วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2567

หยุดความรุนแรงในครอบครัวเพื่อลูก

12 ก.ค. 2019
1374

ทุกครอบครัว ย่อมมีความไม่ลงรอยกันอยู่ในบางเวลา การโต้เถียงก็มักจะลงเอยด้วยการตะโกนใส่กัน ข่มขู่ ท้าทาย จนเลยเถินมาจนถึงอาจจะใช้ความรุนแรงได้ ไม่นานมานี้เราพบว่า เด็กที่โตมาในครอบครัวที่เห็นความรุนแรง จะทำให้มีผลกระทบเกิดขึ้นได้นาน แม้ว่าเด็กอาจจะไม่ได้เป็นผู้ถูกกระทำก็ตาม เด็กที่เห็นพ่อหรือแม่ถูกทำร้าย จะมีความรู้สึกกลัวโกรธและรู้สึกไร้ความสามารถ ขณะที่เกิดการต่อสู้ เด็กจะมองอยู่มุมห้อง หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว เด็กจะเกาะติดแม่ซึ่งถูกทำร้ายมากขึ้น เพื่อไม่ให้แม่หายไปจากสายตา

 

 

ในภายหลังเด็กอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใช้ความรุนแรง โดยการตีแม่และหน้าท้องแบบเดียวกับพ่อ เด็กที่เห็นความรุนแรงบ่อย ๆ จนจำได้ อาจไม่อยากกินอาหาร นอนไม่หลับ เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง และอาจกลายเป็นเด็กก้าวร้าวไปในที่สุด

 

สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำก็คือ การยุติความรุนแรง นั่นอาจหมายถึง แม่และลูกต้องออกจากบ้านไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย ที่ใช้คำว่า “แม่” เพราะส่วนใหญ่ผู้เป็นแม่จะตกเป็นเหยื่อ หากพบกรณีที่พ่อเป็นเหยื่อของความรุนแรง (แต่น้อยมาก) ผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือเหยื่อควรโทรแจ้งสายด่วน 24 ชั่วโมงไปยังหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะรีบให้ความช่วยเหลือ และจัดหาที่ปลอดภัยให้กับเหยื่อ และดำเนินการดูแลเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจต่อไป ร่วมถึงดำเนินการทางด้านกฎหมายต่อผู้ใช้ความรุนแรง

 

นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พักพิง ศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เป็นต้น เพื่อให้เด็กที่มีพฤติกรรมผิดปกติซึ่งเป็นผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเยียวยาบาดแผลด้านจิตใจ ให้เด็กเติบโตต่อไปได้อย่างมีความรู้สึกเป็นสุขและปลอดภัย

 

Source : คำภีร์เลี้ยงลูก , ดร.สป๊อก-นายแพทย์เบนจามิน สป๊อก (เขียน).แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ (แปล)