วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

เจ็บคอ อย่าใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น Ep.75

เจ็บคอ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย บางคนเมื่อมีอาการเจ็บคอขึ้นมา เข้าใจว่าเป็นคออักเสบ ก็จะซื้อยาแก้อักเสบมากินเอง เพียง 2-3 วัน ก็ดีขึ้น จึงมีความฝังใจว่าเป็นวิธีดูแลตัวเองที่ถูกต้อง ก็จะทำแบบนี้ทุกครั้งที่มีอาการเจ็บคอ จริงๆ แล้ว อาการเจ็บคออาจเกิดจากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็นสาเหตุที่ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการบำบัดรักษา ยกเว้นเกิดจากทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (มีไข้สูง เจ็บคออย่างมาก และตรวจพบว่าทอนซิลบวมโตและอักเสบมาก) ซึ่งแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ

 

 

บางคนคิดว่าอาการเจ็บคอเกี่ยวข้องกับคออักเสบ จึงหา “ยาแก้อักเสบ” มากิน โดยหารู้ไม่ว่า “ยาแก้อักเสบ” นั้นที่แท้คือยาปฏิชีวนะ ที่มีประโยชน์ในการบำบัดโรคติดเชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่มีประโยชน์ในการแก้อักเสบที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ แต่อย่างใด การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น นอกจากสิ้นเปลืองแล้ว ในระยะยาวยังอาจเกิดโทษต่อร่างกาย เช่น ส่งเสริมให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา การแพ้ยา การเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้

 

สาเหตุที่พบบ่อยของอาการเจ็บคอ

1.กรณีเจ็บคอร่วมกับมีไข้

1.1 คออักเสบจากเชื้อไวรัส/ไข้หวัด ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอเล็กน้อย ตรวจดูภายในลำคอ ไม่พบว่ามีทอนซิลโตและผนังคอหอยไม่มีลักษณะอักเสบ (คือไม่พบว่ามีสีแดงกว่าปกติ) ในกรณีที่เป็นไข้หวัด จะมีอาการเจ็บคอในลักษณะดังกล่าวในวันแรกๆ และต่อมาเมื่อมีอาการน้ำมูกไหล อาการเจ็บคอมักจะทุเลาไปเอง

1.2 ทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยจะมีไข้สูง เจ็บคอมาก กลืนลำบาก ตรวจดูภายในลำคอพบทอนซิลบวมโต ออกสีแดงจัดและอาจมีจุดหนองอยู่บนทอนซิล

 

2.กรณีเจ็บคอโดยไม่มีไข้

2.1 โรคภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย และมักมีอาการคันคอ คันจมูก จาม น้ำมูกใสๆร่วมด้วย เวลาสัมผัสถูกสิ่งที่แพ้ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร อากาศเย็น เป็นต้น มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง

2.2 การระคายเคือง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อย เวลาถูกสิ่งระคายเคือง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เป็นต้น เมื่อละเว้นจากสิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยๆ ทุเลาไปเอง

2.3 แผลร้อนใน (แผลแอฟทัส) เมื่อเกิดขึ้นที่คอหอย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคออย่างมาก จนกลืนและพูดลำบาก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บทั่วลำคอ แต่สามารถบอกชี้ได้ว่ามีจุดที่เจ็บตรงไหนได้ชัดเจน อาการเจ็บจะเป็นมากที่สุดใน 3-4 วันแรก หลังจากนั้นจะเจ็บน้อยลง และค่อยๆทุเลาไปได้เองภายใน 7-10 วัน

2.4 โรคกรดไหลย้อน มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป (ส่วนน้อยอาจพบในวัยหนุ่มสาว) ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอเล็กน้อยในช่วงหลังตื่นนอนตอนเช้า อาจมีอาการเสียงแหบหรือไอร่วมด้วย พอสายๆ ก็ทุเลาไป มักเป็นทุกวัน เรื้อรังเป็นแรมเดือน หรือจนกว่าได้รับการบำบัดรักษา บางคนอาจมีอาการเจ็บลิ้นปี่หลังกินอาหารร่วมด้วย

 

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บคอ สามารถปฎิบัติตัวดังนี้

1. ควรไปพบแพทย์ หากมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
– มีไข้สูง และเจ็บคอมาก
– มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว
– มีอาการเจ็บคอทุกวันเกิน 1 สัปดาห์
– คลำได้ก้อนแข็งที่ข้างคอ

2. หากไม่มีอาการดังในข้อ 1 ควรให้การดูแลเบื้องต้นดังนี้
– งดดื่มเหล้า และบุหรี่
– หากมีน้ำมูกใสหรือมีอาการของโรคภูมิแพ้ ให้กินยาแก้แพ้-คลอร์เฟนิรามีน
– หากมีไข้หรือเจ็บคอมาก ให้กินพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
– กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือป่น 1 ช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว วันละ 2-3 ครั้ง
– หากไม่ทุเลาใน 4 วัน ควรไปพบแพทย์

 

ที่มาและการอ้างอิง

https://www.facebook.com/folkdoctorthailand/