วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

กรวดน้ำคว่ำขัน ทำแล้วได้ผลจริงหรือเปล่า

เราคงคุ้นชินกับสำนวนไทยที่ว่า “กรวดน้ำคว่ำขัน” มีหลายคนได้นำมาปฏิบัติ ในลักษณะของการตัดขาดจากสายสัมพันธ์ คือไม่อยากยุ่งเกี่ยวต่อกันและกัน จึงกรวดน้ำคว่ำขันให้เจอกันแค่ชาตินี้ อย่าได้พบพานกันในชาติหน้า

กรวดน้ำคว่ำขัน” เป็นสำนวนไทย หมายถึง การตัดขาดความสัมพันธ์ ไม่ขอเกี่ยวข้องด้วย ไม่คบค้าสมาคมกันอีกต่อไป อย่าได้มาเจอกันอีก ส่วนการกระทำนั้น โดยปกติการกรวดน้ำจะเทน้ำจากขัน (ถ้าใส่ขัน) จนน้ำหมด ซึ่งขันจะอยู่ในลักษณะแค่ตะแคงโดยเอาก้นขันตั้งฉากกับพื้นโลกเท่านั้น เทเพียงเท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องถึงกับคว่ำขันเอาปากขันทิ่มลงดิน เขาจึงใช้กริยาการคว่ำขันเป็นการประชด เหมือนการตัดขาดขนาดน้ำก็จะไม่ให้เหลือสักหยดติดขัน

หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว การกรวดน้ำคว่ำขัน ยังมีลักษณะของอกุศลที่ปนเปื้อน เนื่องจากไม่ชอบใจเขา โกรธเขา จึงไม่อยากจะเจอหน้าเขา แล้วทำการกรวดน้ำคว่ำขัน อธิษฐานไม่ให้เจอกันซึ่งเป็นวิธีการในเชิงลบ แม้จะไม่อยากพบเจอกันก็ตาม แต่ความแค้น ความโกรธ ความเกลียดนั้น ยังไม่จางหายไปจากใจ

เพราะการกรวดน้ำที่แท้จริง เป็นไปเพื่อเจตนาแห่งการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เป็นไปเพื่อการขออโหสิกรรม การให้อภัย มีการเมตตาต่อกันและกัน ไม่ใช่ความโกรธเกลียดชิงชังจนไม่อยากเจอหน้ากัน แล้วกรวดน้ำให้ เช่นนี้ถือว่าใจเป็นอกุศล มิได้เกิดผลดีใดๆ กับตนเองเลย มิหนำซ้ำยังก่อให้เกิดทุกข์แก่ตนอีกด้วย เพราะการกรวดน้ำคว่ำขันให้ตัดขาดจากผู้อื่น ตนเองเท่านั้นที่รู้ ส่วนผู้ที่ตนเองอยากตัดขาดจากกันจริง ๆ นั้น เขากลับมิได้รับรู้ความโกรธแค้นความเจ็บปวดนั้นเลย

การกรวดน้ำคว่ำขันที่มีความเชื่อกันว่า ชาติหน้าจะไม่พานพบกันนั้น อาจกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม เพราะการไม่ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่มีการอโหสิกรรมให้กัน ความโกรธเกลียดชิงชังยังมีอยู่ในใจ จึงได้ทำการกรวดน้ำคว่ำขัน ก็เท่ากับฝั่งความแค้นนั้นไว้ในใจ ชาติต่อ ๆ ไปก็ต้องมีสิทธิ์พบเจอกัน เพราะยังไม่อโหสิกรรมให้กันนั่นเอง

ที่มาและการอ้างอิง :  กรวดน้ำแก้กรรม  แก้วธารา  ผู้เขียน