วันเสาร์, 2 พฤศจิกายน 2567

ลูกเป็นภูมิแพ้ มารู้จักสาเหตุและการรักษา

12 ก.ค. 2019
1062

โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืดในเด็ก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากกรรมพันธุ์ ซึ่งทำให้เป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเด็ก เพราะอาจต้องงดกิจกรรมบางอย่าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักษาไม่ได้ ดังนั้นพ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาการในครั้งแรก และเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

 

โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด

โรคหอบหืด เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กจำนวนมากต้องหยุดเรียนและอยู่โรงพยาบาล เกิดจากท่อหลอดลมขนาดเล็กมีความไวต่อตัวกระตุ้น ทำให้เกิดอาการบวมของเยื่อบุทางเดินหายใจบริเวณนั้น และสร้างน้ำเมือกเหนียวจำนวนมาก ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง หายใจลำบากหากเหนื่อยและหายใจดัง เวลาหายใจออกคล้ายเสียงผิวปาก เรียกว่า เสียงหวีด บางครั้งแสดงอาการออกมาโดยไม่มีเสียงหวีด ส่วนใหญ่จะเป็นเวลากลางคืนหรือออกกำลังกาย

 

สาเหตุของโรค :

เกิดจากกรรมพันธุ์หลอดลมมีลักษณะที่ไวต่อตัวกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ การเป็นหวัด สารก่อภูมิแพ้ การออกกำลังกาย การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ความเครียด และอาหารบางอย่าง เด็กบางคนมีตัวกระตุ้นหลายตัว แต่บางคนไวต่อตัวกระตุ้นเพียงชนิดเดียว ควรสังเกตว่าอะไรเป็นสาเหตุการเกิดอาการ เช่น อาหาร โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ เด็กที่มีปัญหาโรคหอบหืดเรื้อรัง ควรได้รับการทดสอบเพื่อหาสาเหตุของการแพ้ ในเด็กโตการก่อภูมิแพ้มักจะเป็นสิ่งที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ เช่น รังแค หรือขนสัตว์ หรือเชื้อรา เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า สารก่อภูมิแพ้ชนิดสูดดม ที่พบบ่อยที่สุดคือ ซากแมลงสาบ และไรฝุ่น สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในพรม ผ้าม่าน และเฟอร์นิเจอร์

 

การรักษา :

เด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืดนี้ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ เพราะหากไม่รักษา โรคจะเป็นรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องหยุดเรียนบ่อยๆ รบกวนการนอนและจำกัดโอกาสในการออกกำลังกายของเด็ก หากได้รับการรักษาที่เหมาะสม ลูกจะใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่มีอาการหอบ การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสาเหตุของตัวกระตุ้น เช่น งดอาหารที่เป็นสาเหตุให้เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ชนิดสูดดม การรักษาจะคล้ายกับการรักษาโรคภูมิแพ้ที่เยื่อบุโพรงจมูก เด็กทุกคนไม่ควรเจอควันบุหรี่จากผู้อื่น ยิ่งถ้าเป็นโรคหอบหืด เพราะควันบุหรี่เป็นตัวกระตุ้นอาการอย่างมาก

 

โรคหอบหืดที่ไม่รุนแรง ต้องการเพียงการรักษาเป็นครั้งคราวเวลาเกิดอาการ แต่ถ้าเป็นรุนแรงและบ่อย ต้องรักษาด้วยการใช้ยาพ่นทุกวัน แม้ในวันที่ไม่มีอาการ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการ

 

ยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาขยายหลอดลม ช่วยทำให้กล้ามเนื้อรอบท่อหลอดลมขนาดเล็กขยายตัว ซึ่งช่วยป้องกันและทำให้เยื่อบุหลอดลมยุบไม่บวม ยาขยายหลอดลมได้ผลดีในกรณีที่หอบไม่มาก แต่ยาต้านการอักเสบจำเป็นในรายที่เป็นรุนแรงและเป็นซ้ำบ่อยๆ โดยใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลม ยาดังกล่าวจะมาในรูปแบบยาพ่นละอองฝอยและยากิน

 

เด็กที่มีปัญหาหอบบ่อย ควรได้รับยาต่อเนื่องเพื่อป้องกัน โดยเป้าหมายเพื่อให้เด็กใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ถูกจำกัดกิจกรรม และไม่มีอาการหอบเกิดขึ้นบ่อย เด็กจำนวนมากมีอาการดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แต่บางคนเป็นไปจนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งพยากรณ์ได้ยาก การรักษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดได้

 

ส่วนเด็กที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจไวต่อตัวกระตุ้น ช่วงอายุ 2-3 ขวบแรก เด็กบางคนมีอาการหอบเหนื่อยโดยไม่มีสาเหตุจากตัวกระตุ้น หรือสารก่อภูมิแพ้ แต่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส และส่วนหนึ่งมีอาการหอบหืดเมื่อโตขึ้น การรักษาเมื่อมีการหอบ ใช้วิธีเดียวกับการรักษาโรคหอบหืด คือ ยาขยายหลอดลม ถ้าทารกมีอาการหอบเหนื่อย ต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด

 

Source : คำภีร์เลี้ยงลูก , ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล)