วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

วิธีแก้อาการปวดข้อ ปวดเข่า ปวดกระดูก และโรคข้อเสื่อม Ep.134

เมื่อร่างกายคนเราเติบโตเต็มที่ ในวัยย่างเข้าสู่เลขสาม การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จากการพัฒนาหรือสร้างเสริม ก็จะเริ่มลดน้อยถอยลง จนกระทั่งถึงช่วงเวลาของการหยุดการพัฒนา มาสู่ช่วงแห่งการเสื่อมถอย อวัยวะต่าง ๆ ของคนเราในช่วงนี้ จะเริ่มเสื่อมสภาพลงช้า ๆ

เริ่มจากกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงยืดหยุ่นเหมือนก่อนมา สู่การเสื่อมของกระดูกและฟัน ก่อนผันไปสู่เนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ที่เริ่มลดสมรรถภาพในการสร้างเสริม ป้องกัน และรักษาโรค ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติต่อไปตามลำดับ

การเสื่อมสมรรถภาพของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย จึงถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับทุกคน และถึงแม้เราจะหยุดยั้งความเสื่อมถอยเหล่านี้ไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถ “ตั้งรับ” ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมและถูกต้องได้ โดยการไปพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

อาทิ เมื่อได้รับอาการบาดเจ็บหรือมีอาการปวดข้อ ให้ทำการพับข้อที่ปวด และประคบด้วยน้ำแข็งหรือแผ่นทำความร้อน – เย็น ประมาณ 15 นาที แล้วรับประทานยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล พร้อมกับนอนพักสักครู่

แต่ถ้าอาการเจ็บป่วยนั้นเกิดขึ้นที่ข้อเท้า ให้แช่เท้าลงในน้ำเย็นประมาณ 3 – 5 นาที แล้วทำซ้ำอีก 2 – 3 ครั้ง เพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบ แต่ถ้าอาการมันเกิดขึ้นที่บริเวณข้อศอก หรือด้านนอกของข้อเข่า ต้องระวังอย่าใช้น้ำที่เย็นจัดในการประคบ และไม่ควรประคบนานจนเกินไป จะทำให้เส้นประสาทบริเวณนั้นอ่อนแอลงได้

สำหรับผู้ป่วยข้อเสื่อมที่มีระบบการไหลเวียนเลือดไม่ดี หลังจากประคบด้วยน้ำเย็นผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง ให้ประคบด้วยน้ำอุ่นซ้ำ ครั้งละ 15 – 20 นาที วันละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อลดการอักเสบ จากนั้นอาจใช้ยาหม่อง หรือยาสมุนไพรมาถูแล้วนวดเบา ๆ แล้วพันทับด้วยผ้าพันแผลชนิดยืด และพักการใช้ข้อต่อบริเวณนั้นเป็นการชั่วคราว จนกว่าอาการเจ็บป่วยจะหายไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดอาการปวด สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อระงับปวดได้เช่นกัน แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 10 วัน เพราะจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อตับได้

นอกจากนี้ที่กล่าวมาแล้วนี้ การทำกายภาพบำบัด ก็นับว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ แต่ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดด้วย

ที่มาและการอ้างอิง : รู้ทันโรคบริโภคสมุนไพร ผู้แต่ง อารีรัตน์