วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

คุณแม่ต้องรู้!! ทารกแรกเกิดกับ 8 วิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ

09 พ.ค. 2019
1335

หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่รอมานานถึง 9 เดือน ก็มาถึงวันที่จะได้พบหน้าตาของเจ้าตัวน้อยจริง ๆ กันสักที ตั้งแต่นาทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ คุณพ่อคุณแม่คงตั้งใจที่จะฟูมฟักทะนุถนอมลูกอย่างดีที่สุด ยิ่งถึงวันที่เขาได้ออกมาสู่โลกใบใหม่ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม ความตั้งใจที่จะปกป้องลูกยิ่งทวีคูณขึ้นมาหลายเท่า เพราะว่าลูกช่างเป็นเด็กน้อยที่บอบบาง

 

แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะไม่ได้หมายความว่า เจ้าตัวเล็กคือตัวปัญหา แต่เราจะรวบรวมปัญหาที่คุณแม่มือใหม่มากๆ สงสัย อาจถึงขั้นวิตกมาฝาก สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดามาก หากไปถามคุณย่าคุณยายและคุณแม่ที่มีประสบการณ์ จะได้คำตอบว่าไม่เป็นไร ใคร ๆ ก็เป็นกัน แต่สำหรับคุณแม่คนใหม่ ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกจะมากจะน้อยเพียงใด ก็ไม่อาจทำใจละเลยได้

 

 

8 วิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ กับลูกน้อยแรกเกิด

1.ไขแข็งที่ศรีษะเด็กอ่อน

คุณแม่คงเป็นกังวลและสงสัยว่า หากที่ศรีษะลูกมีคราบไขแข็งติดอยู่ จะทำอย่างไรดี ทารกแรกเกิดอาจมีคราบไขแข็งติดที่ศีรษะ คุณแม่ไม่ต้องกังวล เพียงใช้สำลีชุบเบบี้หรือวาสลีน เช็ดทำความสะอาดให้กับลูกน้อย ภายใน 2 สัปดาห์เจ้าไขแข็งที่ว่านี้ก็จะหายไป

 

2.ลิ้นของลูกเป็นฝ้าขาว

หากลิ้นของลูกเป็นฝ้าขาวอยู่เสมอ ถือได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนมที่ลูกกินเป็นประจำจะทำให้เป็นฝ้าขาวได้ ให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดเเบาๆ ฝ้าขาวก็จะหลุดออกได้ง่าย แต่หากเช็ดแล้วฝ้าขาวก็ยังไม่หลุดออกไปง่าย ๆ ให้นำลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา

 

3.ทารกสะอึกนาน

การที่ลูกสะอึกทุกวันและนาน ไม่ได้บ่งบอกถึงอาการเจ็บปวด โดยมากแล้วอาการสะอึกของทารก มีสาเหตุจากการที่เด็กดูดนมเร็วเกินไป ซึ่งไม่เป็นอันตราย ดังนั้นในบางครั้ง เด็กอาจจะสะอึกนานคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องเป็นกังวล

 

4.สะดือที่ยังไม่หลุดของลูก

ในส่วนของสะดือ คุณแม่อาจสงสัยว่า จะมีวิธีสังเกตสะดือที่ยังไม่หลุดอย่างไร สะดือทารกอาจต่างกันไป บางคนเป็นสีดำขณะที่บางคนมีสีซีดจนเกือบขาว ความแตกต่างคือ สะดือที่มีสีดำแสดงว่ามีเลือดคั่งอยู่ข้างในมาก ส่วนสะดือที่ซีดเหลืองขาวจะมีเลือดคั่งอยู่น้อย หรือแทบไม่มีเลย ไม่ว่าจะสีไหนก็ไม่ได้ทำให้ลูกเจ็บปวด

ระหว่างที่สะดือลูกยังไม่หลุด คุณแม่ควรดูสะดือของลูกให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้เปียกชื้น และยังไม่ควรจัดให้ลูกนอนหลับในท่านอนคว่ำ เพราะเขาอาจปัสสาวะออกมาเปียก และอาจนอนกดทับสะดือจนเป็นแผลได้ บางครั้งที่สะดือของลูกมีเลือดซึมออกมา ก็ไม่ต้องวิตกกังวล ให้หมั่นใช้แอลกอฮอล์เช็ดก็เพียงพอ แต่หากมีน้ำเหลืองออกมาด้วยให้รีบปรึกษาแพทย์

 

5.ลูกร้องไห้นาน

หากลูกร้องไห้นานจนคุณแม่กลัวว่าลูกจะหายใจไม่ออก ต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่งว่า การร้องไห้ของทารก บอกอะไรหลายๆอย่าง เพราะจะมีทั้งหิว ง่วงนอน ไม่สบาย ฉี่จนเปียก มดหรือแมลงกัด หากคุณแม่หมั่นสังเกต ก็จะรู้ได้ทันทีว่าลูกร้องไห้เพราะอะไร  แต่ถ้าลูกร้องไห้นานและไม่ยอมหยุด แถมตรงส่วนท้องยังดูโตด้วย แสดงว่าเขากำลังปวดท้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยสำหรับทารกแรกคลอด การอุ้มลูกนอนคว่ำบนตักคุณแม่จะช่วยลดอาการปวดท้องได้

 

6.กะโหลกศีรษะ (กะหม่อม) ไม่เรียบ

หากกระหม่อมลูกไม่เรียบ ยิ่งเวลาร้องไห้บริเวณตรงกลางศรีษะจะมีลักษณะทั้งโป่งและยุบ โดยเฉพาะเวลาร้องไห้จะเห็นได้ชัดเจนว่ากระหม่อมกำลังเคลื่อนไหว  ดังนั้นหากกระหม่อมยุบลงแสดงว่าลูกกำลังขาดน้ำ คุณแม่ควรให้ลูกทานน้ำเยอะๆ และไม่จำเป็นต้องผสมเกลือแร่หรือน้ำตาลลงในน้ำ แต่ให้ทานเป็นช่วงเวลาให้เหมาะสม อาการโป่งยุบของกระหม่อมจะดีขึ้น

 

7.ลูกฉี่บ่อย

หากลูกฉี่บ่อยโดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว คุณแม่อาจต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกทั้งวัน ก็ไม่ต้องเป็นกังวลไปว่าเขาจะฉี่ออกมาก จนอยู่ในภาวะขาดน้ำ เพราะอากาศที่เย็นลง ทำให้เหงื่อลูกออกน้อย เขาจึงปัสสาวะบ่อยเป็นธรรมดา สำหรับการถ่ายอุจจาระ ทารกมักถ่ายทุกครั้งหลังกินนม จึงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ ทารกอาจถ่ายได้ถึงวันละ 6-7 ครั้ง ทารกที่ทานนมแม่ อุจจาระจะค่อนข้างนิ่ม ส่วนทารกที่ทานนมผง อุจจาระจะแข็งกว่าเล็กน้อย

 

8.ลูกแหวะนม

การที่ลูกแหวะนมทุกครั้งหลังกินนม สำหรับเรื่องนี้ต้องสังเกตว่าเขาแค่สำรอกนมที่ดูดออกมา หรืออาเจียน หากเป็นเพียงการสำรอกนมเล็กๆน้อยๆ ไม่ถึงขั้นอาเจียน คุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกแหวะนมในมื้อต่อไปได้ ด้วยการอุ้มพาดบ่าแล้วลูบหลังให้เรอ ซึ่งบางครั้งลูกอาจจะไม่เรอเลยก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงต้องยอมแพ้ แล้วปล่อยให้ลูกนอนต่อดีกว่า แต่การให้ลูกนอนตะแคงก็เพื่อจะได้ไม่สำลักนม ในกรณีลูกอาเจียนหรือสำรอกนมออกมาแรงๆ จะมีหลายสาเหตุ เช่น มีแก๊สในกระเพาะมาก ก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์

 

source : เติบโตแข็งแรง วรรณา หวังกิตติพร เรียบเรียง