วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

แก้ปัญหาลูก “อึราด” ที่โรงเรียน

20 เม.ย. 2019
4676

อุจจาระเล็ดราดในเด็กเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก อาจมีเลือดซึมเปื้อนกางเกงในหรือออกมาเต็มกางเกง หรืออาจเป็นเพราะลืมทำความสะอาดหลังขับถ่าย หรือเล่นเพลินจนเข้าส้วมไม่ทัน วิธีแก้ไขคือการเตือนลูกอย่างอ่อนโยน ว่าอย่าลืมเช็ดก้นหรือล้างก้นให้สะอาดก่อน ให้ถามลูกว่าวันนี้หนูปวดอึหรือยัง เด็กมักจะชอบเล่น ดังนั้นคุณแม่อาจจะเอาของเล่นหรือหนังสือภาพเข้าไปเก็บที่ชั้นวางในห้องน้ำ เพื่อจะได้มีอะไรทำเพลินๆขณะนั่งขับถ่าย

 

 

อุจจาระเล็ดราดในเด็กโต

หากลูกอุจจาระราดโดยเกิดขึ้นในเด็กอายุ 4 ขวบ ภาวะนี้ถือเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยรีบด่วน เพราะมีผลต่อสังคมและอารมณ์ของเด็ก เนื่องจากอาจถูกล้อเลียนจากเพื่อน เพราะมีกลิ่นเหม็นโชยออกมา ทำให้ลูกอับอาย คุณแม่อาจปลอบใจลูกโดยการบอกว่าไม่ต้องสนใจที่เพื่อนล้อเลียน แต่นั่นก็เป็นเพราะต้องการปกป้องตัวเองจากความทุกข์ที่มีเท่านั้น ยังไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหานี้

 

สาเหตุของอุจจาระเล็ดราด

ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะท้องผูกรุนแรง มีก้อนอุจจาระขนาดใหญ่อุดกั้นบริเวณใกล้กับรูทวาร และไม่ถูกขับออกมาเลย และหากขับถ่ายออกมาก็จะได้ก้อนที่ใหญ่และแข็งมาก อาจถึงขั้นทำให้ส้วมตันได้ ส่วนอุจจาระที่เล็ดราดจะไหลออกมาตามผนังลำไส้ โดยที่เจ้าตัวไม่รู้สึกตัวว่ามีของเหลวไหลผ่านกล้ามเนื้อหูรูดที่ถูกขยายตัวจนสูญเสียความรู้สึก

 

สาเหตุของท้องผูกในเด็ก

โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการกินน้ำน้อย ภาวะเจ็บป่วย เคยอุจจาระแข็งแล้วเจ็บก้น จึงมีนิสัยการอุจจาระถูกบังคับ ดังนั้นให้ฝึกการขับถ่ายให้กับลูก  การใช้ยาบางอย่าง การมีน้อง การหย่าร้าง หรือคนในครอบครัวเสียชีวิต การย้ายโรงเรียน การเข้าค่ายที่ไม่คุ้นเคยกับการเข้าห้องส้วม บางครั้งหากสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานจนลืม ก็จะทำให้ไม่รู้ได้ว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาท้องผูกในเด็กอยู่ตรงไหน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อและคุณแม่ที่ต้องติดตามถามไถ่ และเอาใจใส่ลูกในเรื่องการขับถ่ายอย่างใกล้ชิด

 

พ่อแม่ช่วยฝึกการขับถ่ายลูกได้อย่างไร

วิธีแก้ไขคือ การช่วยให้ลูกเข้าถึงปัญหาสาเหตุ ว่าไม่ใช่ความผิดของลูก แต่เป็นเพราะท้องผูก โดยอาจนำลูกเข้าพบแพทย์ และแพทย์จะช่วยอธิบายถึงการทำงานของร่างกายอย่างเข้าใจง่ายๆ มีการวาดภาพประกอบตั้งแต่การกิน การย่อย การลำเลียงของอาหารจนลงไปถึงลำไส้ใหญ่และทวาร กลายเป็นอุจจาระ และกล้ามเนื้อหูรูดที่กั้นไม่ให้อุจจาระออกมา เพื่อให้ลูกเห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นในร่างกายของเขา

 

การรักษาภาวะท้องผูกในเด็ก

โดยปรับชนิดของอาหาร ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา และการออกกำลังกาย อาจต้องใช้ยาระบายหากมีปัญหาท้องผูกมานานจนทำให้เกิดความเครียดอย่างมาก และไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยววชาญด้านจิตเวช สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องพยายามมองในแง่ดีว่า ภาวะนี้รักษาให้หายได้ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าโทษกัน ไม่มีใครผิดและอย่าตำหนิลูก การทำงานเป็นทีมระหว่างพ่อแม่ลูกและแพทย์จะช่วยให้ดีขึ้นได้

 

source : ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล).คำภีร์เลี้ยงลูก (321-322).กรุงเทพ.อมรินทร์สุขภาพ.2552.