วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

เสาเข็มมีกี่อย่างแล้วจะเลือกใช้อย่างไร

เสาเข็มโดยทั่วไปจะแยกออกได้เป็นสําคัญ 2 ประเภทคือ เสาเข็มตอก และ เสาเข็มเจาะ (ส่วนเสาเข็มพิเศษอื่น ๆ เช่น Micro Pile นั้น หากไม่ใช่วิศวกร ก็ไม่น่าจะไปสนใจ) “เสาเข็มตอก” และ “เสาเข็มเจาะ” ก็ยังสามารถแยกออกได้เป็นอย่างละอีก 2 ประเภท ซึ่งโดยสรุปรวมวิธีการทํางานและจุดดีจุดด้อย น่าจะสรุปพอเป็นสังเขปได้ดังต่อไปนี้ :

 

 

1. เสาเข็มตอกทั่วไป

จะมีหน้าตาต่างกัน บางทีก็เป็นสี่เหลี่ยม บางทีก็เป็นหกเหลี่ยม บางทีก็เป็นรูปตัวไอ ซึ่งทุกอย่างจะมีหน้าตัดต้นทั้งต้น เวลาตอกก็ตอกลงไปง่าย ๆ อย่างที่เราเห็นกันโดยทั่วไป

 

2. เสาเข็มกลมกลวง

เป็นเสาเข็มที่สามารถรับแรงได้มากกว่าเสาเข็มแบบแรก เพราะสามารถทําให้โตกว่าได้ ผลิตโดยการปั่นหมุนคอนกรีตให้เสาเข็มออกมากลมและกลวง เวลาตอก ส่วนใหญ่จะขุดเป็นหลุมก่อนแล้วกดเสาเข็มลงไป พอถึงระดับที่ต้องการจึงจะเริ่มตอก ทําให้มีส่วนของเสาเข็มไปแทนที่ดินน้อยลง (ดินถูกขุดออกมาบางส่วนแล้ว) อาคารข้างเคียงเดือดร้อนน้อยลงจากการเคลื่อนตัวของดิน (แต่ความดัง ฝุ่นละออง และความสะเทือนยังคงอยู่)

 

3. เสาเข็มเจาะแบบแห้ง

เป็นระบบเสาเข็มเจาะขนาดเล็ก ส่วนใหญ่จะลึกไม่เกิน 20 เมตร (แล้วแต่ระดับชั้นทราย) รับน้ำหนักต่อต้นได้ไม่เกิน 120 ตัน วิธีการคือเจาะดินลงไป (แบบแห้ง ๆ) แล้วก็หย่อนเหล็กเทคอนกรีตลงไปในหลุม ราคาจะแพงกว่าระบบเข็มตอก แต่เกิดมลภาวะน้อยกว่ามาก ทั้งเรื่องการเคลื่อนตัวของดิน ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง จึงเป็นที่นิยมใช้ในที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น

 

4. เสาเข็มเจาะแบบเปียก

ทําเหมือนเสาเข็มเจาะแห้ง แต่เวลาขุดดินจะขุดลึก ๆ แล้วใส่สารเคมีลงไปเคลือบผิวหลุม ดินที่เจาะทําหน้าที่เป็นตัวยึด ประสานดินและดันดินไม่ให้พังทลายลงเวลาเจาะลึก ๆ (ซึ่งสามารถเจาะได้ลึกถึงกว่า 70 เมตร) รับน้ำหนักได้มากและเกิดมลภาวะน้อย ราคาแพง

 

ดังนั้น การเลือกว่าจะใช้เข็มแบบไหนดี ต้องตั้งข้อสังเกตและปัญหาก่อน แล้วเปรียบเทียบความจําเป็น-ความเป็นไปได้ของแต่ละระบบในแต่ละงาน โดยยึดถือข้อหลักประจําใจในการพิจารณาดังนี้ : 1. ราคา / 2. บ้านข้างเคียง (มลภาวะ) / 3. ความเป็นไปได้ในการขนส่งเข้าหน่วยงาน / 4. เวลา (ทั้งเวลาทํางาน และเวลาที่ต้องรอคอย)

 

Tip : เหล็กข้ออ้อยวัดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางกันตรงไหน

แม้ในแบบจะระบุการใช้เหล็กข้ออ้อยตามขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง อย่าพยายามวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของเหล็กข้ออ้อยเป็นอันขาด (บางคนวัดจากข้อถึงผิว บางคนวัดจากผิวถึงผิว และข้อถึงข้อเอามาเฉลี่ย เป็นต้น) ตามมาตรฐาน ASTM บอกว่าห้ามวัดเหล็กข้ออ้อย ให้ใช้การชั่งน้ําหนักและทดสอบในห้องปฏิบัติการเท่านั้น

 

Source : ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง โดย : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์