วันพุธ, 11 ธันวาคม 2567

ประวัติศาสตร์ จังหวัดอุทัยธานี

14 มิ.ย. 2017
4524

 

ประวัติศาสตร์จังหวัดอุทัยธานี

 

สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ได้สำรวจและขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี

เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๒ ถึงวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๑๒ ที่บริเวณเชิงเขานาค ตำบลเขาขี้ฝอย อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี พบว่าดินแดนบางแห่งของจังหวัดอุทัยธานี เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะประมาณ ๓,๐๐๐ ปี – ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณที่พบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะนั้น เป็นเนินดินอยู่ติดกับเชิงเขานาคและลาดลงสู่ลำน้ำตากแดดซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง

 

เขานาคเป็นเทือกเขายาวไปทางทิศเหนือและใต้สูงประมาณ ๑๐๐ เมตร หัวเขาด้านทิศเหนือจดลำตากแดด ในฤดูแล้งจะมีน้ำขังอยู่เป็นห้วง ๆ ที่เชิงเขานาคเป็นเนินดินเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ลาดลงสู่ลำน้ำตากแดด แหล่งโบราณคดีที่พบอยู่ทางฟากด้านทิศตะวันตก เป็นภูมิประเทศเหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในสมัยโบราณ เนื่องจากเป็นเนินดินน้ำท่วมไม่ถึง อยู่ใกล้ลำน้ำและภูเขา เหมาะแก่การเพาะปลูกและล่าสัตว์ หาอาหาร ใกล้น้ำบริโภค อาจจะใช้ลำน้ำเป็นทางคมนาคมติดต่อกับชุมชนอื่นได้อีกด้วย

 

การขุดตรวจในบริเวณที่ชาวบ้านเคยพบโครงกระดูกนั้น เป็นดินร่วนปนทรายลึกลงจากผิวดิน

พบเศษเครื่องปั้นดินเผาเศษสำริด แต่มีจำนวนน้อย พบร่องรอยโครงกระดูกมนุษย์ ๑ โครง กระดูกป่นเป็นผงเหลือแต่ฟันรวมกันอยู่หลายซี่ ในระดับลึกประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทรายสีน้ำตาลอ่อน และมีเศษหินผุปนรวมอยู่ด้วย ต่ำจากระดับลึก ๖๐ เซนติเมตร เป็นดินปนกรวดหินปูนก้อนเล็กๆ และไม่พบโบราณวัตถุอื่นๆ เลย

 

ถัดจากหลุมนี้ไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๕๐ เมตร ได้พบเครื่องปั้นดินเผาบนผิวดินจำนวนมาก ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ ในระดับลึกจากผิวดินประมาณ ๖๐ เซนติเมตร โครงแรกที่พบเป็นการฝั่งเดี่ยว นอนหงายเหยียดตรง แขนแนบลำตัว วางหันหัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ศีรษะเอียงไปทางขวา อยู่ในสภาพที่แตกเป็นชิ้นๆ เนื่องจากแรงกดของดิน ไม่มีเครื่องประดับหรืออาวุธฝั่งรวมอยู่ด้วย มีแต่กองเศษภาชนะดินเผาวางอยู่ข้างตัวตั้งแต่ไหล่ลงไปถึงปลายเท้า

 

กระดูกอยู่ในสภาพค่อนข้างเปื่อย กระดูกสันหลัง ซี่โครง และเชิงกรานผุหมดยากต่อการสันนิษฐานว่าเป็นชายหรือหญิงฟันแข็งแรง แต่หน้าฟันลึกมาก อาจเป็นเพราะว่า กินอาหารที่ปนเศษกรวดทรายอันเกิดจากการใช้ฟันบดอาหารจำพวกแป้ง ฟันกรามใหญ่ซี่สุดท้ายยังอยู่ในที่ แสดงว่าผู้ตายมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี และเสียชีวิตคงจะอายุไม่เกิน ๔๐ ปี โครงกระดูกสัดส่วนสูงโดยประมาณไม่เกิน ๑๖๐ เซนติเมตร

 

อีกหลุมหนึ่งพบโครงกระดูกมนุษย์ฝังรวมกัน ประมาณ สี่โครง

ซ้อนอยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดตรง แขนแนบลำตัววางหันหัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเช่นเดียวกัน โครงกระดูกทุกโครงในหลุมนี้ผุเปื่อยมาก ที่ยังคงรูปร่างอยู่แยกได้ ๔ โครง นอกนั้นเป็นกระดูกส่วนต่างๆ เช่น กะโหลก กระดูกแขนขา ชิ้นส่วนของกระโหลกศีรษะ ฝังรวมๆ กันอยู่แต่วางเรียงกันอยู่อย่างเป็นระเบียบ

 

นอกจากโครงกระดูกผู้ใหญ่แล้ว พบฟันน้ำนมอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกับเศษกระโหลกบางๆ เข้าใจว่าเป็นศพเด็กเล็กๆ ฝังรวมอยู่ด้วย หลุมฝังศพนี้ไม่มีภาชนะดินเผาที่รวมอยู่เป็นกลุ่มเลย ภาชนะที่พบวางอยู่ทางด้านขวาของปลายเท้า เครื่องประดับที่พบมี กำไลสำริดสวมติดข้อมือซ้ายซ้อนกัน ๒ วง มีลวดลายคล้ายเชือกถักแบบถักเปีย และมีห่วงสำริดหรือแหวนสำริดกองอยู่ระหว่างกระดูกต้นขา

 

นอกนี้ยังพบลูกปัดหินลายขาวดำ (Boudid Agate) และลูกปัดหินสีส้ม (Carnalian) ที่บริเวณคอลูกปัดแก้วสีแสดหรือแดงคล้ำ และลูกปัดแก้วสีน้ำเงินขนาดเล็กที่บริเวณข้อมือ นอกจากนี้ได้พบขวานเหล็กและเครื่องมือเหล็กฝังรวมอยู่หลายชิ้น ขวานเหล็กเล่มหนึ่งวางทับอยู่บนกระดูกต้นขาขวามีเศษผ้าเนื้อหยาบติดอยู่ใกล้กับคมขวานเหล็ก ลักษณะใยเส้นด้ายอาจจะทำด้วยเปลือกไม้ ขวานเหล็กอีกอันหนึ่งยังมีร่องรอยของด้ามไม้ติดอยู่ เนื้อไม้เป็นเส้นคล้ายไม้ไผ่ เข้าใจว่า มนุษย์สมัยนั้นอาจนำซอไม้รวกมาทำเป็นด้ามก็ได้เพราะซอไม้รวกแก่จัดจะมีความแข็งและเหนียวไม่แพ้ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ เศษผ้าและไม้ที่ยังไม่ผุเปื่อยไปทั้งๆ ที่มีอายุนับพันปีนี้ก็เนื่องจาก มีสนิมเหล็กช่วยรักษาไว้

 

สำหรับสิ่งของอื่นที่พบมี แร่ดินเผา ลูกกระสุนดินเผา เศษเครื่องประดับสำริด เศษเหล็กที่เหลือจากการหลอมก้อนแร่ เปลือกหอยกาบกระดูกและเขาสัตว์ โดยเฉพาะกระสุนดินเผามีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๑.๐๐-๒.๐๐ เซนติเมตร กระดูกสัตว์ต่างๆ เป็นสัตว์หลายประเภท เช่น หมู เก้ง กวาง สัตว์ประเภทฟันแทะ (Rodent) วัวควาย กระดูกปลา กระดองเต่า เขาสัตว์ มีรอยตัดด้วยมีดคม

 

วันที่ ๒๙ เมษายน – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๓

ได้มีการขุดสำรวจเรื่องราวของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่เชิงเขานาคอีกครั้งหนึ่ง พบโครงกระดูกลึกจากผิวดินประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ในลักษณะนอนหงายซ้อนกันเหยียดยาว แขนแนบลำตัวอยู่ในชั้นดินปนกรวด วางศีรษะไปทางทิศตะวัน-ตกเฉียงเหนือ มีภาชนะดินเผาวางเป็นกลุ่มอยู่ทางด้านซ้าย

 

ส่วนหลักฐานที่พบเพิ่มเติมและแตกต่างจากครั้งที่แล้วมี ถ้วยสำริดที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ ตุ๊กตาดินเผาเป็นรูปสัตว์สี่เท้าบางจำพวก เช่น กบ เสือ และอื่นๆ ที่ชำรุด เสียมเหล็ก ขวานเหล็ก ที่มีรอยจักสาน ของภาชนะที่ใส่ติดอยู่พร้อมเมล็ดพืช กำไลสีเขียวลักษณะแบน มีรูสำหรับต่ออยู่ ๓ แห่ง อยู่ที่เดียวกับท่อนแขนที่มีกำไลสำริดสวมอยู่ ๘ อัน หัวลูกศรและปลายหอก ฉมวก ที่ทำด้วยโลหะ ขวานหินมีป่า ขวานหินขัดและขวานหินกระเทาะ ลูกกระพรวนสำริดที่มีสภาพสมบูรณ์ นอกนั้นก็เป็นเศษภาชนะดินเผาลูกปัดหินกำไล และแหวนสำริด เปลือกหอย เขาสัตว์ ตะกรัน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังได้มีการสำรวจพบแหล่งมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์

ในท้องที่อื่นอีกหลายแห่ง คือ พบเครื่องมือหินกระเทาะสมัยหินเก่า ทำจากหินกรวด ที่นำมาจากเหมืองแค่ อำเภอบ้านไร่ พบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์บนหน้าผาที่อยู่บนเทือกเขาปลาร้า เขตอำเภอลานสัก พบขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือเหล็กเป็นรูปคล้ายเคียวในถ้ำเขาฆ้องชัย อำเภอลานสักพบขวานหินขัดที่ถ้ำเขาปฐวี อำเภอทัพทัน, พบขวานหินขัดรูปเหมือนปัจจุบันเศษภาชนะดินเผา และกระดูกสัตว์

 

ที่ถ้ำเขาตะพาบ ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ พบขวานหินขัดสมัยใหม่ ที่บริเวณถนนตรงหมู่บ้านชวนพลู หรือสวนพลู อำเภอบ้านไร่ เป็นจำนวนมาก พบโครงกระดูก เศษภาชนะดินเผา และลูกปัดหินสี แวดินเผาที่บ้านท่าทอง บ้านดงยางใต้ อำเภอเมืองอุทัยธานี โดยเฉพาะ ที่บ้านท่าทอง พบลูกปัดหุ้มด้วยทองคำเป็นต้น ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่า พื้นที่ทุกแห่งของจังหวัดอุทัยธานีเคยเป็นที่อยู่ หรือเส้นทางของมนุษย์ในสมัยโบราณมาก่อน พ.ศ. ๑๐๐๐

 

เมื่อมีมนุษย์มาอาศัยอยู่ตั้งแต่สมัยโบราณ

นิทานของพื้นบ้านของหมู่บ้านหนองเต่า อ.เมือง ก็ได้มีเล่าต่อสืบทอดกันมาว่าที่บริเวณเขานาคนั้น เดิมเป็นที่อยู่ของพวกพญานาค (เข้าใจว่าเป็นมนุษย์ชาวเขาเผ่านาคา) และห่างจากเขาไปทางทิศตะวันออกนั้น มีหนองน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของเต่าทอง (เข้าใจว่าเป็นพวกหากินตามชายน้ำ) พญานาคซึ่งคงจะเป็นพวกนาคาที่มีความดุร้ายหรือมนุษย์ที่กินคน ก็พยายามที่จะจับเต่าทองไปเป็นอาหาร

 

ส่วนเต่าทองนั้น ได้พยายามหลบหลีกและคบหาอยู่กับพวกเทวดา ซึ่งต้องเป็นคนที่มีวิชาความรู้มาก จนในที่สุดทนหนีพญานาคไม่ได้ ก็ไปขอร้องให้พวกเทวดาช่วยสาปแช่งให้พญานาคตายแข็งเป็นหินอยู่ที่เขา ส่วนพญานาคตนอื่นก็หนีไป ทิ้งไว้แต่พญานาคที่ดื้อกว่าให้ถูกสาปเป็นหิน เขาลูกนี้จึงชื่อว่าเขานาคส่วนหนองน้ำใหญ่นั้น เรียกว่าหนองเต่า เป็นหมู่บ้านใหญ่จนทุกวันนี้

 

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า

พญานาค ตนหนึ่งเกิดไปชอบหญิงสาวคนหนึ่งเข้าก็เห็นจะชื่อนางเป็นคนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกับเจ้าหลวงซึ่งชอบพออยู่กับเธอเหมือนกัน มาระยะหลัง เธอก็เกิดตัดสินใจไม่ถูกว่าจะอยู่ร่วมเรียงเคียงหมอนกับใครดี เมื่อเป็นอย่างนี้เจ้าหลวง กับพญานาค ก็ตกลงนัดพบกันอย่างลูกผู้ชาย เพื่อเจรจาความต่อหน้านางให้แตกหักเสร็จสิ้นกันไป

 

ในที่สุดก็ตกลงใจกันไม่ได้ จึงเกิดการต่อสู้กันอย่างชนิดต้องใช้วิชาตัวเบาฝ่ามือพญามารเข้าต่อสู้กับขวานพยัคฆ์เหิรเจ็ดคาบสมุทร เสียงสนั่นหวั่นไหวจนพวก เทวดา ต้องเผ่นออกมาดูศึกหน้านาง ครั้งหนึ่งคมขวานจามไปถูกแผ่นดิน ถึงกับแยกเป็นลำน้ำตากแดดพวกเทวดา เห็นว่าไม่ได้เรื่อง จึงสาปให้เจ้าหลวงตายแข็งเป็นหินอยู่ที่เขาหลวง ส่วนพญานาค ก็ให้กลายเป็นเขานาคตากแดดจนตาย

 

สำหรับนางต้นเหตุให้เกิดวิวาทนั้นได้ตัดเนื้อนมขว้างไปให้ เจ้าหลวงข้างหนึ่ง กลายเป็น ภูเขานมนาง อยู่คนละฝั่งกับลำน้ำตากแดด เขตอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนอีกข้าง ขว้างให้พญานาคออกไปเสียไกลเป็น ภูเขาแหลม อยู่ในท้องที่อำเภอทัพทัน ส่วนสถานที่ต่อสู้กันนั้น เรียกว่า “วังรอ” จนทุกวันนี้ เป็นเรื่องเล่ากันสนุกๆ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดทางโบราณคดีแต่อย่างใด นอกจากสถานที่ที่มีจริงตามเรื่องนี้

 

บริเวณเชิงเขาซับฟ้าผ่า

อยู่ในเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง อำเภอลานสัก ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นหมู่เขา อยู่ใกล้ห้วยน้ำซับ มีหินวงกลม อยู่รวมทั้งหมด ๖ วง ลักษณะเป็นหินอัคนี ขนาดต่างๆ เรียงซ้อนเป็นแนวคล้ายกองหินทำเป็นรูปวงกลมบางวงมีขนาดกว้าง ๒.๐๐-๒.๕๐ เมตร บางวงมีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๓๗ เมตร วงหินวงกรมเหล่านี้ เข้าใจว่ามีอายุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่

 

นอกจากนี้ ยังพบหินวงกลมในป่าเขตบ้านน้ำพุ ตำบลคอกควาย อำเภอบ้านไร่ อีกแห่งหนึ่งสอบถามได้ความว่า เป็นที่ฝังศพชาวละว้ามาแต่โบราณ หินวงกลมนี้ บางคนเรียกว่า “สังเวียนไก่” ในที่แห่งแรกเคยมีผู้พบเศษภาชนะดินเผาด้วย

 

มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

นิยมเขียนภาพไว้บนผนังถ้ำ หรือหน้าผาสูง เพื่อถ่ายทอดความคิดเห็น มักเป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากการจดจำหรืออาศัยเค้าโครงของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ในชีวิตประจำวัน รูปแบบและลักษณะของภาพมักจะออกมาตามความคิดฝันที่ติดหูติดตา

 

ที่จังหวัดอุทัยธานีได้มีการสำรวจพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ที่หน้าผา บนเทือกเขาปลาร้า ตำบลห้วยคต อำเภอ บ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีขนาดสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ เมตร หน้าผานี้อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นหน้าผาขนาดใหญ่ และมีภาพเขียนรูปคน สัตว์ และรูปทรงเรขาคณิต อยู่บนหน้าผาหลายรูป

 

ภาพเขียนสีรูปคนนั้น เขียนเป็นเส้นด้ายด้วยสีแดงคร่ำ

บางรูปจางเป็นสีส้ม รูปคนเขียนลงสีทึบ ภายในสวมเครื่องประดับเป็นขนนกที่หัว ที่เอวมีเครื่องประดับห้อยอยู่ ดูเหมือนอวัยวะเพศ ที่มือสวมกำไลสี่เหลี่ยม บางรูปภายในเขียนเป็นเส้นตัดขวางเป็นก้างปลา สามารถแยกลักษณะการเขียนภาพคนได้ ๓ ชนิด คือ ภาพคนที่ลงสีทึบภายใน ภาพคนที่วาดเฉพาะเส้นรอบรูปภายในโปร่ง และภาพคนที่วาดเป็นเส้นรอบนอกของรูป ภายในเขียนแบบประจุดอยู่เต็มช่วงลำตัว เป็นลักษณะพิเศษมีอยู่ ๓ รูป คนละขนาดและยืนเรียงกันอยู่ด้านในสุดของหน้าผา รูปหนึ่งมีประจุดในลำตัว อีก ๒ เป็นเส้นตรงและเส้นตัดขวางอยู่ภายในลำตัวมือและเท้าไม่ได้วาดต่อให้ครบ ภาพคนบางรูปเขียนในท่าจูงวัว และบางรูปมือถือไม้อยู่กับสุนัข เป็นต้น

 

ภาพเขียนสีรูปสัตว์ มีรูปวัวที่ภายในเขียนเป็นรูปตัดขวางในลำตัว

บางรูปเขียนเป็นเส้นรอบรูป ส่วนภายในทาสีประกอบเป็นสีดำ แสดงให้เห็นด้านข้าง เห็นขา ๓-๔ ขา สัตว์บางตัวมีขนนกประดับที่หัวด้วย พื้นผนังหน้าผามีเส้นร่างสีดำเต็มไปหมด เข้าใจว่า เขียนภาพร่างก่อนที่จะลงสี รูปสัตว์ที่เขียนมีภาพ วัว ไก่ กบ เต่า ค่างหรือลิง สุนัข เป็นต้น สีที่เขียนเป็นสีแดงคร่ำ

 

ภาพเขียนสีที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตส่วนใหญ่เป็นเส้นร่างสีดำ

ดูไม่ออก บางแห่งทาสีดำเป็นพืชคล้ายรูปสัตว์ บางรูปเป็นเส้นโค้งหลายเส้นกระจายออกจากจุดกลางวนไปทางซ้าย บางภาพเป็นรูปสัตว์แบบขาวดำ

 

ภาพเขียนสีที่พบในจังหวัดอุทัยธานีนี้เป็นภาพเขียนที่เข้าใจว่า

ผู้เขียนช่วยกันเขียนหลายคน จึงมีรูปแบบลักษณะของภาพแตกต่างกัน บางรูปเขียนทับซ้อนเส้นร่างเดิม บางรูปถูกน้ำฝนไหลชะ สีหลุดเห็นเป็นรูปเลือนลาง และเปลี่ยนสีแดงคร่ำเป็นสีส้มหรือแดง เดิมเข้าใจว่า คงมีภาพเขียนอยู่เต็มหน้าผาแห่งนี้ การเขียนนั้นผู้เขียนต้องตั้งร้านไม้สำหรับเขียนจึงจะสามารถเขียนภาพได้ สูงประมาณ ๗-๘ เมตร ภาพเขียนที่พบบนยอดเขาปลาร้านี้ มีลักษณะพิเศษคือ รูปคนมีเครื่องประดับ ภาพคนเขียนไว้หลายแบบในที่เดียวกัน และเป็นภาพเขียนสีที่มีลักษณะชัดเจนและสมบูรณ์ที่สุด อายุประมาณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคโลหะ

 

สรุปได้ว่า พื้นที่ของจังหวัดอุทัยธานี

เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ มาตั้งแต่โบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นมนุษย์ที่อพยพมาตั้งแต่สมัยหินเก่า จากจังหวัดกาญจนบุรีเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตอำเภอบ้านไร่ แถบลำธารเก่าบริเวณทางเข้าเหมืองแร่ แล้วอพยพกระจัดกระจายไปอยู่ตามถ้ำตามชายน้ำ มีวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยหินใหม่ ซึ่งพบเครื่องมือหินขัดใกล้ลำธาร บ้านสวนพลู หรือบ้านชวนพลู ในเขตอำเภอบ้านไร่ ถ้ำเขาฆ้องชัย ในเขตอำเภอลานสักเป็นต้น

 

จนอพยพเข้ามาถึงเชิงเขานาค ก็เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมสมัยโลหะ อยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้านชุมชนเล็กใกล้ลำน้ำตากแดด ทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อาจมีพาหนะใช้ เช่นเลื่อนหรือล้อสำหรับทางน้ำอาจจะมีเรือขุดใช้ รู้จักถลุงแร่ เป็นช่างทำเครื่องเหล็ก และเครื่องสำริด ทอผ้าทำเครื่องนุ่งห่ม มีการแลกเปลี่ยนเครื่องมือ เครื่องใช้ระหว่างชุมชนใช้เครื่องประดับต่าง ๆ เช่น กำไล ลูกปัด ห่วงหู หรือห่วงจมูก แหวน เป็นต้น

 

เครื่องมือที่ช่วยในการเพาะปลูก ทำด้วยเหล็ก มีรูปร่างคล้ายเสียมในสมัยปัจจุบันอาวุธของมนุษย์สมัยนี้ได้แก่ ใบหอก ขวาน และอาจจะใช้คันกระสุนสำหรับล่าสัตว์ขนาดเล็ก ภาชนะดินเผามีขนาด รูปร่าง และลวดลายต่างๆ กันส่วนมากค่อนข้างบางประดิษฐ์ด้วยฝีมือปราณีต ดินที่ใช้ปั้นเป็นดินปนทราย

 

ประเพณีการฝังศพ นิยมวางหันหัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่มีโลงใส่ และฝังเครื่องมือเครื่องใช้ของคนตายรวมไปกับศพมนุษย์สมัยนี้มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๑๖๐ เซนติเมตร มักเสียชีวิตในวัยฉกรรจ์ อายุไม่เกิน ๔๐ ปี

 

มนุษย์สมัยโลหะที่อยู่ในจังหวัดอุทัยธานี พบว่า ได้ปั้นตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์คล้ายกบ และสัตว์สี่เท้าบางจำพวก จะเป็นเครื่องเล่นของเด็ก หรือใช้สำหรับพิธีกรรมบางอย่าง ไม่สามารถสันนิษฐานได้ใกล้เคียง เพราะพบในสภาพที่ชำรุดไม่สมบูรณ์

 

ส่วนชาวละว้า ลุ และกระเหรี่ยง นั้นเป็นชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาแต่เดิม เมื่อได้รับการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและผสมเผ่าพันธุ์กับชาติอื่น ก็สืบทอดเชื้อชาติและเปลี่ยนแปลงตนเองให้เจริญ ถึงกับสามารถตั้งบ้านเมืองในสมัยทวาราวดี

 

สมัยทวาราวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖

ได้มีการรวมตัวกันเป็นชุมชนเล็ก และรับเอาวัฒนธรรมจากอินเดียมาจัดตั้งเป็นบ้านเมืองบนดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นเมืองโบราณสมัยนี้จึงเกิดขึ้นในเขตจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอุทัยธานี เป็นต้น ส่วนมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์สมัยโลหะตอนปลายก็ได้รับเอาความเจริญดังกล่าว และคงจะพากันอพยพ เข้ารวมกลุ่มในอารยะธรรมศิลปทวาราวดีบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และมีบางส่วนที่อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในที่ห่างไกล

 

จังหวัดอุทัยธานี ปรากฏว่าได้มีการสำรวจพบหลายแหล่งในท้องที่เขตอำเภอต่างๆ คือ

๑. เมืองโบราณบ้านด้ายหรือบ้านใต้

อยู่ในท้องที่ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอเมือง อุทัยธานี ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแควตากแดด ลักษณะตัวเมือง เกือบจะเป็นรูปวงรี ด้านทิศเหนือใช้ลำน้ำตากแดดเป็นคูเมือง ส่วนด้านอื่นๆ เป็นคูและกำแพงดิน ตัวคูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร กำแพงดินหนาประมาณ ๒๐ เมตร สูงราว ๕ เมตร แนวโบราณสถานรอบยาว ๘๖๕ เมตร ส่วนรอบนอกยาว ๑,๒๗๐ เมตร วัดตั้งแต่ลำน้ำตากแดดเข้าไป แล้วอ้อมออกลำน้ำตากแดดตอนล่างแนวโบราณสถานนี้ กว้าง ๑๗๐ เมตร ห่างด้านละประมาณ ๒๐ เมตร กำแพงดินส่วนที่ใกล้ลำน้ำถูกตัดเป็นทางเดินมีเศษภาชนะดินเผาติดปะปนอยู่ในเนื้อดิน กลางเมืองมีสระน้ำขนาดกว้าง ๘๗ เมตร ยาว ๑๑๐ เมตร ลึกเข้าไปด้านละประมาณ ๒๐ เมตร จะเป็นตัวสระรูปวงรี

 

เนื้อที่ของเมืองโบราณแห่งนี้มีประมาณ ๑๐๐ ไร่ ๙๙ ตารางวา มีซากโบราณสถานอยู่ ๑ แห่ง ที่เชิงเขานาคนอกคูเมืองด้านทิศตะวันตกทางทิศใต้ของกำแพงดิน มีซากเจดีย์ รูปสี่เหลี่ยมขนาด ๓๓ เมตร ฐานก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ส่วนบนถูกทำลายหักพังไม่เป็นชิ้นดี มุมกำแพงด้านทิศเหนือ พบระฆังหินสีเทากว้าง ๗๘ เซนติเมตร ยาว ๑๕๐ เซนติเมตร หักเป็นสองท่อน กับมีผู้เคยพบพระพุทธรูปสำริดฝังอยู่ริมลำน้ำตากแดด พระพิมพ์ดินเผาปางสมาธิ ฐานเป็นรูปบัว เศียรหักไปส่วนหนึ่ง ตุ้มหูสำริด กำไลหิน เป็นต้น

 

๒. เมืองโบราณบ้านคูเมือง

อยู่ในท้องที่ตำบลดงขวาง อำเภอหนองขาหย่าง ตัวเมืองถูกแปรสภาพเป็นไร่นา ลักษณะตัวเมือง เป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐๐ เมตร คูเมืองกว้างประมาณ ๓๐ เมตร กำแพงดินกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ตอนกลางลาดเป็นแอ่งคล้ายท้อง กะทะ ถูกปรับเป็นที่นาไปเกือบหมด รวมเนื้อที่ประมาณ ๑๔๐ ไร่ เมืองนี้มีทางเข้า ๓ แห่ง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และทิศเหนือ

 

โบราณวัตถุที่เคยพบมีลูกปัดสีต่างๆ เป็นจำนวนมาก เครื่องปั้นดินเผาก้อนตะกั่ว ตราดินเผา รูปดอกไม้กับรูปสิงห์ ลักษณะเลือนลางมาก แท่งหินบดยา แว ถ้วยหรือตระกรันดินเผา ขวานหินขัดทำด้วยหินทราย ก้อนแร่เหล็กพระพิมพ์ดินเผา เป็นต้น

 

นอกจากนี้พบระฆังหินแบบเจาะรู ๒ รู และรูเดียวขนาดใหญ่ ๒x๕ ศอก จากทางเข้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีร่องรอยเจดีย์เล็ก ๆ เรียงรายห่างกันประมาณ ๒๐ เมตร ยาวเกือบ ๒ กิโลเมตร จนถึงองค์เจดีย์ใหญ่ ที่ดงหนองสระ หรือดงเจดีย์ราย เข้าใจว่าจะเป็นโบราณสถานที่สำคัญ และชาวเมืองออกมาทำบุญกันที่นี่ทุกวันพระ บนเขาระแหงที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองโบราณแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าว่ามีเจดีย์เก่าแก่อยู่ด้วย

 

๓. เมืองโบราณเมืองการุ้ง

อยู่ในท้องที่ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมถนนสายหนองฉาง-บ้านไร่ ตรงกิโลเมตรที่ ๔๐ เดิมเป็นพื้นที่ป่าทึบ ปัจจุบันได้แปรสภาพเป็นไร่นา ลักษณะของตัวเมืองเป็นวงกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๘๐๐ เมตร ประกอบด้วยคูเมือง กว้างประมาณ ๒๐ เมตร ลึกประมาณ ๒ เมตร มีกำแพงดินล้อมรอบ คูเมืองบางตอนถูกเกลื่อนลง คูเมืองยาวตลอดเป็นระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร บางแห่งตื้นกว่าระดับเดิม และมีการขุดลอกคูเมืองใหม่

 

ภายในบริเวณเมืองมีซากเจดีย์หักพังอยู่ค่อนไปตรงกลาง ตัวเมืองด้านในอยู่ติดกับทิวเขาอีกด้านหนึ่งอยู่ติดกับถนนที่ตัดผ่านในระยะหลัง ภายในเมืองมีสระน้ำอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ และที่นอกกำแพงดินด้านทิศใต้มีสระโบราณอีกแห่งหนึ่ง โบราณวัตถุที่พบนั้น มีพระพุทธรูปปางเสด็จดาวดึงส์และสิ่งอื่นๆ เช่นเดียวกับเมืองสมัยทวาราวดีทั่วๆ ไป

 

๔. เมืองโบราณบึงคอกช้าง

อยู่ในท้องที่ตำบลไผ่เขียว อำเภอสว่างอารมณ์ ตัวเมืองตั้งอยู่ในป่า ซึ่งได้ทำการสำรวจและขุดตรวจ เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๔ ถึงวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๑๔ ปรากฏว่า คูเมืองกว้างประมาณ ๒๐ เมตร กำแพงดินสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๖-๗ เมตร มีประตูเข้าเมืองทั้ง ๔ ทิศ และริมประตูเมืองทั้ง ๔ มีสระน้ำเฉพาะด้านทิศตะวันออก มีคันคูอีกชั้นหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ขุดเพื่อเชื่อมโยงกับลำห้วยทางด้านตะวันออก เพื่อให้น้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงในคูเมือง เนื่องจากเมืองอยู่ในป่าทึบจึงมีซากวัชพืชทับถมผิวดินหนามาก ไม่อาจพบเศษเครื่องปั้นดินเผาได้

 

โบราณสถานที่สำรวจมีอยู่ ๕ แห่ง คือ ภายในตัวเมือง ๑ แห่ง ตั้งอยู่ใกล้คูเมืองด้านทิศใต้ ลักษณะเป็นเนินศิลาแลง ขนาดของเนินมีเส้นฝ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๐ เมตร ตอนกลางถูกขุดเป็นโพรง นอกคูเมืองมีโบราณสถานก่อด้วยอิฐอีก ๓ แห่ง มีขนาดกว้าง ๑๔ เซนติเมตร ยาว ๓๗ เซนติเมตร และหนา ๗-๘ เซนติเมตร มีแกลบผสมมาก ขนาดของเนินที่ใหญ่ที่สุด กว้างด้านประมาณ ๑๐ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร ส่วนอีก ๒ แห่ง เป็นเนินขนาดเล็กกว้างประมาณ ๖-๗ เมตร สูงประมาณ ๑/๒ เมตร

 

นอกจากนี้ ยังพบซากโบราณสถานอยู่บนยอดเขาทางทิศตะวันออกของตัวเมืองอีก ๑ แห่ง ซึ่งก่อสร้างด้วยอิฐที่เผาแกร่งและมีสีแดงเข้ม มีส่วนผสมกับทรายมากกว่าแกลบและมีน้ำหนักอิฐขนาดกว้าง ๑๒ เซนติเมตร ยาว ๒๔ เซนติเมตร และหนา ๖ เซนติเมตร โบราณสถานแห่งนี้ อยู่ในสภาพถูกทำลาย ที่บริเวณเมืองนี้ พบหลักฐานที่สำคัญมาก คือ ศิลาจารึกอักษรโบราณ ๓ หลัก เป็นอักษรปัลลวะ ภาษามอญ แปลเป็นความว่า

๑. สมัยที่ปรัชญาเป็นเลิศ
๒. บุญย่อมส่งเสริมนักพรต
๓. จงเลือกไปทางนี้

นอกจากการสำรวจพบเมืองโบราณสมัยทวาราวดี ที่เด่นชัดในท้องที่จังหวัดอุทัยธานี ดังกล่าวนี้แล้วยังได้สำรวจพบเรื่องราวสมัยทวาราวดี ในพื้นดินแถบนี้หลายแห่ง คือ

๑. พบโบราณสถานสมัยทวาราวดีที่บ้านเก่า

หมู่ที่ ๒ ตำบลลานสัก อำเภอลานสัก เป็นเนินสูง ๑ เมตร ตรงกลางถูกขุดเป็นบ่อ พบอิฐขนาดใหญ่มีลักษณะแปลกมีลวดลายขีดเขียนด้วยน้ำมือเป็นเส้นคู่บ้าง เป็นลายเส้นรูปทรงเรขาคณิตในรูปหลายแบบบ้าง ซึ่งทำเป็นลวดลายขีดเขียนแบบแผ่นอิฐก่อนเผา โดยขีดเขียนเพียงด้านเดียว และยังมีผู้พบอิฐที่มีรูปมนุษย์และรูปเทวดาบริเวณโบราณสถานนั้น

 

นอกจากพบอิฐที่มีขนาด ๓๔+๑๙+๘.๕ เซนติเมตร ขนาด ๓๓+๑๙.๕+๘ เซนติเมตร และ ๑๗+๓๓.๕+๑๐ เซนติเมตร แล้วยังพบในเสมา ดินเผาขนาด ๕๐+๒๗.๕+๘ เซนติเมตร อีกด้วย สันนิษฐานว่า คงจะเป็นโบสถ์เก่าสมัยทวาราวดี เสียดายที่ถูกทำลายมาก่อนแล้ว จึงไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีมากนัก

 

๒. พบพระพิมพ์ดินเผาสมัยทวาราวดีและแม่พิมพ์ดินเผา

เป็นจำนวนมากในถ้ำศูนย์ตา ตำบลบ้านไร่ อำเภอบ้านไร่ ซึ่งเป็นถ้ำที่เข้าใจว่าคงเป็นแหล่งสร้างพระพิมพ์ในสมัยทวาราวดี ยังสำรวจไม่พบว่า บริเวณนั้นมีภูมิสถาน ที่เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี อยู่ใกล้เคียงเลย ภายในถ้ำปรากฏว่ามีเศษพระพิมพ์ดินเผา และแม่พิมพ์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนที่สมบูรณ์นั้น ได้มีผู้นำเอาไปจนหมดสิ้นแล้ว

 

ลักษณะพระพิมพ์ดินเผานี้ เป็นรูปพระนั่งห้อยเท้าอยู่ในซุ้มใต้พุทธคยา แบบเดียวกับที่เคยพบที่บ้านพงนึก จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปไม้จำหลักสมัยหลังๆ เป็นจำนวนมาก เข้าใจว่าถ้ำแห่งนี้ เดิมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรืออาจถือเป็นวัดแห่งหนึ่งในสมัยนั้นก็ได้

 

๓.รูปปูนปั้นของนางดารา สมัยทวาราวดี

แสดงแบบของการแต่งกายของคนในสมัยนั้น เป็นศิลปศรีวิชัย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ได้ไปจากจังหวัดอุทัยธานี ไม่ทราบว่าจากที่แห่งใด เข้าใจว่าจะได้ไปจากเมืองการุ้ง

 

๔. พบร่องรอยของเมืองโบราณในเขตตำบลห้วยคต อำเภอบ้านไร่

ตรงทางแยกบ้านทุ่งนางาม เรียกบ้านน้ำวิ่ง มีคูเมืองและเคยพบเศษภาชนะดินเผา และมีร่องรอยคูเมืองที่อยู่ระหว่างตำบลห้วยรอบกับบ้านหินโจน มีคันคูเป็นรูปวงรี และมีลำคลองผ่านกลางทะลุไปอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านเรียกบึงทะลุ ประกอบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นชาวมอญ ที่อยู่สืบทอดกันมานาน เคยมีผู้พบเศษอิฐหักกระจัดกระจายอยู่บ้าง

 

จังหวัดอุทัยธานี มีเมืองโบราณ สมัยทวาราวดี

เกิดขึ้นในท้องที่หลายแห่งบางแห่งมีโบราณสถานที่สำคัญ จนเชื่อว่า ในสมัยทวาราวดีได้มีผู้คนอาศัยอยู่มากขึ้น และมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเผ่าพันธุ์ มอญทวาราวดี (คือเผ่าพันธุ์ ที่ผสมกับชาวละว้าและธิเบต) มีวัฒนธรรมทวาราวดี สร้างสรรศิลปวัตถุขึ้นโดยวิวัฒนาการไปอย่างช้าๆ เปลี่ยนรูปแบบของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ รับอิทธิพลทางศิลปของอินเดียจนสามารถสร้างรูปปูนปั้นนางดารา พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปสำริดและเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงการก่อสร้างด้วยอิฐแดงและเผาอิฐได้ เป็นต้น จนนับว่าดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีความเจริญสูงสุดในสมัยทวาราวดีซึ่งหมายถึงเมืองโบราณต่างๆ ที่พบในจังหวัดอุทัยธานีด้วย

 

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ในราว พ.ศ. ๑๔๓๖ ขอมได้ครอบครองดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดนั้น อำนาจของพวกละว้าที่อาศัยอยู่ตามเมืองโบราณต่างๆ นั้น ไม่ได้กระทบกระเทือนอะไร เพราะขอมได้ส่งคนไปปกครองเฉพาะเมืองสุโขทัย เมืองละโว้ และเมืองศรีเทพ ถึงกระนั้นก็มีหลักฐานจากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์ของขอมก็ยังได้ส่งพระพุทธรูปชื่อ “พระชัยพุทธมหานาค” ออกมาประดิษฐานตามเมืองต่างๆ ที่อยู่ในดินแดนภาคกลางของประเทศไทยถึง ๒๓ แห่ง ได้แก่ ลโวทยปุระ (เมืองละโว้) สุวรรณปุระ (เมืองสุพรรณเก่า) คัมพูปัฏฎนะ (เข้าใจว่าเมืองแถบสระโกสิ-นารายณ์ หรือเมืองนครปฐม) ชัยราชบุรี (เมืองราชบุรี) ศรีชัยสิงห์บุรี (เข้าใจว่าเมืองสิงห์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี) ศรีชัยวัชรบุรี (เข้าใจว่าเป็นเมืองเพชรบุรี) เป็นต้น

 

เป็นเรื่องที่น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เมืองโบราณในเขตจังหวัดอุทัยธานีก็น่าจะมีส่วนได้รับพระพุทธรูปดังกล่าวด้วยไม่พบหลักฐานอื่นใดนอกจากซากอิฐศิลาแลงในแถบสระนารายณ์ หมู่ ๖ ตำบลหนองหลวง เขตอำเภอสว่างอารมณ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปสระสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวประมาณ ๓๐-๓๗ เมตร ลึกประมาณ ๑ เมตร ทางด้านใต้ของขอบสระ มีแท่งศิลาใหญ่ มีถนนเก่าปรากฏอยู่ด้วย ส่วนโบราณวัตถุที่พบมีพระพุทธรูปตรีกาย หรือพระพุทธรูปสามองค์นั่งเรียงอยู่บนฐานเดียวกัน ตามคติมหายานที่ถือว่า พระพุทธเจ้ามี ๓ กาย คือพระธรรมกายพระสัมโภคีกาย และพระนิรมานกาย (หรือพระธยานิพุทธ พระอาทิพุทธ)

 

พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ นั่งปางมารวิชัย ทรงรัดเกล้าที่เรียกว่า เทริดขนนกและกุณฑลแบบแปลกประทับนั่งสมาธิราบครองจีวรห่มเฉียง มีขอบจีวรต่อจากชายขอบสี่เหลี่ยมที่พาดอยู่บนพระอุระด้านซ้าย ลงมาคลุมพระหัตถ์ซ้ายและพระโสณี แผ่นหลังติดอยู่กับเรือนแก้ว ซึ่งส่วนบนทำเป็นรูปปลายใบไม้ หมายถึง พระศรีมหาโพธิ์ เนื้อเป็นสำริด สูง ๓๑.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๗.๘ เซนติเมตร พบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมืองอุทัยธานี ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาตสำริด ศิลปสมัยลพบุรี พบที่วัดหนองพังค่า อำเภอเมืองอุทัยธานี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะยืนยันได้ว่า ในสมัยนี้ มีพระพุทธรูปฝีมือลพบุรี ที่ได้รับอิทธิพลของขอมเข้ามาในจังหวัดอุทัยธานีแล้ว ชนชาติที่อาศัยอยู่ก็คงจะเป็นชาวทวาราวดีที่สืบเชื้อสายจากมอญหรือละว้า

 

ต่อมา “ท้าวมหาพรหม” ซึ่งปรากฏในตำนานว่าเป็นผู้ตั้งเมืองอุทัยเก่า

ก็ใช้เวลาช่วงนี้รวบรวมชนชาติไทยเป็นชุมชนเล็กๆ จนในที่สุดก็สร้างบ้านเมืองเป็นหลักฐานที่บ้านอุทัยเก่า ในท้องที่อำเภอหนองฉาง ซึ่งพบแนวศิลาแลง วางเรียงเป็นทางยาวอยู่ลึกประมาณ ๒ เมตร และระฆังหินประมาณการสร้างเมืองคงตกราวสมัยสุโขทัย หมู่บ้านแห่งนี้จึงเรียกกันทั่วๆ ไปว่า “บ้านอู่ไทย” ซึ่งหมายถึง เป็นที่อยู่ของชาติไทย ดูจะเข้าเค้าที่ว่าในพื้นที่หลายแห่งของจังหวัดอุทัยธานีมักเป็นที่อยู่ของชนชาติต่างๆ เช่น หมู่บ้านมอญ หมู่บ้านละว้า หมู่บ้านไทย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้นำเอาคำ “อุทัย” ไปหาความหมายเป็นบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง

และเป็นเมืองที่พึ่งตั้งขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์แรกขึ้นจากขอบฟ้า จึงทำให้เข้าใจว่าเมืองอุทัยเก่าเป็นเมืองใหญ่ ที่มีผู้คนอยู่ทำมาหากิน และมีพืชพันธ์ธัญญาหารสมบูรณ์กว่าแหล่งอื่นถ้าพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้ว ไม่น่าจะกลายเป็นเมืองใหญ่ได้รวดเร็วถึงขนาดนั้น ที่น่าจะเข้าใจก็คือหมู่บ้านอู่ไทยนั้น มีผู้คนที่เป็นชนชาติไทยไปตั้งถิ่นฐานทำมาหากินเป็นกลุ่มก้อน และคงจะได้ชักชวน พี่น้องคนไทยด้วยกันมาอยู่เสียที่แห่งนี้ เนื่องด้วยมีที่ดินทำมาหากินกว้างขวาง มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นหมู่บ้านที่เจริญกว่าหมู่บ้านอื่นๆ ที่เป็นหมู่บ้านชาวมอญ หมู่บ้านชาวกระเหรี่ยง

 

ดังนั้นหมู่บ้านอู่ไทยจึงเป็นแหล่งกลางสำหรับหมู่บ้านอื่น

ไปมาติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยส่วนที่จะมีการเดินทางติดต่อกับหมู่บ้านไกลๆ นั้น ก็คงจะมีบ้างเพราะพื้นที่แถบนี้มีเมืองโบราณสมัยทวาราวดี เกิดขึ้นแล้วหลายแห่งและมีชื่อเรียกนำหน้าด้วยคำว่า “อู่” เช่นเมืองอู่บน หรือเมืองบน ที่บ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองอู่ตะเภา ที่บ้านอู่ตะเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองอู่ล่าง เข้าใจว่าเป็นเมืองลพบุรี ตามคำพังเพยที่ว่า

 

“ฝูงกษัตริย์เมืองบน ฝูงคนเมืองล่าง (หรือลพบุรี)…………..” เป็นต้น

 

ส่วนที่เป็นชื่ออื่นก็มี เมืองจันเสน ที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เมืองดงแม่นาง เมือง ที่ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เมืองประคำ ที่ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี

 

บ้านเมืองที่ร่วมสมัยเดียวกับเมืองอู่ไทยหรือเมืองอุทัยนั้น

ได้เกิดขึ้นหลายแห่งในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีเมืองพระบาง ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมืองชัยนาท, เมืองแพรก ศรีราชา ที่อำเภอสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท, เมืองไพสาลี ที่ตำบลสำโรงไชย อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์, เมืองศรีราชาที่จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น นับเป็นความเจริญของดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้วิวัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงตัวเองสร้างสรรโบราณวัตถุสถานสำคัญขึ้น

 

สำหรับเมืองอู่ไทยนั้น ในระยะหลังๆ เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยนทางเดิน

ทำให้เกิดกันดารน้ำอันเป็นเหตุให้มีการอพยพทิ้งหมู่บ้าน ไปหาแหล่งทำมาหากินในที่อื่น และอาจจะเลยเข้ามาอยู่ในแถบแม่น้ำสะแกกรัง เขตจังหวัดชัยนาท จนสามารถตั้งหมู่บ้าน หรือชุมชนเล็ก ๆ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันภายหลังว่าบ้านสะแกกรัง ส่วนเมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่า ก็คงจะร้างลงระยะหนึ่ง ต่อมา “พะตะเบิด” ชาวกระเหรี่ยงได้อพยพผู้คนเข้ามาอยู่ที่เมืองอู่ไทย หรือ เมืองอุทัยเก่าอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยอยุธยา พร้อมกับได้สร้างโบราณสถานหลายแห่งตามลำดับ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยขุดดินทางด้านทิศใต้ ของตัวเมืองเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ เรียกว่า ทะเลสาบ และปรากฏในตำนานว่า “พะตะเบิด” ได้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอู่ไทยหรือเมืองอุทัยเก่า

 

ที่ไม่เข้าใจคือ เหตุใดชาวกระเหรี่ยงจึงมีอำนาจและเป็นเจ้าเมือง จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ผู้คนเข้ามาอยู่ในเมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่านี้เป็นชนชาติกระเหรี่ยง ละว้า ถึงอย่างไร ก็น่าจะมีคนไทยหลงเหลืออยู่บ้างแต่ถ้าได้ศึกษาถึงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์แล้วจะเห็นได้ว่า ชนชาติละว้า หรือชนชาติกระเหรี่ยง เป็นเผ่าพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาจากมนุษย์เผ่าพันธุ์ไทย อย่างน้อยก็เกี่ยวพันกันอยู่ก็น่าที่จะเข้าใจว่า “พะตะเบิด” ก็เป็นเชื้อสายเผ่าพันธุ์ไทยได้ นอกนี้ไม่ปรากฏหลักฐานอะไรถึงการปกครองที่ต่อเนื่องมาจาก “พะตะเบิด” หรือผู้ปกครองคนต่อมา

 

เมืองอู่ไทย หรือเมืองอุทัยเก่าในสมัยอยุธยา

ได้มีการสร้างวัดตามทิศต่างๆ ดังนี้ ทิศเหนือ วัดหัวหมาก ทิศตะวันตก วัดยาง ทิศตะวันออก วัดแจ้ง และทิศใต้ วัดหัวเมือง โดยมีหลักเมืองทำด้วยไม้แต่อยู่ตรงกลางค่อนไปทางทิศใต้ ห่างจากวัดหัวเมืองประมาณ ๑๐๐ เมตร ตัวเมืองอุทัยเก่ามีอาณาเขตที่ถือเอาวัดเป็นเกณฑ์ประมาณกว้าง ๓๐๐ เมตร และยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร นอกตัวเมืองทางด้านทิศใต้เป็นทะเลสาปและมีวัดกุฏิตั้งอยู่ริมทะเลสาปด้านใต้ ซึ่งมีแนวคลองผ่านเข้าตัวเมือง ถัดจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตรเป็นหมู่บ้านคลองค่าย ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายทหารในสมัยอยุธยา สำหรับเกณฑ์ไปช่วยเมืองหลวงในยามศึกสงครามและเป็นหน้าด่านป้องกันพม่าที่ยกทัพเข้ามาทางเขตเมืองอุทัยเก่า

 

 

สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเมืองอุทัยเก่านั้นเป็นเมืองอยู่ใกล้ชายแดน ควรจะเป็น “เมืองด่าน” ใช้ระมัดระวังพม่าที่เดินทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา และด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นเส้นทางที่พม่าใช้เดินทัพเข้ามาแต่โบราณ จึงให้จัดตั้งด่านป้องกันขึ้นหลายแห่งคือ ด่านเมืองอุทัย (ที่บ้านคลองค่าย) ด่านแม่กลอง ด่านเขาปูน ด่านหนองหลวง ด่านสลักพระ โดยถือเอาเมืองอุทัยเก่าเป็น “หัวเมืองด่านชั้นนอก” โดยมีเจ้าเมืองอุทัยเก่าเป็นผู้ดูแลด่านต่างๆ

 

เมืองอุทัยเก่าในสมัยนั้นมีอาณาเขตการปกครองดังนี้ ทางทิศตะวันออกติดต่อกับเมืองแพรก (เมืองสรรค์บุรี) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจดกับเมืองพระบาง (เมืองพังค่าจังหวัดนครสวรรค์)ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับเมืองแปป (เมืองกำแพงเพชร) และเมืองฉอด (อยู่ที่จังหวัดตาก) ถือแนวแม่น้ำและลำคลองเป็นแนวเขต เช่นแม่น้ำกลอง คลองห้วยแก้ว ลำห้วยเปิ้นเป็นต้น

 

สำหรับด่านสำคัญที่อยู่ปลายแดนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือได้ให้พระพล (พระพลสงคราม) เป็นผู้รักษาด่านแม่กลอง และพระอินทร์ (พระอินทรเดช) เป็นผู้รักษาด่านหนองหลวงซึ่งเป็นด่านที่สำคัญของเมืองอุทัยเก่า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก) ในพงศาวดารพม่าปรากฏว่า “สมเด็จพระนเรศวรยกทัพติดตามตีกองทัพพระเจ้าหงสาวดีไปจนถึงหนองหลวง แล้วจึงกลับคืนพระนคร”

 

ต่อมาสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้โปรดให้บัญญัติ

อำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่งมีบัญชาการตามหัวเมืองนั้นๆ ได้ระบุในกฎหมายเก่า ลักษณะพระธรรมนูญว่า

 

“เมืองอุไทยธานีเป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย”

ตัวเมืองอุทัยเก่านั้นเป็นเมืองดอนตั้งอยู่บนพื้นที่ต่อเนื่องกับเชิงเขาบรรทัดที่เป็นเขตแดนติดกับเมืองมอญ (เมาะตะมะและเมาะตำเลิม) มีที่ราบทำนาได้มาก ทั้งมีธารน้ำไหลลงมาจากภูเขากักตุนเก็บน้ำเข้ามาใช้ในการทำนา ไม่มีเวลาที่นาจะเสีย จึงมีผู้คนได้ตั้งบ้านเรือนทำนากันมาก จนเป็นบ้านเมืองใหญ่ ด้วยเหตุที่หัวเมืองตั้งอยู่บนที่ดอนห่างจากคลองสะแกกรังประมาณ ๕๐๐ เส้น ลำห้วยที่มีอยู่เดิมใกล้ๆ ตัวเมืองก็ตื้นเขินและใช้การไม่ได้ เรือจึงขึ้นไปไม่ถึงเมื่อจะขายข้าวต้องบรรทุกเกวียนมาทางบกลงมาที่แม่น้ำสะแกกรัง อันเป็นปลายเขตแดนเมืองชัยนาท และเมืองมโนรมย์ และการส่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็ต้องอาศัยแม่น้ำสะแกกรังเป็นหลัก ดังนั้นประชาชนที่รับซื้อผลิตผลสินค้าของชาวอุทัยธานี จึงพากันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรัง ซึ่งเป็นตลาดค้าขายของชาวเมืองอุทัยธานี

 

พ.ศ. ๒๒๐๖ แผ่นดิน ของสมเด็จพระนารายณ์

กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พม่าได้ปราบปรามพวกมอญเมืองเมาะตะมะ ซึ่งเป็นกบฏจับมังนันทมิตร อาของพระเจ้าอังวะ พาเข้ามาในดินแดนไทยดังนั้น “ครั้นถึงกติกมาสได้ศุภวารดฤถี พิชัยฤกษ์ เจ้าพระยาโกษาธิบดี และท้าวพระยานายทัพนายกองทั้งปวงกราบถวายบังคมลายกพลโยธาแยกกันไปทางด่านเจดีย์สามองค์บ้าง ทางด่านเขาปูนและด่านสลักพระแดนเมืองอุทัยธานีบ้าง

 

ส่วนกองทัพพระยาสีหราชเดโชชัย ซึ่งลงมาจากเมืองเชียงใหม่ถึงเมืองตากนั้นก็รีบยกมาทางเมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์ ผ่านเมืองอุทัยธานีถึงเมืองศรีสวัสดิ์รบกับพม่าที่ไทรโยค และท่าดินแดงร่วมกับทัพใหญ่ของเจ้าพระยาโกษาธิบดีคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) เป็นแม่ทัพใหญ่พร้อมด้วยพระยาวิเศษชัยชาญ พระยาราชบุรีและพระยาเพชรบุรี จนพม่าแตกพ่ายหนีไปด้วยกำลังทหารหาญกับชาวด่านเมืองอุทัยธานีที่ได้ติดตามทัพ พระยาสีหราชเดโชชัยมาช่วยรบในคราวนี้ด้วย

 

สมเด็จพระปฐมมหาชนก กำเนิดที่บ้านสะแกกรัง

บ้านสะแกกรัง” เดิมนั้นมีต้นสะแกใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน เป็นตลาดค้าขายสำคัญมาแต่โบราณ ครั้นมีเจ้านายเดินทางมาซื้อพืชผล และเป็นที่สนใจของเจ้านายคนอื่นๆ จนถึงกับ “จมื่นมหา-สนิท (ทองคำ) ” ซึ่งเป็นบุตร “เจ้าพระยาวงศาธิราช (ขุนทอง)” ได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านสะแกกรัง ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ดังปรากฏในคำโคลงมหามกุฏราชคุณานุสรณ์ พระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ว่า

 

“ในระหัศราชะหัตถ์นั้น เสนอสาร เพียงเกี่ยวโกสาปาน ญาติยั้ง อนุสันตตินั่นตำนาญ อื่นออกยาเอย นาม ราชะนกูล ตั้ง คฤหาสน์แคว้นแขวงอุทัย”

 

บ้านสะแกกรัง ที่มีพ่อค้าคอยรับซื้อข้าวพืชพันธุ์ของป่าอยู่นั้น

เมื่อปรากฏว่ามีเจ้านายมาตั้งบ้านเรือนอยู่ดังกล่าว ก็ได้มีการสร้างวัดขึ้นตามแหล่งชุมนุมชน เช่นวัดกร่าง (วัดพิชัยปุรณาราม) วัดท่าซุง, วัดเดิมบนยอดเขาสะแกกรัง เป็นต้น ด้วยเหตุที่เมืองอุทัยเก่าเป็นเมืองด่านการขนย้ายช้างใช้ในการสงคราม และช้างป่าเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา จำเป็นต้องใช้ลำคลองสะแกกรังเป็นเส้นทางขนส่ง โดยต่อแพล่องส่งลงไปยังกรุง อันเป็นเหตุให้ “บ้านสะแกกรัง” เป็นแหล่งรวมช้างศึก และได้จัดสร้าง “พะเนียดช้าง” (บริเวณวัดใหม่จันทารามพบเสาตะโพนช้าง และพระพุทธรูปองค์ใหญ่) เป็นที่พักสำหรับขนถ่ายช้าง ไปลงที่ท่าช้าง ซึ่งเป็นที่ลาดกว้าง ตั้งแต่ห้าแยกลาดเทลงไปจนถึงแม่น้ำสะแกกรัง ส่วนตลาดนั้นอยู่ถัดเข้ามาข้างใน (แถวหน้าวัดหลวงราชาวาสเดี๋ยวนี้ตั้งแต่บ้านขุนกอบกัยกิจเข้าไป) ซึ่งไม่ห่างจาก”พะเนียดช้าง” เท่าไรนัก

 

ต่อมาในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระจมื่นมหาสนิท (ทองคำ)

ได้เป็นพระยาราชนิกูล อยู่ที่บ้านสะแกกรัง จนบุตรชายคนใหญ่ชื่อ “ทองดี” เกิดที่นั่น จากพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึง เซอร์ จอห์น เบาริ่ง เป็นภาษาอังกฤษแปลจากหนังสือ The Kingdom and People (The Royal Dynasty) หน้า ๖๕-๖๖ มีความว่า

 

“สมเด็จพระนารายณ์ จึงได้ทรงแต่งตั้งนายปาน ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศแทนพระยาคลังซึ่งเป็นพี่ชาย และเป็นต้นตระกูลของบรรพบุรุษของเราต่อมา แต่เรื่องราวการรับราชการในสมัยต่อมานั้นไม่ปรากฏ จนกระทั่งถึงสมัยสมเด็จพระภูมินทร์ราชาธิราช ซึ่งปกครองประเทศสยามระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๖-๑๗๓๒ (พ.ศ. ๒๒๔๙-๒๒๗๕) ซึ่งเป็นพระมหาชนกปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีและเป็นพระอัยกาของพระบิดาของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน (คือตัวฉันเอง) และกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง (คือพระอนุชาองค์รองของฉัน) ของประเทศสยาม อันเป็นราชโอรสอันสูงศักดิ์ของราชวงศ์ที่ได้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางกระทรวงต่างประเทศซึ่งได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาและต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานอยู่ที่บ้านสะแกกรังอันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ที่เป็นสาขาของแม่น้ำสายใหญ่เชื่อมอาณาเขตติดต่อภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศสยาม ประมาณเส้นรุ้ง ๑๓๐ ๑๕๐ ๓๐” เหนือจะกว่าเล็กน้อย เส้นแวง ๙๙๐ ๙๐” ตะวันออก

 

ซึ่งเล่ากันว่าบุคคลผู้มีความสำคัญได้ถือกำเนิดที่นี่ และกลายเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษของราชวงศ์สยาม ได้สมรสกับบุตรสาวคหบดีชาวจีนผู้มั่งคั่งซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณกำแพงเมือง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระราชวัง ได้รับราชการเป็นที่โปรดปรานของพระมหากษัตริย์โดยมีหน้าที่ร่างราชสาส์นต่างๆ และทำการติดต่อกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ (ทั้งที่เป็นหัวเมืองอิสระ และที่ยังไม่เป็นอิสระต่อประเทศสยามที่อยู่ทางภาคเหนือ) และมีหน้าที่รักษาพระราชลัญจกร ได้รับพระราชทานนามว่า “พระอักษรสุนทร เสมียนตรา” คุณพระมีบุตรธิดากับภรรยาคนแรกรวม ๕ คน และต่อมาภรรยาได้ถึงแก่กรรม คุณพระจึงได้แต่งงานกับน้องสาวของภรรยา มีบุตรหญิงคนหนึ่ง

 

ต่อมาพระยาราชนิกูลได้ย้ายเข้าไปทำราชการที่กรุงศรีอยุธยาและนายทองดีบุตรชายคนใหญ่ของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งถือกำเนิดที่บ้านสะแกกรังนั้นเจริญวัยแล้ว ก็ได้ย้ายตามบิดาเข้ามารับราชการที่กรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ และได้บรรดาศักดิ์เป็น “พระอักษรสุนทรศาสตร์” เสมียนตรา มีหน้าที่ร่างราชสาส์นต่างๆ ของพระมหากษัตริย์ และรักษาพระราชลัญจกร ต่อมาได้แต่งงานกับสตรีงามชื่อ “หยก” (บางแห่งว่า “ดาวเรือง”) มีบุตรและธิดา ๕ คน คือ ๑ “สา” เป็นหญิงภายหลังได้สถาปนาเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี (ส) ๒ “ราม” เป็นชายภายหลังได้สถาปนาเป็น “พระเจ้ารามณรงค์” ๓ “แก้ว” เป็นหญิงภายหลังได้สถาปนาเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)” ๔ “ทองด้วง” เป็นชายภายหลังสถาปนาตนเป็น “พระเจ้าแผ่นดินต้น” (ต่อมาได้ถวายพระนามตามพระพุทธรูปว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”) และ ๕ “บุญมา” เป็นชายภายหลังได้สถาปนาเป็น “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท” (ซึ่งนับว่าเป็นปฐมวงศ์ของกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมาอันมีสกุลวงศ์ต่อเนื่องกันมา

 

ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเกิดศึกกลางเมืองขึ้น

ทำให้ไพร่ฟ้าข้าราชการล้มตายจนไม่มีกำลังป้องกันพระนครและบ้านเมือง “จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทำตามคำซึ่งกราบทูลนั้น เจ้าพระยาราชภักดี ก็จัดแจงแต่งทัพหลวงให้ถือตราพระราชสีห์ออกไปเกลี้ยกล่อมเลขจัดพลัด ณ หัวเมืองวิเศษวิเศษไชยชาญเมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรคบุรี เมืองชัยนาทบุรี เมืองมโนรมย์ เมืองอุทัยธานี เมืองนครสวรรค์ ได้คนเป็นอันมาก

 

พ.ศ. ๒๓๐๙ แผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์กองทัพเนเมียวสีหบดี ๔,๐๐๐ คน

ได้ยกลงมาจากเมืองนครสวรรค์ ลงมาทางเมืองชัยนาท เมืองอุทัยธานี เมืองสรรคบุรี ถึงเขตกรุงศรีอยุธยา ส่วนกองทัพมังมหานรธา ๓,๐๐๐ คน ได้มาตั้งอยู่ที่วัดป่าฝ้าย ปากน้ำพระประสบ ข้างด้านเหนือ นอกจากนี้พระเจ้าอังวะ ยังให้สุรินทจอข่อง คุมพลอีก ๑,๐๐๐ คน ยกลงมาพักอยู่เมืองเมาะตะมะ แล้วยกหนุนเข้ามาทางด่านอุทัยธานี ตั้งทัพอยู่ที่เมืองวิเศษไชยชาญ และพระยาเจ่งรามัญคุมพล ๒,๐๐๐ คน ยกหนุนเข้ามาทางกาญจนบุรี ตั้งทัพที่ขนอนหลวง วัดโปรดสัตว์

 

ขณะที่รอทัพอยู่นี้ พม่าได้ออกไปเที่ยวค้นทรัพย์จับคนทางเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสรรคบุรี เมืองสุพรรณ เมืองสิงห์ถึงอุทัยธานี จนทำให้คนไทย รวมกำลังกันที่ “บ้านบางระจัน” ต่อสู้พม่าได้ถึง ๘ ครั้ง ก็สู้พม่าไม่ได้ ต่อมาน้ำท่วมกรุงศรีอยุธยา พม่าได้รื้ออิฐวัดมาก่อกำแพงเป็นค่าย แล้วรุกมาตั้งที่วัดกระชาย วัดพลับพลาชัย วัดเต่า วัดสุเรนทร วัดแดง ยกเป็นหอรบสูง แล้วระดมกำลังปล้นกรุง ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้ จึงเผาพระนคร จับคนปล้นทรัพย์สินจนสิ้น

 

แม่ทัพพม่าฝ่ายเหนือก็เชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุและพระขัตติยาวงศา เสนามาตย์ไปพร้อมกับทรัพย์สมบัติศัสตราวุธ ยกออกทางด่านอุทัยธานี เดินบกไปถึงเมืองเมาะตะมะ ขณะนั้นบ้านเมืองเกิดระส่ำระสายอย่างหนัก ผู้คนต่างหนีพม่าเข้าป่าลึก บ้างก็ถูกกวาดต้อนไปกับเขาด้วย รวมทั้งชาวเมืองอุทัยส่วนหนึ่งที่หลบหนีไม่ทันด้วย พระเถระที่ปรากฏชื่อมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา (จาก “ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ ” เป็นตัวเขียนอักษรขอมลายรดน้ำปิดทอง อยู่ที่บานหน้าต่างพระอุโบสถบานที่ ๗ ด้านซ้ายทางทิศเหนือ) นั้นชื่อ “พระครูอนุโลมมุนีเป็นพระสมณศักดิ์เจ้าคณะเมืองอุทัยธานี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าอยู่ที่วัดใด

 

สมัยกรุงธนบุรี

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ พระองค์ต้องทำการปราบปรามบรรดาชุมนุมต่างๆ เป็นการขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป

 

ในปีขาล พ.ศ. ๒๓๑๓

เจ้ากรุงธนบุรีทรงปรารภที่จะปราบปรามหัวเมืองเหนือและได้ข่าวว่า เมื่อเดือนหก “เจ้าพระฝาง” ซึ่งเป็นใหญ่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงนั้นเกณฑ์กองทัพให้ลงมาลาดตระเวนตีเอาข้าวปลาอาหาร และเผาบ้านเรือนราษฎรเสียหลายตำบล จนถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท เป็นทำนองจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี พระองค์จึงยกทัพไป ๓ ทัพ เข้าตีเมืองพิษณุโลกและเมืองสวางคบุรีจนแตกพ่ายไป พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นถึงความสำคัญ ของเมืองอุทัยธานี ซึ่งถูกพม่าย่ำยียับเยินจนเป็นเมืองร้าง จึงแต่งตั้งให้ “ขุนสรวิชิต (หน)” ไปตั้งกองด่านรักษาเมืองอุทัยเก่าประมาณ ๒ กิโลเมตร

 

ครั้งอะสีหวุ่นคยี (อะแซหวุ่นกี้) แม่ทัพคนสำคัญของพม่า ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองเหนือ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๘ นั้น ได้ให้โปสุพลา โปมะยุง่วน ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ส่วนอะแซหวุ่นคยีเองยกกองทัพหลวงพล ๑๕,๐๐๐ คน เดินทัพเข้าทางด่านแม่ละเมาะ เมืองตากด่านลานหอยและเมืองสุโขทัย แล้วคุมพล ๓๐,๐๐๐ คน เข้าล้อมเมืองพิษณุโลกไว้ ครั้งพม่ายกทัพมาถึงเมืองกำแพงเพชร เห็นไทยตั้งค่ายรักษาเมืองนครสวรรค์แข็งแรง จึงตั้งค่ายที่เมืองกำแพงเพชรแล้วแต่งกองโจรเดินลัดป่าทางฝั่งตะวันตกอ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ลงไปเมืองอุทัยเก่ากอง ๑

 

พอวันเสาร์ เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงทราบว่า พม่าที่เมืองกำแพงเพชร “ยกลงมาตั้งค่าย ณ บ้านโนนศาลาสองค่าย บ้านสลกบาตรค่ายหนึ่ง บ้านหลวงค่ายหนึ่ง ในแขวงเมืองกำแพงเพชร แล้วแยกไปทางเมืองอุทัยธานีกองหนึ่ง เข้าเผาบ้านอุทัยธานีเสีย” แล้วจะยกไปทางไหนสืบไม่ได้ความ

 

พระองค์ทรงระแวงพม่าที่ยกไปจากเมืองอุทัยธานีจะไปซุ่มสั่งดักทางดอยตีกองลำเลียง ใต้เมืองนครสวรรค์ลงมาอีก จึงโปรดให้แบ่งไพร่พลในกองทัพหลวง ๑,๐๐๐ คน ให้เจ้าอนุรุธเทวา บัญชาการทัพเป็นจางวางบังคับทั้งสามกอง มีกองทัพของขุนอินทร์เดชเป็นแม่กอง กองทัพหลวงปลัดเมืองอุทัยธานีกับหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานี เป็นกองหน้า และกองทัพของเจ้าเชษฐกุมาร เป็นกองหลวง ซึ่งยกลงมาคอยป้องกันลำเลียงเสบียงอาหารและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ส่งไปจาก พระนครไม่ให้พม่าที่ยกมาเมืองอุทัยธานีซุ่มดักทางคอยโจมตี

 

ครั้นเมื่อพม่าได้เมืองพิษณุโลกแล้ว

เสบียงอาหารภายในเมืองอัตคัตผู้คนในเมืองอดอยากอ่อนแอ อะแซหวุ่นคยี จึงให้มังแยยางูคุมพลไปทางเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มศักดิ์ให้กะละโบ่ คุมพลมาลาดตะเวนทางเมืองกำแพงเพชร รวบรวมหาเสบียงอาหาร ต่อมาอะแซหวุ่นคยีได้ข่าวว่าพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จึงกูจาราชบุตรได้ครองราชสมบัติ จึงรีบเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คนกลับออกทางเมืองสุโขทัย เมืองตาก และด่านแม่ละเมา จึงทิ้งให้กองทัพกะละโบ่ กับมังแยยางูในเมืองไทยด้วยสั่งกลับไม่ทันคงสั่งแต่เพียงให้กองทัพกะละโบ่ รอกลับพร้อมกับมังแยยางู

 

พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่า พม่าเลิกทัพกลับแล้วยังคงมีกองทัพของกะละโบ่และมังแยยางูเหลืออยู่ จึงแบ่งกองทัพออกเป็น ๔ กอง ติดตามพม่าไปเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร และเมืองเพชรบูรณ์ ส่วนทัพหลวงนั้น ตั้งค่ายรอรับครอบครัวที่แตกฉานมาจากพิษณุโลกที่บางแขม เมืองนครสวรรค์

 

ครั้นวันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๑๙ พม่าข้างเมืองอุทัยธานียกแยกขึ้นไปเมืองเพชรบูรณ์ กองทัพไทยตามไปพบกองทัพมังแยยางูที่บ้านนายยม ใต้เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๔ ค่ำ ก็ระดมกำลังตีจนแตกพ่าย พากันหนีไปทางเหนือ เข้าไปในแดนลานช้าง

 

พอถึงเดือน ๗ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงทราบว่ามีกองทัพพม่ากะละโบ่ตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรประมาณ ๒,๐๐๐ คนเศษ จึงให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี พระยานครสวรรค์ ยกกองทัพไปสมทบกันตีพม่า ส่วนพระองค์นั้น เสด็จยกทัพหลวงไปตั้งอยู่ที่ปากคลองขลุง

 

พม่ารู้ข่าวก็รีบยกทัพหนีไปทางเหนือ ส่วนพม่าอีกกองหนึ่งประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ ได้ยกแยกมาทางทิศตะวันตก เดินทัพเข้ามาถึงเมืองอุทัยธานีเที่ยวเก็บทรัพย์จับผู้คนและเผาบ้านเรือนเสีย ฆ่าหลวงตาลำบากตายแล้วยกหนีไปทางนารีซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า

 

“ครั้น ณ วันพฤหัสบดีเดือน ๗ ขึ้น ๑๓ ค่ำ จึงเสด็จถอยกองทัพหลวงมาประทัพ ณ เมืองนครสวรรค์ จึงชาวด่านเมืองอุทัยธานี บอกลงมากราบทูลว่าทัพพม่ายกผ่านลงมาประมาณพันเศษ เผาค่ายที่ด่านนั้นเสีย แทงหลวงตาลำบากอยู่องค์หนึ่ง แล้วยกไปทางนารี จึงดำรัสให้หลวงเสนาภักดี กองแก้วจินดา ยกติดตามไปถ้าทันเขาจงตีให้แตกฉาน แล้วให้ยกตามไปจนถึงเมืองชัยโชค”

 

ครั้นได้ข่าวว่าทัพพม่ากองหนึ่ง ยกลงไปทางเมืองอุทัยธานี

จึงยกกองทัพลงมาทางด่านเขาปูน ด่านสลักพระ หมายจะไปตามตีพม่าทางเมืองอุทัยธานี แล้วสั่งให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี ซึ่งตั้งทัพอยู่ที่บ้านโคนเมืองกำแพงเพชร ยกทัพลงมาตีกองทัพพม่าทางเมืองอุทัยธานีอีก ๒ กองสมทบกับกองทัพมอญ ของพระยารามัญวงศ์กอง ๑ กวาดร่นมาตั้งแต่ทางเหนือ มายังเมืองอุทัยธานี ส่วนพระองค์นั้น เสด็จกลับคืนพระนคร เมื่อวันเสาร์เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ

 

กองทัพเจ้าอนุรุธเทวา ได้พบพม่าตระเวนหาเสบียงอาหารกองหนึ่ง ที่เมืองสรรคบุรี

จึงเข้าตีแตกร่นหนีขึ้นไปสมทบกับพม่า ๑,๐๐๐ คน ที่ตั้งค่ายอยู่ที่ด่านเมืองอุทัยธานี ส่วนกองทัพพระยายม-ราช พระยาราชสุภาวดี นั้น ได้ยกลงมาตั้งค่ายประชิดอยู่ที่ด่านเมืองอุทัยธานี ต่อมาขัดสนเสบียงอาหาร จึงต้องถอยทัพมาตั้งอยู่ ณ คอกไก่เถื่อน

 

ต่อมากองทัพเจ้าอนุรุธเทวา หลวงเสนาภักดี กองแก้วจินดา ได้มาพบกองทัพกะละโบ่ตั้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์ เห็นเหลือกำลังจึงบอกไปยังกรุงธนบุรี จึงให้กรมขุนอนุรักษ์สงคราม หลานเธอ กรมขุนรามภูเบศร์ กับเจ้าพระยามหาเสนา คุมพลไปตีกองทัพกะละโบ่ทางเมืองนครสวรรค์ แล้วให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ ลูกเธอคุมทัพเรือหนุนไปช่วยอีก แล้วพระองค์ก็เสด็จยกกองทัพหลวงทางเรือ มาบัญชาการรบอยู่ที่เมืองชัยนาท เมื่อเดือน ๙ และพระองค์ได้โปรดให้เกณฑ์หากองทัพ เมืองพิจิตร เมืองนครสวรรค์ เมืองอุทัยธานี ลงมารวมกันที่ค่ายหลวง ณ เมืองชัยนาทให้หมดสิ้น

 

ฝ่ายกองทัพพม่าซึ่งตั้งอยู่ ณ ด่านเมืองอุทัยธานีนั้น ขัดสนเสบียงอาหาร จึงถอยค่ายเลิกทัพกลับไปพอดีกับกองทัพไทย เข้าใจว่าตั้งอยู่ที่บ้านทัพหมื่น บ้านทัพค่าย บ้านทัพหลวง ยกทัพติดตามทันที่ บ้านทัพทัน (คืออำเภอทัพทัน) พม่าถูกไทยฆ่าตาย แตกหนีแยกย้ายไม่เป็นระเบียบออกไปทางเขาดาวเรือง ปลายเขตแดนบ้านโคกหม้อ ขึ้นไปทางบ้านพลวงสองนาง

 

พม่าต่างหนี ต่างปล้นสดมภ์เสบียงอาหาร ฉุดคร่าหญิงสาวจนชาวบ้านกลัวรานต่างก็เอาลูกสาวไปซ่อนตามโพรงไม้ใหญ่ๆ ซึ่งมีอยู่มากในป่าแถบนั้น หลบซ่อนอยู่จนเวลารุ่งสาง พอดีเวลาวัดย่ำฆ้องระฆังพระลุกขึ้นครองผ้าออกบิณทบาตร หมู่บ้านแห่งนี้เรียกกันว่า “บ้านโพรงซ่อนนาง” (ต่อมาเรียกบ้านพลวงสองนาง) ถัดมาเรียก “บ้านสว่างน้อย”

 

กองทัพไทยได้ขับไล่พม่าเตลิดหนีจนไม่สามารถตามทัน จนรุ่งแจ้งก็ไม่เห็นพม่าจึงหยุดตั้งค่าย ตรงที่ถัดจากบ้านว่างน้อยพักผ่อนหุงหาอาหารกินกันด้วยเสียเวลาหลับนอนรุกไล่พม่ามาหลายวันหลายคืน ผ่านท้องที่ทุรกันดารมากมาย ร่างกายต่างอ่อนเปลี้ยไปตามๆ กัน ชาวบ้านที่หลบซ่อนพม่า ก็สบายใจที่กองทัพไทยมาช่วย ต่างจัดหาอาหารมาเลี้ยงทหารไทย ท้องที่ตรงนั้นเรียกกันต่อๆ มาว่า “บ้านสว่างแจ้งสบายใจ” คือ บ้านสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์

 

ครั้นวันพุธ เดือนสิบ ขึ้นค่ำหนึ่งพระยาราชภักดี และพระยาพลเทพ ที่ขึ้นไปตามพม่าทางเมืองเพชรบูรณ์ ได้พบพม่าที่บ้านนายยม จึงขับไล่ตีพม่าแตก หนีไปทางเมืองอุทัยธานี จับได้เก้าคน ส่วนที่หนีมาได้ครั้น ทราบว่ากองทัพพม่าทิ้งค่ายที่เมืองอุทัยธานีเสียแล้ว ก็หนีเลยไปสมทบกันที่เมืองนครสวรรค์ รวมกับพม่าที่หนีมาจากเมืองอุทัยธานีด้วย

 

ต่อมาก็ถูกกองทัพกรมขุนอนุรักษ์สงคราม กรมขุนรามภูเบศร์ และเจ้าพระยามหาเสนาระดมกำลังตีกองทัพพม่าที่ค่ายเมืองนครสวรรค์แตกหนีเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี กองทัพไทยรุกไล่พม่าในเมืองอุทัยธานี ได้ติดตามสมทบ และทันกองทัพพม่าที่บ้านเดิมบางนางบวช เมืองสุพรรณบุรีจึงตีกองทัพพม่าหนีร่นออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์

 

เมืองอุทัยเก่า เป็นเมืองด่านที่สำคัญ

พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงโปรดให้พระราชทานช้างหลวงสำหรับเมืองอุทัยธานี เพื่อใช้ในกองทัพทหารด่าน คือ เมื่อปีวอก อัฐศก พ.ศ. ๒๓๑๙ ได้พระราชทานช้างหลวง ๒ เชือก แก่เมืองอุทัยธานี เข้ากองทัพไปรบที่ดอนไก่เถื่อน และเมื่อปีระกา นพศก พ.ศ. ๒๓๒๐ ได้พระราชทานช้างหลวง “พระอุทัยธานี อยู่แก่พระรามรณคบ พลาย ๒ พลัง ๓ (ราม) ๕ ”

 

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

บ้านสะแกกรัง เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์กว่าบ้านอื่นๆ ประกอบกับเมืองอุทัยธานีเก่าถูกพม่าทำลายเสียหายมาก เช่น พระปรางค์ที่วัดแจ้ง (นัยว่าสร้าง พ.ศ. ๒๐๘๑) ถูกพม่าทำลายยอดปรางค์หักเสีย (ในระยะหลังๆ พระอาจารย์ทิม คงคสโร ได้เป็นหัวหน้าชักชวนพุทธศาสนิก-ชนช่วยกันหาช่างมาปฏิสังขรณ์ ต่อจากฐานเก่าจนสำเร็จเป็นองค์พระปรางค์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘)

 

วัดอื่นๆ ก็ถูกพม่าเผาทำลายจนร้าง ผู้คนต่างได้อพยพหนีมาอยู่ที่บ้านสะแกกรังซึ่งมีพื้นที่เหมาะสมกับการทำมาหากิน ทำนา ค้าขายขาว และยังมีความสำคัญต่อการลำเลียงขนส่งข้าวปลาอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ ตลอดจนช้างศึกช้างป่า เข้าสู่พระนคร จึงเป็นเหตุให้บ้านสะแกกรังเริ่มครึกครื้นเป็นตลาดใหญ่ จนถึงกับทำให้เมืองอุทัยเก่าซบเซาลง บรรดาเจ้านาย นายทหารชาวด่าน ก็นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี้ ด้วยมีลำคลองสะแกกรังเป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือได้สะดวกต้องกับพระราชประสงค์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี

 

ต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ได้จัดการบ้านเมืองให้เป็นระเบียบ แต่งตั้งเจ้าเมืองปกครองตามเมืองต่างๆ ส่วนที่เป็นด่านอยู่ก่อนก็คงมีนายด่านเป็นผู้ดูแลรักษาเหมือนเดิม และได้สำรวจบัญชีช้างหลวงที่สูญหายหลังจากสงครามด้วยสำหรับหลวงสรวิชิต (หน) นายด่านเมืองอุทัยธานี ผู้ซึ่งขึ้นม้านำทหารออกมารับเสด็จ ณ ทุ่งแสนแสบเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เกิดจลาจล แล้วนำทัพเข้าสู่พระนครนั้น ก็ทรงโปรดให้รับราชการอยู่ด้วย ภายหลังได้แต่งตั้งให้เป็น พระยาพิพัฒนโกษา และเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตามลำดับ เนื่องจากมีความดีความชอบหลายประการ รวมทั้งมีความสามารถในการเรียบเรียงหนังสือด้วย

 

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ปรากฏว่าได้ตั้งให้หลวงณรงค์เป็นพระอุทัยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานี

 

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้โปรดให้จัดตั้งด่านเพิ่มเติมขึ้นอีก ด้วยทรงระแวงพม่า ที่จะเข้ามาทางเมืองอุทัยธานี เช่น ด่านทัพสะเหล่าปูนอุมปุม, ด่านอัทมาต เป็นต้น และปรากฏในพงศาวดารว่า “พระอุทัยธรรมเป็นกองหลัง ตั้งค่ายอยู่ ณ เมืองชัยนาท ระวังพม่าจะยกมาทางด่าน เมืองอุทัยธานี พร้อมกับจัดให้มีการลาดตระเวนด่านเมืองเมาะตะมะและเมืองเมาะตำเลิม ตลอดจน แต่งคนออกไปสืบราชการเป็นประจำเจ้าเมืองที่ปรากฏชื่อในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คือ “พระยาอุไทยธานี” อันเป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าเมืองอุทัยธานี

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

ได้ดำเนินรอยตามสมเด็จพระราชบิดา กล่าวคือ ทรงเห็นถึงความสำคัญของทหารด่าน และการสืบราชการในเมืองมอญ เช่น พ.ศ. ๒๓๒๕ หลวงอินทกำโนน ขุนยกกระบัตร ขุนสรวิชิต ขุนหมื่นกรมการ คุมไพร่ออกไปตั้งรักษาด่านทัพสะเหล่าปูนอุมปุม เป็นต้น แม้แต่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ชาวด่านเมืองอุทัยธานีเอง ก็ทรงโปรดปรานทำนุบำรุงอยู่จนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๔๘

 

เมื่อ จ.ศ. ๒๓๕๒ นั้น เมืองอุทัยธานีได้จัดส่ง ไม้ชื่อ ไม้เสา ไม้ไผ่ ไม้อุโลก หวาย น้ำมันยาง สีผึ้ง และอื่นๆ สำหรับทำเครื่องพระเมรุ พระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ ๑ ) ซึ่งกำหนดจะถวายพระเพลิง ณ เดือน ๔ ปีมะเส็ง ตามตราเจ้าพระยาจักรี ที่ให้ขุนไชยเสนารับมาและยังได้จัดผ้าขาว ๒๐๐ ชิ้น ขมิ้น ๑ เพื่อจัดทำผ้าสบง สดับปกรณ์ ตามหนังสือ เจ้าพระยาจักรีส่งไปเกณฑ์ ลงวันอาทิตย์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ ปีมะเส็ง

 

ในปีนั้นขุนสถารพลแสนมหาดไทย ได้คุมน้ำพระพัทสัจจา มาพระราชทานที่เมืองอุไทยธานี และโปรดให้มีตราถึง เมืองอุไทยธานี ให้เจ้าเมืองกรมการ เลาพลเมือง ราษฏร โกนผมไว้ทุกข์ แต่กองอาทมาตชาวด่าน ต้องลาดตะเวนให้งดไว้

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

เมืองอุไทยธานีได้มีหน้าที่แต่งคนออกไปสืบข้อราชการ ทางเมืองเมาะตะมะ และเมาะตำเลิม ซึ่งมีความปรากฏในสารตรา (เลขที่ ๒๑ จ.ศ. ๑๑๘๘) พ.ศ. ๒๓๖๙ ที่พระยาจักรีมีมาถึงพระยาอุไทยธานี เรื่องได้รับหนังสือ กางดุ กระเหรี่ยง มีมาถึงหลวงอินกำโนน เป็นอักษรรามัญแจ้งราชการว่า

 

“กางดุจัดให้กางภุระกับไพร่ ๑๕ คน ออกไปลาดตระวนถึงคลองมิคลานพบจางกางเก้าะกง กระเหรี่ยงพม่า ๙ คนบอกว่า เมืองเมาะตะมะมีอังกฤษอยู่ ๕๐๐ คน อังกฤษตีเมืองอังวะได้แต่ ณ วัน ๗ ค่ำ ฯลฯ เห็นว่าอังกฤษแต่งให้พูดจาจะให้เลื่องลือ ความจะหาจริงไม่ ซึ่งพระยาอุไทยธานีกรมการไม่ไว้ใจแก่ราชการ ให้หลวงอินนายกองคุมไพร่ ออกไปลาดตระเวนพิทักษ์รักษาด่าน ทั้งกลางวันกลางคืน สืบข้อราชการอยู่อีกนั้น ชอบด้วยราชการอยู่แล้วให้พระยาอุไทยธานี กรมการ กำชับหลวงอินกำโนนกองอาฏมาต และหลวงขุนหมื่นชาวด่าน ให้ระวังระไวพิทักษ์รักษาด่านทางจงกวดขันแล้วให้สืบเอาข้อราชการให้ได้ความจงแน่ ถ้าได้ข้อราชการประการใดให้บอกลงไปให้แจ้งหนังสือมา ณ วันพุธ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ จุลศักราช ๑๑๘๘ ปีจอ อัฏศก “

 

สำหรับข่าวจากกางดุ กระเหรี่ยงนั้นได้แจ้งให้ทราบเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๗ พ.ศ. ๒๓๖๘ มีความละเอียดแจ้งว่า

 

“อังกฤษเป็นเจ้าขึ้นนั่งเมืองอังวะ ในเมืองเมาะตะมะ ยิงปืนใหญ่ ๑๕ นัด ในเมืองย่างกุ้ง ยิงปืนใหญ่ ๑๕ นัด”

 

นอกจากหน้าที่สำคัญทางชายแดน ดังกล่าวแล้ว

เมืองอุไทยธานียังส่งกระวานจำนวน ๒ หาบเป็นประจำทุกปี ซึ่งเก็บที่ป่าคอกควาย ป่าระบำ ป่าอุมรุต ป่ากลมซึ่งมีใบบอก (เลขที่ ๒๑๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) ว่า “ด้วยถึง ณ วัน เดือนเก้า เดือนสิบ เป็นเทศกาลผลกระวานลูกแก่ขุนหมื่นและ ไพร่กองอัฏมาต เคยเก็บผลกระวาน ทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๒ หาบ ข้าพเจ้ากรมการ ได้จัดแจงเร่งรัดขุนหมื่น กองอัฏมาต ออกไปเก็บผลกระวานในตำบลป่าหน้าด่าน เมืองอุไทยธานี ได้ผลกระวานหนักสองหาบครบจำนวน……” และจะมีใบบอกส่งกระวานส่วย เป็นประจำทุกปี (ดังใบบอกเลขที่ ๑๐๐ จ.ศ. ๑๒๐๘, เลขที่ ๕๙ จ.ศ. ๑๒๐๙ และเลขที่ ๑๔๗ จ.ศ. ๑๒๑๐ เป็นต้น) บางครั้งก็ให้เป็นเงินแทนผลกระวานที่ยังค้างอยู่ (ร่างสารตราเลขที่ ๑๘๒/๒ จ.ศ. ๑๒๐๕) พ.ศ. ๒๓๘๓ ได้ส่งครกสำหรับตำดินปืนไปยังกรุงเทพฯ มีความปรากฏในใบบอก (เลขที่ ๘ จ.ศ. ๑๒๐๒) ว่า………

 

“…..ด้วยมีตราพระราชสีหะ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขึ้นไปถึงข้าราชการกรมการว่าให้เกณฑ์ครกไม้หว้า ประดู่ ไม้ยาง จ่ายครัวแขกและตำดินสำหรับราชการสี่สิบใบนั้น ข้าราชการกรมการได้ทราบในท้องตราพระราชสิหะ ซึ่งโปรดขึ้นไป ทุกประการแล้ว ข้าราชกรมการตัดได้ครกไม้ยางสิบสองใบ ไม้หว้าแปด ไม้ใหญ่แปดกำสูงศอกคืบ ได้ขนาดอย่างตามท้องตราเกณฑ์นั้นแล้ว โดยแต่งให้นายเมืองคุมครกมาส่งด้วยแล้ว…..”

 

พ.ศ. ๒๓๘๖ มีร่างสารตรา (เลขที่ ๑๕๕/๒ จ.ศ. ๑๒๐๕) แจ้งว่าเมืองอุไทยธานี ได้ส่งมาดเรือยาว ๙ วา กำลัง ๕ ศอกเศษลงไปยังกรุงเทพฯ ต่อมา ณ ๕ ฯ ๔ ค่ำ ปีเถาะ ได้มีสารตรา (เลขที่ ๒๔/๑ จ.ศ. ๑๒๐๕) โปรดเกล้าฯ ให้หลวงสัดดี เป็นพระศรีสุนทรปลัดเมืองอุไทยธานี ครั้งเมื่อมีการซ่อมแซม และปักหลักสายโซ่ที่เมืองนครเขื่อนขันฑ์ และเมืองสมุทรปราการได้เกณฑ์ (ร่างตรา ๓๘/๓ จ.ศ. ๑๒๐๕) ให้เมืองอุไทยธานีส่งไม้ยาง ยังค้างอยู่ ยางใหญ่ ๕ กำ จำนวน ๓๐ ต้นไปกรุงเทพในเดือน ๙ ข้างแรม ปีเถาะ

 

ปัญหาเขตแดนเมืองอุไทยธานีกับเมืองเมาะตำเลิม

ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ขุนจ่าสัจ ขุนทิพย์ไพรีมีชื่อกองอาฎมาต ขุนเพชรนารายณ์ไพรีมีชื่อด่านพล ขุนอิน ขุนวิชิต ไพรี มีชื่อด่านหลวงสรวิชิต ได้ออกไปสืบราชการ ณ เมืองเมาะตำเลิมเมื่อวัน ๔ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาลจัตวาศกนั้น ปรากฏในคำให้การ (เลขที่ ๑๓๒/๒ จ.ศ. ๑๒๐๕) ว่า ในระหว่างทางขุนอิน ขุนวิชิตป่วยไปไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงบ้านกางโกะเกะ ขุนเพชรนารายณ์ ได้ป่วยเป็นไข้ จึงให้อยู่รักษาตัวโดยมีมะผิม มะมีบ่าวดูแล

 

ครั้นขุนจ่าสัจ ขุนทิพย์ กลับจากสืบราชการแล้ว ได้ถามกางโกะเกะ และทราบว่าขุนเพชรนารายณ์หายป่วยกลับไปแล้ว เมื่อถึงเมืองอุไทยธานี ไม่เห็นขุนเพชรนารายณ์ และทราบว่าคนทั้งหมดอยู่ที่บ้านระแหง กับมะเกาะ น้องมะมี พระยาอุไทยธานีจึงให้ขุนจ่าสัจ ขุนพิทักษ์ กับไพร่ ๕ คนไปตามตัว เดินทางไปถึงบ้านระแหงเมื่อวันที่ ๑ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีเถาะ เบญจศก จึงทราบข่าวจากมะเกาะว่า ขุนเพชรนารายณ์ตายเสียแล้วที่บ้านกางชมภู ส่วนมะมี มะผิน มะกลิ่น บ่าวทำมาหากินที่นั่น และได้ขอติดตามบ่าวจนถึงบ้านมะฝาง บ้านกระเหรี่ยง

 

ต่อมาได้มีปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนที่เกี่ยวกับเมืองเมาะตำเลิม เมืองมะริด

เนื่องจากอังกฤษมีอำนาจในประเทศพม่า มีจดหมายเหตุสำคัญหลายฉบับ เช่น จดหมายเหตุ (เลขที่ ๙/๙ จ.ศ. ๑๒๐๖ พ.ศ. ๒๓๘๗ ) ว่า “เขตแดนเมืองอุไทยธานี ตั้งแต่เขาใหญ่ปลายคลองแม่เมยมาตามลำคลองแม่ทรางออกลำน้ำตองโป๊ะตะวันออก มาจดลำน้ำตีโล ต่อกับด่านเมืองศรีสวัสดิ์ ในระหว่างมีคลองแม่ทราง แม่กรอม แม่นางดัด แม่สะเริง แม่กริว แม่อำจาม ปลายคลองออก แต่เข้าต้นคลองไปออกแม่น้ำตองโป๊ะฝั่งตะวันออก เป็นแดนเมืองอุไทยธานีแม่น้ำตองโป๊ะฝั่งตะวันตกเป็นแดนอังกฤษ” ต่อมา พ.ศ. ๒๓๘๘ มีสารตรา (เลขที่ ๒๔๘/๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) ว่า

 

“หนังสือเจ้าพระยาจักรี มาถึงพระยาอุไทยธานี ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า พระยาขานุจักร์ ออกไปสืบราชการทางเมืองเมาะตำเลิมกลับเข้ามา ณ กรุงเทพ อังกฤษ เจ้าเมืองเมาะตำเลิม มีหนังสือให้พระยาขานุจักร์ ถือเข้ามาถึงเสนาบดีผู้ใหญ่ ณ กรุงเทพฯ ว่าเขตแดนเมืองเมาะตำ-เลิม กับเขตแดนเมืองอุไทยธานีเมืองตากบ้านระแหง จะต่อกันเพียงใด จะขอแบ่งปันให้เป็นแน่นอนอย่าให้วิวาทกันด้วยเขตแดนต่อไปนั้น เขตแดนเมืองอุไทยธานี จะต่อกันกับเขตแดนเมืองเมาะตำเลิมที่ตำบลใด สมเด็จพุทธเจ้าอยู่หัวจะใคร่ทรงทราบ

 

บัดนี้ ให้หมื่นพลันเมืองบน ข้าหลวงมหาดไทย ถือตราขึ้นมาให้พระยาอุไทยธานี กรมการจัดหลวงขุนหมื่นกรมการ ชาวด่านที่สันทัดทาง และรู้จักที่ตำบลเขตแดนเมืองอุไทยธานี กับเมืองเมาะตำเลิมกันต่อที่แห่ง ที่ตำบลใด เป็นแน่ให้ได้สัก ๒-๓ คน ให้พระยาอุไทยธานีพาเอาตัวหลวงขุนหมื่น กรมการ ชาวด่านรีบลงไป ณ กรุงเทพฯ โดยเร็วถ้าขุนจ่าสัจกลับมาเมืองอุไทยธานีแล้ว ก็ให้เอาตัวขุนจ่าสัจลงไปด้วย จะได้ไล่เลียงไถ่ถาม ด้วยเขตแดนเมืองอุไทยธานีกับเมืองเมาะตำเลิมให้ได้ความเป็นแน่ หนังสือมา ณ วัน ๑๓ เดือน ๖ ปีมะเส็ง สัพศก…”

 

ครั้นเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙

(จากสารตราเลขที่ ๔๕/๔ จุลศักราช ๑๒๐๗) พ.ศ. ๒๓๘๘ เจ้าพระยาโกษาธิบดี สมุหกลาโหม กับพระยาราชสุภาวดี ได้จัดแจงที่เขตแดนหัวเมือง ของกรุงเทพฯ ที่ติดต่อกับเขตแดนหัวเมืองอังกฤษทางทิศตะวันตก พร้อมกับสอบถามพระยาอุไทยธานี พระสุนทร ปลัดผู้เป็นพระยาตาก และพระปลัดเมืองตากเกี่ยวกับเขตแดนเมืองอุไทยธานี เมืองตากเมื่อได้ความแล้วก็ได้ทำแผนที่เขตแดนที่แน่นอน และในสารตรา (เลขที่ ๔๕/๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) เรียบเรียงเป็นความปัจจุบันดังนี้

 

“สารตรา ท่านเจ้าพระยาจักรี ให้มาแก่ พระปลัด กรมการเมืองอุไทยธานีด้วยพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ณ วัน ๘ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะเส็ง สัพศก กะปิตันแหนริยมาเรียนดุรันอังกฤษเจ้าเมืองเมาะตำเลิม มีหนังสือให้มะโกน ไทยรามัญ ถือไปยังเสนาบดี ณ กรุงเทพฯ ฉบับหนึ่งว่า

 

เมืองอังวะมีหนังสือมาถึง กะปิตันแหนริยมาเรียนดุรัน เจ้าเมืองเมาะตำเลิมว่า เมืองเชียงใหม่ไปรุกที่เขตแดนของพม่าๆ หาได้ทำสิ่งใดที่ไปรุกเขตแดนไม่ เพราะอังกฤษทำหนังสือสัญญาไว้แต่ก่อนว่า พม่าเป็นไมตรีกับอังกฤษๆ เป็นมหามิตรกับกรุงเทพฯ พม่าก็ต้องเป็นใจความดังนี้ ฉบับหนึ่งว่าขุนนางอังกฤษจะขึ้นมาดูเขตแดนฝ่ายเหนือกะปิตันแหนริยมาเรียนดุรัน จะใคร่พบขุนนางฝ่ายกรุงที่รู้เขตแดนแน่ พูดจาเด็ดขาดได้ ไปที่ปลายเขตแดนพร้อมกันในเดือนยันณุว่าเร-(มกราคม) หน้า คิดเป็นเดือนยี่ข้างไทยจะได้ว่ากล่าวด้วยที่เขตแดนชี้แจงกันให้เด็ดขาด

 

หนังสือซึ่งมะโกนไทย ถือเข้ามาเมื่อเดือน ๙ สองฉบับ และเมื่อ ณ เดือน ๖ ปีมะเส็ง สัพศก พระยาขานุจักร์ ซึ่งออกไปสืบราชการกลับเข้ามา กะปิตันแหนริยมาเรียนดุรัน มีหนังสือมอบให้ พระยาขานุจักร์ถือเข้ามาเป็นภาษาอังกฤษ ๕ ฉบับ อักษรรามัญ ๗ ฉบับ ว่าด้วย กะปิตันริยมาเรียนดุรัน รับไปดูที่เขตแดนเมืองกระกับเมืองมะริดต่อกัน กับว่าด้วยพระสุนทร ปลัดเมืองตาก มีหนังสือให้พระสุทัตธานีถือไปตามลูกหนี้ ซึ่งหนีไป ณ เมืองเมาะตำเลิมพระสุทัตธานีไปทำล่วงเกิน (?) ในบ้านเมืองอังกฤษและหนังสือซึ่งอังกฤษให้พระยาขานุจักร์ มะโกนไทย ถือเข้ามานั้นโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดี มีหนังสือตอบให้มะโกนไทย ถือกลับออกไปแต่ วัน เดือนสิบ ขึ้น ๔ ค่ำแล้ว

 

ซึ่งอังกฤษกำหนดมาว่าเดือนยี่จะขึ้นไปดูที่เขตแดนฝ่ายเหนือ ขอให้ขุนนางไทยที่เป็นผู้ใหญ่พูดจาเด็ดขาดได้ไปให้พร้อมกัน จะได้ว่ากล่าวด้วยที่เขตแดนชี้แจงกันให้เด็ดขาดนั้น เขตแดนเมืองตากกรมการ เป็นผู้น้อยแต่ลำพัง เจ้าเมืองกรมการ จะพูดจากับอังกฤษ ความจะไม่เด็ดขาด

 

โปรดเกล้าฯ ให้พระยากำแพงเพ็ชรเป็นข้าหลวงผู้ใหญ่ ไปคอยพูดจากับอังกฤษได้มีตราขึ้นไปถึงพระยากำแพงเพ็ชร พระยาตาก กรมการ ความแจ้งอยู่แล้ว แต่เขตแดนเมืองอุไทยธานีที่ติดต่อกับแดนอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ว่า พระยาอุไทย-ธานีก็เป็นเจ้าเมืองผู้ใหญ่ ได้ทำแผนที่ก่อนที่จะแจ้งพอจะพูดจากับอังกฤษได้ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอุไทยธานี พระปลัด หลวงยกกระบัตร กรมการคอยรับรองพูดจากับอังกฤษ ให้ถูกต้องตามทำนองและแผนที่เขตแดนซึ่งชาวด่านบอกตำบลให้ทำนั้น เขตแดนข้างฝ่ายเหนือ ด่านเมืองอุไทยธานี ได้รักษาต่อกับเมืองตาก ตั้งแต่เขาใหญ่ปลายคลองแม่น้ำตองเมย มาตามคลองแม่ทรางออกลำคลองแม่น้ำตองโป๊ะ ฝั่งตะวันออกเป็นเขตมาจนลำน้ำตีโลต่อกับด่านเมืองศรีสวัสดิ์ในระวางมีคลองแม่ทราง แม่กรวม แม่นางดัด แม่สะเลิง คลองแม่กริว แม่อำจาม ปลายคลองออกแต่เขา ต้นคลองไปออก แม่น้ำตองโป๊ะฝั่งตะวันออก ในป่าอันนี้ ผู้คนได้ไปเที่ยวเก็บผึ้งอยู่ทุกปี

 

พระยาอุไทยธานีลงไปเฝ้าทูลละออง ได้พาหลวงขุนหมื่นชาวด่านลงไปชี้แจง ให้ทำแผนที่เขตแดนต่อกันกับแดนอังกฤษ ตั้งแต่ทิศเหนือ เป็นลำดับต่อๆ กันลงไปทุกเมือง จนสุดเขตแดนเมืองกระ พระยาอุไทยธานี ได้ทำแผนที่รู้ความถ้วนถี่แล้ว ถ้าอังกฤษจะมาพูดจากับพระยาอุไทยธานี พระปลัด กรมการ จะเอาที่เขตแดนให้ล้ำเกินเข้ามา ที่แห่งใด ตำบลใด ก็ให้ตอบว่าที่เขตแดนแต่เดิมมาอยู่แต่เพียงนั้น จะมาเอาถึงที่ตำบลนั้น เป็นแดนเมืองอุไทยธานี ล้ำเกินเข้ามานักยอมให้ไม่ได้

 

ถ้าเขาว่าจะเอาแต่เพียงแม่น้ำตองโป๊ะข้างตะวันตก ก็ให้ว่าชอบแล้ว เขตแดนแต่ก่อนมา ก็อยู่แต่เพียงนี้ อังกฤษมาดูแลว่ากล่าวเป็นสัตย์ เป็นธรรมสมควรหนักหนาความอันนี้จะบอกลงไปยังท่านอัครมหาเสนาบดีให้ทราบ ถ้าเขาดูเขตแดนเมืองอุไทยธานีแล้ว ก็ให้ถามเขาว่าจะไปดูเขตแดนเมืองไหน ที่แห่งใด ตำบลใดอีกบ้าง จะไปเมืองใด จะได้มีหนังสือไปให้เจ้าเมืองกรมการผู้ใหญ่ๆ ออกมาคอยพูดจาชี้แจงที่เขตแดนให้

 

ถ้าอังกฤษจะไปที่เขตแดนที่เมืองตากก็ให้พระยาอุไทยธานี พระ-ปลัดกรมการมีหนังสือแต่งตั้ง คนถือไปแจ้งความกับพระยากำแพงเพ็ชร ณ เมืองตาก ถ้าอังกฤษว่าจะไปดูเขตแดนข้างเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ ก็ให้มีหนังสือลงมาถึงเจ้าเมืองกรมการเมืองกาญจนบุรี เมืองศรีสวัสดิ์ ให้รู้ความ จะได้ออกไปพูดจากับอังกฤษด้วยที่เขตแดนทันกำหนด และการซึ่งจะพูดจากับอังกฤษนั้น ให้พระยาอุไทยธานี พระปลัดกรมการ พูดจาให้นิ่มนวล (?) เรียบร้อยอย่าให้พูดให้แข็งแรง การหาสำเร็จด้วยพูดจาแข็งแรงไม่

 

จึงโปรดเกล้าฯ ให้คัดสำเนาหนังสือเสนาบดี มีตอบไปถึงอังกฤษ ๓ ฉบับ กับแผนที่เขตแดนเมืองอุไทยธานี มอบให้พระยาอุไทยธานีเอาขึ้นมาด้วย จะได้พิเคราะห์ดูให้ถ้วนถี่ จะได้รู้ราชการพูดจากับอังกฤษถูกต้อง ไม่ผิดกับความในท้องตราและหนังสือเสนาบดี ซึ่งมีตอบไปถึงอังกฤษจึงทุกประการ ถ้าพระยาอุไทยธานี ได้พูดจากับอังกฤษคอยที่เขตแดนความตกลงแล้วกันแลประการใดให้บอกลงไปให้แจ้งหนังสือมา ณ วันจันทร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง นักสัต สัพศก”

 

หลังจากที่พระยาอุไทยธานี ได้รับทราบตามสารตราข้างต้นแล้ว ก็มีใบบอก (เลขที่ ๒๑๑ จ.ศ. ๑๒๐๗) เมื่อวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะเส็งมีความสำคัญตอนหนึ่งว่า

 

“ข้าพเจ้า พระยาอุไทยธานี พระปลัดกรมการ เกณฑ์กรมการหกคน, ขุนหมื่นสิบหก, ไพร่สี่สิบเอ็ดคน, เข้ากันหกสิบสามคน, เกณฑ์ด่านพลหลวงพลหนึ่ง, ขุนหมื่นสามคน, ไพร่แปดคน, เข้ากันสิบสองคนเกณฑ์ด่านสรวิชิต หลวงสรวิชิตหนึ่ง ไพร่สิบห้าคนเข้ากันยี่สิบสองคน เกณฑ์การอาฏมาต หลวงอินนายกองหนึ่ง ขุนจ่าสัจปลัดกองหนึ่ง ขุนหมื่นแปดคน ไพร่สี่สิบคนเข้ากันห้าสิบคนเข้ากันข้าพเจ้ากรมการด่านพลด่านสรวิชิตด่านอาฏมาตนายไพร่ร้อยสามสิบเจ็ดคน ให้หลวงแพ่งหลวงจ่าเมืองกรมการอยู่รักษาเมืองแต่ข้าพเจ้า พระยาอุไทยธานีพระปลัดหลวงกำแหง ผู้ว่าที่หลวงยกกระบัตรหลวงสุนทรภักดี ขุนละคอน ขุนทิพรองนา ขุนรองสัสดีหมื่นรองแขวง กรมการกับนายด่านทั้งปวง กราบถวายบังคมลาขุนหมื่นและไพร่โดยออกไปจากเมืองอุไทยธานี แต่ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรมแปดค่ำ ปีมะเส็ง สัพศก ไปคอยอังกฤษอยู่ที่แม่กริว แม่อำจามแกร (?) เมืองอุไทยธานี ฝากแม่น้ำตองโป๊ะฝากตะวันออกด้วยแล้ว….”

 

ในที่สุดพระยาอุไทยธานีและอังกฤษก็ได้พูดจากำหนดเขตแดนจนเป็นที่เรียบร้อย 

ครั้นเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะเส็ง หลวงชมภู ชาวกระเหรี่ยง อยู่เมืองตาก ได้พาครอบครัวกระเหรี่ยงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลอุ้มผาง ในแม่จัน แม่กลอง แขวงเมืองอุไทยธานี มีชายฉกรรจ์ ๑๕ คน ครอบครัวชาย หญิง ๓๐ คน รวม ๔๕ คน ด้วยพระยาตากถึงแก่กรรมไม่มีที่พึ่ง พระยาราชสุภาวดีได้มีหนังสือ (เลขที่ ๒๕๐/๑-๒ จ.ศ. ๑๒๐๗) ถึงพระยาอุไทยธานีและพระยาตาก ถึงความสมัครใจของหลวงชมภู ที่จะขออยู่เมืองอุไทยธานี ต่อมาวันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำเดือน ๒ หลวงแพ่งเมืองอุไทยธานี ได้มีใบบอก (เลขที่ ๒๐๙ จ.ศ. ๑๒๐๗) ให้หมื่นชำนิ พาหลวงชมภู กระเหรี่ยงลงมาขอบารมีที่พึ่งจาก พระยาอักษรสุนทรเสมียนตรา

 

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๘๘

นายแจ้ง ผู้ว่าที่ขุนสุพมาตราได้คุมเอาถาดหมาก คนโทเงิน เครื่องยศ สำหรับที่หลวงยกกระบัตร ซึ่งถึงแก่กรรมส่งคืนเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ ตามใบบอก (เลขที่ ๒๑๐ จ.ศ. ๑๒๐๗) ของพระยาพิไชยสุนทร

 

เมื่อวันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๘๙

แสนเชือกขุนหมื่นกรมช้าง ได้ถือตราสาร (เลขที่ ๓๑/๑ จ.ศ. ๑๒๐๘ ) ของเจ้าพระยาจักรีขึ้นมาติดตามช้างสำคัญที่หลบหนีเข้าป่า ณ เมืองอุไทยธานีและขอมะจูกับบุตรของมะจู ๒ คน จากพระยาอุไทยธานี ช่วยในการติดตามด้วย

 

สาเหตุที่ย้ายเมืองอุไทยธานีมาบ้านสะแกกรัง

เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๗๖ นั้น ข้าราชการชาวกรุงเทพฯ ได้เป็นพระยาอุไทยธานี เจ้าเมืองอุไทยธานี ครั้นขึ้นไปถึงเมืองอุไทยธานีก็คิดว่า ถ้าบ้านเรือนอยู่ที่สะแกกรัง จะหาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรมได้ดีขึ้นและจะว่าราชการเมืองอุไทยธานี (ที่เมืองอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง ) ก็ไปจากที่นั้นได้ไม่ลำบากอันใดพระยาอุไทยธานีคนนี้เป็นเพื่อนกันกับพระยาชัยนาท ในเวลานั้นจึงขอตั้งบ้านเรือนบนฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง เพื่อจะค้าขายข้าวหาประโยชน์นับว่ากลัวความไข้ ไม่กล้าขึ้นไปว่าราชการที่เมืองอุไทยธานีเก่า

 

สำหรับศาลาที่ว่าการเมืองอุไทยธานี ได้ใช้หลังบ้านพักของเจ้าเมืองอุไทยธานี ปลูกโรงไม้ยาวชั้นเดียว หลังคามุงกระเบื้องแบบไทย ส่วนพวกกรมการเมืองอุไทยธานี นั้น ก็ได้ย้ายตามมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสะแกกรังตามเจ้าเมือง จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๑๙ ได้เกิดปัญหาเรื่องเงิน อากรสมพัตสรตลาดเงินค่าเสนากร ซึ่งไม่ชำระกันเนื่องจากเขตแดนเมืองอุไทยธานีกับเมืองชัยนาท ไม่ถูกต้อง อันมีจดหมายเหตุ (ร่างตราเลขที่ ๑๔๐/๒ จ.ศ. ๑๒๑๐) ดังนี้

 

“หนังสือพระยามหาอำมาตย์ฯ มาถึงพระยาอุไทยธานี ด้วยหลวงปลัด หลวงอนุรักษ์ภักดี กรมการเมืองชัยนาทบอกลงไปว่า บ้านสะแกกรังที่พระยาอุไทยธานีตั้งอยู่กับราษฎรตั้งเรือนทำมาหากินตามริมฝั่งน้ำตะวันตก ตั้งแต่ปากกระบาดขึ้นไปจนบ้านท่าคล่อเหนือบ้านสะแกกรัง สมพัสษร อากรตลาดหาได้ชำระไม่ แต่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านทุ่งแฝก เสนาอากรเรียกเป็นแขวงเมืองไชย-นาทต่อๆ มา

 

ครั้ง ณ ปีมะเส็ง สัพศก นายโพ พวกหมื่นเทพอากรมาบอกพระยาไชยนาท กรมการว่า บ้านทุ่งแฝก บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง พระยาอุไทยธานีว่า เป็นแขวงเมืองอุไทยธานี หาได้ชำระเงินอากรไม่ พระยาไชยนาท กรมการว่าให้ทำเรื่องราวมาจะบอกลงไป ณ กรุงเทพฯ นายโพหมื่นเทพอากรก็หาทำเรื่องราวมายื่นไม่ อยู่ ณ ปีมะแม นพศก

 

พวกหมื่นเทพอากรมาว่า หลวงปลัด กรมการ แต่งกรมการพาหมื่นเทพอากรไปว่ากล่าวกับพระยาอุไทยธานีๆ ว่า บ้านทุ่งแฝกเป็นแขวงเมืองไชยนาทแต่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นที่เมืองอุไทยธานี พระยาอุไทยธานีได้ทำแผนที่ลงไปทูลเกล้าฯ ถวายแล้วครั้นสืบเถาแก่ผู้ใหญ่ก็ว่า บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่าเป็นแขวงเมืองไชยนาทหลายคนนั้น

 

ความทั้งนี้จะเท็จจริงประการใดไม่แจ้ง และแขวงไชยนาทเขตแดนกว้างขวางเกี่ยวคาบมาจนถึงเมืองอุไทยธานี พระอุไทยธานีว่าไม่ทำแผนที่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นที่เมืองอุไทยธานีลงมาทูลเกล้าฯ ถวายกันเอาที่เขตแดนเมืองไชยนาทมา ทั้งนี้ชอบอยู่แล้วหรือ กรมการและราษฏรเมืองไชยนาทที่เป็นคนผู้ใหญ่ กับที่กรุงเทพฯ ก็รู้กันอยู่ว่าบ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นเมืองไชยนาทแต่เดิม

 

เมื่อพระยาอุไทยธานี เป็นที่เจ้าเมืองจะตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ แขวงเมืองอุไทยธานีว่าที่ไชยภูมิไม่ที่ จึงว่ากล่าวกับ กรมการเมืองไชยนาทจะขออยู่ ณ บ้านสะแกกรัง ก็อยู่ต่อๆ มา ครั้งนี้พระยาอุไทยธานี จะครอบงำเอาที่บ้านเนินตูม บ้านเนินกำแพง บ้านหนองเต่า เป็นเมืองอุไทยธานี ปรารถนาจะได้ปลูกสร้างต้นผลไม้และทำไร่กัน (?) ที่จะตั้งอากรสมพัสษรไม่ให้นายอากรเรียกเอาด้วย ฝ่ายเมืองไชยนาทไม่ยอม เป็นความวิวาทกันอยู่ไม่รู้แล้วเดี๋ยวนี้พระยาไชยนาทกลับมาแต่ราชการทัพพระยาอุไทยธานี พระยาไชยนาท ก็เป็นเจ้าเมืองผู้ใหญ่เขตแดนเกี่ยวข้องกันอยู่อย่างไรก็ให้นัดหมายดูแล พูดจาปรึกษาหารือกันจะเป็นที่เขตแดนเมืองใด ก็ให้ว่ากันเสียให้เด็ดขาด ตกลงเป็นที่เมืองไชยนาทฯ จะได้นำเรียนเงินอากรสมพัสษรต่อไป จะใช้แต่กรมการพูดจะไปมา การก็จะหาแล้วกันไม่ได้มีตรามาถึงพระยาไชยนาท ความแจ้งอยู่แล้ว

 

ถ้าชำระว่ากล่าวไม่ตกลงจะบอกขอข้าหลวงขึ้นมาสอบสวนดู หรือจะแต่งกรมการผู้ใหญ่ทั้งสองทางทำแผนที่เมืองไชยนาท เมืองอุไทยธานี ลงไปว่ากล่าว ณ กรุงเทพฯ ได้ ก็ให้เร่งคุมแผนที่ลงไป จะได้ตัดสินให้เป็นอันแล้วแก่กัน หนังสือมา ณ วันเสาร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก สัมฤทธิ์ศก”

 

นอกจากนี้ยังมีหนังสือไปถึงพระยาไชยนาท

(ร่างตราเลขที่ ๑๙๐/๔ จ.ศ. ๑๒๑๐) ถึงเรื่องบ้านเรือนอยู่ในแขวงเมืองอุไทยธานีหรือเมืองไชยนาท และให้นัดหมายพูดจากันไม่เป็นที่ตกลง ในที่สุดพระยามหาอำมาตย์ จึงให้กรมการขึ้นมาสอบสวนเขตแดนเมืองอุไทยธานีและให้สอบเขตแดนเมืองไชยนาทกับเมืองอุไทยธานีที่ติดต่อกัน เพื่อสะดวกต่อการเก็บอากรสัมพัสษรตลาด และเงินค่าเสนาอากรด้วยเห็นว่า (จาก “ประชุมนิพนธ์ พระนิพนธ์ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุ-ภาพ”)

 

เจ้าเมืองอุไทยธานีไม่ควรจะมาอยู่ในแขวงเมืองไชยนาท อีกทั้งเวลานั้นพวกเจ้าเมืองกรมการอุไทยธานีตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งมั่นคงเสียแล้ว จะไล่ไปก็จะเกิดเดือดร้อนจึงให้ตัดเขตบ้านสะแกกรังทางฝั่งคลองฟากใต้กว้าง ๑๐๐ เส้น ตั้งแต่ท้ายบ้านสะแกกรัง ไปจดแดนเมืองอุไทยเก่า โอนที่นั่นจากเมืองไชยนาทเป็นของเมืองอุไทยธานีฯ จึงตั้งอยู่ที่ปลายสุดเขตแดน ทางฝั่งคลองสะแกกรังฟากเหนือ ตรงบ้านเจ้าเมืองอุไทยธานี ข้ามไปก็เป็นเขตแดนเมืองมโนรมย์ข้างใต้บ้านลงมาสักคุ้งน้ำหนึ่งก็เป็นแดนเมืองไชยนาท

 

ครั้นเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็นแขวง เมืองอุไทยธานีเก่า จึงมีเพียง ๔ แขวงหนองขุนชาติ แขวงหนองกระดี่ แขวงหนองหลวง และแขวงแม่กลอง ซึ่งเรียกกันติดปากว่า “แม่กลองหนองหลวง” เพราะมีเขตแดนติดต่อกันส่วนแขวงหนองขุนชาตินั้น ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นแขวงอุทัยเก่า

 

จังหวัดอุทัยธานีสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตย

จังหวัดอุทัยธานี ถึงแม้จะมีความเป็นอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ-ปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ก็ยังมีภูมิประเทศที่ค่อนข้างจะทุรกันดารปราศจากการคมนาคมใดๆ นอกจากทางเกวียนที่ต้องบุกผ่านป่า หรืออาศัยเรือขึ้นล่องติดต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาโดยอาศัยลำน้ำสะแกกรังที่ไหลผ่านตัวเมือง ปากแม่น้ำสะแกกรังตั้งอยู่ตรง ต.คุ้มสำเภา อ. มโนรมย์ จ.ชัยนาทนั้น

 

ที่ปากน้ำเดิมนั้นหน้าฤดูแล้งราษฎร์จะช่วยกันทำคันดินใหญ่เป็นเขื่อนกั้นน้ำ เพื่อกั้นไม่ให้น้ำในแม่น้ำสะแกกรังแห้ง เรือแพที่จะผ่านเข้าออกต้องเข็นข้ามเขื่อนนี้ ซึ่งเป็นเขื่อนดินทำเป็นตัวทำนบกั้นน้ำไว้ให้ชาวเมืองได้อาศัยน้ำอาบ กิน และเพาะปลูก ตลอดจนการสัญจรไปมาในยามปกติ

 

ด้วยภูมิประเทศของจังหวัดนี้เป็นที่ดอนแห้งแล้ง ในฤดูน้ำลดลง แม่น้ำสะแกกรังจะแห้งขอด ซึ่งเป็นเหตุให้ลำบากแก่การคมนาคมและการประกอบกสิกรรมทั่วไปส่วนใหญ่ชาวจังหวัดอุทัยธานีมีอาชีพทำนาเป็นล่ำเป็นสัน นับเป็นเมืองประเภทอู่น้ำอู่ข้าวที่สำคัญ ครั้นเมื่อมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาขึ้น เขื่อนที่กั้นตรงปากน้ำก็เลิกทำเพราะน้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีบริบูรณ์อยู่ตลอด

 

ต่อมาได้มีการเลิกภาคที่ตั้งขึ้นเป็นมณฑลในรัชกาลที่ ๖ ใหม่

โดยรวมเป็นมณฑลเดียว และจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเดิมนั้นขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์ ได้เปลี่ยนไปรวมขึ้นอยู่กับมณฑลอยุธยา จังหวัดอุทัยธานีในสมัยใหม่ได้เปลี่ยนแปลงตามโครงร่างของการบริหารราชการที่ขยายวงกว้างขึ้น ยกเลิกชั้นข้าราชการและนำเอาระบบการกำหนดเงินเดือนตามตำแหน่งมาใช้แล้วเปลี่ยนแปลงใช้การจัดชั้นข้าราชการควบคู่ไปกับการจัดชั้นตำแหน่งประกาศยกเลิกมณฑลเสียในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ และจัดให้จังหวัดเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญที่สุด พร้อมกับให้มีเทศบาลเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นให้เรียก “ข้าหลวงประจำจังหวัด”

 

จังหวัดอุทัยธานีทุกวันนี้ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยังรักษาศิลปวัฒน-ธรรมของบ้านเมืองไว้เป็นอย่างดี จนมีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า

 

“ดำน้ำสามผุด ไม่หลุดอุทัย” และ “อยู่อุทัยไม่ต้องอุทธรณ์ ค่ำมืดก็นอนที่อุทัย”

 

แผนที่ท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยธานี

 

 

ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดอุทัยธานี . กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์ , ๒๕๒๘
ที่มาภาพ : http://www.thailovetrip.com/