วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

7 ข้อน่ารู้ เรื่องประตูหน้าต่างบ้าน

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรรู้สำหรับประตูหน้าต่างบ้าน หากติดตั้งอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้ไม่เกิดผลกระทบอื่น ๆ ตามมาให้ปวดหัว  7 ข้อต่อไปนี้ เป็นเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเลือกใช้และก่อสร้างประตูหน้าต่างให้ถูกต้อง

 

 

1.ซื้อขาวงกบห้องน้ำให้ยาวกว่าขาวงกบห้องธรรมดา

หากห้องน้ำของคุณ ลดระดับพื้นลงต่ำกว่าห้องธรรมดา และประตูห้องน้ำ มักจะต้องเปิดเข้าในห้องน้ำ เพื่อป้องกันน้ำกระเซ็นออกนอกห้อง ในขณะเดียวกัน คุณก็ (น่าจะ) ต้องการให้ระดับหลังวงกบหรือขอบบานประตูด้านบนของประตูทุกบานในห้องอยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและงดงาม ทําให้ความยาว (ความสูง) ของขาวงกบซึ่งวางอยู่ในห้องน้ํา จะต้องยาวกว่าขาวงกบธรรมดา ซึ่งจะยาวขึ้นทํากับความลึกของการลดระดับห้องน้ำ เช่น ห้องน้ำคุณลดระดับ 10 ซม. และวงกบทั่วไปคุณสูง 2.00 เมตร คุณต้องสั่งซื้อวงกบสําหรับห้องน้ำขนาด 2.10 เมตร เป็นต้น

 

2.เช็คประตูบานเกล็ดห้องน้ำว่าติดถูกต้องหรือไม่

เชื่อหรือไม่ว่า 90% ของประตูบานเกล็ดห้องน้ำในประเทศไทยนั้น ติดผิดด้าน โดยเอาด้านในติดออกมาแทนด้านนอก เพราะไปเคยชินกับการติดบานเกล็ดของ ประตูบ้านห้องอื่น ๆ ทั่วไป เป้าหมายของการติดประตูบานเกล็ดบ้าน (โดยเฉพาะด้านนอก) คือป้องกันน้ำฝนจากด้านนอกกระเด็นเข้ามาในบ้าน บานเกล็ดจึงปรับให้หันลงออกสู่ด้านนอก

 

แต่ประตูบานเกล็ดห้องน้ำ มีจุดประสงค์คือการป้องกันน้ำจากในห้องน้ำกระเด็นออก และป้องกันสายตาคนสัปดนแอบดูคนในห้องน้ำ จึงทําบานเกล็ดให้หันเอียงเข้าภายในห้องน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำในห้องน้ำกระเซ็นออกมา และคนสัปดนจะก้มลงดูเหตุการณ์ภายในห้องน้ำไม่ได้ ลองดูห้องน้ำบ้านคุณสักนิดว่า ติดผิดหรือเปล่า

 

3.อย่าออกแบบบานเกล็ดกระจกให้กว้างมากนัก

บานเกล็ดกระจก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปรับมุมได้) ไม่น่าจะออกแบบให้มีความกว้างของซองบานมากนัก เพราะกระจกจะรับน้ำหนักตัวเองไม่ไหว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับน้ำหนักตามแนวนอน) จะแอ่นหรือแตกหักได้

 

แต่หากคิดจะใช้กระจกที่หนาขึ้นเพื่อไม่ให้แอ่น ก็ระวังอุปกรณ์ปรับมุม จะรับน้ำหนักของกระจกไม่ไหว แม้คิดจะใช้อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่แข็งแรงพอรับน้ำหนักกระจกได้ ก็ขอให้เกรงใจคนที่จะต้องมาหมุนเปิดปิด ว่าเขาจะลําบากเพียงไร (อาจจะเป็นตัวท่านเองก็ได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ยุ่งยากวุ่นวาย ก็อย่าใช้บานเกล็ดที่มีขนาดโตกว่า 90 ซม. เลย หากขนาดช่องต้องโตมากกว่านั้น ก็แบ่งออกเป็น 2 ช่องดีกว่า

 

4.ไม้เต็งมาเลย์ทําวงกบได้หรือไม่

ไม้เต็งมาเลย์หรือไม้เนื้อแข็งมาเลย์ (ที่ยังไม่ผ่านการอบอัดอย่างถูกวิธี) เป็นไม้ที่ไม่น่าจะใช้ทําวงกบประตูหน้าต่างโดยเด็ดขาด เพราะจะ “ยืดหดและบิดงอ” เนื่องจากสภาพเมืองมาเลย์หรือภาคใต้นั้นอากาศจะชื้นและฝนตกมาก ต้นไม้รับน้ำหนักมากจะกลวง-นิ่ม-ยืด-หดง่าย ต่างกับเต็งหรือไม้เนื้อแข็งอีสานบ้านเฮา ที่แห้งแล้ง (แม้จะมีโครงการอีสานเขียวแล้วก็ตาม) ต้นไม้จะโตช้าและจะแน่น-แกร่งมากพอ ที่จะนำมาทำวงกบประตูหน้าต่างได้อย่างแข็งแรง

 

5.บานประตูไม้อัดบิดงอ จะแก้ไขได้อย่างไร

แก้ไขไม่ได้ ต้องทิ้งไปแล้วเอาบานใหม่เข้ามาเปลี่ยนแทน

 

6.ประตูบานเลื่อนสวนกัน ไม่จําเป็นอย่าใช้

ประตูบานเลื่อนสวนกัน นอกจากประโยชน์ที่ทําให้การตกแต่งภายในสามารถขยับได้บ้างแล้ว ก็ดูเหมือนไม่มีประโยชน์อย่างอื่นอีกเลย แต่สิ่งที่ไม่ดีก็คือ – ราคาแพง – ไม่แข็งแรง โดยเฉพาะเปิดรับลมได้เท่ากับบานเลื่อนที่เลื่อนได้ข้างเดียว (อีกข้างเป็นกระจกติดตาย) – ถ้ามีบานมุ้งลวดด้วย อาจทําให้วงกบประตูหนากว่าผนังก่ออิฐปกติ

 

7.ทําไมขอบวงกบประตูหน้าต่างมักจะมีรอยแตกร้าว

ปัญหานี้เป็นปัญหาคู่วงการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไร ยุคไหนก็ตาม ขอบวงกบมักจะมีรอยร้าวประดับทั่วไป ปัญหาน่าจะเกิดจากเหตุดังต่อไปนี้ :

  1. ไม่มีเสาเอ็น-ทับหลัง (เสาและคานคอนกรีตเล็ก ๆ) รัดรอบช่องเปิด เพื่อป้องกันการยืดหดตัวของวงกบไปกระทบกับผนังก่ออิฐ
  2. หากเป็นผนังคอนกรีต (ไม่ใช่ผนังก่ออิฐ) จึงไม่ต้องมีเสาเอ็น-ทับหลังฉาบปูน แล้วก็ยังแตกร้าว อาจเป็นเพราะไม่มีเหล็กขวางที่มุมกันแตกก็ได้
  3. ไม้วงกบมีขนาดเล็กเกินไป เมื่อกระทบกับเสาเอ็น-ทับหลังที่มีขนาดโตเกือบเท่าขนาดไม้วงกบ ทําให้บริเวณเสาเอ็น-ทับหลังนั้นมีปูนฉาบบางกว่าปูนฉาบของผนังทั่วไป
  4. ไม่ได้ผสมน้ำปูนขาว หรือน้ำยาเคมีกันแตกร้าวในปูนฉาบ

 

Source : ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง โดย : สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์