วันอาทิตย์, 6 ตุลาคม 2567

ประเพณีการทอดกฐิน พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่ามีผลานิสงส์มาก

กฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐิน หรือการกรานกฐิน จัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลา คือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ซึ่งนอกจากในพระวินัยฝ่ายเถรวาทแล้ว กฐินยังมีในฝ่ายมหายานบางนิกายอีกด้วย แต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างจากพระวินัยเถรวาท

 

 

การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐิน หรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และด้วยการที่การถวายผ้ากฐินนั้น จัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ ยกให้ แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทาน ที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่ง ๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี จึงทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย

 

 

ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์ได้ถูกลดความสำคัญลงไป แต่กลับให้ความสำคัญกับบริวารของกฐินทานแทน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของ เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

 

กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ระยะเวลานั้นมีเพียง 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันเพ็ญเดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน

 

 

ความสำคัญพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น
การถวายกฐินนั้นมีข้อจำกัดหลายอย่าง ซึ่งทำให้การถวายกฐินมีความความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่นดังนี้

1.จำกัดประเภททาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
2.จำกัดเวลา คือกฐินเป็นกาลทานอย่างหนึ่ง (ตามพระบรมพุทธานุญาต) ดังนั้นจึงจำกัดเวลาว่าต้องถวายภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษา เป็นต้นไป
3.จำกัดงาน คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน
4.จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้
5.จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
6.จำกัดคราว คือ วัด ๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
7.เป็นพระบรมพุทธานุญาต ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาตผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระประสงค์โดยตรง

 

 

ความเป็นมาของกฐิน
ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุ ในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบากเพราะฝนยังตกชุกอยู่ เมื่อเดินทางถึงวัดพระเชตวัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส สามารถรับผ้ากฐินได้ และภิกษุผู้ได้กรานกฐินได้อานิสงส์ 5 ประการ ภายในเวลาอานิสงส์กฐิน (นับจากวันที่รับกฐินจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4) คือ

1.ไปไหนไม่ต้องบอกลา
2.ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับสามผืน
3.ฉันคณโภชนะได้ (รับนิมนต์ที่เขานิมนต์โดยออกชื่อโภชนะฉันได้)
4.เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้โดยที่ยังมิได้วิกัปป์ และอธิษฐาน โดยไม่ต้องอาบัติ
5.จีวรลาภอันเกิดขึ้น จักได้แก่ภิกษุผู้ได้กรานกฐินแล้ว

 

 

 

อานิสงส์ของการทอดกฐิน
1. เป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ

2.เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชาส่วนหนึ่ง

3.สืบต่อประเพณีกฐินทาน มิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย ซึ่งบรรพบุรุษนำสืบต่อกันมามิขาดสาย

4.การทอดกฐินเป็นการถวายทานโดยมิเจาะจงบุคคลโดยเฉพาะ แต่ถวายแก่หมู่สงฆ์เป็นส่วนรวมจึงเข้าลักษณะเป็นสังฆทาน ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ว่ามีผลานิสงส์มาก

5.การร่วมบำเพ็ญกฐินทาน เป็น กาลทาน คือเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตกำหนด จึงมีอานิสงส์เป็นพิเศษ

6.ในการทอดกฐิน ส่วนใหญ่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันของคนจำนวนมากเพื่อสร้างความดีงาม จึงเป็นการเสริมสร้างพลังสามัคคีขึ้นในสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

 

 

ที่มา : th.wikipedia.org