วันอาทิตย์, 6 ตุลาคม 2567

กานพลู แก้ปวดฟัน บรรเทาอาการไอ Ep.82

กานพลูโดยมากจะเป็นผลมาจากสารยูจีนอล ซึ่งในใบของกานพลูจะมีสารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบอยู่มาก จึงมีการนำใบกานพลูมาสกัดเป็นน้ำมันหอมเพื่อใช้ประโยชน์จากสารยูจีนอลได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคุณสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาสมุนไพรทั่วไป แต่ถ้ามีต้นกานพลูปลูกเอาไว้ในบ้านเรือนหรือสามารถหาใบกานพลูได้เป็นจำนวนมาก จะกลั่นน้ำมันกานพลูไว้ใช้เป็นสมุนไพรติดบ้านเรือนด้วยตัวเองก็ได้ เพราะทำได้ไม่ยาก ถึงแม้กรรมวิธีในการกลั่นน้ำมันกานพลูที่ดีที่สุดต้องใช้วิธีการกลั่นด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เพราะกานพลูมีน้ำมันหอมระเหยค่อนข้างมาก การกลั่นด้วยวิธีการธรรมดาทั่วไปก็ได้น้ำมันกานพลูไว้ใช้ประโยชน์มากพอดูเช่นกัน

 

 

นำใบกานพลูประมาณ 1 กำมือ มาโขลกให้ละเอียดผสมน้ำเท่าตัว ต้มให้เดือดเป็นไอในชุดกลั่นไอน้ําทั่วๆ ไป (หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์การศึกษา) เมื่อไอน้ำที่ระเหยออกมากลั่นตัวเป็นหยดน้ำก็จะเห็นน้ำกับน้ำมันแยกออกจากกัน เมื่อกลั่นเสร็จแล้ว ช้อนเอาแต่เฉพาะส่วนที่เป็นน้ำมันให้ได้มากที่สุด แล้วนำไปต้มให้เดือดอีกครั้งเพื่อระเหยน้ำออกให้หมด เก็บน้ำมันที่ได้ใส่ขวดแก้ว ใช้แก้ปวดฟัน แก้ปวดท้อง หรือผสมน้ำอุ่นเพื่อเป็นยาช่วยให้เจริญอาหารก็ได้

 

กานพลู แก้ปวดฟัน

กานพลูเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 5 – 10 เมตร ใบเดี่ยวรูปรีแกมรูปหอก ขอบใบเป็นคลื่น ผิวเป็นมันทั้งหน้าและหลัง กว้างประมาณ 3 – 4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร ใบอ่อนสีน้ำตาลปนแดง ดอกสีขาวออกเป็นช่อตามซอกใบ กานพลูเป็นสมุนไพรที่ใช้ได้ดีในเรื่องแก้ปวดฟัน เพราะมีสารยูจีนอลเป็นส่วนประกอบซึ่งมีสรรพคุณออกฤทธิ์ใกล้ๆ กับยาชาอ่อนๆ จึงมีสรรพคุณในเรื่องคลายอาการปวดได้ดี ช่วยในการลดกลิ่นปาก แก้ไอ ขับเสมหะ แก้เหงือกอักเสบ รำมะนาด แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน วิธีเข้าตัวยาแก้ปวดฟัน ใบกานพลูแก่จัด 1 – 2 ใบ โขลกจนละเอียด ใช้อุดฟันซี่ที่ปวด ใบกานพลูมีสารยูจีนอลสูงทำให้เกิดอาการชาเฉพาะที่ ช่วยลดความปวดได้ดี

 

กานพลู บรรเทาอาการไอ

กานพลู เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีรสหอมเย็นช่วยบรรเทาอาการไอ เสียงแหบแห้ง เสียงหาย ด้วยการนำกานพลูมาอมไว้ในปากครั้งละ 1 ดอก อมจนรู้สึกว่าดอกกานพลูเริ่มนิ่ม จากนั้นใช้ฟันกัดให้แตก จะได้น้ำยารสเผ็ดเล็กน้อย แล้วให้กลืนน้ำยามันลงคอให้อมเรื่อยๆ บ่อยๆ พอรสยาเริ่มจืดให้เปลี่ยนใหม่ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนรู้สึกว่าอาการไอ เจ็บคอ และเสียงแหบแห้งค่อยๆ หายไป

 

กานพลู รักษาอาการปวดมวนในท้อง

กานพลู มีฤทธิ์ช่วยคลายการบีบตัวของลำไส้ ช่วยลดอาการปวดท้อง ลดอาการแน่นท้อง และลดอาการเสียดที่ท้องน้อย ขับน้ำดี ช่วยให้เจริญอาหาร กระตุ้นให้เกิดการหลั่งเมือก (mucin) ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดการระคายเคืองอันเป็นสาเหตุของการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร ออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการอักเสบในร่างกาย และทำให้เกิดของเสีย อีกทั้งยังช่วยขับลม บำรุงธาตุโดยเฉพาะดอกกานพลูแห้งที่ยังไม่มีการสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยออกจะมีกลิ่นหอมแรง มีรสเผ็ด และมีน้ำมันหอมระเหยออกมามาก ซึ่งสรรพคุณต่างๆ เหล่านี้เองที่มีคุณสมบัติ ทั้งยังช่วยให้ระบายท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ปวดท้อง แน่นท้อง บรรเทาอาการของโรคเหน็บชา ขับลมในลำไส้ ขับน้ำคาวปลา รักษาอาการน้ำเหลืองเสีย

 

ทั้งนี้กานพลูยังเป็นสมุนไพรที่ช่วยให้กระเพาะอาหารทำงานเป็นระบบได้ดีขึ้นช่วยรักษาอาการแน่นท้อง แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียดรักษาอาการสะอึก ระงับอาเจียน ลดอาการวิงเวียน ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดฟันได้อีกด้วย

 

สำหรับวิธีการนำสมุนไพรกานพลูไปใช้ในการแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ สามารถทำได้โดย ใช้ดอกกานพลูที่ยังตูมอยู่ โดยแบ่งขนาดรับประทานดังนี้คือ ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ให้ใช้กานพลูจำนวน 4 – 6 ดอก (0.25 กรัม) นำมาทุบพอแตก จากนั้นชงกับน้ำร้อนดื่มครั้งล่ะ 1/2 ถ้วย เมื่อมีอาการ ส่วนในวัยเด็กให้ใช้ดอกกานพลูจำนวน 1 ดอก ทุบพอแตก ใส่ลงในขวดนมให้เด็กดื่ม สำหรับเด็กอ่อนให้ใช้ดอกกานพลู 1 ดอก ทุบใส่ลงในกระติกน้ำร้อนที่ใช้สำหรับชงนม จะช่วยลดอาการท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ได้อย่างดี

 

ที่มาและการอ้างอิง

108 สมุนไพรไทย ใช้เป็น หายป่วย โดย พิมลพรรณ อนันต์กิจไพศาล

รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์