วันพุธ, 11 ธันวาคม 2567

มารู้จักโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ Ep.94

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อยและมีการอุบัติเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบได้ทุกวัย โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ สร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วยและคนข้างเคียง ในเด็กทำให้นอนหลับไม่เต็มที่ ขาดสมาธิในการเรียน เสียบุคลิกภาพ ขาดงาน และขาดโรงเรียน นอกจากนั้นมักเกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อย เช่น โรคไซนัสอักเสบ หรือหูชั้นกลางอักเสบ

 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

อาการหลักได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก จาม อาจมีอาการคันหรือเคืองตาร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ ตลอดทั้งปีหรือบางฤดูกาล ในเด็กอาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจไม่ชัดเจนซึ่งผู้ปกครองอาจสังเกตว่า

  • เด็กเป็นหวัดตลอดทั้งปีบางครั้งมีไข้ร่วมด้วย
  • มีน้ำมูกใสสลับข้นเป็นๆหายๆ
  • ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไซนัสอักเสบบ่อย
  • หายใจเสียงดังหรือคัดจมูกเวลากลางคืน นอนหลับไม่เต็มที่ ไม่มีสมาธิ
  • บางรายอาจเห็นขอบตาล่างบวมคล้ำ คัน และเกาที่จมูก

 

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นได้อย่างไร

กรรมพันธ์ุและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักในการเกิดโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ถ้ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อากาศก็มีโอกาสจะเป็นโรคภูมิแพ้จะสูงขึ้น สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย ได้แก่ ไรฝุ่น ขนสัตว์ เชื้อรา และละอองเกสร ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนองผิดปกติและแสดงอาการของโรค

 

โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้รักษาอย่างไร

  • ทางประวัติ เช่น อาการต่างๆมีความรุนแรงเพียงใด ความถี่ ระยะเวลาที่เป็นประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว สิ่งแวดล้อมต่างๆทั้งในและนอกบ้าน รวมถึงประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
  • การตรวจร่างกาย โดยทั่วไปโดยเน้นที่อวัยวะที่มีความสัมพันธ์กับโรค เช่น เยื่อบุในโพรงจมูก อาการอักเสบของไซนัส และหูชั้นกลาง มีโรคหืดหรือโรคภูมิแพ้ร่วมด้วยหรือไม่
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง ซึ่งจะช่วยบอกว่าผู้ป่วยแพ้สารตัวใดเพื่อเป็นแนวทางในการรักษาต่อไป

 

ทำอย่างไรถึงจะหายจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

  • หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสม
  • การใช้ยา ซึ่งมีทั้งชนิดยารับประทานหรือที่เรียกกันว่ายาแก้แพ้ ซึ่งจะช่วยลดอาการคันตามน้ำมูกไหล แต่ยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียง คือ ง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้งได้
  • ยาพ่นจมูก เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของเยื่อบุจมูกได้ดี ลดความไวของเยื่อบุจมูกต่อสารก่อภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังสามารถลดอาการทางตาได้ แต่ข้อเสียคือ กลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า ส่วนมากจะเห็นผลเต็มที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 2 สัปดาห์ และอาจพบผลข้างเคียง เช่น เลือดกำเดาไหลได้
  • ส่วนการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ จะเลือกในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการให้ดีขึ้นได้ด้วยยา หรือมีผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้ แต่ข้อเสียคือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องเดินทางมารับวัคซีนอย่างต่อเนื่องทุก 1-2 สัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี

 

source : ข้อมูลสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง