วันจันทร์, 7 ตุลาคม 2567

ประวัติศาสตร์ จังหวัดบุรีรัมย์

14 มิ.ย. 2017
4281

 

ประวัติศาสตร์จังหวัดบุรีรัมย์

คำว่า บุรีรัมย์ ซึ่งแปลว่า เมืองที่น่าพอใจ มีความเป็นมายาวนานและมีหลักฐานที่แตกต่างกัน จะขอนำตัวอย่างหลักฐานอ้างอิง ดังนี้

 

๑. ประกาศแต่งตั้งขุนนางไทย ร.ศ. ๘๗ ปีที่ ๑ รัชกาลที่ ๕ มีความว่า ให้พระสำแดง-ฤทธิณรงค์ เป็น พระนครภักดีศรีนัครา เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองบุรีรัมย์ ขึ้นเมืองนครราชสีมา ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ฯลฯ ตั้งแต่ ณ วัน ๔ ฯ ๓ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๓๐ เป็นวันที่ ๖๕ ใน รัชกาลปัจจุบัน

 

๒. จากประวัติจังหวัดนครราชสีมา แต่งโดยสุขุมาลย์เทวี กล่าวว่า สมัย สมเด็จ พระนารายณ์มหาราช เมืองนครราชสีมาปกครองเมืองขึ้น ๕ เมือง คือ นครจันทึก ชัยภูมิ พิมาย บุรีรัมย์ นางรอง

 

๓. ประชุมพงศาวดารฉบับความสำคัญ โดยหลวงวิจิตรวาทการ ฉ. ๓ กล่าวว่า บุรีรัมย์ เดิมชื่อ โนนม่วง ตั้งสมัยกรุงธนบุรี พ.ศ. ๒๓๑๘

 

ประวัติศาสตร์จังหวัดบุรีรัมย์ มีความแตกต่างจากประวัติศาสตร์จังหวัดอื่น

ตรงที่ว่า ประวัติศาสตร์จังหวัดอื่นส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ชุมชน ซึ่งรวมตัวกันขึ้นในจุดใดจุดหนึ่ง และจุดนั้นก็พัฒนามาจนกลายเป็นจังหวัด หรือเมืองนั้นๆ แต่เมืองบุรีรัมย์จุดเริ่มต้นและจุดที่เป็นจังหวัดคนละแห่งกัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองจุดก็ไม่ได้แน่นแฟ้นกันนัก ประวัติศาสตร์ที่ได้มาจึงมีลักษณะที่เด่น คือเป็นเรื่องของชาวบุรีรัมย์ ไม่ใช่เป็นเรื่องของเจ้าเมืองบุรีรัมย์เพียงอย่างเดียว

 

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งจังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบัน

 

เป็นดินแดนที่เคยรุ่งเรืองมาในอดีต มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นมาโดยตลอด จากหลักฐานต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

๑. จากการศึกษาสำรวจ

และศึกษาจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม และ ผศ. ทิวา ศุภจรรยา ปรากฏว่า มีเมืองและชุมชนโบราณเฉพาะในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เกินกว่า ๑๓๐ แห่ง เมืองและชุมชนเหล่านั้นจะมีคูน้ำ คันดินล้อมรอบถึง ๓ ชั้น ก็มีลักษณะของเมืองเป็นรูปทรงกลมเกือบทั้งหมด จากการวิเคราะห์ในชั้นต้นเป็นเมืองและชุมชนที่อายุอยู่ในสมัยทวารวดี๑

 

ซึ่งจากข้อสำรวจดังกล่าวในบริเวณลำน้ำมูลพบว่า ลำน้ำนี้เป็นลำน้ำหลักของบริเวณ ไหลมาจากทางทางตะวันตกผ่านตอนใต้ของอำเภอพุทไธสง ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านเขตอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ไปยังเขตอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ตามลำดับ

 

ทางฝั่งใต้ของ แม่น้ำมูลในรัศมี ๒ – ๑๗ กิโลเมตร จากฝั่งน้ำ ได้พบชุมชนเป็นระยะไป ซึ่งล้วนแต่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มทั้งสิ้น คือ บ้านปะเคียบ บ้านโนนสูง บ้านแพ บ้านดงเค็ง บ้านสระขี้ตุ่น บ้านเขว้า บ้านกระเบื้อง บ้านโคกเมืองไช บ้านเมืองน้อย บ้านดงพลอง บ้านตะแบง บ้านโคกเมือง บ้านทุ่งวัง และบ้านสำโรง ชุมชนโบราณที่กล่าวถึงนี้อาจวิเคราะห์ตามรูปร่างลักษณะและสภาพแวดล้อม คือ

 

(๑) แบบที่เป็นเนินดินสูงจากระดับ ๕ เมตรขึ้นไป

จากที่ราบลุ่มในบริเวณรอบๆ ไม่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ บางแห่งก็เป็นเนินเดี่ยว แต่บางแห่งก็เป็นสองสามเนินดินต่อกัน ตามเนินดินจะมีเศษเครื่องปั้นดินเผา ทั้งที่มาจากหม้อกระดูกและไม่ใช่หม้อกระดูกกระจัดกระจายอยู่เนินดิน ที่เป็นแหล่งสำคัญในแบบนี้ได้แก่ บ้านกระเบื้อง ซึ่งเป็นเนินดินขนาดใหญ่มี ๓ เนินดินติดต่อกัน

 

ในการตัดถนนผ่านหมู่บ้านรถแทรกเตอร์ได้ตัดชั้นดินของแหล่งชุมชนโบราณลึกไปอีกถึง ๓ – ๔ เมตร เผยให้เห็น ชั้นดินที่มีการอยู่สืบเนื่องกันมาอย่างน้อย ๒-๓ ชั้น ชั้นต่ำสุดสัมพันธ์กับเครื่องปั้นดินเผาแบบหนาและหยาบ เปลือกหอย และกระดูกสัตว์ ชั้นบนๆ ขึ้นมาสัมพันธ์กับเครื่องปั้นดินเผาชนิดบางมีลายเชือกทาบ และบรรดาภาชนะบรรจุกระดูกคน ตามแบบต่างๆ นอกนั้นยังพบเศษขี้โลหะ ที่เหลือจากการถลุงแล้ว เนินดินอีกแห่งหนึ่งคือ บ้านโคกสูง พบชั้นดินที่อยู่อาศัยอย่างน้อย ๒ – ๓ ชั้น และพบเศษขี้แร่โลหะ เช่นเดียวกันกับที่บ้านกระเบื้อง

 

(๒) แบบที่เป็นเนินดินที่คูน้ำล้อมรอบ

ได้แก่ บ้านแพ บ้านโคกเมืองไช บ้านเมืองน้อย บ้านดงพลอง บ้านโคกเมือง และบ้านทุ่งวัง ชุมชนโบราณเหล่านี้บางแห่งก็มีคูน้ำล้อมรอบชั้นเดียว แต่บางแห่งก็มีคูน้ำล้อมรอบตั้งแต่สองชั้นขึ้นไป เช่น บ้านดงพลอง และบ้านโคกเมือง แหล่งสำคัญเห็นจะได้แก่บ้านดงพลอง ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีคูน้ำล้อมรอบสองชั้น พบเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภาชนะใส่กระดูกคนตายและเครื่องปั้นดินเผาเครือบแบบลพบุรี ซึ่งเข้าใจว่าคงแพร่มาจากเตาบ้านกรวด แสดงให้เห็นว่าชุมชนนี้คงมีอยู่เรื่อยมาจนถึงสมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๗

 

บ้านโคกเมืองก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เป็นชุมชนรูปกลม มีคูน้ำล้อมรอบถึง ๓ ชั้น ภายในชุมชนพบเศษภาชนะดินเผา พร้อมบรรจุกระดูกและขี้โลหะที่ถลุงแล้วเป็นจำนวนมาก ถัดมาก็เป็นบ้านทุ่งวัง ซึ่งเป็นเนินดิน ๒ – ๓ เนินที่มีคูน้ำโอบรอบเข้าไว้ด้วยกัน พบเสมาหินทรายแบบทวารวดี และเนินดินลูกหนึ่งที่ใช้เป็นแหล่งถลุงโลหะโดยเฉพาะ นอกนั้นยังมีผู้พบเทวรูปและเครื่องปั้นดินเผาแบบขอมซึ่งเป็นของในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐ – ๑๑ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘) ลงมา

 

(๓) แบบที่เป็นเนินดิน ๒ – ๓ เนิน

มีคูน้ำล้อมรอบและมีการสร้างคันดินโอบรอบอีก ชั้นหนึ่งพบที่บ้านปะเคียบเพียงแห่งเดียว แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของผังชุมชนตั้งแต่ระยะแรกที่มีเพียง เนินดินเป็นที่อยู่อาศัย แล้วต่อมาก็มีการขุดคูน้ำล้อมรอบ และในสมัยหลังสุดก็มีการสร้างคูคันดินเป็นกำแพงเมืองโอบรอบอีกชั้นหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่น่าเสียดายที่ว่าการสร้างกำแพงดินนี้ เสร็จเพียงแค่ด้านตะวันตกด้านใต้ถ้าหากว่าทำเสร็จแล้วผังของชุมชนแห่งนี้จะเป็นลักษณะเดียวกันกับ ผังเมืองร้อยเอ็ด และสุรินทร์ทีเดียว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการที่จะปรับปรุงให้ชุมชนบ้านปะเคียบเป็นเมืองขึ้นในสมัยลพบุรี ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘)

 

นอกจากนี้บริเวณภายในชุมชนบ้านปะเคียบเองก็แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการที่สอดคล้องกับลักษณะผังเมืองที่ได้กล่าวมาแล้วคือพบเนินดินที่จัดไว้เป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ เป็นที่ฝังอัฐิคนตาย ซึ่งบรรจุไว้ในหม้อกระดูก ต่อมาบริเวณนี้ ได้กลายเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนา มีเสมาหินที่มีรูปสลักเป็นรูปสถูปและฐานกลีบบัว อันเป็นสัญลักษณ์ในทางพุทธศาสนา ปักอยู่หลายหลัก รวมทั้งมีชิ้นส่วนของธรณีประตูหินที่แสดงให้เห็นว่าเคยมีการสร้างอาคารในรูปของวิหารบนเนินนี้ด้วย นอกจากนี้ยังพบเศษโลหะสัมริดที่หล่อเป็นรูป วงแหวนและชิ้นส่วนของเทวรูปและข้างในบริเวณนี้อีกด้วย อันแสดงให้เห็นว่าเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการมาถึงสมัยทวารวดี และลพบุรี

 

ทางฝั่งเหนือของลำน้ำ ในรัศมี ๒ – ๗ กิโลเมตร

จากฝั่งน้ำสำรวจพบแหล่งโบราณคดี จำนวน ๑๗ แห่ง คือ บ้านเมืองไผ่ บ้านเมืองบัว บ้านจาน บ้านขี้เหล็ก บ้านน้ำอ้อมใหญ่ บ้านแสงสุข บ้านยะวึก บ้านขี้ตุ่น บ้านน้ำอ้อม บ้านกระเบื้องใหญ่ บ้านกระเบื้องน้อย บ้านหัวนาดำ บ้านสำโรง บ้านตึกชุม บ้านโนนยาว บ้านเขาโค้ง บ้านกระเบื้อง แหล่งโบราณคดีเหล่านี้ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันกับทางฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำมูล คือ แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ ๒ แบบ คือ แบบที่เป็นเนินดินโดยไม่มีคูน้ำล้อมรอบ และแบบที่มีคูน้ำล้อมรอบ

 

ในบรรดาแบบที่ไม่มีคูน้ำล้อมรอบที่น่าสนใจเห็นจะได้แก่ บ้านกระเบื้องใหญ่ ตำบลยะวึก เป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีความสูงลาดขึ้นไปจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก แสดงถึงการทับถมของแหล่งที่อยู่อาศัยหลายยุคหลายสมัย ตอนปลายเนินทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นตอนที่สูงสุดนั้นปัจจุบันเป็นเขตวัดประจำหมู่บ้าน ดูเหมือนจะถูกจัดไว้ให้เป็นแหล่งศักดิ์สิทธิของชุมชนในสมัยโบราณ เพราะเป็นบริเวณที่มีเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้เป็นหม้อบรรจุกระดูกคนตายอยู่หนาแน่นกว่าที่อื่นๆ เนินดินอีกแห่งหนึ่งคือ ที่บ้านโนนยางร้างอยู่ในเขตตำบลบ้านกระเบื้อง อำเภอชุมพลบุรี เป็นเนินดินที่ตั้งอยู่ติดกับลำแม่น้ำมูล

 

ปัจจุบันลำน้ำเปลี่ยนทางเดินเลยกัดเซาะเนินดินแห่งนี้พังทลายลงน้ำไปครึ่งเนิน เผยให้เห็นถึงชั้นดินธรรมชาติ และชั้นดินที่อยู่อาศัยตั้งแต่ชั้นล่างสุดจนถึงชั้นบนสุดที่มีระดับสูงถึง ๔ เมตร เนินดินแห่งนี้ทางคณะสำรวจได้ทำการขุดหลุมทดลองทำผังบริเวณ นำเศษเครื่องปั้นดินเผามาวิเคราะห์ และส่งตัวอย่างถ่านไปทำการกำหนดอายุที่สถาบันพลังงานปรมาณูแห่งชาติ

 

ส่วนแหล่งโบราณคดีแบบที่มีคูน้ำล้อมรอบนั้น

ในบริเวณนี้มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ แหล่งที่เป็นขนาดเล็กมีลักษณะกลม และบางแห่งก็มีคูน้ำล้อมรอบ ๒ – ๓ ชั้น เช่น บ้านน้ำอ้อมใหญ่ เป็นต้น แต่มักเป็นเนินดินต่ำๆ มีชั้นดินที่มีเศษเครื่องปั้นดินเผาไม่ลึก และไม่มีความหนาแน่น แสดงถึงการตั้งหลักแหล่งแต่เพียงระยะเวลาหนึ่งแล้วร้างไป ส่วนแหล่งขนาดใหญ่นั้นมักมีรูปแบบไม่สม่ำเสมอ เช่นที่บ้าน ยะวึก และบ้านตึกชุม เป็นต้น แต่ละแห่งมีคูน้ำล้อมรอบขนาดใหญ่ที่สำคัญเห็นจะได้แก่ บ้านยะวึก เพราะภายในบริเวณที่มีคูน้ำล้อมรอบนั้น มีอยู่หลายเนินดินที่อยู่อาศัย พบเศษเครื่องปั้น ดินเผาที่เป็นหม้อบรรจุกระดูกและขี้โลหะที่เหลือจากการถลุงกระจายไปทั่ว

 

นอกคูน้ำออกมาก็มีเนินดินที่บางเนิน เช่น บริเวณที่วัดยะวึก ตั้งอยู่นั้นมีลักษณะเหมาะที่เป็นทั้งแหล่งฝังอัฐิคนตายและการถลุงโลหะ ทางคณะสำรวจได้ทำการขุดหลุมทดลองในบริเวณนี้เช่นกัน ห่างออกไปทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวทางถนนที่เป็นคันดินไปติดต่อกับแหล่งชุมชนโบราณที่บ้านน้ำอ้อมใหญ่ และบ้านแสงสุข ยิ่งกว่านั้นยังมีแนวทางไปติดต่อกับชุมชนโบราณอีกหลายแห่งในเขตลำน้ำพลับพลาทางเหนือจากร่องรอยคันดินที่สัมพันธ์กับแหล่งชุมชนอื่นในบริเวณใกล้เคียงเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณที่บ้านยะวึกนี้มีลักษณะเป็นชุมชนใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของท้องถิ่นก็ว่าได้

 

๒. มีการขุดพบพระพุทธรูปนาคปรก

สมัยทวารวดี ที่บ้านเมืองฝ้าย ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอ ลำปลายมาศ และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า เป็นพระพุทธรูปนาคปรก สมัยทวารวดีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

 

นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปสมัยทวารวดีอีกหลายองค์ ที่อำเภอพุทไธสง ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๕ และพบใบเสมาที่บ้านปะเคียบ อำเภอคูเมือง อันเป็นโบราณวัตถุสมัย ทวารวดี ดังนั้นจึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า ดินแดนจังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบันเคยเป็นที่ตั้งชุมชนสมัยทวารวดี อย่างน้อยที่สุดก็ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓

 

๓. จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบันด้านสถาปัตยกรรม

และเครื่องมือเครื่องใช้ เช่นปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำ และอื่นๆ อีกมาก เทวรูป พระพุทธรูป ซึ่งมีความงดงามและมีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตจังหวัดบุรีรัมย์และใกล้เคียง นอกจากนั้นยังมีเครื่องปั้นดินเผาชนิดเผาแกร่ง มีเตาเผาขนาดใหญ่ ซึ่งนักโบราณคดีหลายท่านกล่าวว่า ไม่พบในที่อื่นแม้แต่ในเขมรต่ำ (ประเทศกัมพูชา) ศิลปสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีอายุอยู่ในสมัยพระนคร

 

๔. จากการก่อสร้างปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเทวสถานประกอบกิจทางศาสนา และเพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีของกษัตริย์ผู้มีอำนาจ เข้าใจว่าปราสาทหินเขาพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของเมืองใดเมืองหนึ่งในละแวกใกล้เคียงกัน เพราะห่างจากเขาลูกนี้ไปทางใต้ ประมาณ ๘ กิโลเมตร มีเมืองโบราณเมืองหนึ่งขนาดไม่ใหญ่โตนักแต่มีระบบการชลประทาน หรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่พอที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภคของชุมชนเมืองนั้นได้ตลอดทั้งปี

 

อ่างเก็บน้ำนี้บุผนังทั้ง ๔ ด้าน ด้วยศิลาแลง กำแพงเมืองเป็นกำแพงดินที่ขุดจากคูรอบเมืองพูนให้สูงขึ้น และปักเสาระเนียดบนคันดินนั้น ร่องรอยต่างๆ สาบสูญหมดแล้ว คงเหลือเพียงคันดินและกำแพงดินบางตอนเท่านั้น ที่กลางเมืองมีเทวสถานขนาดใหญ่ สร้างขึ้นบนผังที่งดงาม ตัวเทวสถานสร้างขึ้นด้วยอิฐทั้งหลัง ส่วนระเบียงและใดปุระทั้ง ๔ เรียงด้วยหินทราย การเรียงอิฐก่อสร้างในเทวสถานใช้ กรรมวิธีอย่างดียิ่งจนสามารถทำให้เนื้ออิฐแนบสนิทจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกันเห็นเป็นรอยเส้นเล็กๆ ระหว่างอิฐแต่ละก้อนเท่านั้น อิฐเหล่านี้มีส่วนของการผสมดินที่ดี จนสามารถนำมาฝนให้เรียบในระหว่างการเรียง และใช้น้ำที่ละลายออกมาจากอิฐนั้นปนด้วยยางไม้หรือน้ำกาวเป็นตัวเชื่อมอิฐเข้าด้วยกัน ทำให้ดูไม่เห็นรอยเลื่อมต่อของอิฐ

 

ตามลักษณะของเทวสถานเมืองโบราณแห่งนี้ เมื่อนำไปเทียบกับเทวสถาน ๒ – ๓ หลัง ที่ก่อสร้างด้วยอิฐบนยอดเขาพนมรุ้งแล้วเห็นว่าน่าจะสร้างขึ้นในยุคสมัยไล่เลี่ยกัน หรือ ยุคเดียวกันในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖

 

๕. จากศิลาจารึก ซึ่งพบที่ เขาพนมรุ้ง

ได้กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ ที่เป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างและดูแลรักษาปราสาทพนมรุ้ง เป็นคนละองค์กับกษัตริย์ที่ปกครองนครวัด เช่น หิรัณยะวร-มันกษีตินทราทิตย์ วิเรนทรวรมัน เป็นต้น และระบุศักราชเป็น พ.ศ. ๑๔๓๓ ก็มี ๑๕๓๒ ก็มี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีกษัตริย์ที่มีอำนาจปกครองในแถบนี้เป็นอิสระ แต่ยอมรับความเป็นผู้นำของพระนคร

 

จากหลักฐานและเหตุผลข้างต้นนี้ พอจะสรุปได้ว่า

ดินแดนอันเป็นที่ตั้งจังหวัดบุรีรัมย์ (เขตจังหวัดไม่ใช่ตัวจังหวัด) ปัจจุบันนี้เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่ สมัยทวารวดีถึงสมัยลพบุรี มีกษัตริย์ที่มีอำนาจปกครองเป็นอิสระ มีประชาชนอยู่หนาแน่น จนสามารถเกณฑ์แรงงานสร้างศาสนสถานอันยิ่งใหญ่อย่างปราสาทเขาพนมรุ้ง และแต่ละชุมชนจะต้องมีประชากรหนาแน่นพอที่จะสร้างคูเมืองขนาดใหญ่ได้ เมืองต่างๆ เหล่านี้คงร้างไปตามธรรมชาติ หรือจากภัยต่างๆ เช่น ฝนแล้ง โรคระบาด สงคราม โจรผู้ร้าย เป็นต้น

 

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแม้แต่นครวัด นครธม ที่ถูกอาณาจักรอยุธยารุกรานครอบครอง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๕ และได้ร้างอยู่จนป่าไม้ใหญ่ปกคลุม ขนาดที่ชาวฝรั่งเศส เข้าไปพบโดยบังเอิญ และไม่เชื่อในสายตาตัวเองว่าจะพบสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ เช่นนี้ สอบถามชาวบ้านก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นอะไร สร้างเมื่อไร หากไม่ได้อาศัยศิลาจารึกก็คงไม่มีใครทราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้ อาจมีประชาชนส่วนหนึ่งที่รอดจากภัยมาได้ เข้าหลบอยู่ในป่าชายแดน จนทำให้ทาง กรุงศรีอยุธยาเรียกว่า เขมรป่าดง

 

ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นบุรีรัมย์ขาดตอนอยู่ช่วงหนึ่งคือ จากยุคโบราณมาจนถึงยุคสิ้นสุดการก่อสร้างปราสาทหินในที่ต่างๆ จากนั้นประวัติศาสตร์บุรีรัมย์เริ่มชัดเจนขึ้นอีกครั้งหนึ่งตอนปลายสมัยอยุธยา

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

สมัยนี้ดินแดนในแถบเมืองบุรีรัมย์ เมืองพุทไธสง เมืองตลุง (อ.ประโคนชัย ปัจจุบัน) เมืองนางรอง ต่างก็มาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา โดยขึ้นกับข้าหลวงใหญ่ที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์โดยตั้งเมืองตลุงเป็นหัวเมืองชั้นจัตวา เมืองนางรองเป็น หัวเมืองชั้นเอก

 

จากประวัติจังหวัดนครราชสีมา รวบรวมโดยสุขุมาลย์เทวีกล่าวว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น พระองค์ได้แต่งตั้งให้พระยายมราช (สังข์) ครองเมืองนครราชสีมา สมัยนั้นเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่ มีเมืองขึ้น ๕ เมือง คือ นครจันทึก ชัยภูมิ พิมาย บุรีรัมย์ นางรอง ต่อมาขยายเมืองเพิ่มเติมอีก ๙ เมือง คือ จัตุรัส เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว ชนบท พุทไธสง ประโคนชัย รัตนบุรี และปักธงชัย

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกำหนดอายุดังนี้

สมัยทวารวดี ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐
สมัยศรีวิชัย ประมาณ พ.ศ. ๑๓๐๐
สมัยลพบุรี ประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๐

 

ศจ. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงกำหนดอายุดังนี้

สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖
สมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘
สมัยลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๘

 

สมัยกรุงธนบุรี

ใน พ.ศ. ๒๓๒๐ กองทัพกรุงธนบุรีได้ยกไปตีเมืองบุรีรัมย์ และจากจดหมายเหตุประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ กล่าวว่าใน พ.ศ. ๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยา มหากษัตริย์ศึก เป็นแม่ทัพทางบก นำทัพสมทบกับกำลังเมืองตะวันออก ให้เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวา-ธิราช เป็นแม่ทัพยกไปเกณฑ์เขมรต่อเรือรบ ยกขึ้นไปทางแม่น้ำโขง เพื่อตีเมืองนครจำปาศักดิ์ ในการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกกองทัพมานี้ ปรากฏประวัติเมืองบุรีรัมย์ว่า ใน พ.ศ. ๒๓๒๑ พระยานางรองเป็นกบฎโดยคบคิดกับเจ้าโอ เจ้าอิน เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้เจ้าพระยาจักรี (สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มาปราบปรามเกลี้ยกล่อมหัวเมืองเหล่านี้ให้เป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมาตามเดิม

 

แต่ตามจดหมายจากประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗ นั้นกล่าวว่า

เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ครั้งนั้นชื่อ เจ้าไชยกุมารฯ พ่ายแพ้แก่กองทัพกรุงธนบุรี จึงถูกคุมตัวไปยังกรุงธนบุรี แต่ในที่สุดได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ไปนครจำปาศักดิ์ ในฐานะประเทศราชอีก ในการที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเดินทัพมาถึงจังหวัดบุรีรัมย์เดี๋ยวนี้ หนังสืออ่านเรื่องจังหวัดบุรีรัมย์ตีพิมพ์ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กล่าวว่า พระองค์ได้พบเมืองร้างอยู่ที่ลุ่มน้ำห้วยจรเข้มาก มีชัยภูมิดี แต่สถานที่เดิมมีไข้เจ็บชุกชุม เขมรป่าดงไม่กล้าเข้ามาอยู่อาศัย แต่ตั้งบ้านอยู่โดยรอบ คือ บ้านโคกหัวช้าง บ้านทะมาน (บริเวณสนามบินปัจจุบัน) จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองร้างนั้นที่ข้างต้นแปะใหญ่ (ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองปัจจุบันนี้) และโปรดเกล้าฯ ให้บุตรเจ้าเมืองพุทไธสง ซึ่งติดตามมาพร้อมด้วยครอบครัวเป็นเจ้าเมืองแล้วชักชวนให้ชาวเขมรป่าดงนี้ มาตั้งหลักแหล่งทำเรือกสวน ไร่ นา ในเมืองร้างจนเป็นปึกแผ่น เมืองนี้จึงใช้นามว่า เมืองแปะ บุตรเจ้าเมืองพุทไธสงสมัยนี้ ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี เมื่อพระยานครภักดีวายชนม์ลง บุตรชื่อนายหงส์ เป็นเจ้าเมืองแทน ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครภักดี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐

 

นอกจากนี้ปรากฏจากพงศาวดารเมืองสุรินทร์ว่า

ในจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลู ตรีศก ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๒๔ ทางฝ่ายเขมรเกิดจลาจลโดย เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) กับพระยาวิบูลราช (ชู) คิดกบฎจับสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชาไปถ่วงน้ำเสีย ยกนักองค์เองขึ้นเป็นเจ้าแล้วกลับไปฝักใฝ่ทางญวน พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก กับเจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปปราบปรามโดยเกณฑ์กำลังทางขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะ แล้วไปตีเมืองประทายเพ็ชร ประทายมาศ ประทายสมันต์ กำแพงสวาย เสียมราฐ แต่การยกทัพไปปราบปรามยังมิทันราบคาบดี ข้างฝ่ายใน กรุงธนบุรี พระเจ้าแผ่นดินมีสติวิปลาศ ทรงประพฤติการวิปริตต่างๆ บ้านเมืองกำลังระส่ำระสายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทราบข่าวจำเป็นต้องกลับคืนสู่พระนคร บ้านเมืองที่ตีได้ก็กวาดต้อนและ แตกตื่นอพยพมาบ้าง ทั้งพระสุรินทร์ภักดีณรงค์จางวาง ก็ได้มีหนังสือลงไปเกลี้ยกล่อมญาติพี่น้อง ปรายเขมร ทางแขวงเมืองเสียมราฐ สะโตง กำแพงสวาย ประทายเพ็ชร ให้ขึ้นมาทางบน ออกญาแอก กับนางรอง พาบ่าวไพร่ไปตั้งอยู่ที่นางรอง ออกญาหงษ์ ไปตั้งอยู่ที่โคกเมืองแปะ (ที่ตั้งจังหวัดบุรีรัมย์ปัจจุบัน)

 

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เมืองบุรีรัมย์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ของบ้านเมืองน้อยตามที่ปรากฏในบันทึกภูมิศาสตร์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นายสุข รวบรวมไว้มีความว่า พระนครภักดี (หงส์ ต้นตระกูล หงษ์รุจิโก) บุตรพระยาดร (เอม) เจ้าเมืองพุทไธสมัน (ปัณเทียยมาล) ได้พาครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านตะโก ต่อมาได้สร้างเป็นเมืองขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ เรียกว่า เมืองแปะ เพราะมีต้นแปะอยู่กลางเมือง
นอกจากนี้บางประวัติยังกล่าวว่าใน พ.ศ. ๒๓๗๐ เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฎ ได้ให้ เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนและเสยียงอาหารแถบเมืองพุทไธสง เมืองแปะ เมืองนางรอง พระนครภักดี (หงษ์) นำราษฎรออกต่อสู้ เมื่อสู้ไม่ได้จึงหนีไปเมืองพุทไธสมัน ทหารลาวตามไปทันแล้วจับตัวได้ที่ช่องเสม็ด (ช่องเขาที่จะไปประเทศกัมพูชา) เมื่อถูกจับแล้ว ทหารลาวนำตัวพระยานครภักดี (หงษ์) และครอบครัวที่จับได้ไปให้เจ้าราชวงศ์ แล้วถูกควบคุมตัวไว้ที่ทุ่งเมืองสุวรรณภูมิ ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเจ้าราชวงศ์ตั้งทัพอยู่ที่นั่น แต่พระยานครภักดี (หงส์) และครอบครัวที่ถูกควบคุมตัวได้จับอาวุธต่อสู้เพื่อหนี จึงถูกฆ่าตายหมด

 

นอกจากนี้ ในบางเล่มยังกล่าวถึงประวัติเมืองบุรีรัมย์ ที่แตกต่างออกไปอีกดังนี้ว่า บุรีรัมย์มีชื่อว่าเมืองจรเข้ เดิมขอมดำได้เข้าตั้งเป็นเมืองเล็กๆ ในลุ่มน้ำห้วยจรเข้ และให้ชื่อเมืองตามลุ่มน้ำนั้น เพราะมีจรเข้ชุมมาก และไข้ป่ามีพิษรุนแรง ขอมดำอยู่ได้ไม่นานก็ทิ้งร้างไป ครั้นขอมดำสิ้นอำนาจไทยจึงเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ ลุ่มน้ำห้วยจรเข้นี้อีก ตอนแถบบ้านโคกหัวช้าง และบ้านทะมาน จนถึงสมัย กรุงธนบุรี เจ้าเมืองนางรอง และเจ้าเมืองจำปาศักดิ์แข็งเมือง พระเจ้าตากสินโปรดให้เจ้าพระยาจักรี ยกทัพออกไปปราบแล้วนำบุตรชายเจ้าเมืองผไทสมัน (พุทไธสง) มาด้วย ผ่านมาทางลุ่มน้ำจรเข้ เห็น ผู้คนตั้งบ้านเรือนมาก และได้ทราบว่าที่นั่นเป็นเมืองร้างของขอมดำอยู่ก่อนแล้ว ชื่อเมืองจรเข้ จึงได้ตั้งเมืองขึ้นที่เมืองร้างนั้น และให้ชื่อว่า เมืองแปะ ตามนามต้นไม้ใหญ่ ครั้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บุรีรัมย์

 

ประวัติศาสตร์บางเล่มก็เล่ากันว่า

ขอมได้ครอบครองเมืองบุรีรัมย์และใช้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างกัมพูชา กับหัวเมืองขึ้นในภาคอีสานของไทย เช่น พิมาย สกลนคร มีถนนโบราณเหลืออยู่สายหนึ่ง เริ่มจากบ้านละลมพะเนา (บ้านละลมทะนู ปัจจุบัน) ตำบลจันดุม อำเภอประโคนชัย ขึ้นไปอำเภอพุทไธสง มีหลักหินปักเป็นระยะๆ จนถึงเขาพนมรุ้งในสมัยที่ไทยเรืองอำนาจได้แผ่ขยายอาณาเขตมายังเมืองบุรีรัมย์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าได้มาครองเมืองบุรีรัมย์

 

ทางนครราชสีมา หรือทางหลวงพระบาง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นเมืองขึ้นอยู่กับนครราชสีมา มีศูนย์กลางการ ปกครองอยู่ที่เมืองนางรอง (ปัจจุบัน คือ อำเภอนางรอง) และมีเมืองใกล้เคียงหลายหัวเมือง เช่น เมืองพุทไธสมัน (ปัจจุบัน คือ อำเภอพุทไธสง) เมืองตลุง (ปัจจุบัน คือ อำเภอประโคนชัย) ในสมัยกรุงธนบุรี ประมาณ พ.ศ. ๒๓๒๑ เจ้าเมืองนางรอง ได้แข็งเมือง เจ้าพระยาจักรได้ยกมาเกลี้ยกล่อมให้เป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมา ตามเดิม เมื่อเสด็จกลับได้ทรงพบเมืองร้างซึ่งมีชัยภูมิดี จึงโปรดให้ตั้งเมืองขึ้นเรียกว่า เมืองแปะ ตามชื่อต้นแปะใหญ่ (ปัจจุบันบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง) ทรงแต่งตั้งบุตรเจ้าเมืองพุทไธ-สมัน คือ พระยาภักดี ขึ้นครองเมือง

 

ครั้นถึง สมัยพระยานครภักดี (ทองดี) เป็นเจ้าเมือง ทางราชการได้รวมเมืองนางรอง เมืองพิมาย เมืองพุทไธสง เมืองรัตนบุรี เมืองตลุง และเมืองแปะ เข้ามาเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า บริเวณนางรอง และตัวศาลากลางอยู่ที่เมืองปะ ต่อมาอาณาเขตนางรองเปลี่ยนไป คือ เมืองพิมายโอนไปขึ้นอยู่กับนครราชสีมา เมืองรัตนบุรีไปขึ้นอยู่กับสุรินทร์ ซึ่งบริเวณนางรองก็เปลี่ยนเป็นบุรีรัมย์ มี พระรังสรรค์สารกิจ (เลื่อน) เป็นเจ้าเมืองคนแรก (พ.ศ. ๒๔๔๑ – ๒๔๔๔) ตั้งแต่เมืองแปะได้ตั้งขึ้นมีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมา คือ

 

๑. พระยานครภักดี (บุตรเจ้าเมืองผไทสมัน)
๒. พระยานครภักดี (หงษ์)
๓. พระปลัด บุตรพระยานครภักดี (หงษ์) เป็นผู้รั้งตำแหน่งชั่วคราว
๔. พระพิพิธ (สำแดง) ส่งมาจากนครราชสีมา
๕. พระนครภักดี (พระสำแดง) จ.ศ. ๑๒๓๐ (พ.ศ. ๒๔๑๑)
๖. พระแพ่ง (รั้งตำแหน่ง) ส่งมาจากนครราชสีมา
๗. พระชมภู (รั้งตำแหน่ง) ส่งมาจากนครราชสีมา
๘. พระนครภักดี (ทองดี) บุตรพระปลัด

 


ความเปลี่ยนแปลงสมัยรัชกาลที่ ๕ – ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ มีการประกาศเรียกชื่อข้าหลวงกำกับหัวเมืองทั้ง ๔ ขึ้น โดยแยกเมืองบุรีรัมย์ไปขึ้นกับลาวฝ่ายเหนือ และพ่วงเมืองนางรองไปด้วย ขณะที่เมืองพุทไธสง และเมืองตะลุง ยังคงสังกัดอยู่กับเมืองนครราชสีมา ตามเดิม ดังนี้

 

๑. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก (จำปาศักดิ์) มีเมืองสังกัดเป็นเมืองเอก ๑๑ เมือง เมืองขึ้น ๒๑ เมือง (โท ตรี จัตวา) รวม ๓๒ เมือง

๒. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (อุบลราชธานี) มีเมืองสังกัดเป็นเมืองเอก ๑๒เมือง โท ตรี จัตวา ๒๙ เมือง รวม ๔๑ เมือง

๓. หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ (หนองคาย) มีเมืองสังกัดเป็นเมืองเอก ๑๖ เมือง คือ หนองคาย เชียงขวาง บริคัณทนิคม โพนพิสัย ชัยบุรี ท่าอุเทน นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กมุทาสัย หนองหาร บุรีรัมย์ ขอนแก่น คำมวน คำเกิด และหล่มสักบุรีรัมย์มีเมืองสังกัด ๑ เมือง คือ เมืองนางรอง

๔. หัวเมืองลาวกลาง (นครราชสีมา) มีหัวเมืองสังกัดเป็นเมืองเอก ๓ เมือง คือ นครราชสีมา ชนบท และภูเขียว
หัวเมือง โท ตรี จัตวา สังกัดทั้งหมด ๑๒ เมือง

 

เมืองนครราชสีมา มี ๘ เมือง คือ พิมาย รัตนบุรี นครจันทึก ปักธงชัย พุทไธสง ตะลุง สูงเนิน และกระโทก

เมืองชนบท มี ๔ เมือง คือ ชัยภูมิ โนนลาว เกษตรสมบูรณ์ และจตุรัส

 

ประกาศเปลี่ยนชื่อมณฑล เมื่อ ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒)

ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อ มณฑลต่างๆ ตามพื้นที่เป็นมณฑลว่า ลาวเฉียง ลาวพวน ลาวกาว และมณฑลเขมร นั้น ให้กำหนดพื้นที่ และเปลี่ยนชื่อ ดังนี้

๑. เมืองเชียงใหม่ ลำพูน น่าน เถิน แพร่ และเมืองขึ้นของเมืองเหล่านั้น ซึ่งรวมเรียกว่า มณฑลลาวเฉียง ต่อนี้สืบไปให้เรียกว่า มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ

๒. เมืองหนองคาย หนองหาร ขอนแก่น ชนบท หล่มสัก กมุทาสัย สกลนคร ชัยบุรี โพนพิสัย ท่าอุเทน นครพนม มุกดาหาร รวม ๑๒ หัวเมือง และเมืองขึ้นของเมืองเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่า ลาวพวน นั้น ต่อนี้สืบไปให้เรียกว่า มณฑลฝ่ายเหนือ

๓. เมืองนครจำปาศักดิ์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และเมืองอื่นๆ ซึ่งรวมเรียกว่า มณฑลลาวกาว นั้น ต่อนี้สืบไปให้เรียกว่า มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ

๔. เมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ พนมศก และเมืองขึ้นของเมืองเหล่านี้ ซึ่งรวม เรียกว่า มณฑลเขมร นั้น ต่อนี้สืบไปให้เรียกว่า มณฑลตะวันออก

๕. หัวเมืองในมณฑลนครราชสีมา ซึ่งแบ่งเป็น ๓ บริเวณ คือ นครราชสีมา พิมาย ปักธงชัย และนครจันทึก ซึ่งรวมเรียกว่า “บริเวณนครราชสีมา” ต่อนี้สืบไปให้รวมเรียกว่า “เมืองนครราชสีมา”

๖. เมืองนางรอง บุรีรัมย์ ประโคนชัย พุทไธสง และรัตนบุรี ซึ่งรวมเรียกว่า “บริเวณนางรอง” นั้น ต่อนี้สืบไปให้รวมเรียกว่า “เมืองนางรอง” ยกเป็นเมืองจัตวา เมืองหนึ่ง

๗. เมืองชัยภูมิ ภูเขียว เกษตรสมบูรณ์ จตุรัส และบำเหน็จณรงค์ ซึ่งรวมเรียกว่า “บริเวณชัยภูมิ” นั้น ต่อนี้สืบไปให้รวมเรียกว่า “เมืองชัยภูมิ” ยกเป็นเมืองจัตวา เมืองหนึ่ง

 

เปลี่ยนชื่อมณฑลครั้งที่ ๒

ในปี ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ตรากฎกระทรวง ซึ่งมีชื่อว่า กฎข้อบังคับเรื่องเปลี่ยนชื่อมณฑล ๔ มณฑล ดังนี้

 

๑. มณฑลตะวันออก ให้เรียกว่า มณฑลบูรพา
๒. มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ ให้เรียกว่า มณฑลอีสาน
๓. มณฑลฝ่ายเหนือ ให้เรียกว่า มณฑลอุดร
๔. มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ ให้เรียกว่า มณฑลพายัพ

 

ในปี ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนี้

๑. มณฑลอีสาน ประกอบด้วย ๔ บริเวณ (มีบริเวณอุบลราชธานี, ขุขันธ์, สุรินทร์ และร้อยเอ็ด) ๑๓ เมือง และ๒๖ อำเภอ

๒. มณฑลอุดร ประกอบด้วย ๕ บริเวณ (มีบริเวณหมากแข้ง, ธาตุพนม, สกลนคร, ภาชี และน้ำเหือง) ๕ เมือง และ ๓๑ อำเภอ

 

๓. มณฑลนครราชสีมา ประกอบด้วยเมือง ๓ เมือง ๑๗ อำเภอ ดังนี้

๓.๑ เมืองนครราชสีมา มีอำเภอในปกครอง ๑๐ อำเภอ คือ
๓.๑.๑ เมืองนครราชสีมา
๓.๑.๒ เมืองพิมาย
๓.๑.๓ นอก (บัวใหญ่)
๓.๑.๔ สูงเนิน
๓.๑.๕ กลาง (โนนสูง)
๓.๑.๖ จันทึก (ปัจจุบันเป็นตำบล ขึ้นสีคิ้ว)
๓.๑.๗ กระโทก (โชคชัย)
๓.๑.๘ ปักธงชัย
๓.๑.๙ พันชนะ (ด่านขุนทด)
๓.๑.๑๐ สันเทียะ (โนนไทย)
๓.๒ เมืองบุรีรัมย์ มีอำเภอสังกัด ๔ อำเภอ คือ
๓.๒.๑ พุทไธสง
๓.๒.๒ รัตนบุรี (ปัจจุบันสังกัดสุรินทร์)
๓.๒.๓ นางรอง
๓.๒.๔ ประโคนชัย
๓.๓ เมืองชัยภูมิ มีอำเภอสังกัด ๓ อำเภอ คือ
๓.๓.๑ จตุรัส
๓.๓.๒ เกษตรสมบูรณ์
๓.๓.๓ ภูเขียว

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ มณฑลอีสานได้แบ่งออกเป็น ๒ มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี และมณฑลร้อยเอ็ด และภายหลังมณฑลทั้งสองนี้ได้ถูกรวมเข้ากับ มณฑลนครราชสีมา

 

มณฑลต่างๆ ได้ถูกประกาศยุบลงไปตามลำดับ ดังนี้

๑. มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล ประกาศยุบไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘
๒. มณฑลนครราชสีมา และมณฑลอุดร ถูกยุบไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖

 

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศมาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. ๒๔๗๖

ได้ตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัด และอำเภอ จังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยบริหารราชการแผ่นดิน มีข้าหลวงประจำจังหวัด และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร และยกเลิก แบ่งเขตออกเป็นมณฑลเสีย ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีก โดยแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับจังหวัด ดังนี้

๑. ให้จังหวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล

๒. อำนาจบริหารในจังหวัด ซึ่งเดิมตกอยู่แก่คณะบุคคล หรือคณะกรมการจังหวัด ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นขึ้นอยู่กับบุคคลคนเดียว คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

๓. คณะกรมการจังหวัด เดิมเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในจังหวัด ได้กลายเป็นคณะเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด

๔. ในปี ๒๕๑๕ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ได้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด และอำเภอ ให้จังหวัดเป็นที่รวมท้องที่หลายๆ อำเภอ มีฐานะเป็นนิติบุคคล การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ และให้มีคณะกรมการจังหวัด เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น

 

ทำเนียบรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ข้าหลวงประจำจังหวัด และผู้ว่าราชการ จังหวัดบุรีรัมย์

๑. พระยารังสรรค์สารกิจ (เลื่อน) ตั้งแต่ ๒๐ ส.ค. ๒๔๔๑ – ๖ มิ.ย.๒๔๔๔
๒. พระยาประเสริฐสุนทราศรัย (กระจ่าง) ” ๖ มิ.ย. ๒๔๔๔ – ๑ ต.ค. ๒๔๕๑
๓. พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ” ๑ ต.ค. ๒๔๕๑ – ๒๔๕๕
๔. พระยาราชเสนา ” ๒๔๕๕ – ๒๔๕๖
๕. หม่อมเจ้านิสากร ” ๒๔๕๖ – ๒๔๖๐
๖. หลวงรังสรรค์สารกิจ ” ๒๔๖๐ – ๒๔๖๒
๗. พระยานครภักดีศรีนครนุรักษ์ ” ๒๔๖๓ – ๑ เม.ย. ๒๔๖๘
(ม.ร.ว. ชุบ นพวงศ์ ณ อยุธยา)
๘. พระยาสุริยราชวราภัย . ” ๒๖ มี.ค. ๒๔๖๘ – ๑ มิ.ย. ๒๔๗๑
๙. พระพิทักษ์สมุทรเขต ” ๒๒ พ.ค. ๒๔๗๑ – ๒๒ ก.พ. ๒๔๗๖
๑๐. พ.ต.ท. พระกล้ากลางสมร ” ๒๒ ก.พ. ๒๔๗๖ – ๒๕ เม.ย. ๒๔๗๘
๑๑. พ.ต.ต. หลวงอัสวินศิริวิลาส ” ๒๕ เม.ย. ๒๔๗๘ – ๑๖ ม.ค. ๒๔๗๙
๑๒. หลวงสฤษดิ์สาราลักษณ์ ตั้งแต่ ๑๖ ม.ค. ๒๔๗๙ – ๑๘ เม.ย. ๒๔๘๐
๑๓. หลวงบรรณสารประสิทธิ์ ” ๑๘ เม.ย. ๒๔๘๑ – ๑๘ เม.ย. ๒๔๘๒
๑๔. พ.ต. ขุนทะยานราญรอน ” ๑๘ เม.ย. ๒๔๘๒ – ๒ ก.ค. ๒๔๘๓
๑๕. ขุนพิเศษนครกิจ ” ๒ ก.ค. ๒๔๘๓ – ๖ ก.ค. ๒๔๘๕
๑๖. หลวงปราณีประชาชน ” ๖ ม.ค. ๒๔๘๕ – ๒๔ ต.ค. ๒๔๘๕
๑๗. ขุนไมตรีประชารักษ์ ” ๑๘ พ.ย. ๒๔๘๕ – ๖ ก.ค. ๒๔๘๖
๑๘. หลวงบริหารชนบท ” ๒ ก.ค. ๒๔๘๖ – ๒๒ พ.ย. ๒๔๘๗
๑๙. ขุนศุภกิจวิเลขการ ” ๑๙ ธ.ค. ๒๔๘๗ – ๗ ต.ค. ๒๔๘๙
๒๐. นายสุทิน วิวัฒนะ ” ๗ ต.ค. ๒๔๘๙ – ๗ ก.พ. ๒๔๙๒
๒๑. ขุนอารีย์ราชการัณย์ ” ๑๑ เม.ย. ๒๔๙๒ – ๑๑ พ.ย. ๒๔๙๒
๒๒. ขุนบุรราษฎร์นราภัย ” ๑๔ ม.ค. ๒๔๙๓ – ๗ ม.ค. ๒๔๙๕
๒๓. หลวงธุรนัยพินิจ ” ๘ ม.ค. ๒๔๙๕ – ๘ มี.ค. ๒๔๙๘
๒๔. พ.อ. จำรูญ จำรูญรณสิทธิ์ ” ๘ มี.ค. ๒๔๙๘ – ๒๔ เม.ย. ๒๔๙๙
๒๕. นายชู สุคนธมัต ” ๗ มิ.ย. ๒๔๙๙ – ๒๓ ก.ย. ๒๕๐๑
๒๖. นายเอนก พยัคฆันตร ” ๑๕ ต.ค. ๒๕๐๑ – ๕ ต.ค. ๒๕๐๕
๒๗. นายสมอาจ กุยกานนท์ ” ๕ ต.ค. ๒๕๐๕ – ๘ ม.ค. ๒๕๑๑
๒๘. นายสุรวุฒิ บุญญานุศาสน์ ” ๙ ม.ค. ๒๕๑๑ – ๑๗ พ.ค. ๒๕๑๖
๒๙. นายวุฒินันท์ พงศ์อารยะ ” ๑ ต.ค. ๒๕๑๖ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๑๙
๓๐. นายบำรุง สุขบุษย ” ๑ ต.ค. ๒๕๑๙ – ๓๐ ก.ย. ๒๕๒๔
๓๑. นายยุทธ แก้วสัมฤทธิ์ ” ๑ ต.ค. ๒๕๒๔ – ปัจจุบัน

 

“บุรีรัมย์ตำน้ำกิน”

เป็นคำพังเพยในอดีตที่แสดงถึงภาวะการขาดแคลนน้ำในบริเวณพื้นที่อันเป็นเขตการปกครองของจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต และแสดงถึงความเฉลียวฉลาดของชาวบุรีรัมย์สมัยก่อนที่นำเอาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

 

กรรมวิธีที่ได้ชื่อว่าเป็นการตำน้ำกิน คือการขุดหลุมดินขนาดย่อมขึ้นก่อน แล้วตักเอาโคลนตมในบ่อ สระ หรือบึง มาใส่หลุมที่ขุดไว้ และย่ำด้วยเท้าจนเป็นเลนหรือนำมาใส่ครุไม้ไผ่ยาชัน แล้วตำด้วยไม้ให้โคลนเลนมีความหนาแน่นสูงขึ้น ปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน น้ำจากโคลนเลนจะปรากฏเป็นน้ำใสอยู่ข้างบนตักไปใช้บริโภคได้ แก้ปัญหาการ ขาดแคลนน้ำอันเป็นปัญหาเฉพาะหน้าให้ลุล่วงไปได้

 

บุรีรัมย์ตำน้ำกิน

เป็นคำพังเพยที่อยู่ในความทรงจำ และความภาคภูมิใจ ในอดีตของชาวบุรีรัมย์ ในฐานะที่เป็นคำพังเพยที่แสดงถึงความยากลำบากและทรหดอดทนของบรรพบุรษผู้บุกเบิกแผ่นดิน ให้ประโยชน์ตกทอดแก่ลูกหลาน เหลน ในปัจจุบัน และในฐานะที่สามารถนำความรู้ เกี่ยวกับธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้อย่างเฉลียวฉลาด

 

ปัจจุบันภาวะเรื่องน้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก กรมชลประทานได้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ เพิ่มขึ้น และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทก็ได้ปิดกั้นทำนบ เหมืองฝาย และ ขุดลอก ห้วย หนอง คลอง บึง สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สร้างสระน้ำมาตรฐานขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นสร้างถังเก็บน้ำฝน สระน้ำ บ่อน้ำตื้น บ่อบาดาล หอถังจ่ายน้ำโดยสร้างเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ความหมายและภาพพจน์ของคำพังเพยดังกล่าวได้หมดไปแล้วในปัจจุบัน 


1.ศรีศักร วัลลีโภดม , ชุมชนโบราณในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และบุรีรัมย์ เอกสารหมายเลข ๖ หน้า ๕-๘ , จากเอกสารประกอบการสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีสานใต้
2.ปฏิพัฒน์ พุ่มพงค์แพทย์ , การศึกษาโบราณคดีในบุรีรัมย์และอีสานใต้ หน้า ๒-๓ , เอกสารประกอบการสัมมนา ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีสานใต้ หมายเลข ๑๐
3.บริเวณข้างวัดกลางบุรีรัมย์
4.สนิท เงินยวง “ของดี ๗๑ จังหวัด” หน้า ๓๕-๔๖
5.เอกสารเผยแพร่ในการสัมมนาการพัฒนาการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอนแก่น ๑๙-๒๒ กันยายน ๒๕๒๑ “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” หน้า ๖๖-๖๗
6.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๖ ร.ศ. ๑๑๘
7.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ ร.ศ. ๑๑๙


แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดบุรีรัมย์

 

 

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์. ขอนแก่น : โรงพิมพ์ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท, ๒๕๒๖.

ที่มาภาพ : https://sirinapasite.wordpress.com/ , http://www.weekendhobby.com/