วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

โรคประสาทมีอาการอย่างไร (พร้อมวิธีการรักษา) Ep.132

คำว่า “ประสาท” ถูกนำไปใช้อย่างกว้างกว้างขวาง ทั้งในความหมายที่เป็นวิชาการ ไปจนถึงคำอุทาน หรือคำด่าคนเฒ่าคนชรา ตลอดจนถึงลูกเล็กเด็กแดง ก็เคยได้ยินคำนี้กันมาแล้ว

ความหมายของคำนี้ ถูกแตกไปหลายทางจนเกิดความสับสน จึงเป็นเรื่องที่น่าจะได้หยิบยกมาทำความเข้าใจกันใหม่ให้ถูกต้อง

โรคประสาทมีอาการอย่างไร

เป็นโรคที่มีความวิตกกังวลเป็นสาเหตุสำคัญ แต่ยังคงบุคลิกภาพเดิมของตนไว้ มิได้มีการเปลี่ยนแปลง เรียกง่าย ๆ คือ ไม่ได้บ้าหรือวิกลจริตแต่อย่างใด ซึ่งพวกหลังนี้ คือพวกที่เรียกว่าโรคจิต

ถ้าเราจะสังเกตุง่าย ๆ ผู้ป่วยโรคประสาท มักชอบมีความรู้สึกว่าตนเองต้องเจ็บป่วย หรือเป็นอะไรสักอย่าง และอยากจะได้รับการรักษา ส่วนพวกโรคจิต มักรู้สึกว่าตนไม่ได้ผิดปกติอะไร คนอื่นต่างหากมาว่าตนเองผิดปกติ

บางคนคิดว่าโรคประสาท เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติในสมอง คือ เข้าใจว่าหมายถึงโรคระบบประสาท ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

โรคประสาทไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดในสมอง ไม่ได้เกี่ยวกับอัมพาตแต่อย่างใด ไม่ต้องกลัวว่าถ้าเครียดมาก ๆ หรือกังวลมาก ๆ แล้วหลอดเลือดในสมองจะแตก เพราะสาเหตุต่างกัน

ความวิตกกังวลเป็นสาเหตุให้เกิดโรคประสาท

ความกังวลนี้ ความจริงก็คล้าย ๆ กับความกลัว ต่างกันแต่ว่าความกลัว มักจะเกิดกับสิ่งที่มองเห็นหรือระลึกได้ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม เช่น กลัวกิ้งกือ กลัวความสูง เป็นต้น

แต่ความกังวล มักเกิดจากส่วนลึกของจิตใจ ในส่วนที่เรียกว่า “จิตไร้สำนึก” คนที่กังวลจึงไม่ค่อยจะรู้ว่าตนกังวลเพราะเหตุใด

มีสุภาพสตรีนางหนึ่ง พอเรียนจบก็ตกงานอยู่ถึง 1 ปี ความบังเอิญบวกกับความสามารถ ช่วยให้หล่อนทำงานรับราชการได้ แต่ไม่สามารถเลือกสถานที่บรรจุได้ จึงจำเป็นต้องไปทำงานในท้องถิ่นทุรกันดาร

ตอนแรกก็ทนอยู่ได้ ล่วงเลยเวลามาถึงครึ่งปี เกิดอาการใจสั่น เวียนหัว หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ หน้ามืดเป็นลม เรียกว่าโรคประสาทปรากฏอาการณ์แล้ว

ในรายของสุภาพสตรีท่านี้ เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า สาเหตุของโรคที่เกิด มาจากความขัดแย้งในจิตไร้สำนึกของความต้องการ 2 อย่าง คือ ความต้องการที่จะทำงาน เพื่อจะได้มีรายได้เลี้ยงชีพ กับความต้องการที่จะหนีจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ชอบ ไม่ยอมรับและไม่อยากอยู่เลย แต่ต้องจำใจอยู่ จะขอย้ายก็ไม่ได้

และเป็นที่น่าเสียดาย ที่สุภาพสตรีรายนี้ ถูกนำไปรักษาด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ นานา ทุกรดน้ำมนต์ปิดทองอยู่เป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะได้มารับการรักษาตัว หลังจากเกิดความเข้าใจในตนเอง และแก้ปัญหาของตนได้ ก็กินเวลาไปมากอยู่ โชคดีที่หายเป็นปกติได้ในที่สุด

อาการของโรคประสาท แสดงออกได้หลายรูปแบบ

บางรายอาจเป็นความผิดปกติของอารมณ์โดยตรง หรือแสดงออกในรูปของอาการทางกาย อาการที่พบบ่อยได้แก่

  • ความรู้สึกเครียด
  • วิตกกังวล
  • หงุดหงิด
  • ท้อแท้
  • เบื่อหน่ายอาหาร
  • น้ำหนักลด
  • ถอนหายใจบ่อย
  • ปวดศีรษะ
  • มึนงง
  • เวียนศีรษะ
  • เหงื่อออกมาก
  • ชาตามตัว ชาตามมือและเท้า
  • มือเท้าเย็น
  • ใจสั่น
  • ตกใจง่าย
  • หลงลืมง่าย
  • ย้ำคิดย้ำทำ
  • ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
  • ขาดสมาธิ
  • นอนไม่หลับ เป็นต้น

จากตัวอย่างอาการข้างต้นคงเห็นแล้วว่า ฤทธิ์เดชของความวิตกกังวลมีมากเพียงใด และสามารถก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้มากมายหลายระบบ สมกับคำกล่าวที่ว่า “จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว”

นอกจากนั้น อาการบางอย่าง อาจทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิด คิดว่าตนเป็นโรคทางกาย เที่ยวตระเวนไปตรวจรักษาทุกแห่ง ที่คิดว่าจะช่วยค้นหาสาเหตุของโรคได้ ซึ่งก็มักจะตรวจไม่พบอะไรผิดปกติเลย

บางทีแพทย์ตรวจแล้ว อาจบอกว่าเป็นโรคทางใจหรือโรคประสาท ซึ่งผู้ป่วยก็มักจะไม่อยากยอมรับง่าย ๆ กว่าจะรู้ตัว ก็อาจหมดค่ารักษาไปมากมาย จนบางทีต้องเป็นหนี้สินไปเลยก็มี

โรคประสาท” จึงเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ผู้ป่วยรู้จะสึกว่าตนไม่สบายอยู่ตลอดเวลา เครียดโดยไม่ทราบสาเหตุ ไปตรวจร่างกายหรือใช้เครื่องมือพิเศษอะไรก็ตรวจไม่พบ

การตรวจเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคประสาท

คือไม่ต้องอาศัยการตรวจสภาพจิต ซึ่งทำได้โดยการพูดคุย ร่วมกับการซักประวัติของผู้ป่วย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอะไร บ้างคนรีบ ก็จะไปเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ซึ่งผลก็จะออกมาว่าปกติ แล้วจึงมานั่งสงสัยว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ ทำไมจึงตรวจไม่พบความผิดปกติอะไร

ก็คงเหมือนเราจะไปศึกษาธรรมะ แต่กลับไปในแหล่งเริงรมย์ จึงพบความจริงที่ว่า ไม่มีสิ่งที่เราแสวงหา แต่อาจเป็นแนวทาง ให้ได้เปลี่ยนทิศทางการแสวงหาใหม่ให้เหมาะสมต่อไป อย่างน้อยก็สบายใจได้ว่า เราไม่มีอะไรในสมองที่จะต้องกลัว เพราะคนส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ใช้เครื่องมือตรวจ ก็มักไม่ค่อยเชื่อ

การซักประวัติและการตรวจสภาพจิต

เป็นสิ่งจำเป็น ที่จะสามารถช่วยวินิจฉัยโรคประสาทและโรคจิตได้ ส่วนใหญ่การตรวจทางห้องทดลองและการเอ็กซเรย์ จะทำในบางรายเท่านั้น เมื่อแพทย์สงสัยว่า อาจเป็นโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น

ซึ่งอาจมีอาการบางอย่างคล้ายโรคประสาทได้ แต่เป็นกรณีที่พบน้อย และต้องมีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น การตรวจร่างกายธรรมดา มักจะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ ก่อนที่จะต้องไปใช้การตรวจพิเศษอื่นๆ

จิตแพทย์ใช้วิธีการซักประวัติและการตรวจสภาพจิต

การซักประวัติ ก็เพื่อจะค้นหาสาเหตุของโรคประสาท ประวัติของการพัฒนาการในวัยเด็ก การเลี้ยงดู ความสัมพันธ์กับพ่อแม่และบุคคลอื่น ๆ ในครอบครัว การอิจฉาของพี่น้อง อุปนิสัย และการสูญเสียที่สำคัญในชีวิต เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ จะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์จิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงกลไกในการเจ็บป่วย โดยต้องมีข้อมูลว่า ผู้ป่วยจริง ๆ เติบโตมาอย่างไร มีเหตุการณ์อะไรที่สำคัญในชีวิต ใช้กลไกทางจิตอย่างไร เก็บกดอะไรไว้บ้าง มีความขัดแย้งอะไรในจิตใจ มีปัญหาของบุคลิกภาพอย่างไร

และเมื่อเผชิญกับความเครียด ได้ใช้กลไกทางจิตใจในการพยายามลดความเครียดอย่างไร มีการเสียสมดุลของจิตใจไต้อย่างไร จึงได้เกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น เมื่อทราบเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ก็จะสามารถวินิจฉัยได้ค่อนข้างแน่นอน โดยที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้

การรักษาโรคประสาท

ในการรักษาโรคประสาท เราเน้นที่การแก้ปัญหาทางจิตใจเป็นสำคัญ ซึ่งจะทำได้โดยวิธีการที่เรียกว่า “จิตบำบัด” หรือการรักษาด้วยการพูดคุยกัน ส่วนในรายที่ยังไม่ยอมรับว่า อาการที่เป็นนั้นเกิดจากจิตใจ ก็ต้องพยายามให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจและยอมรับก่อน

เมื่อพร้อมที่จะสำรวจจิตใจตนเองแล้ว ขั้นต่อไปก็คือ การวิเคราะห์หาสาเหตุของความกังวล โดยใช้เวลาพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อค้นหาว่ามีอะไรที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกบ้าง มีความขัดแย้งอันใดในจิตใจ ที่คอยรบกวนให้จิตใจไม่มีความสงบ แล้วแก้ไขความขัดแย้งนั้นให้หายไป หรือให้หลงเหลืออยู่น้อยที่สุด ความวิตกกังวลก็จะลดลงหรือหมดไปได้

ความขัดแย้งในจิตใจ ถ้าเกิดจากความต้องการ 2 อย่างที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ เช่น ในกรณีของสุภาพสตรีที่ยกตัวอย่างไว้ตอนต้น อาจจะต้องให้เลือกทางที่สมดุลเหมาะสมที่สุด โดยใช้เหตุผล หากต้องการทำมาหาเลี้ยงชีพและไม่มีที่อื่นที่ดีกว่า ก็ต้องยอมรับสภาพที่อยู่ในท้องถิ่นที่ตนทุกส่งไปทำงาน ด้วยการพยายามปรับตัว สร้างกำลังใจให้เผชิญกับความยากลำบากต่าง ๆ พยายามมองโลกในแง่ดี หรือคิดซะว่า การไปทำงาน ณ ที่แห่งนั้น ยังมีข้อดีอยู่มาก

ในส่วนนี้คือการใช้กลไกทางจิตให้เหมาะสม ถ้าปรับตัวไม่ไหวจริง ๆ เพราะสภาพจิตใจอ่อนแอมาก เนื่องจากถูกเลี้ยงดูมาแบบไข่ในหิน คงต้องลาออกไปหาอย่างอื่นทำ หรือลาพักชั่วคราวไปก่อน

ข้อสำคัญคือ ต้องยอมรับว่า จะให้ความต้องการทั้งสองอย่าง บรรลุถึงความสำเร็จทั้งหมดไม่ได้ จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเอาทั้งเงินทั้งทองไม่ได้

โรคประสาทที่เกิดจากความต้องการไม่เหมาะสม

บางคนเป็นโรคประสาท เพราะมีความต้องการที่ไม่เหมาะสม เช่น อยากรวยมาก อยากรวยเร็ว ๆ อยากแต่งงานกับคนที่ไม่เหมาะสมกับตน อยากเด่นอยากดัง อยากเอาชนะคนอื่น เป็นต้น

ความต้องการหรือความอยากเหล่านี้ อาจมีสาเหตุมาจากความผิดหวัง หรือปมด้อยบางอย่างที่สะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก หรือได้รับการปลูกฝังค่านิยมไม่ถูกต้อง

เมื่อเผชิญกับความจริงที่ว่า ตนไม่สามารถจะได้ในสิ่งที่หวัง มันจึงเกิดเป็นความกังวลเกิดขึ้น การรักษาผู้ที่มีความต้องการประเภทนี้ อาจใช้ธรรมะเป็นเครื่องช่วยดับทุกข์ คือ ให้ลดกิเลสลง พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และแก้ไขปมด้อยในจิตใจ หาทางสร้างความสำเร็จ ด้วยการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม

การรักษาโรคประสาทด้วยจิตบำบั

เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นการแก้ไขที่สาเหตุ แต่ในบางราย จิตบำบัดอาจทำไม่ได้ หรือมีขีดจำกัดบางอย่าง เพราะปัญหาสลับซับซ้อนมากจนยากแก่การเข้าใจ การแก้ไขในผู้ป่วยแบบนี้ เราอาจต้องใช้ยาเป็นส่วนช่วยในการรักษา

ยาที่ควรซื้อมารับประทานคือ “ยาลดความกังวล” หรือ “ยาคลายกังวล” หรือ ยาคลายเครียด ถึงแม้ว่ายานี้จะไม่ได้แก้ที่สาเหตุของความกังวล แต่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยลดความทุกข์ทรมานไปได้มาก

มักมีผู้เข้าใจผิดว่า “ยาลดความกังวล” เป็นยาเสพติด หรือมีความอันตรายมาก อันที่จริงจิตแพทย์ทั่วโลกยอมรับกันแล้ว ว่ายากลุ่มนี้ เป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง มีประโยชน์มากกว่าโทษมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้ก็ยังคงต้องมีการควบคุมจากแพทย์ เพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด หรือใช้โดยไม่มีเหตุผลสมควร การใช้ยาจึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น ความหมายว่าต้องมีการตรวจและวินิจฉัยก่อน ว่าเป็นอะไรกันแน่ แล้วค่อยวางแผนว่าจะแก้ด้วยวิธีใด จะใช้การพูดคุย หรือใช้ยา หรือจะใช้ทั้ง 2 อย่างรวมกันก็ได้

วิธีการอื่นที่อาจจะนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคประสาท

อาจใช้พฤติกรรมบำบัด การฝึกคลายกล้ามเนื้อ การฝึกสมาธิ โดยเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสมเป็นราย ๆ ไป วิธีการเดียวกัน อาจใช้ได้กับผู้ป่วยรายหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้ผลในอีกรายหนึ่ง ทั้งนี้เพราะพื้นฐานทางจิตใจและบุคลิกภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้ามีวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ที่ใช้รักษาได้ผลในผู้ป่วยทุกราย ก็คงไม่ต้องมีการคิดหาวิธีอื่นมาอีก

สิ่งสำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคประสาทได้ก็คือ การช่วยให้เขาเข้าใจถึงปัญหา เข้าใจเหตุแห่งปัญหา และหาทางแก้ปัญหาได้

แต่สิ่งที่เรียกว่าการแก้ปัญหา คือ การป้องกันปัญหาตั้งแต่มันยังไม่เกิดขึ้น เพราะโรคประสาท เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการเลี้ยงดูอย่างถูกวิธี ให้ความรักความอบอุ่น ให้การอบรมสั่งสอนอย่างถูกต้อง ให้มีค่านิยมที่เหมาะสม รู้จักช่วยเหลือตนเอง รู้จักใช้กลไกทางจิตที่เหมาะสม เพื่อจะได้เป็นคนที่มีพื้นฐานทางจิตใจมั่นคง มีสุขภาพจิตดี มีปัญหาอะไรก็ตาม ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความมั่นใจ เรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้แบบไร้กังวล

ที่มาและการอ้างอิง : อาการและการบำบัด โรคจิต โรคประสาท โดย นพ. เกษม ตันติผลาชีวะ