วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

การกำหนดเรื่องความสูงต่ำของเพดานบ้าน และการเจาะช่องแสง ตามหลักฮวงจุ้ยและหลักธรรมชาติ

 

บ้านในยุคปัจจุบัน มีการออกแบบให้สอดคล้องกับหลักของธรรมชาติมากขึ้น ด้วยการนำเรื่องทิศทางของแสงแดดและทิศทางลม มาเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณากำหนดลักษณะของบ้าน และห้องต่างๆภายในบ้าน ซึ่งถือเป็นหลักที่สอดคล้องกับวิชาฮวงจุ้ยโดยตรง การเจาะช่องแสงภายในบ้าน ก็เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมนำมาใช้กับแบบบ้านสมัยใหม่ โดยเฉพาะบ้านที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยมากจะประสบปัญหาในเรื่องของความไม่สมดุล ในเรื่องของแสงสว่างภายในบ้าน ส่วนกลางของบ้านมักจะมืด เพราะแสงธรรมชาติไม่สามารถส่องถึง

 

กรณีแบบนี้สามารถทำได้และเป็นผลดีต่อความสมดุลภายในบ้าน และแบบบ้านที่นิยมทำกันมากก็คือ เจาะช่องแสงบริเวณด้านหน้าบ้าน หรือประตูทางเข้าบ้าน ทะลุเป็น 2 ชั้น โล่งจนถึงเพดานชั้นบน ทำให้บริเวณด้านหน้าบ้านสว่างปกติ เพราะไม่มีเพดานชั้น 1 มาปิดบัง ตามหลักฮวงจุ้ยถือว่าการไหลเวียนของ “ชี่” บริเวณหน้าบ้าน จะกระจายตัวได้ดี และสามารถกักเก็บพลัง “ชี่” เอาไว้ในบ้านได้นานอีกด้วย หากถามต่อว่าจะสามารถจัดแสงกลางบ้านได้หรือไม่ ตอบว่าการก่อสร้างบริเวณกลางบ้าน ซึ่งในทางฮวงจุ้ยมีการกล่าวห้ามไว้ว่า ไม่ควรทำ เพราะตำแหน่งใจกลางบ้านถือว่าเป็นจุดสำคัญ เป็นตำแหน่งหัวใจของบ้าน การเจาะช่องแสงจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของบ้านโดยตรง เพราะแสงอาทิตย์จะแผดเผาตำแหน่งสำคัญของบ้าน แต่กรณีนี้ คงต้องบอกว่าจะต้องพิจารณาขนาดของบ้านเป็นสำคัญ ถ้าบ้านมีขนาดใหญ่มากก็สามารถทำได้ อย่างกรณีของอาคาร สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ก็นิยมเจาะช่องแสงบริเวณห้องโถงกลาง เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถกระจายเข้าสู่อาคารได้ กรณีที่ถือว่าผิดหลักฮวงจุ้ยก็คือ ส่วนใหญ่จะเป็นกรณีของบ้านที่มีขนาดเล็ก หากมีการจัดแสงกลางบ้าน จะส่งผลให้บ้านได้รับความร้อนจากพระอาทิตย์มากจนเกินไป โดยเฉพาะเมืองร้อนอย่างประเทศไทยซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เพราะฉะนั้นการจะคิดเจาะแสงช่องภายในบ้าน จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย ไม่ใช่ว่าคิดจะทำก็ทำ แสงสว่างเป็นสิ่งที่ดี แต่หากถ้ามากจนเกินไป ก็จะกลับกลายเป็นผลเสียได้ พึงระวังในเรื่องของความสมดุลด้วย

 

แล้วเราจะกำหนดความสูงต่ำของเพดานมากน้อยแค่ไหน เพดานบ้านก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเรื่องของความสูงต่ำของเพดาน หลายคนไม่ค่อยได้สังเกตเรื่องนี้มากนัก แต่ตามหลักฮวงจุ้ยบอกไว้ว่า เพดานที่ต่ำเกินไปจะก่อภาวะที่กดทับผู้อยู่อาศัย จะทำให้รู้สึกกดดันอึดอัด นอกจากนี้ยังทำให้บ้านดูแคบ ความแสงสว่างและลมจะเข้าสู่ตัวบ้านได้น้อย เพดานที่สูงเกินไป ในทางฮวงจุ้ยบอกว่า “ชี่” จะกระจายตัวมากเกินไป จะไม่สามารถควบคุม “ชี่” ให้ไหลเวียนภายในบ้านได้ เพราะฉะนั้นจึงควรกำหนดระดับความสูงของเพดานให้พอดี แล้วแบบไหนจึงจะเรียกว่าพอดี โดยมาตรฐานทั่วไปความสูงของเพดานจะอยู่ที่ 2.7 ถึง 3 เมตร ถ้าเกิน 3 เมตรถือว่าสูง ต่ำกว่า 2.7 เมตรถือว่าต่ำ อย่างไรก็ตาม เพดานสูง ยังไงก็ดีกว่าเพดานต่ำ เพราะเพดานที่ต่ำเกินไป จะแก้ไขปัญหาได้ยากจนถึงทําไม่ได้เลย

 

การพิจารณาความสูงต่ำของเพดาน จะต้องดูความเหมาะสมของรูปแบบบ้าน และห้องต่างๆภายในบ้านด้วย อย่างห้องโถงหรือห้องรับแขกหรือ บริเวณหน้าประตูทางเข้าบ้าน อาจทำเพดานสูง บางบ้านอาจออกแบบให้เพดานเปิดโล่งขึ้นไปถึงชั้นบนได้เลย เพื่อให้บ้านดูโปร่งสว่าง ซึ่งสอดคล้องกับฮวงจุ้ยที่ว่า บริเวณหน้าบ้านจะต้องโล่งสว่างซึ่งเป็นลักษณะของ “หยาง” ที่มีชีวิต ห้องที่มีพื้นที่กว้าง อาจทำเพดานที่สูงเกิน 3 เมตรได้ ไม่ผิดกติกา เพราะห้องที่กว้างถึงเพดานจะสูงจะไหลเวียนของ “ชี่” ก็จะสมดุล แต่ห้องที่มีพื้นที่แคบเล็ก หากทำเพดานสูง “ชี่” จะลอยตัวสูงขึ้น คนที่อยู่ด้านล่างจะไม่ได้รับประโยชน์จาก “ชี่” ที่ดี

 

ห้องนอนถือเป็นห้องที่มีความสำคัญที่สุดในบ้าน เพราะใช้ในการนอนหลับพักผ่อน การกำหนดความสูงของเพดานจะต้องเหมาะสม ไม่ควรทำเพดานสูงหรือต่ำเกินมาตรฐานที่กำหนด เพราะถ้าเพดานสูงเกินไป การหมุนเวียนของอากาศภายในห้องจะกระจายมากเกินไป ผู้นอนจะนอนไม่สบาย ยกตัวอย่างง่ายๆเวลาเปิดแอร์ ถ้าห้องที่มีขนาดพอดีความเย็นก็จะกระจายไปทั่วห้อง แต่ถ้าเพดานสูงเกินไป ความเย็นจะลอยตัวสูงขึ้น ทำให้ไม่เกิดสมดุลของอากาศจากแอร์ให้เต็มพื้นที่ ทำให้การไหลเวียนของอากาศภายในห้องไม่สมดุล ส่วนเพดานที่ต่ำเกินไป ไม่ควรทำเป็นห้องนอนอยู่แล้ว เพราะจะเพิ่มแรงกดทับ ทำให้ผู้นอนรู้สึกอึดอัดและนอนหลับไม่สบาย ส่วนใหญ่เพดานภายในบ้าน มักจะทำให้เรียบด้วยการตีฝ้าเพดานปิดคันของบ้านเอาไว้ แต่การตกแต่งภายในบ้านเดี๋ยวนี้นิยมทำเป็นเพดานหลุมกันค่อนข้างมาก เพราะมีความสวยงามกว่าฝ้าฉาบเรียบธรรมดา

 

ฝ้าเพดานหลุมควรทำหรือไม่ คำตอบก็คือ แล้วแต่ความเหมาะสมของห้องแต่ละห้อง ห้องโถงห้องรับแขกก็เหมาะที่จะทำเพดานหลุมเพื่อให้ห้องดูโปร่งและสว่างขึ้น แต่หากเป็นห้องนอน การทำเพดานหลุมก็จะต้องพิจารณาให้ดี เพราะอาจเกิดผลเสียได้ คือ การทำเพดานหลุมบริเวณเตียงนอน จะต้องระวังในเรื่องของแบบหลุม ซึ่งมีดีไซน์หลายแบบด้วยกันเช่น รูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยม วงรี วงกลม บ้านที่ตั้งเพดานหลุมบริเวณเตียงนอนเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยมคล้ายฝาโลงศพของฝรั่ง มองแล้วเหมือนคนนอนในโรงศพ ในทางฮวงจุ้ยถือว่าเป็นรางร้าย ไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง รูปทรงที่ดีคือ วงกลมวงรี ที่มองดูแล้วให้ความรู้สึกที่อ่อนโยนมากกว่า จะใช้รูปทรงสี่เหลี่ยมที่ดูแข็งกระด้าง ซึ่งก็ไม่เหมาะกับห้องนอนที่ต้องการพักผ่อน อีกจุดหนึ่งที่จะต้องระวังก็คือแนวขอบของเพดานหลุม อย่าให้ตรงกับคนนอน เพราะบริเวณนั้นจะมีความต่างระดับของพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน ยกเว้นว่าเพดานหลุมไม่ลึกมากก็สามารถทำได้ กรณีของห้องนอน หากทำเพดานเรียบน่าจะดีที่สุด เพราะจะไม่มีผลกระทบใดๆกับคนที่นอน

 

รูปแบบเพดานอีกลักษณะหนึ่งที่ถือว่าไม่ดีในทางฮวงจุ้ยก็คือ เพดานลาดเอียง ห้องที่มีเพดานลาดเอียง ส่วนใหญ่จะไม่นิยมทำเป็นห้องสำคัญของบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องทำงาน หรือห้องที่มีคนอยู่ประจำเป็นเวลานานๆ เหตุผลก็เป็นเพราะว่าความลาดเอียงของเพดาน จะก่อให้เกิดการไหลเวียนของ “ชี่” ภายในห้องไม่สมดุล กระแสชี่ลาดลงจะเป็นกระแสที่รุนแรง ถือเป็น “ชี่” ที่ไม่ดี ยิ่งมีความลาดชันมาก ยิ่งส่งผลกระทบมาก ยกเว้นเพดานที่มีความสูงมากกว่าปกติ ผลกระทบก็จะมีไม่มาก เพราะ “กระแสชี่” จะกระจายตัวออกไปตามความสูงของเพดาน เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรออกแบบบ้านให้มีเพดานที่ลาดชัน โดยเฉพาะห้องที่มีคนนอนอยู่อย่างห้องนอน ห้องทำงาน ถ้าเป็นห้องโถงห้องรับแขกห้องนั่งเล่นที่มีคนอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวก็คงไม่เป็นอะไร เรื่องของเพดานแม้จะดูว่าไม่มีความสำคัญมากนักแต่ก็ไม่ควรละเลยเพราะหากเกิดทำผิดไปแล้วการแก้ไขจะทำได้ค่อนข้างยาก

 

ที่มาและการอ้างอิง

ฮวงจุ้ยการสร้างบ้าน-ต่อเติมบ้าน โดย มาโนช ประภาษานนท์