วันเสาร์, 4 พฤษภาคม 2567

เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด (UCEP)

23 ก.ค. 2019
1391

ประกันสังคมขอให้ผู้ประกันตนพกบัตรประชาชนไว้เสมอ เผื่อกรณีฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่าย หรือถูกถามถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ผู้ประกันตนที่ได้รับการประเมินอาการ ให้เป็นผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด จนพ้นภาวะวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้ แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยไม่ต้องสำรองจ่าย และไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนเกิน

 

 

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุนั้น ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนพกบัตรประจำตัวประชาชนไว้เสมอ หากผู้ประกันตนเกิดเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายหรือถูกถามถึงสิทธิการรักษาพยาบาลตามนโยบายของรัฐบาล เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ เพื่อให้ทุกคนได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม

 

ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลในกรณีฉุกเฉิน สถานพยาบาลไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธการให้การดูแลรักษาผู้ป่วย อย่างน้อย “ช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ”

 

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อธิบายว่า คนไทยทุกคนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ์ โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยไม่ต้องจ่าย แต่ละกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ จะดำเนินการจ่ายให้โรงพยาบาลตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนด

 

หากเป็นการเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลนอกสิทธิ์ที่ตนสังกัดอยู่แล้ว ไม่ใช่ฉุกเฉินวิกฤติ แพทย์ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบ หากผู้ป่วยตัดสินใจที่จะรับบริการที่โรงพยาบาลนอกสิทธิ์ แต่ละกองทุนจะจ่ายให้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ครอบคลุมทั้งหมด หลักเกณฑ์ขึ้นอยู่กับแต่ละกองทุนกำหนด ส่วนที่เหลือผู้ป่วยจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง อย่างเช่น สวัสดิการข้าราชการจ่ายให้ครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 8,000 บาท เป็นต้น

 

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ในการประเมินภาวะฉุกเฉินวิกฤตินั้นแพทย์สามารถดำเนินการวินิจฉัยได้ แต่หากมีความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างแพทย์ คนไข้หรือญาติ สามารถปรึกษาสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ว่าความเจ็บป่วยนั้นเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ที่ผ่านมาดำเนินการมากว่า 1 ปี มีการจ่ายเงินชดเชยตามนโยบายนี้ไปแล้วราว 460 ล้านบาท

 

“การดำเนินนโยบายนี้ที่ผ่านมา ในภาพรวมไปได้ด้วยดี สามารถแก้ปัญหาในเรื่องความขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลกับผู้ป่วย ในการโต้เถียงว่าฉุกเฉินวิกฤติหรือไม่ และแก้ปัญหาเดิม ที่มีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย ในกรณีเข้ารับการรักษาฉุกเฉินวิกฤติใน 72 ชม.แรกได้เช่นกัน ยังมีปัญหาเพียงส่วนน้อย คือ มีสิทธิรักษาพยาบาลที่ยังไม่มีการแก้ระเบียบรองรับในการจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงพยาบาลเอกชน เช่น รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีคนไทยอยู่ในสิทธิ์นี้ 8 แสนคน จากคนไทยกว่า 65 ล้านคน แต่ผู้ป่วยในสิทธิ์นี้ก็สามารถรับการรักษาตามนโยบายนี้ได้เช่นกัน” นพ.การุณย์ กล่าว

 

ในการรับบริการตามนโยบายนี้ กรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสีแดง คือ ระดับวิกฤติ ใน 72 ชม.แรกให้กองทุนเป็นผู้จ่าย หลังจาก 72 ชม.หากผู้ป่วยสามารถย้ายกลับสถานพยาบาลตามสิทธิ์ได้ให้ย้ายกลับ เว้นกรณีที่ไม่สามารถย้ายกลับได้ทั้งในกรณีที่สถานพยาบาลต้นสังกัดไม่มีเตียงรองรับหรือ/และอาการผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น กองทุนจะจ่าย แต่หากย้ายได้แต่ผู้ป่วยไม่ต้องการย้ายเองนั้น ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนหลัง 72 ชม.เอง กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินระดับสีเหลืองหรือฉุกเฉินเร่งด่วน และสีเขียวคือฉุกเฉินไม่เร่งด่วน หากผู้ป่วยตัดสินใจรักษาที่โรงพยาบาลนอกสิทธิ์ กองทุนจะจ่ายให้ตามข้อกำหนดแต่ละกองทุน ไม่ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนที่เหลือผู้ป่วยจะต้องจ่ายเอง

 

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2561 ผลการจ่ายเงินชดเชย UCEP แยกตามสิทธิ์ พบว่า

1.บัตรทอง มีคำร้องผ่านการพิจารณาเงินชดเชย 13,651 ครั้งจาก 15,780 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 307.2 ล้านบาท เงินชดเชยหลัง 72 ชม. 28.9 ล้านบาท

2.สวัสดิการข้าราชการ ผ่านการพิจารณา จำนวน 3,693 ครั้ง จาก 4,277 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 93.2 ล้านบาท

3.ประกันสังคม ผ่านการพิจารณา 226 ครั้ง จาก 3,384 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 8.4 ล้านบาท

4.สิทธิข้าราชการท้องถิ่น ผ่านการพิจารณา 246 ครั้ง จาก 297 ครั้ง เงินชดเชย 72 ชม.แรก 4.6 ล้านบาท

5.สิทธิอื่นๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ ผ่านการพิจารณา 348 ครั้ง จาก 409 ครั้ง เงินชดเชย 7.7 ล้านบาท

*** โดยลำดับ 2-5 ไม่มีเงินชดเชยหลัง 72 ชม.

 

หากเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คนไทยทุกคนไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายในการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในโรงพยาบาลใกล้ที่สุด ทั้งรัฐและเอกชน โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นใน 72 ชั่วโมงแรก

 

6 อาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤติ

1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น

4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง

5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

6.อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

 

นิยามผู้ป่วยฉุกเฉิน

ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด หรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว

 

ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ได้แก่ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วย ซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมาก หรือเจ็บปวดรุนแรง อันอาจจำเป็นต้องได้รับปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน มิฉะนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วย ของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นรุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิต หรือพิการในระยะต่อมาได้

 

ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเองได้ แต่จำ เป็น ต้องใช้ทรัพยากรและหากปล่อยไว้เกินเวลาอันสมควรแล้วจะทำ ให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น รุนแรงขึ้นหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

 

Source : thaihealth.or.th