สถานีรถไฟนครลำปาง เป็นจุดหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมานั่งเล่น เดินเล่นเป็นประจำ (ถ้ามีโอกาส) เพราะชอบในความคลาสสิกของบริเวณรอบ ๆ เหมือนกับเราเดินอยู่ในยุค 90 เพราะจริง ๆ ก็โตในยุคนั้นนั่นแหละ
หลาย ๆ อย่างยังคงดูไม่ทันสมัยมาก และไม่ได้ล้าสมัยจนเกินไป เพราะดู ๆ ไปแล้วก็มีการปรับปรุงพื้นที่ให้มีเอกลักษณ์ต่าง ๆ ของลำปางมากขึ้น ทำให้เราได้หยุดมอง หยุดคิด ว่าจริง ๆ แล้ว เมืองลำปางก็ยังมีสถานที่อื่น ๆ ที่เราควรไปเยือนด้วย ที่ใคร ๆ เค้าเคยบอกว่า “ลำปางเป็นเมืองผ่าน” เอาจริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย ที่เที่ยวลำปางมีมากจนเราคิดว่าอยากไปเก็บความทรงจำให้ครบด้วยซ้ำไป เพราะมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก
จากการมาเดินเที่ยวอยู่บ่อย ๆ และได้เก็บภาพมาเรื่อย ๆ จึงพอได้บรรยากาศในห่วงเวลาต่าง ๆ มาจำนวนหนึ่ง ซึ่งขอแบ่งออกเป็นข้อสั้น ๆ ในหัวข้อ “ ถอดเรื่องมาเล่า 39 ข้อ สถานีรถไฟนครลำปาง ” ในรูปแบบคลิปวิดีโอละกันนะ สถานที่ที่มีพื้นที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ แต่ให้ทั้งความรู้สึกสบายใจ และความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน ไม่รู้ว่าคิดเหมือนกันไหม ลองมาเที่ยวดูละกันนะ
ติดตามคลิปอื่น ๆ ได้ที่ :
https://www.facebook.com/siamzonezaa/
https://www.youtube.com/channel/UChxBSTe149URnepvTBndtkQ
ที่ตั้งสถานีรถไฟนครลำปาง
ตั้งอยู่ที่ ต.สบตุ๋ย อ.เมือง จ.ลำปาง เป็นสถานที่ที่คนลำปางรู้จักกันดี หากเดินทางมาเที่ยวสามารถใช้ GPS นำทางมาได้เลย หรือหากใครเดินทางโดยรถประจำทาง ก็สอบถามรถสองแถว (เขียว-เหลือง) ประจำสถานีได้ ค่าโดยสารไม่เกิน 20-30 บาทต่อเที่ยวเพราะอยู่ไม่ไกลกันมาก (ซึ่งเอาจริง ๆ ผู้เขียนเคยเดินเรื่อย ๆ จากสถานีขนส่งมาที่สถานีรถไฟลำปางแล้ว ในช่วงเวลาเย็น ๆ อากาศไม่ร้อนมาก ก็โออยู่นะ)
ทุกสรรพสิ่งมีที่มาที่ไป สถานีรถไฟเองก็มีประวัติความเป็นมาด้วยเช่นกัน
สถานีรถไฟนครลำปาง ตั้งอยู่ที่ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 161 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ 642.29 กิโลเมตร สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2458 และเปิดใช้งานเมื่อครั้งรถไฟหลวงขบวนแรกเดินถึงจังหวัดลำปางในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 แต่เดิม ระหว่างสถานีรถไฟห้างฉัตรกับสถานีรถไฟนครลำปางเคยมี ที่หยุดรถบ่อแฮ้ว แต่ปัจจุบันได้ถูกยุบเลิกไปแล้ว
ลักษณะสถาปัตยกรรม
ตัวอาคาร มีรูปแบบการก่อสร้างผสมผสานกัน ระหว่างสถาปัตยกรรมไทยภาคเหนือ กับสถาปัตยกรรมยุโรป เป็นอาคาร 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นบนเป็นที่ทำการสารวัตรเดินรถลำปาง ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการของสถานี รั้วระเบียงอาคารชั้นบนและเหนือวงกบประตูและหน้าต่าง เป็นไม้ฉลุลายสวยงาม ส่วนทางเข้าห้องโถงชั้นล่าง จะเป็นห้องจำหน่ายตั๋ว และทางขึ้นชั้นบนเป็นประตูรูปโค้งขนาดใหญ่
สถานีรถไฟนครลำปาง ได้รับการดูแลและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ทำให้ยังคงรูปแบบและเอกลักษณ์เดิมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2536 ในอดีตเป็นศูนย์กลางของรถไฟที่จะต่อไปที่นครเวียงพิงค์ (จังหวัดเชียงใหม่) ข้างหน้าสถานี มีหัวรถจักรไอน้ำ มีอักษรย่อเขียนว่า ร.ฟ.ท. อยู่ที่ข้างหัวรถจักร ข้างหน้ามีน้ำพุเป็นช้างพ่นน้ำพุ ตัวสถานีห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร และอาคารสถานีได้ถูกบันทึกเป็นอาคารอนุรักษ์ ส่วนหน้าสถานีจะมีรถไฟจะมีรถสองแถวเขียว-เหลืองจอดให้บริการตลอดทั้งวัน
งานประจำปีที่สำคัญ
งานรำลึกประวัติศาสตร์รถไฟ รถม้าลำปาง ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในห้วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของรถไฟรถม้าลำปาง ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญที่ชาวลำปางใช้สัญจรตั้งแต่อดีต ตั้งแต่รถไฟสายเหนือจากกรุงเทพฯ มาสู่นครลำปาง เป็นขบวนแรก เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 ในสมัยของรัชกาลที่ 6
ที่หยุดรถไฟบ่อแฮ้ว
เป็นที่หยุดรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตชุมชนตำบลบ่อแฮ้ว อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพเป็นระยะทาง 647.12 กิโลเมตร ในอดีตเป็นสถานีรถไฟที่มีขบวนรถไฟจอดรับ-ส่งผู้โดยสารอยู่ประจำ แต่ภายหลังถูกยุบลงเหลือเป็นเพียงที่หยุดรถไฟและปัจจุบันไม่มีขบวนใด ๆ จอดที่นี่แล้ว
เราไปดูบริเวณต่าง ๆ ทั้งด้านหน้าและด้านใน “สถานีรถไฟนครลำปาง” กันเลย
ช่วงเวลานี้ ราว 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่รถไฟออกเดินทางพอดี เป็นขาล่องไปกรุงเทพ ก็เลยได้ภาพที่มีแสงไฟของรถไฟติดมาด้วย
บริเวณนี้เป็นด้านหน้าสถานีรถไฟนครลำปาง มีรถสองแถวเขียวเหลืองจอดให้บริการตลอดทั้วัน ด้านหน้าไกล ๆ ทางโน่น จะเป็นตลาดสบตุ๋ย ของกินเพียบเลย
ร้าน “ป้อก๋วยจั๊บ” เป็นร้านก๋วยจั๊บที่อร่อยและขึ้นชื่อของแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง ในช่วงเช้าตรู่จนถึงสาย ๆ ประมาณ 9-10 โมง ถึงจะปิด โดยบริเวณด้านหน้าเลยไปอีกนิด ก็จะมีรถเข็นมาเปิดเป็นร้านกาแฟ ขนมปัง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง และอื่น ๆ อีกมากมายให้เราได้อิ่มท้อง ไม่ต้องกลัวหิวเลยหละ
สถาปัตยกรรมอีกหนึ่งอย่าง ที่ทางสถานีรถไฟนครลำปางยังคงรักษาไว้ได้อย่างดีเยี่ยม
ห้องโถงใหญ่ให้บริการขายตั๋วรถไฟ (ดูในคลิปเพิ่มเติมได้นะคะ)
มองจากทางด้านในออกไปด้านนอก ซุ้มประตูโค้งกลายเป็นกรอบภาพที่แปลกตาไปอีกแบบ
บริเวณด้านใน เท่าที่สังเกตผู้คนจะหยุดยืนมองเพื่อระลึกถึงพ่อหลวงกันอยู่เนือง ๆ
นาฬิกามีไว้เพื่อบอกเวลา และนี่คือไฮไลท์สถานีรถไฟนครลำปาง อีกหนึ่งจุดที่เรามักจะเห็นภาพนี้กันอยู่เสมอ
คุณครูก็พาน้อง ๆ ออกมาเดินทัศนศึกษากันด้วยนะ น่ารักมาก ๆ เห็นกล้องเป็นวิ่งเข้าหาเลย คงอยากรู้ว่าคืออะไรอะนะ
อาคาร 2 ชั้นครึ่งตึกครึ่งไม้ ที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี พ.ศ. 2536
มีเครื่องช่วยปั๊มหัวใจติดตั้งไว้ด้วย กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ป้องกันไว้ก่อน
ระฆังนี้บุคคลทั่วไปห้ามเคาะเด็ดขาดนะ เจ้าหน้าที่จะเคาะเอง เป็นการบอกสัญญาณของระบบรถไฟ
ช่วงนี้ราว 10 โมงกว่า ๆ รถไฟยังไม่มา เราก็จะได้เห็นบรรยากาศสบาย ๆ สามารถเดินเล่นได้นะ ถ้ารถไฟจะมาจะมีการประกาศเตือนให้อยู่ในที่ปลอดภัย
อีกมุมหนึ่งของบริเวณสถานีรถไฟ ก็จะเคลื่อนตัวไปมา ทำงานกันอยู่ตลอดเหมือนกัน
ฝั่งนี้ก็จะเป็น “ที่ทำการแขวงบำรุงรักษาอาณัติสัญญาณลำปาง” อาคารต่าง ๆ ก็จะดูเป็นสมัยเก่า โดยส่วนตัวชอบนะ คลาสสิคดี
ส่วนนี้น่าจะเป็นรถเครื่องจักรเก่าที่อนุรักษ์เอาไว้ให้เรา ๆ ได้ชมกัน สวยไปอีกแบบ
รถไฟจะล่องไปกรุงเทพแล้วหละ
รอยยิ้มที่แสนจะเป็นมิตรของเจ้าหน้าที่ น่ารักมาก ๆ ค่ะ
ยามเย็นธรรมชาติก็จะส่องแสงสวย ๆ มาให้มนุษย์อย่างเราเก็บไว้เป็นที่ระลึก สาว ๆ ก็จะพากันมาถ่ายภาพกันเป็นประจำ
จบทริปกันไปด้วยภาพนี้นะคะ ไว้ทริปหน้า “ไปเที่ยวกันนะ” จะไปที่ไหน อย่างไร ฝากติดตามด้วยนะคะ
ขอบคุณที่มาข้อมูลประวัติสถานีรถไฟนครลำปาง : https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีรถไฟนครลำปาง
ขอบคุณภาพ ที่หยุดรถไฟบ่อแฮ้ว : https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีรถไฟนครลำปาง