วันพุธ, 11 ธันวาคม 2567

8 ข้อดีของการเล่านิทานให้ลูกฟัง

23 ก.พ. 2018
5488

“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ประโยคคุ้นหูที่สร้างรอยยิ้มเสียงหัวเราะให้กับลูก ที่หมายถึงการเริ่มต้นการเล่านิทานสักเรื่อง อาจเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาหรือเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ลูกมีความสนุกสนานผ่อนคลายอารมณ์ สอดแทรกแนวคิดคุณธรรม ทักษะการใช้ชีวิตด้านต่างๆ สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ ผ่านการเล่าด้วย น้ำเสียง สีหน้า แววตา ท่าทางของผู้เล่าอย่างน่าสนใจ ซึ่งอาจมีสื่ออุปกรณ์ เช่น หุ่นมือ หุ่นนิ้วมือ หรือหนังสือประกอบ จะทำให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

 

 

ต้องเลือกเนื้อหาของนิทาน

พ่อแม่ะควรเลือกนิทานให้เหมาะกับพัฒนาการตามวัยและความสนใจของเด็ก เช่น เด็กเล็กชอบดูภาพสีสดใสเกี่ยวกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว คำศัพท์ใหม่ๆ เด็กโตจะชอบเรื่องที่มีจินตนาการมีลำดับเหตุการณ์เป็นต้น นิทานเปรียบเสมือนอาหารสมองและอาหารใจ ที่ช่วยพัฒนาสมองของลูกร่วมถึงยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกได้

 

คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่มองข้ามความสำคัญ

ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง จึงทำให้พ่อแม่มองข้ามความสำคัญของการเล่านิทานให้ลูกฟังไป แล้วหันมาใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์อย่าง ทีวี แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ เกมคอมพิวเตอร์ ช่วยเลี้ยงลูกแทน เพราะเข้าใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะช่วยทำให้ลูกฉลาด ทันสมัย ก้าวทันเทคโนโลยี เด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยเทคโนโลยีมากเกินไปจะเกิดผลเสียต่อพัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร เนื่องจากเป็นการสื่อสารทางเดียว ซึ่งจะส่งผลให้เด็กพูดช้า หรือไม่พูด

 

บางท่านก็เข้าใจผิดว่าเป็นการเสริมสร้างสมาธิให้ลูก เพราะขณะที่เด็กใช้อุปกรณ์สื่อสารแล้วอยู่นิ่งไม่ซน แต่กลับทำให้เด็กมีสมาธิสั้นเนื่องจากภาพที่ปรากฏ มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเล่นเกมที่ต้องกดแข่งจับความเร็วเพื่อให้ได้คะแนนสูงๆ ทำให้เด็กหุนหันพลันแล่น ขาดความยั้งคิด เป็นต้น ต่างจากการเล่านิทานที่เป็นการสื่อสารสองทางระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง จึงได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ และสอดแทรกความสนุกสนานควบคู่กันไปด้วย

 

ประโยชน์ดีๆที่ควรเล่านิทานให้ลูกฟังเล่านิทานให้ลูกฟังตอนกี่เดือน เพราะหนังสือนิทาน เป็นอุปกรณ์หรือของเล่นส่งเสริมพัฒนาการของลูกที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งการเลือกหนังสือนิทานและวิธีการเล่าเรื่องที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกายสังคมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้น ส่วนจะมีอะไรอีกบ้างนั้นมาดูกันสัก 8 ข้อ

 

1.เด็กเรียนรู้ภาษาได้เร็วขึ้น

ทั้งการรับรู้และการใช้ภาษา การฟังนิทานจะทำให้เด็กรู้จักคำศัพท์ต่างๆ การเชื่อมโยงการใช้คำต่างๆ ลำดับเหตุการณ์ในการเล่าเรื่อง โดยการเล่าเรื่องควรให้เด็กมีโอกาสโต้ตอบหรือเล่าเรื่องตามจินตนาการ นอกจากนั้นพ่อแม่ยังสามารถสอนภาษาที่สองหรือสาม เช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน จากการอ่านนิทานให้ลูกน้อยได้ฟังอีกด้วย

 

2.เสริมสร้างสมาธิ

ฟังนิทานบ่อยๆ ช่วยให้เด็กสนใจติดตาม มีจิตใจจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น การเลือกเล่านิทานที่เหมาะกับช่วงวัยจะทำให้เด็กเข้าใจ อยากรู้อยากติดตามต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้น คือเป็นการช่วยฝึกสมาธิให้ลูกได้ดีอีกวิธีหนึ่งที่เห็นผลชัดเจน

 

3.กระตุ้นจินตนาการ

ขณะที่ฟังการเล่าเรื่อง เด็กจะมีการใช้สมองคิดตาม เพราะน้ำเสียงที่เรากำลังเล่านิทานและเนื้อหาของเรื่องจะกระตุ้นให้เด็กสร้างจินตนาการ เป็นภาพในสมองและเกิดการรับรู้สิ่งใหม่ๆที่เด็กไม่เคยพบเจอทางตัวละครต่างๆในนิทาน ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพด้านจินตนาการของเด็กอย่างเห็นผล

 

 

4.ปลูกฝังให้เด็กเป็นคนช่างคิดช่างสังเกต

ทุกครั้งที่เด็กได้ฟังนิทาน เขาจะคิดต่อเนื่องไปอย่างอัตโนมัติ ซึ่งถ้าหากลูกๆของคุณโตพอที่จะพูดคุยได้แล้ว เขาจะแสดงออกทางด้านความคิดให้คุณเห็นอย่างชัดเจน นอกจากนั้น การเล่านิทานซ้ำๆจะช่วยฝึกฝนให้เด็กรู้จักการจับประเด็น และมองสิ่งต่างๆเป็นระบบรวมทั้งเข้าใจภาพรวมของเรื่องนั้นได้อย่างรวดเร็ว

 

5.เพาะนิสัยรักการอ่าน

การเล่านิทานเป็นการกระตุ้นให้เด็กรักการอ่าน โดยพื้นฐานแล้วเด็กจะมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่ในตัว ฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่เลือกที่จะเล่านิทานเฉพาะบางตอนหรือเล่าแบบทิ้งปริศนาเอาไว้ให้ลูกค้นหา รวมถึงพาลูกไปร้านหนังสือ แล้วให้เขามีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือนิทานเองบ้าง ก็จะทำให้เขาอยากรู้ว่า เนื้อหาของนิทานเรื่องนั้นว่าเป็นอย่างไร จึงอยากที่จะอ่านเองหรือดูภาพและจินตนาการตามไป แค่นี้การอ่านหนังสือก็เป็นเรื่องน่าสนุกและสร้างการเรียนรู้ให้กับลูกไปในตัวได้แล้ว

 

6.ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์

ขณะฟังนิทานเด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินมีความกล้าแสดงออก มีจินตนาการหรือความคิดของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการสร้างความมั่นใจในตนเองในอนาคต

 

7.บ่มเพาะคุณธรรม

โดยเนื้อหาในนิทานควรสอดแทรกความมีระเบียบวินัย คุณธรรม คุณงามความดี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปัน การมีจิตเมตตาเอื้ออาทรกับผู้อื่น การให้อภัย ซึ่งเป็นประสบการณ์และทักษะในการดำเนินชีวิต ที่ลูกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

 

8.การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว

ช่วงเวลาการเล่านิทาน เป็นเวลาแห่งความสุขของทุกคนในครอบครัว รู้สึกว่าได้รับความรักความเอาใจใส่ความอบอุ่น ลูกก็จะคอยติดตามเวลาแห่งความสุขนี้ทุกวัน

 

ทั้ง 8 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น คือวิธีการเล่านิทานให้มัดใจเด็ก เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผู้ปกครองคงอยากรีบเล่านิทานให้ลูกฟัง แต่ติดอยู่ตรงที่ว่าจะเล่าให้สนุกและชวนติดตามได้อย่างไร วันนี้เรามีเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยให้การเล่านิทานเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่อมาฝากกัน

 

เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม

เริ่มจากเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมว่าขณะนั้นอารมณ์ของลูกอยากฟังนิทานหรือไม่ หากเป็นช่วงเวลาที่ลูกอยากทำกิจกรรมอื่นๆ ก็ไม่ควรบังคับมานั่งฟังนิทานและควรเล่าในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เช่นหลังกินข้าวหรือก่อนนอน เป็นต้น ต่อมาคือการเลือกเนื้อหาของเรื่องที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือประกอบก็ได้ แต่การดำเนินเรื่องควรเล่าด้วยความสนุกสนานไม่ใช่การอ่านหนังสือให้เด็กฟัง

 

เล่านิทานให้ลูกฟังด้วยความสนุกสนาน

เรื่องของวิธีการเล่านิทาน คุณพ่อคุณแม่ควรเล่าด้วยน้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง อารมณ์ ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจจะมีการเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง เสียงคลื่น เป็นต้น รวมถึงประยุกต์สิ่งของที่มีอยู่รอบตัวมาสร้างเป็นฉากประกอบในนิทาน ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม เล่าเรื่อง หรือแสดงท่าทางประกอบการเล่านิทาน ทำให้เด็กรู้สึกว่านิทานเรื่องนี้ มีความน่าสนใจ และช่วยกระตุ้นจินตนาการและพัฒนาการของเด็กๆได้เป็นอย่างดี

 

ตั้งคำถามให้ลูกได้คิดตามหรือมีการตอบโต้กัน

ขณะเดียวกันควรหมั่นตั้งคำถามให้เด็กๆได้คิดตาม และตอบโดยไม่ต้องคาดคั้นเอาคำตอบ ให้เด็กๆรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในนิทานของคุณ แค่นี้ต่อให้คุณแม่เล่านิทานในเรื่องเดิมซ้ำกี่รอบ ลูกๆก็จะไม่เบื่อ เพียงเท่านี้นิทานก็จะเป็นเหมือนคู่มือเสริมสร้างความฉลาดที่สนุกกับการเรียนรู้ของลูกรักได้ในทุกๆวัน

 

ว่าแต่คืนนี้ คุณอย่าลืมหันมาสร้างบรรยากาศแห่งความสุขด้วยการเล่านิทานให้ลูกรักฟังด้วยนะคะ

 

ที่มาและการอ้างอิง : นิตยสาร แบรนด์ เพื่อนแท้ ของชีวิต