วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

ทำผนังบ้านต้องรู้ 6 ข้อต่อไปนี้

บ้านที่สร้างไปแล้ว พอเวลาผ่านไปอาการชำรุดต่าง ๆ ก็เริ่มแสดงออกมาให้เห็น บทความนี้นำเสนอเรื่องของ “ผนังบ้าน” เพราะการเริ่มต้นอย่างถูกต้อง เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ถูกต้อง และวิธีการที่ถูกต้อง จะทำให้บ้านของเราไม่เกิดอาการชำรุดออกมาให้เห็นก่อนเวลาอันควร รวมไปจนถึงวิธีการแก้ปัญหาในส่วนของผนังบ้านบางจุดด้วย ดังนั้น 6 ข้อต่อไป จะช่วยให้เจ้าของบ้านตรวจสอบงานช่างได้อย่างดี

 

 

1.ผนังรั่วแล้วออกไปซ่อมไม่ได้

บ้านหรือห้องแถวหลายหลัง ที่อยู่ติดกับที่ดินคนอื่น อาจอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถออกไปข้างนอก เพื่อดูแลบํารุงรักษาได้ หรืออาคารที่มีความสูงมาก การบํารุงรักษาจากภายนอกจะลําบาก หรืออาคารทั่วไป หากมีปัญหาผนังรั่วจากภายนอก แล้วพยายามแก้ไขมาหลายครั้ง แต่แก้ไม่ได้ ขอแนะนําให้ทําผนังภายในขึ้นมาอีก 1 ชั้น ทำพื้นระหว่างผนังทั้งสองให้ลาดเอียง แล้วเจาะรูให้น้ําไหลออก ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้

 

2.ทําผนังห้องใต้ดินต้องก่อสร้างให้ถูกวิธี

โดยปกติ งานผนังไม่ถือเป็นงานโครงสร้าง แต่ถือเป็นเพียงงานสถาปัตยกรรม แต่ผนังห้องใต้ดินเป็นทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานโครงสร้างในคราเดียวกัน เพราะผนังห้องใต้ดินจะต้องทําหน้าที่แบ่งกั้นห้อง และทําหน้าที่รับน้ำหนักดินที่กดดันเข้ามา นอกจากนั้น ยังต้องทําหน้าที่กันน้ำและความชื้นจากน้ำใต้ดินอีกด้วย ในส่วนพื้นฐานที่ต้องระมัดระวังคือ

  1. คอนกรีตที่ใช้จะต้องผสมน้ำยากันซึมเสมอ
  2. ทุกจุดที่จะหยุดเทคอนกรีต จะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า และใส่ Water Stop หรือ แผ่นรุ่นเล็กเพื่อป้องกันน้ำซึมเข้าทางรอยต่อคอนกรีตนั้น
  3. หากเป็นไปได้ Water Proofing Membrane หรือแผ่นยาง-แผ่นพลาสติกไว้ที่พื้น (และอาจรวมผนังด้วย) ไว้ด้านนอกด้วย
  4. อย่าเปลี่ยนแปลงแบบ (เช่น การหดหรือขยายห้องใต้ดิน) เมื่อมีการเริ่มลงมือก่อสร้างห้องใต้ดินไปแล้ว เพราะอาจเกิดการรั่วซึมในส่วนที่ต่อเติมได้

 

3.จับเซี้ยม จับฉาก จับปุ่ม คืออะไร ? (แถมวิธีก่ออิฐให้ร้าว)

การจับเซี้ยม จับฉาก จับปุ่ม เป็นกรรมวิธีจัดเตรียมระดับ – ระยะก่อนการฉาบปูน ลักษณะเป็นปุ่มปูนทราย ที่แสดงถึงแนวสันของผนัง หรือมีระนานแบนให้เห็นความหนาของผิวปูนที่จะฉาบลงไป การฉาบปูนที่ถูกกรรมวิธี ช่างปูนจะต้อง จับเซี้ยม – จับฉาก – จับปุ่ม ก่อนที่จะฉาบปูนเสมอ

 

หากท่านเห็นว่าช่างปูนใด ฉาบผนังบ้านท่านโดยไม่ทําเซี้ยม – ฉาก – ปุ่มเสียก่อน ก็น่าจะบอกผู้ก่อสร้าง ให้เปลี่ยนช่างปูนได้แล้ว การก่ออิฐที่ถูกกรรมวิธีนั้นจะต้องดําเนินการดังนี้ :

1. อิฐจะต้องชุบน้ำให้ชุ่มน้ำเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอิฐจะดูดซึมน้ำปูน จนปูนก่อไม่ทําหน้าที่ยึดเกาะที่ดี

2. การก่ออิฐจะต้องไม่ก่อสูงมากนักในทีเดียว จะต้องทิ้งไว้ให้ปูนก่อยุบตัวลงมา แล้วจึงก่อต่อไปจนหมด และทิ้งช่องว่างระหว่างผนังกับท้องพื้นด้านบนไว้หน่อยก็จะยิ่งดี ภายหลังเมื่อผนังทรุดตัวดีแล้ว จึงก่ออิฐก้อนสุดท้ายได้

3. เมื่อก่ออิฐเสร็จแล้ว ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 1 วันให้ผนังอยู่ตัว และความร้อนจากปูนก่อเย็นลง จึงเริ่มจับเซี้ยม – จับฉาก – จับปุ่ม แล้วฉาบปูน

4. การฉาบปูนต้องมีส่วนผสมที่ดี และผสมน้ำยาเคมีประสานพิเศษกันแตกและห้ามฉาบปูนหนาเกินไป เพราะความร้อนของปูนชั้นในจะระเหยดันออกมายังชั้นนอก และทําให้ปูนฉาบนั้นแตกได้

5. การฉาบปูนที่ดี ไม่ควรใช้ฟองน้ำที่แห้งเกินไป เพราะจะดูดน้ำปูนออกจากปูนฉาบ หากมีงบประมาณเพียงพอ ให้ใช้วิธี “ปั่นแห้ง” ซึ่งช่างประเภทนี้กําลังจะหมดจากประเทศไทยเราแล้ว

6. หากผิวปูนฉาบมีรอยแตกคล้ายลายงา ไม่ใช่เรื่องที่คอขาดบาดตาย ทิ้งเอาไว้สักพักแล้วใช้สีโป๋วลงไป ผิวแตกลายงานั้นจะหายไปเอง

 

4.เลือกกระเบื้องห้องน้ําทั้งพื้นและผนังต้อง ยี่ห้อ-รุ่น เดียวกัน

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงของวงการผลิตกระเบื้องบ้านเรา ที่แต่ละยี่ห้อ และ แต่ละรุ่น (แม้จะยี่ห้อเดียวกัน) จะมีขนาดไม่เท่ากัน ! ถึงแม้แต่ยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน-สีเดียวกัน แต่เผากันคนละครั้ง ขนาดก็อาจไม่เท่ากันได้ เพื่อป้องกันปัญหาของแนวกระเบื้องพื้น และแนวกระเบื้องผนังไม่ตรงแนวกัน ในการเลือกกระเบื้องน่าจะเลือก กระเบื้องผนังและกระเบื้องพื้นที่ยี่ห้อเดียวกันและรุ่นเดียวกันเสมอ แต่ก็ควรระวัง อย่าใช้กระเบื้องที่ใช้สําหรับปูผนังอย่างเดียวมาปูพื้น เพราะจะลื่นหกล้มง่าย (ส่วนการเอากระเบื้องพื้นเอามาปูผนังไม่เป็นไร)

 

5.ห้ามใช้ฟองน้ำในการฉาบปูน

สํานักงานสถาปนิกหลายแห่ง จะระบุไว้ในรายละเอียดประกอบแบบเลยว่า “ห้ามใช้ฟองน้ำในการฉาบปูน” แต่ช่างปูนก็ชอบใช้แผ่นฟองน้ำไล่ผิวปูนฉาบ เพราะสามารถทํางานได้ง่ายและรวดเร็ว ที่ปูนร้าวก็เพราะว่าช่างปูนบิด (บีบ) น้ำออกจากฟองน้ำมากเกินไป แผ่นฟองน้ำจึงแห้งและดูดน้ำออกจากปูนฉาบ เมื่อฉาบเสร็จแล้วและปูนแห้งแล้ว น้ำจะระเหยออกจากปูนฉาบอีกมาก ปูนจึงแตกร้าว

 

6.ข้อควรระวังของอิฐโชว์แนว

จุดอ่อนของผนังก่ออิฐโชว์แนวก็คือ ไม่มีปูนฉาบหน้ากันความชื้น ดังนั้นในการก่ออิฐโชว์แนวสําหรับผนังด้านนอกอาคาร ไม่ควรที่จะก่อโชว์ทั้งสองด้าน มิเช่นนั้น เวลาฝนตกหรือมีความชื้นเข้ากระทบผนัง น้ำจะซึมเข้าด้านในได้โดยง่าย ข้อควรระวังอีกประการของการก่ออิฐโชว์แนวก็คือ อย่าก่อในบริเวณที่มีรถวิ่งผ่านหรือวิ่งเฉียด เช่น โรงรถ ข้างถนน เป็นต้น เพราะหากมีการกระทบ ให้อิฐโชว์แนวมีรอย การแก้ไขจะทําได้ยาก ส่วนใหญ่มักต้องทุบผนังทั้งแผงออกและก่อขึ้นใหม่

 

Source : ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง โดย : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์