วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2567

3 ข้อต้องรู้ ทำไมต้องกรวดน้ำหลังทำบุญ

คำว่า “กรวด” ในพจนานุกรมให้ความหมายคือ “การหลั่งน้ำ” แผลงมาจากคำว่า “จฺรวจ” ในภาษาเขมร ซึ่งคำว่า กรวดน้ำ ก็คือ “การแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลด้วยวิธีหลั่งน้ำ” การกรวดน้ำนั้นมีมาก่อนพุทธกาล โดยเป็นความเชื่อของพราหมณ์เรียกว่าการ “หลั่งทักษิโณทก”

 

 

ทักษิโณทก มาจากคำว่า “ทักษิณา” แปลว่า ของทำบุญ กับคำว่า “อุทก” แปลว่า น้ำ ทว่าหากนำมาใช้กับภาษาไทย มีอยู่หลากหลายความหมายด้วยกัน โดยในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ. ศ. 2542 ให้นิยาม “ทักษิโณทก” ว่า น้ำที่หลั่งในเวลาทำทาน เพื่ออุทิศตนให้แก่ผู้ตาย น้ำที่หลั่งลงเป็นการแสดงว่า มอบให้เป็นสิทธิ์ขาด กรวดน้ำ คือ น้ำที่ใช้แทนสิ่งของที่ให้ซึ่งใหญ่โตหรือไม่มีรูปที่จะหยิบยกให้ได้ เช่น วัด ศาลา บุญกุศล

 

จุดประสงค์ของการกรวดน้ำ หรือการหลั่งทักษิโณทก จึงมีอยู่ 3 ประการคือ

1.การกรวดน้ำ เพื่อแสดงถึงกิริยาว่า ยกให้ มอบให้ ด้วยสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งของที่ใหญ่ ไม่สามารถหยิบยกมอบให้ด้วยมือได้ ก็จะใช้วิธีหลั่งทักษิโณทก เช่น กรณีที่พระเวสสันดรได้หลั่งน้ำบนมือของพราหมณ์ เพื่อพระราชทานยกช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ให้แก่พราหมณ์ หรือการที่พระเวสสันดรทรงยกสองกุมาร กัณหาชาลี ให้แก่ชูชก พระองค์ก็ทรงหลั่งน้ำใส่มือชูชก เพื่อเป็นการแสดงกิริยาว่ามอบให้ เนื่องจากไม่สามารถหยิบยกให้ด้วยมือได้

 

หรือกรณีที่พระเวสสันดร ได้ทำการยกพระนางมัทรีให้แก่พระอินทร์ที่จำแลงกายมาเป็นพราหมณ์ ก็ทรงหลั่งน้ำแทนความหมายว่ายกให้ มอบให้ เนื่องจากบางอย่างนั้น หากจะมอบให้ก็ใหญ่โตเกินไป หรือไม่สามารถให้ด้วยมือได้อย่างที่กล่าวไป

 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงกิริยาอันหมายความถึง การยกให้ มอบให้แล้ว หรือในอีกลักษณะหนึ่งคือ การมอบให้เป็นสิทธิ์ขาด กล่าวคือ ขาดจากความเป็นเจ้าของในสิ่งของนั้นๆ โดยมอบกรรมสิทธิ์มีให้แก่ผู้อื่น

 

นอกจากนี้ การกรวดน้ำที่แสดงถึงกิริยาของการมอบให้ เพราะสิ่งของเหล่านั้น ไม่อาจจับต้องได้ ก็เช่น บุญกุศลที่ได้หลังจากเราได้ทำบุญให้ทานแล้ว ได้ทำการกรวดน้ำเพื่อยกบุญนี้ให้แก่ดวงวิญญาณ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะบุญเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ จึงต้องยกให้ด้วยการกรวดน้ำเป็นสัญลักษณ์แทน

 

เพราะว่าการกรวดน้ำลงบนแผ่นดิน ก็เพื่อให้พระแม่ธรณีเป็นประจักษ์พยานในการยกบุญนี้ ให้กับผู้ที่เราต้องการจะมอบให้ อนึ่ง การกรวดน้ำลงบนแผ่นดินนี้ยังมีความเชื่อว่า เพื่อให้พระแม่ธรณีนั้น นำอานิสงส์ผลบุญไปให้แก่ผู้ที่เราต้องการจะมอบได้ อาทิ ญาติผู้ล่วงลับ ดวงวิญญาณ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น

 

2.การกรวดน้ำ เพื่อเป็นการยกให้หรือมอบให้ในบุญกุศลนั้นๆ ที่ได้กระทำลงไป ให้กับสรรพสัตว์วิญญาณทั้งหลาย ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการกรวดน้ำเพื่อตั้งความปรารถนาให้บุญกุศลไปถึงแก่ผู้ที่ต้องการ ได้แก่ญาติผู้ล่วงลับ วิญญาณ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น หรือการตั้งความปรารถนาเพื่อให้บรรลุผลในสิ่งประสงค์อย่างเช่น กรณีการให้ทานของพระเวสสันดรชาดก

 

3.การกรวดน้ำ เพื่ออุทิศบุญให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ในกิริยาซึ่งเป็นไปเพื่อการมอบให้ และขาดจากความเป็นเจ้าของในผลบุญที่ทำนั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ไม่ตระหนี่ถี่เหนียวในบุญกุศลอีกด้วย

 

Source : กรวดน้ำแก้กรรม  แก้วธารา  ผู้เขียน