วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

รู้หรือไม่! ร่างกายคนเรามีกล้ามเนื้อมากกว่า 350 มัด

14 ส.ค. 2019
1931

เชื่อไหมว่า ในร่างกายคนเรานั้นมีกล้ามเนื้อมากกว่า 350 มัด ด้วยกล้ามเนื้อส่วนมาก จะยึดติดกับกระดูกที่เป็นโครงร่างของร่างกาย ในกล้ามเนื้อแต่ละมัด ประกอบด้วยเส้นใยจำนวนมาก ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว มีการคลายตัวและการหดตัว

 

 

กล้ามเนื้อแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1.กล้ามเนื้อลาย หรือ กล้ามเนื้อโครงร่าง : เป็นกล้ามเนื้อที่ช่วยให้กระดูกเคลื่อนไหว และเป็นกล้ามเนื้อชนิดเดียวที่อยู่ติดกับกระดูก โดยอยู่บริเวณแขน ขา คอ และศีรษะ กล้ามเนื้อชนิดนี้จะทำงานตามคำสั่งภายใต้การควบคุม เนื่องจากมันสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้สมองสั่งการ

 

2.กล้ามเนื้อเรียบเป็นกล้ามเนื้อที่ประกอบจากเซลล์ยาวๆ หัวท้ายเรียว พบอยู่ตามอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ท้อง และลำไส้ กล้ามเนื้อชนิดนี้ทำงานด้วยตัวเอง ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของสมอง

 

3.กล้ามเนื้อหัวใจ : พบเฉพาะในหัวใจ มีลักษณะคล้ายกับกล้ามเนื้อลาย ขนาดของเส้นใยสั้นกว่าแต่หนากว่า และไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมสั่งการของสมอง

 

ในการทำงานของกล้ามเนื้อจะมีอวัยวะอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ระบบประสาทสมองและไขสันหลัง เมื่อระบบประสาทกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัว โครงกระดูกในร่างกายก็จะเกิดการเคลื่อนไหวและทำงานไปพร้อมๆ กัน

 

กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อโครงร่าง จัดเป็นกล้ามเนื้อลาย เพราะว่ามีซาร์โคเมียร์ และเส้นใยจัดเรียงอยู่ในมัดกล้ามเนื้ออย่างเป็นระเบียบ ซึ่งไม่พบในกล้ามเนื้อเรียบ ใยกล้ามเนื้อโครงร่างจะเรียงตัวขนานกันอย่างเป็นระเบียบอยู่ในมัดกล้ามเนื้อ แต่กล้ามเนื้อหัวใจมีการแตกสาขาในมุมที่แตกต่างกัน กล้ามเนื้อลายสามารถหดตัวและคลายตัวได้รวดเร็ว ในขณะที่กล้ามเนื้อเรียบหดตัวได้น้อยและช้า

 

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย เป็นวิธีการในการพัฒนาทักษะการสั่งการ (motor skills), ความฟิตของร่างกาย, ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก และการทำงานของข้อต่อ การออกกำลังกายสามารถส่งผลไปยังกล้ามเนื้อ, เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน, กระดูก และเส้นประสาทที่กระตุ้นกล้ามเนื้อนั้น

 

การออกกำลังกายหลายประเภท มีการใช้กล้ามเนื้อในส่วนหนึ่งมากกว่าอีกส่วนหนึ่ง ในการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน กล้ามเนื้อนั้นจะออกกำลังเป็นระยะเวลานาน ในระดับที่ต่ำกว่าความสามารถในการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อนั้นๆ (เช่นในการวิ่งมาราธอน) การออกกำลังกายประเภทนี้ จะอาศัยระบบการหายใจแบบใช้ออกซิเจน ใช้ใยกล้ามเนื้อประเภท type I (หรือ slow-twitch), เผาผลาญสารอาหารจากทั้งไขมัน, โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้ได้พลังงาน ใช้ออกซิเจนจำนวนมากและผลิตกรดแลกติก (lactic acid) ในปริมาณน้อย

 

ในการออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic exercise) จะมีการหดตัวของกล้ามเนื้อในระยะเวลารวดเร็ว และหดตัวได้แรง จนเข้าใกล้ความสามารถในการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อนั้นๆ ตัวอย่างของการออกกำลังกายแบบไม่ใช้ออกซิเจน เช่น การยกน้ำหนัก หรือการวิ่งในระยะสั้นแบบเต็มฝีเท้า การออกกำลังกายแบบนี้ จะใช้ใยกล้ามเนื้อประเภท type II (หรือ fast-twitch) อาศัยพลังงานจาก ATP หรือกลูโคส แต่ใช้ออกซิเจน ไขมัน และโปรตีนในปริมาณน้อย ผลิตกรดแลกติกออกมาเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถออกกำลังกายได้นานเท่าการออกกำลังกายแบบใช้ออกซิเจน

 

Source : th.wikipedia.org