตินมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ถ้าบริโภคขนาดมากๆ อาจตายได้จากการสูดดมขนาดสูง การกินหรือการสูบดูดซึมทางผิวหนังขนาดสูงก็อาจถึงตายได้เช่นกัน เช่น นิโคตินขนาด 1 ช้อนโต๊ะ ถ้าดูดซึมเข้าทางผิวหนังหมดสามารถฆ่าผู้ใหญ่ได้ และขนาด 1 ช้อนชา สามารถฆ่าเด็กได้

 

นิโคตินมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในร่างกายบีบตัว เลือดจึงไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกายลดลง ทำให้อวัยวะขาดออกซิเจน มีผลเสียต่อทุกอวัยวะ การสูบบุหรี่ทำให้ความดันเลือดสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ น้อยลง มีผลเสียต่อการผ่าตัด ทำให้แผลติดเชื้อมากขึ้น แผลหายช้าหรือไม่หาย แผลแยก ทำให้เกิดไส้เลื่อนที่แผลผ่าตัดมากขึ้น คนไข้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดตามนัดจึงควรงดสูบบุหรี่ประมาณ 6 สัปดาห์ การผ่าตัดจึงจะได้ผลดีเหมือนผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

 

บุหรี่ไฟฟ้านี้ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดมาหลายปี แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอว่าปลอดภัยแค่ไหน จึงยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ เมื่อไม่นานมานี้ มีการประชุมต่อต้านบุหรี่ระดับนานาชาติที่อาบูดาบี มีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก และมีการโต้เถียงกันเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก นางมากาเร็ต ชาน มีจุดยืนต่อต้าน เพราะเกรงว่าเยาวชนจะติดยามากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญอื่นเห็นว่า ไม่ควรต่อต้านเพราะบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยคนที่อยากเลิกบุหรี่ได้ดีกว่ายาเลิกบุหรี่แบบอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ นายคอนสแตนติโนส์ ฟาซาริโนส์ กล่าวว่าเคยมีการทดลองในคน 19,500 คน พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้ 81% ของผู้เข้ารับการทดลองเลิกสูบบุหรี่ได้และได้ผลดีมาก ทั้งยังเสริมว่าถ้าคนสูบบุหรี่เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าราว 3% ก็จะช่วยให้คนรอดตายได้ 2 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่มีคนไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เด็กวัยรุ่นหันมาสูบกันมากขึ้น และเอาไปใช้แบบผิดๆ เช่น แทนที่จะสูบนิโคตินกลับไปสูบอย่างอื่น เช่น กัญชา โคเคน เฮโรอีน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก

 

เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ไม่มีการเปิดเผยส่วนผสมเพราะไม่มีกฎหมายใช้บังคับ ในปี ค.ศ. 2015 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงบังคับให้เปิดเผยส่วนผสมโดยมีการออกกฎหมาย smoke preventiob and tobacco control act และบังคับให้ต้องขออนุญาตก่อนวางตลาดบุหรี่ไฟฟ้า ห้ามขายเยาวชน ห้ามขายจากเครื่องหยอดเหรียญ และต้องมีฉลากเตือนภัยเหมือนซองบุหรี่

 

ในส่วนของค่าใช้จ่าย นักสูบบุหรี่ธรรมดาวันละซองต้องจ่าย 1,000 ดอลลาร์ต่อปี เพื่อจะได้จำนวนนิโคตินที่เขาต้องการ ส่วนนักดูดบุหรี่ไฟฟ้าตอนแรกต้องลงทุนซื้อเครื่อง แบตเตอรี่ หลอดยา รวมค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 30 – 100 ดอลลาร์ รวม 1 ปี จ่าย 600 ดอลลาร์

 

เนื่องจากไม่ค่อยมีการควบคุมด้านการตลาด จึงมีการโฆษณากันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่ที่ไม่มีควัน ไม่มีปัญหาทางสุขภาพ และสูบที่ไหนก็ได้ (ไม่มีการห้ามเหมือนบุหรี่ธรรมดา) จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง คณะรัฐมนตรีของไทยจึงได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการห้ามนำ อี-บารากุและบุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย เมื่อเดือนตุลาคม พ. ศ. 2557 ที่ผ่านมา ในขณะที่อีกหลายประเทศก็ห้ามเช่นกัน เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา อิสราเอล เม็กซิโก  ยูเออี ที่สหรัฐอเมริกาก็มีที่มลรัฐนิวยอร์ก ลอสแองเจลีส และชิคาโก้

 

ที่มาและการอ้างอิง

กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เส้นประสาท HealthToday June 2015 โดย นพ.นริศ  เจนวิริยะ  ศัลยแพทย์