วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2567

คุมอาหารป้องกันเกาต์ Ep.87

 

 

โรคเก๊าต์เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของกรดยูริก ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของพิวรีนในร่างกาย และบางส่วนมาจากพิวรีนในอาหาร ผู้ป่วยโรคเก๊าต์ที่มีอาการกำเริบหรือระดับกรดยูริกในเลือดสูง ควรจำกัดหรือลดการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา หอยน้ำต้มกระดูก กระถิน ชะอม เป็นต้น ผู้ป่วยควรงดดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์เพิ่มการสร้างกรดยูริคและลดการขจัดกรดยูริกออกจากร่างกาย นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 10 แก้ว

โรคเกาต์เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของกรดยูริกจนทำให้เกิดอาการผิดปกติในร่างกายขึ้น การวางแผนการรับประทานอาหารนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเก๊าต์ เพราะการเลือกรับประทานอาหารและปรับนิสัยการบริโภคให้เหมาะสม ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเก๊าท์สามารถควบคุมระดับของกรดยูริคในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ป้องกันการตกผลึกของกรดยูริก ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว นิ่วในไต และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ร่างกายของเราสร้างกรดยูริกได้เองเป็นส่วนใหญ่จากการสลายตัวของสารที่มีชื่อว่าพิวรีน (purine) และได้รับบางส่วนจากอาหาร แต่การรับประทานอาหารโดยที่ไม่ควบคุมปริมาณของพิวรีนเลย จะทำให้ร่างกายได้รับกรดยูริกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบ ปวด บวม แดง การสะสมของกรดยูริกมักจะใช้เวลานานหลายปี การตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้เห็นแนวโน้มของการสะสมกรดยูริกที่จะเกิดขึ้นได้ โดยปกติผู้ชายควรมีค่าระดับกรดยูริกอยู่ในเลือดระหว่าง 2.5 – 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และผู้หญิงควรมีค่านี้ระหว่าง 1.5 – 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ถ้าตรวจพบว่ามีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ผู้ป่วยควรทราบวิธีการควบคุมอาหารเพื่อป้องกันการอักเสบอย่างเฉียบพลัน เพราะถ้าไม่ควบคุมอาหาร และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผลึกของกรดยูริกที่มีมากในเลือดจะสะสมตามเนื้อเยื่อต่างๆ และบริเวณข้อต่อ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจเกิดเป็นก้อนเกาต์ (tophaceous gout) ซึ่งก้อนนี้จะทำลายกระดูกและข้อให้สึกไปในที่สุด

 

ที่มาและการอ้างอิง :

แววตา  เอกชาวนา  นักโภชนาการ : กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เส้นประสาท HealthToday June 2015