วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

กระเจี๊ยบแดง สมุนไพรขับนิ่ว ขับปัสสาวะ ละลายไขมันในเส้นเลือด Ep.66

 

 

กระเจี๊ยบเปรี้ยว หรือ กระเจี๊ยบแดง (ภาคเหนือเรียก เกงเขง หรือ เกงเคง, ไทใหญ่แม่ฮ่องสอนเรียก ส้มปู, จังหวัดตากเรียก ส้มตะแลงเครง) เป็นพืชสมุนไพรที่เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3–6 ศอก ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายแบบด้วยกัน ขอบใบเรียบ บางทีก็มีรอยหยักเว้า 3 หยัก สีของดอกเป็นสีชมพู ตรงกลางดอกมีสีเข้มมากกว่าขอบนอกของกลีบ กลีบดอกร่วงโรยไป กลีบรองดอกและกลีบเลี้ยงก็จะเจริญเติบโตขึ้นอีกเกิดเป็นสีม่วงแดงเข้มหุ้มเมล็ดเอาไว้ภายใน กระเจี๊ยบแดง เป็นพืชสมุนไพรประเภทไม้พุ่มที่มีคุณสมบัติในการบำบัดรักษาโรคได้มากมายหลายชนิดด้วยกัน โดยเฉพาะตัวยาในกลีบเลี้ยง ผล และเมล็ดของกระเจี๊ยบแดง

 

กระเจี๊ยบเป็นสมุนไพรที่คุ้นเคยกันดี เพราะนิยมนำมาทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบดื่มเพื่อเรียกความสดชื่น นอกจากจะได้ในเรื่องของความสดชื่นแล้ว กระเจี๊ยบแดงให้ในเรื่องของสมุนไพรรักษาได้สารพัดโรค ในช่วงหนึ่งประเทศไทยจัดว่าเป็นแหล่งปลูกกระเจี๊ยบพันธุ์ดีของโลก เพราะกระเจี๊ยบของไทยมีดอกใหญ่และมีรสชาติดี ซึ่งจัดอยู่อันดับต้นๆ เมื่อพูดถึงกระเจี๊ยบ ประเทศไทยติดอยู่หนึ่งในสอง จะเป็นรองก็เพียงซูดานเท่านั้น ซึ่งตลาดสำคัญคืออเมริกาและประเทศทางแถบยุโรป โดยเฉพาะอเมริกา กระเจี๊ยบถือเป็นชาบำรุงร่างกายชั้นดี นิยมบริโภคกันมาก ผิดกับบ้านเราทั้งที่มีของดีอยู่ในมือแต่กลับไม่ค่อยเห็นคุณค่า เมื่อพูดถึงดอกกระเจี๊ยบแดง ส่วนมากจะนึกถึงดอกสีแดงสดรูปกรวยปลายแหลม และเข้าใจว่านั่นคือดอกกระเจี๊ยบ แต่ในความเป็นจริงส่วนที่เห็นเป็นกลีบฉ่ำน้ำสีแดงสดนั่นคือกลีบเลี้ยงที่หุ้มผลกระเจี๊ยบ ดอกกระเจี๊ยบจะมีสีชมพูอ่อนและมีอับเรณูเกสรสีเหลืองเด่น ซึ่งจะบานอยู่ใกล้กับผลกระเจี๊ยบ

 

การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดปลูก ควรปลูกในหน้าฝน พรวนดินก่อนปลูก ขุดหลุมปลูกหลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะห่างของหลุมประมาณ ½-1 เมตร พอต้นอ่อนงอกออกมาแล้ว ให้ถอนต้นที่อ่อนแอกว่าออกไปเอาต้นที่แข็งแรงไว้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน กำจัดวัชพืชออกให้หมด

 

กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชล้มลุกอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นง่าย ชอบดินชื้นแฉะ ถ่ายเทน้ำและอากาศได้ดี “กระเจี๊ยบแดง” นอกจากจะมีใบ ดอก และผลที่มีรสเปรี้ยวแตกต่างไปจากกระเจี๊ยบบ้างแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยาที่แตกต่างกันอีกด้วย กล่าวคือ ในผล ใบ และดอกของกระเจี๊ยบแดงนั้น สามารถนำมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะแก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดความดันโลหิต และลดเบาหวาน ปัจจุบันจึงมีการนำผลกระเจี๊ยบแดงมาตากแห้ง เพื่อเก็บไว้ทำเป็นน้ำกระเจี๊ยบดื่มแก้กระหายกันอย่างมาก

 

ขณะเดียวกัน “ในกลีบเลี้ยงและใบระดับของกระเจี๊ยบแดง” เองก็อุดมด้วยวิตามินซี สามารถช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยย่อยไขมันละลายเสมหะบำรุงธาตุ และเป็นยาระบายอ่อนๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง ถ้านำมาบดเป็นผงชงน้ำร้อนดื่มจะช่วยรักษานิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้อย่างดี ส่วน “เมล็ดกระเจี๊ยบ” หากนำมาตากแห้งและบดให้ละเอียด นำมาผสมน้ำหรือต้มน้ำดื่ม ก็จะช่วยในการระบาย บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะและลดไขมันในเลือดได้อีกด้วย

 

การใช้ประโยชน์ของกระเจี๊ยบเปรี้ยว สามารถนำไปทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหายได้ นอกจากนี้น้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยวสามารถใช้ทดสอบสารอาหารที่มีโปรตีนได้ โดยอัตราส่วน 1:2 ซึ่งสีแดงของน้ำกระเจี๊ยบเปรี้ยว จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือสีอื่น

  • ชาวแอฟริกาตะวันออก นำทั้งใบและผลไปต้มดื่มแก้อาการไอ
  • ชาวอียิปต์ ใช้กลีบเลี้ยงสีแดงต้มน้ำดื่มแก้ความดันโลหิตสูง
  • ชาวมอญและพม่า นิยมนำผลและใบกระเจี๊ยบเปรี้ยวไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง ใบนำไปยำ หั่นใส่ข้าวยำหรือกินแนมกับอาหารรสจัด ต้ม แกงส้ม ผัด และจิ้มน้ำพริก

 

สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง

1.อุดมไปด้วยกากใยอาหาร ทั้งชนิดที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ โดยเฉพาะเพกติน

  • กากใยอาหารชนิดละลายน้ำ มีคุณสมบัติช่วยลดปริมาณน้ำตาล และไขมันในเส้นเลือด
  • กากใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ จำพวกเส้นใยเซลลูโลส จะช่วยเรื่องของการขับถ่ายโดยตรง ช่วยให้อุจจาระนุ่ม ง่ายต่อการขับออกนอกร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้

2.วิตามินซีที่มีมากจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ต้านทานเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี

3.ช่วยลดน้ำหนัก เป็นยาระบายอ่อนๆ ใช้เป็นยารักษาอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี

4.ความเปรี้ยวที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ช่วยกัดเสมหะและแก้เจ็บคออย่างได้ผล

5.เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด

6.ช่วยลดระดับความเข้มข้นและความดันโลหิตให้ลดน้อยลง

7.ช่วยรักษาโรคเส้นเลือดโลหิตแข็งและเปราะบาง

8.ผล ใบ และดอก นำมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

9.แก้ร้อนในกระหายน้ำ

10.ลดเบาหวาน

11.ช่วยรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

12.ช่วยย่อยไขมันละลายเสมหะ บำรุงธาตุ

 

กระเจี๊ยบเป็นสมุนไพรที่ควรมีติดบ้านเอาไว้ เพราะการเข้าตัวยาไม่ต้องใช้กรรมวิธีที่ซับซ้อน แทบจะไม่ก่อให้เกิดพิษ สามารถกินได้อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง แต่การจะให้ได้ปริมาณกากใยอาหารอย่างเต็มที่ ให้เราเลือกผลกระเจี๊ยบที่มีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดด้วย ใช้เพียงกลีบเลี้ยงสีเขียวและสีแดงเท่านั้น โดยยีให้เล็กที่สุด เมื่อต้มเสร็จแล้วไม่ต้องกรองเอากากของกระเจี๊ยบทิ้ง ดื่มทั้งแบบนั้นเพื่อให้ได้ปริมาณกากใยอาหารเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มสรรพคุณของน้ำกระเจี๊ยบได้เป็นอย่างดี

 

ขั้นตอนการนำมาทำเป็นสมุนไพรเพื่อการระบาย สูตร 1

1.ใช้กลีบเลี้ยงสีแดงสดประมาณ 1 กำมือ

2.บดจนกลายเป็นเจลใสสีแดงสด

3.นำไปรับประทาน 1 ช้อนแกง

 

ขั้นตอนการนำมาทำเป็นสมุนไพรเพื่อการระบาย สูตร 2

1.ใช้กระเจี๊ยบสีแดงสดประมาณ 500 กรัม

2.บีบพอช้ำ ต้มกับน้ำ 2 ลิตรจนเดือด สังเกตน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม

3.กรองเอาแต่น้ำ ดื่มเป็นประจำ

ช่วยแก้อาการท้องผูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้ชุ่มคอ แก้เจ็บคอ กัดเสมหะ แก้ไอ ช่วยให้เจริญอาหาร เรียกกําลัง และการดื่มน้ำกระเจี๊ยบอุ่นๆ ช่วยไล่ไข้หวัด ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากพิษไข้ ป้องกันไข้กลับ

 

ขั้นตอนการนำมาทำเป็นสมุนไพรขับนิ่ว ขับปัสสาวะ ละลายไขมันในเส้นเลือด

1.นำดอกกระเจี๊ยบแดง 5-10 ดอก มาล้างให้สะอาด

2.นำมาต้มกับน้ำ พอเดือดยกลง รอจนอุ่นดีแล้วให้รินใส่แก้ว

3.ดื่มเฉพาะน้ำวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น)

สมุนไพรน้ำดอกกระเจี๊ยบ จะช่วยขับปัสสาวะได้อย่างดี แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ควรดื่มมาก เพราะกระเจี๊ยบมีสรรพคุณเป็นยาระบายด้วยเช่นกัน ซึ่งถ้าดื่มมากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการถ่ายท้องร่วมด้วย กระเจี๊ยบแดงเป็นสมุนไพรเรียกกําลังชั้นดี ช่วยแก้โรคนิ่วในไตระยะแรก บำรุงสุขภาพผิว หรือจะนำดอกกระเจี๊ยบมาผึ่งลมให้แห้งทำเป็นชาดอกกระเจี๊ยบใช้ประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1 ถ้วยกาแฟ ดื่มเป็นประจำ มีสรรพคุณเช่นเดียวกับดอกสด

 

ขั้นตอนการนำมาทำเป็นสมุนไพรลดไขมันในเส้นเลือด

1.นำเอากลีบเลี้ยงหรือกลีบดอกสีม่วงแดงมาตากแห้ง

2.บดเป็นผงนำมาใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (ประมาณ 3 กรัม)

3.ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร)

4.ดื่มเป็นประจำทุกวันวันละ 3 ครั้ง จนกว่าอาการต่างต่างๆ ที่เป็นอยู่จะหายไป

หรือ อาจนำฝักกระเจี๊ยบแดงที่ตากแห้งมาต้มกับน้ำจนเดือด เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้อีกด้วย

 

ที่มาและการอ้างอิง

รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์
108 สมุนไพรไทย ใช้เป็น หายป่วย โดย พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล
https://th.wikipedia.org/