วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

3 เทคนิคปฏิเสธแบบถนอมน้ำใจคนฟัง (แต่รู้ตัวชัวร์!!)

07 ก.พ. 2020
1501

“กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” สำนวนที่ถูกนำมาใช้ ในภาวะที่ต้องตอบรับในสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็นิสัยคนไทยอะเนอะ!!… ยอมรับว่าเราคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ จนคนในครอบครัวต่อว่าบ่อยครั้ง ถามว่าอาการมันเป็นยังไง? ก็เช่น ด้วยความที่เราเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้คนรอบข้างเข้าใจว่าว่าง หรือตกงาน ประหนึ่งไม่มีอะไรทำ ดังนั้น ไม่มีคนขับรถไปธุระให้… ก็โทรมา , ไม่มีคนอยู่บ้านเป็นเพื่อนลูกน้อย 1-2 ชั่วโมง… ก็โทรมา , อยากไปเที่ยวทำบุญไม่มีเพื่อนไป… ก็โทรมา เป็นต้น ด้วยความปฏิเสธคนไม่ค่อยเป็น จึงทำให้เป็นที่หมายปองของบรรดามิตรสหายอยู่เสมอ

พอบ่อยเข้า ก็ไม่ไหวเนาะ… เพราะมีงานค้างคาเต็มมือไปหมด ทำให้ต้องหาวิธีปฏิเสธกับเค้าบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าคนฟังจะไม่รู้นะ เพียงแค่ให้คำสนทนามีความละมุนละม่อมมากขึ้น

เครดิตภาพ : Wokandapix

3 เทคนิคการปฏิเสธ แบบไม่ทำร้ายจิตใจคนฟัง

1.ขอบคุณแถมคำพูดปฏิเสธ

คนหนึ่งคนมีความสามารถเฉพาะตัวเสมอ และย่อมมีคนมองเห็น จึงเป็นที่มาของการขอให้ทำบางสิ่งบางอย่างให้ ขอครั้งแรก ๆ ไม่เป็นปัญหาเท่าไร ทุกคนย่อมต้องมีน้ำใจต่อกัน แต่พอบ่อยครั้งเข้า ความอึดอัดก็อาจจะเริ่มเข้ามาทดแทนคำว่าน้ำใจ คนที่ลำบากใจก็คือเรา การแก้ปัญหาอาจลำบากใจในการพูดครั้งแรก แต่ก็ต้องแข็งใจทำ โดยวิธีการขอบคุณแกมปฏิเสธไปในตัว

ตัวอย่างเช่น เราเป็นคนพิมพ์เอกสารค่อนข้างไว้ เพราะเรียนพิมพ์ดีดมา จึงได้รับการไหว้วานให้พิมพ์เอกสารอยู่บ่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ แต่เหมือนจะกลายเป็นหน้าที่ซะแล้ว จนมาถึงวันที่ต้องตัดสินใจพูด จึงบอกแบบรักษาน้ำใจไปว่า “ขอบคุณที่เห็นว่าหนูพิมพ์เก่งนะคะ แต่ไม่ยากค่ะ หนูช่วยแนะนำได้ พี่ทำบ่อย ๆ เดี๋ยวจะเก่งไปเอง” ด้วยความฉลาดของคู่สนทนา หลังจากนั้นการไหว้วานก็เจือจางไปอย่างมาก

เครดิตภาพ : klimkin

2.บอกเหตุผลแบบตรงไปตรงมา

กรณีที่อีกฝ่ายรู้ความเคลื่อนไหว และการดำเนินชีวิตของเราค่อนข้างดี จะด้วยความเป็นเพื่อนใกล้ชิด หรือเป็นญาติสนิทก็ตาม จะทำให้เราเฉไฉหรืออ้างความจำเป็นใด ๆ ค่อนข้างลำบาก เพราะหากอีกฝ่ายตั้งใจไหว้วาน ก็จะทำตีเนียนโดยที่เราแทบตั้งตัวไม่ได้เลย ในเมื่อรู้กิจกรรรมของเรามากขนาดนี้ ก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่า การบอกเหตุผลแบบตรงไปตรงมา

ตัวอย่างเช่น มีเพื่อนแถวบ้านคนหนึ่ง รู้ว่าเราชอบออกไปธุระในเมืองอยู่บ่อย ๆ จึงมีทีท่าคล้ายมาดักรอเพื่อขอติดรถไปด้วย ครั้งสองครั้งไม่มีปัญหา แต่พอบ่อยครั้งจนเรารู้สึกว่าถูกดัก จึงต้องพูดแบบตรง ๆ ว่า “จริง ๆ เราไม่ได้ตรงไปในเมืองทันทีนะ เพราะมีธุระอีกเส้นทาง ที่ผ่านมาเราตั้งใจไปส่งเธอจริง ๆ ” หลังจากนั้นเพื่อนใกล้บ้านคนนั้น ก็ไม่ค่อยมาดักรอเราแล้วล่ะ

เครดิตภาพ : Free-Photos

3.ปฏิเสธอย่างอ่อนน้อมทิ้งท้ายด้วยการขอโอกาส

เราต้องห้ามคิดว่า เรามีคุณค่าเหนือใคร ๆ หรือชีวิตนี้จะไม่พึ่งพาใครอีกแล้ว ดังนั้นวิธีการปฏิเสธ ต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ที่จะทำให้เกิดความร้านฉานในอนาคต ยิ่งเป็นคนใกล้ตัว ยิ่งต้องระวังความรู้สึกเป็นพิเศษ ในเรื่องของการทำงานก็เช่นกัน เป็นระบบที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และเขาเหล่านั้น ก็อาจเป็นคนที่หยิบยื่นโอกาสดี ๆ ให้เราในอนาคตได้ ดังนั้นการปฏิเสธในบางครั้ง อาจทิ้งท้ายด้วยคำว่า “…โอกาสหน้า” บ้างก็ได้

ตัวอย่างเช่น พี่ที่เป็นญาติสนิทคนหนึ่ง นำงานส่วนตัวมาให้เราทำให้บ่อยครั้ง แต่หลาย ๆ ครั้งก็จะนำงานของเพื่อน ๆ มาให้ทำด้วย แต่ก็ไม่ได้เอามาให้ทำฟรี ๆ จะมีของแถมเป็นซองเงิน หรือขนมมาให้ตลอด หรือไม่ก็จะหางานที่เหมาะกับเรามาให้ ด้วยความที่เราไม่ทันตั้งตัว และรับงานอื่นๆ ไว้เต็มมือแล้ว หลาย ๆ ครั้งจึงต้องปฏิเสธไม่รับงาน ด้วยการทิ้งท้ายไว้ว่า “โอกาสหน้าคุยกันใหม่นะคะ จะหาเวลาทำให้แน่นอนค่ะ” ซึ่งเราก็ได้รับโอกาสจริง ๆ ด้วยสิ

เครดิตภาพ : PublicDomainPictures

3 ข้อข้างต้น เน้นไปถึงการปฏิเสธคนอื่น แต่ขอทิ้งท้ายแบบมุมกลับสักนิด หากเป็นเราที่ต้องไปขอความช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ก็ต้องรู้ด้วยว่า อีกฝ่ายอาจไม่สะดวกใจนัก ดังนั้น ตัวเราเองควรฝึกการรบบกวนคนอื่นให้น้อยลง ช่วยตัวเองให้มากขึ้น จนสุดความสามารถ อีกฝ่ายจะได้เห็นว่า เราพยายามอย่างมากแล้ว เมื่อไปขอความช่วยเหลือจากเค้า ก็อาจได้รับความช่วยเหลือแบบเต็มใจกลับมาแทนเลยก็ได้

เครดิตถภาพปก : NDE

By.Parichart J.