วันอาทิตย์, 6 ตุลาคม 2567

ระวัง! อาการแน่นหน้าอก ใจสั่น อันตรายถึงชีวิต Ep.117

จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2553 คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงถึง 39,459 คน และในรอบ 10 ปี มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจาก 100 คนเป็น 400 คนต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยโรคหัวใจ

คือโรคหัวใจและหลอดเลือด เกิดจากมีเนื้อเยื่อไขมันผสมพังผืดจับตัวเป็นแผ่นนูนหรือ plaque ตามผนังชั้นในของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่เลี้ยงด้วยหลอดเลือดได้รับเลือดไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอกโดยเฉพาะเวลาออกกำลังกาย สาเหตุมาจากภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน บุหรี่ ความเครียด ความอ้วน การขาดการออกกำลังกาย รวมถึงอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย ความเสี่ยงมีมากขึ้นในเพศชายและผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ส่วนเพศหญิงอายุมากกว่า 55 ปี

 

เตือนให้ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจและมีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นอาจต้องระมัดระวังและตรวจหัวใจในอายุที่น้อยกว่านั้น

 

อาการเตือนที่ผู้ป่วยต้องรีบพบแพทย์โรคหัวใจโดยด่วน

เบื้องต้นมีอาการแน่นหน้าอกขณะออกแรง จะมีอาการเจ็บหน้าอก รวมถึงในขณะพักด้วย และเมื่อเกิดการตันสนิท กล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน จะทำให้เจ็บแน่นหน้าอกหรือลิ้นปี่ รู้สึกจะเป็นลม หน้ามืด หัวใจวายและเสียชีวิตเฉียบพลัน แต่บางรายจะมีอาการไม่เป็นไปตามลำดับ คืออาจเกิดอาการทันทีโดยไม่มีอาการเตือน ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ ดังที่เคยได้ยินข่าวจากสื่อต่างๆ

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หากตายแล้วตายเลยไม่สามารถสร้างใหม่ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการเจ็บอกรุนแรง ต้องรีบไป โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากโรงพยาบาลนั้นมีเครื่องสวนหัวใจ ก็สามารถทำการสวนหัวใจได้ทันที หรือโทรเรียกรถพยาบาลมารับ ซึ่งปัจจุบันมีรถพยาบาลที่มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตและเครื่องมือทางหัวใจครบ เปรียบเสมือนการยกโรงพยาบาลและแพทย์มายังที่เกิดเหตุและทำการรักษาไดเเลย เพราะโรคหัวใจต้องรักษาทันทีเนื่องจากอันตรายถึงชีวิต

 

แนวทางการรักษาและวิธีการป้องกัน

การรักษามี 3 วิธี คือ การใช้ยากิน การฉีดสวนรักษาหัวใจ และการผ่าตัดเส้นเลือดหัวใจ เบื้องต้นจะรักษาด้วยการใช้ยา แต่หากอาการไม่ทุเลาต้องทำการฉีดสีเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งจะสามารถทราบได้ทันทีว่าเส้นเลือดตีบจำนวนกี่เส้นที่ตำแหน่งใด หากมีการติดสามารถรักษาโดยใช้บอลลูนขยายและใส่ขดลวดค้ำยันได้ต่อเนื่องทันที

 

ส่วนการป้องกันโรค ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หากเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องกินยาต่อเนื่อง หากมีไขมันสูงต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการกิน ลดน้ำหนัก รวมถึงงดบุหรี่ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใส จะช่วยให้ห่างไกลและป้องกันโรคหัวใจได้

 

source : นพ.ไพศาล กอบเกื้อชัยพงษ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3