วันศุกร์, 26 เมษายน 2567

สีของปัสสาวะบอกโรคได้ สังเกตด้วยตัวเองแต่เนิ่น ๆ Ep.79

ปัสสาวะที่เราขับถ่ายออกมาแต่ละวัน หากเราใส่ใจดูสักนิด บางทีอาจจะทราบได้ว่ามีโรคได้แต่เนิ่น ๆ แพทย์ที่มีชื่อเสียงตั้งแต่สมัยโบราณมา มักมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งรวมกันคือ เป็นผู้ที่ช่างสังเกต ไม่ปล่อยให้ความผิดปกติแม้เล็กน้อยเลยตามเลยไป แพทย์ที่ดีนั้นสามารถวินิจฉัยโรคได้มากกว่า 90% จากการซักประวัติและตรวจร่างกายคุณอย่างละเอียดโดยไม่ต้องมีเอ็กซเรย์ ซีทีสแกนหรือส่องกล้องให้วุ่นวาย ลองดูได้จากบันทึกในปูมแพทย์ของกรีกโบราณที่ลงรายละเอียดไว้อย่างน่าทึ่ง แม้แต่สีและความถี่ของการขับถ่ายของผู้ป่วย ในประเทศจีนก็เช่นกันแพทย์หลวงในพระราชวังต้องห้ามนั้น ไม่ได้มีโอกาสแม้แต่จะสัมผัสร่างของบรรดาชายาพระจักรพรรดิ์ แต่สามารถตรวจได้จากชีพจรที่ใช้ด้ายผูกข้อมือ โยงมาร่วมกับลักษณะผิดปกติเพียงเล็กน้อยของปัสสาวะและอุจาระ

 

 

ที่จริงแล้วปัสสาวะสามารถบอกโรคได้หลากหลายมาก แต่จะขอแนะวิธีสำหรับโรคที่พบบ่อย และสามารถป้องกันได้เองแต่เนิ่นๆ แม้ไม่ใช่แพทย์แต่ก็สามารถใช้ความรู้ที่แนะนำให้ต่อไปนี้ ในการสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองได้ เพราะคุณเป็นคนเดียวที่เห็นปัสสาวะของตัวเองตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อดังนี้

 

1.“สี” สี ของปัสสาวะเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะบอกว่า ร่างกายของคนเราได้รับน้ำเพียงพอแค่ไหน เนื่องจากร่างกายแต่ละคนต้องการน้ำไม่เท่ากัน แพทย์แนะนำว่า ควรดื่มมากพอที่จะถ่ายปัสสาวะได้ทุกๆ 3-4 ชั่วโมง หากปัสสาวะคุณเป็นสีเหลือเข้มกว่าปกติ แสดงว่าคุณกำลังขาดน้ำ หรือถ้าปัสสาวะขุ่นผิดปกติ (จากการที่มีโปรตีนร่วมกับเม็ดเลือดขาวปนออกมา) ร่วมกับปัสสาวะบ่อยหรือแสบขัด แสดงว่าคุณมีภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะแล้ว ซึ่งอาจลุกลามไปทำให้กรวยไตอักเสบและไตวายได้ ส่วนถ้ามีเลือดออกมากับปัสสาวะในปริมาณที่เห็นด้วยตาเปล่าได้ อาจแสดงถึงกระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งมักเกิดในสาวที่เพิ่งมีเพศสัมพันธ์ใหม่ๆ (Honeymoon cystitis) วิธีแก้ในช่วงแรกนั้นง่ายมาก เพียงแต่คุณปัสสาวะทิ้งเสียก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์เสร็จ แล้วเมื่อไรที่เริ่มปัสสาวะขัดให้ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้องวันละ 2 ลิตร หรือในผู้ที่เป็นดีซ่านจากโรคตับ (Hepatic jaundice) นั้นจะมีปัสสาวะสีเหลือเข้มเกือบเป็นสีน้ำตาล สำหรับปัสสาวะสีดำในเด็กแรกเกิดนั้น นึกถึงโรคทางพันธุกรรมชื่อ “อัลแคปตอนยูเรียน” (Alkaptonuria) ซึ่งพบโดยแพทย์ชาวนอร์เวย์

 

2.”กลิ่น” ในส่วนของกลิ่นนั้นอาจสังเกตได้ลำบากสักหน่อย แต่หากปัสสาวะมีกลิ่นคาวร่วมกับขุ่น อาจแสดงว่าคุณมีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือในผู้ป่วยเบาหวาน หากมีกลิ่นผิดปกติในปัสสาวะ แสดงว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก จนร่างกายต้องสลายไขมันมาใช้ทำให้เกิดกลิ่นคีโตน (Ketone body) หอมหวานในปัสสาวะ ภาวะนี้ไม่ดี มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ในระยะท้าย ๆ ที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือลืมใช้อินสุลินฉีด นอกจากนั้นหากคุณบังเอิญกินวิตามินบี 6 เสริมอยู่ หรือกินหน่อไม้ฝรั่งแอสพารากัสเข้าไป ก็ไม่ต้องตกใจ ปัสสาวะอาจะมีสีเขียวร่วมกับมีกลิ่นแปลก ๆ ได้

 

3.”ฟอง” หากมีฟองมาก หมายถึงมาจริงๆ จนดูผิดสังเกตจากปกตินะครับ เพราะปกติปัสสาวะก็มีฟองอยู่แล้ว หากมีฟองมากแสดงว่ามีปริมาณโปรตีนผ่านออกมาจากหน่วยไตได้ โดยไม่ถูกกรองเก็บไว้ มักพบในโรคหน่วยไตอักเสบ (glomerulonephritis) หรือเกิดจากท่อปัสสาวะที่อักเสบติดเชื้อแล้วมีมูกปนลงไปในปัสสาวะได้

 

เมื่อพูดถึงการสังเกตปัสสาวะ โดยอายตนะทั้งสองคือการดูและดมไปแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าจะให้ชิมเพื่อสังเกตรสที่ผิดปกติ ที่จริงแล้วหมอสมัยก่อนนั้นต้องชิม เพราะรสของปัสสาวะก็สามารถบ่อบอกได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคเบาหวาน แต่การชิมปัสสาวะสดๆ นั้นไม่ถูกอนามัยอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับคุณกลืนกินเชื้อแบคทีเรียที่ปนออกมาด้วย หากผู้ป่วยติดเชื้ออยู่แล้วยิ่งทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น ฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่มีคนที่เป็นโรคชอบปัสสาวะ แม้กระทั่งกินเข้าไปได้อยู่จริงๆ ทางการแพทย์เราเรียกภาวะนี้ว่า “ยูโรฟิเลีย” (urophilia) ก่อนจะคลื่นไส้กันไปมากกว่านี้ ขอฝากไว้สักนิดว่า เมื่อได้รู้ความสำคัญของปัสสาวะแล้ว ทุกครั้งเวลาเข้าห้องน้ำ ช่วยก้มลงไปสังเกตความผิดปกติสักนิดก่อนชักโครกทิ้งไป คงไม่ยากเกินไปในการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ

 

ที่มาและการอ้างอิง

ถอดรหัสความชรา ตอน 120 วิธี อายุยืน 120 ปี เล่ม 1  เรียบเรียงโดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช