วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

ผนังกั้นช่องจมูกคด สาเหตุอาการกำเดาไหล Ep.108

ผนังกั้นช่องจมูกคด อาจเกิดได้จากความผิดปกติแต่กำเนิดหรือเกิดจากแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ ภาวะดังกล่าวอาจทำให้มีอาการทางจมูกหรือไม่มีก็ได้

 

 

อาการทางจมูกอย่างหนึ่งที่มักพบได้จากภาวะนี้คือ “เลือดกำเดา” เกิดจากความคดของผนังกั้นช่องจมูก ทำให้รูจมูกกว้างไม่เท่ากัน ลมหายใจที่วิ่งผ่านโพรงจมูกที่แคบจะเร็วและแรงกว่าข้างที่กว้าง ทำให้โพรงจมูกข้างดังกล่าวแห้งกว่า เส้นเลือดจึงอยู่ชิดกับเยื่อบุมากขึ้นและมีโอกาสเลือดกำเดาเพิ่มขึ้นตามมา

 

การแก้ไขอาจทำได้โดยการผ่าตัดหรือทำให้ช่องจมูกข้างที่แคบชุ่มชื้นตลอดเวลา เช่น การใช้น้ำเกลือสเปรย์พ่นจมูก ใช้ขี้ผึ้งป้ายตาป้ายผนังกั้นช่องจมูกช่องที่แคบ ดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เย็นและแห้ง

 

เมื่อผนังกั้นช่องจมูกคดมากระดับหนึ่ง จะทำให้ตรงจมูกข้างที่คดนั้นแคบ และจะทำให้โพรงจมูกอีกข้างหนึ่งกว้างกว่า เมื่อหายใจเข้าหรือออก ลมที่วิ่งผ่านโพรงจมูกข้างที่แคบจะวิ่งผ่านด้วยความเร็วและแรงกว่า ทำให้โพรงจมูกข้างที่แคบกว่าข้างที่กว้าง เนื่องจากมีการระเหยของน้ำที่ปกคลุมอยู่บริเวณผิวเยื่อบุจมูกมากกว่า

 

เส้นเลือดของเยื่อบุโพรงจมูกข้างที่แคบจึงอยู่ชิดกับผิวเยื่อบุจมูกมากขึ้น (เมื่อเปรียบเทียบกับข้างที่กว้างกว่า) จึงทำให้เส้นเลือดของโพรงจมูกข้างที่แคบมีโอกาสที่จะแตกออกมาเป็นเลือดกำเดาไหลได้ง่ายเมื่อผู้ป่วยสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือเผลอเอานิ้วไปแคะจมูก หรือเผลอเอาจมูกไปชนอะไรเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะบริเวณผนังกั้นช่องจมูกส่วนหน้าของข้างที่แคบ ซึ่งมักเป็นบริเวณที่เส้นเลือดมักจะแตก เกิดเลือดกำเดาไหลได้ง่าย

 

เมื่อผนังกั้นช่องจมูกคดเป็นสาเหตุเลือดกำเดาไหล

หากเลือดกำเดาไหลโดยมีสาเหตุจากผนังกั้นช่องจมูกคด ถ้าจะแก้ที่สาเหตุอาจต้องผ่าตัดให้ผนังกั้นช่องจมูกตรงไม่คด หรือคดน้อยลง แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป หากกลัวการผ่าตัด หรือไม่อยากผ่าตัด ก็ต้องพยายามทำให้จมูกข้างที่แคบนั้นไม่แห้ง ชุ่มชื้นอยู่ตลอด เพื่อให้มีชั้นความชื้นที่คอยปกป้องเส้นเลือดในเยื่อบุจมูก ซึ่งอาจทำได้โดย

  • ใช้น้ำเกลือสเปรย์พ่นจมูกข้างที่แคบบ่อยๆ
  • ใช้ขี้ผึ้งป้ายตา เช่น 1% chloramphenical eye ointment ป้ายผนังกั้นช่องจมูกส่วนหน้าของข้างที่แคบบ่อยๆ เพราะส่วนใหญ่เลือดกำเดาที่ไหลออกมาจะออกมาจากบริเวณนี้ ซึ่งขี้ผึ้งจะทำให้ความชุ่มชื้นที่เยื่อบุผิวจมูกได้นานกว่าน้ำเกลือสเปรย์พ่นจมูก หรือถ้าไม่อยากป้ายบ่อยๆ อาจป้ายหลังอาบน้ำตอนเช้าและตอนก่อนนอน (2 ครั้ง) ก็ได้

 

นอกจากนั้นผู้ป่วยควรดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เย็นและแห้ง เช่น หลีกเลี่ยงการเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อบริเวณจมูก หรือถ้าจำเป็นต้องอยู่ในห้องแอร์ตลอด โดยเฉพาะเวลานอน อาจหาภาชนะปากกว้างใส่น้ำแล้วตั้งทิ้งไว้ในห้องนอน โดยใช้เครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้น (humidifier) ร่วมด้วย

 

source : กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ เส้นประสาท HealthToday June 2015 , รศ.นพ.ปายะ  อาศนะเสน , โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคจมูกและภูมิแพ้