วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

โรคไทรอยด์ อันตรายไหม? 24 ข้อต่อไปนี้ มีคำตอบ Ep.124

โรคที่เกี่ยวกับไทรอยด์สามารถเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องมีกรรมพันธ์ุก็เกิดได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของตัวต่อมไทรอยด์เอง การรักษาอย่างถูกวิธี กินอาหารที่เหมาะกับโรค ทานยาตามที่แพทย์สั่ง จะช่วยบรรเทาและรักษาอาการให้ดีขึ้น จนกระทั่งหายได้

1.ไทรอยด์ คืออะไร

ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงหากมันทำงานผิดปกติ ต่อมไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมถึงควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกายด้วย

2.รู้จักต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมที่อยู่ด้านหน้าลำคอ ด้านล่างลูกกระเดือก ทำหน้าที่ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมน ความผิดปกติของต่อมนี้ ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป, ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป, มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ และ/หรือ คอพอก โดยโรคของต่อมไทรอยด์จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จะส่งผลให้ทุกระบบแปรปรวน ทั้งร่างกาย จิตใจ รวมถึงสมองด้วย โดยเฉพาะต่อประสาทการทำงานอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้

ขนาดของต่อมไทรอยด์แตกต่างกันไปตามอายุ เพศ และภาวะโภชนาการ ขนาดจะค่อนข้างโตในวัยรุ่น หนุ่มสาว และในคนที่ได้รับอาหารเพียงพอครบถ้วน ส่วนในผู้หญิง ต่อมไทรอยด์จะโตขึ้นเล็กน้อยชั่วคราว ขณะตั้งครรภ์และขณะมีประจำเดือน

3.ต่อมพาราไทรอยด์ คืออะไร

พาราไทรอยด์ฮอร์โมน (parathyroid hormone) หรือพาราทอร์โมน (parathomone) เรียกชื่อย่อว่าพีทีเอช (PTH) มีความสำคัญในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น หลั่งจากต่อมพาราไทรอยด์ที่ตั้งอยู่ด้านหลัง ที่ด้านบนและด้านล่างของต่อมไทรอยด์ มีขนาดเล็กมีอยู่ 4 ต่อม

4.หน้าที่ของต่อมพาราไทรอยด์

มีหน้าที่ทำให้ระดับความเข้มข้นของแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และลดระดับของฟอสเฟตที่กระดูก ไต และลำไส้เล็ก เพิ่มกระบวนการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก และยับยั้งกระบวนการสร้างกระดูก

ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการดูดกลับของแคลเซียมที่ไตทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น กระตุ้นการขับฟอสเฟตออกไปกับปัสสาวะ พาราทอร์โมนเร่งอัตราการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่ลำไส้เล็กโดยการทำงานร่วมกับวิตามินดี

5.ความผิดปกติของพาราไทรอยด์ฮอร์โมน

ถ้าร่างกายมีพาราไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยเกินไป จะให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ การดูดซึมแคลเซียมกลับที่ไตลดน้อยลง จะทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อไวต่อสิ่งเร้า มีอาการชาตามมือเท้า กล้ามเนื้อหดรัดตัว เกร็ง เป็นตะคริวที่มือและเท้า มีอาการชักกระตุก (tetany) บริเวณหน้า ปอดไม่ทำงาน และเสียชีวิตได้

เราสามารถทดสอบการขาดแคลเซียมได้ โดยการใช้เครื่องวัดความดัน รัดแขน จนเกินความดัน ซีส เตอ ลิก เพื่อบีบเส้นเลือดให้ตีบ กล้ามเนื้อจะขาดแคลเซียมไปเลี้ยง จะเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็ง มือกระตุกงอ (carpal spasm) ภายใน 3 นาที เรียกอาการนี้ว่า อาการของทรูโซ (Trousseau’s sign)

6.เนื้องอกของต่อมพาราไทรอยด์

เกิดจากการมีฮอร์โมนนี้มากเกินไป ก็จะทำให้เกิดเนื้องอกของต่อมพาราไทรอยด์ จะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสเฟตต่ำ จะทำให้เกิดนิ่วที่ไต กระดูกเปราะบางได้ เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียม ที่กระดูกมาก

7.ไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์สูง – ไทรอยด์ผอม)

อาการไฮเปอร์ไทรอยด์ (อังกฤษ: hyperthyroidism) คือสภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาเกินปกติ หรือ ไทรอยด์ชนิดผอม มักมีอาการใจสั่น มือสั่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ขี้โมโห หงุดหงิดง่าย เครียดง่าย มีการเผาผลาญพลังงานมากกว่าปกติ หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักไม่ขึ้น เหนื่อยง่าย ประจำเดือนน้อยลง นอนไม่หลับ ตาโปน กล้ามเนื้ออ่อนแรง

อาการเป็นพิษที่เกิดจากต่อมไทรอยด์นี้ เกิดจากการที่ฮอร์โมนที่ต่อมไทรอยด์สร้างขึ้น มีมากกว่าปกติและหลั่งเข้าสู่กระแสโลหิต ซึ่งได้เกิดการออกฤทธิ์กระตุ้นให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานหนักขึ้น โรคดังกล่าวมักเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

8.ไฮโปไทรอยด์ (ไทรอยด์ต่ำ – ไทรอยด์อ้วน)

ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive Thyroid) คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ออกมาไม่เพียงพอ โดยต่อมไทรอยด์ซึ่งอยู่ด้านหน้าส่วนล่างของคอ ทำหน้าที่ผลิตและส่งฮอร์โมนไทรอยด์เข้าไปในกระแสเลือด

ฮอร์โมนดังกล่าว ยังส่งผลต่ออวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่หัวใจไปยังสมอง และจากกล้ามเนื้อไปที่ผิวหนัง ฮอร์โมนไทรอยด์จะควบคุมกระบวนการใช้พลังงานของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หรือที่เรียกว่ากระบวนการเมตาบอลิซึม โดยกระบวนการเมตาบอลิซึมส่งผลต่ออุณหภูมิ อัตราการเต้นหัวใจ และการเผาผลาญพลังงาน

หากร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ไม่เพียงพอ จะส่งผลให้กระบวนการทำงานของร่างกายช้าลง กล่าวคือ ไม่มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งกระบวนการเมตาบอลิซึมทำงานช้าลง

ไฮโปไทรอยด์ เป็น ไทรอยด์ชนิดอ้วน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ จึงมีการเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติ และมีอาการต่างๆ เช่น เฉื่อยชา เบื่อ ขี้เกียจ ไม่อยากทำอะไร ง่วงนอนบ่อย ขี้หนาว ผมร่วง น้ำหนักขึ้น อ้วนแบบบวมฉุ เหนื่อยง่าย ทำอะไรไม่ค่อยไหว ท้องผูก บางรายประจำเดือนผิดปกติ

9.โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ

คือ มีไทรอยด์ฮอร์โมนในเลือดสูงกว่าปกติ อาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มักเป็นอาการพบได้ในระยะแรกของโรคต่อมไทรอยด์อักเสบทุกชนิด เกิดจาก เมื่อต่อมไทรอยด์อักเสบ เซลล์ของต่อมไทรอยด์จะบาดเจ็บเสียหาย เซลล์นั้น ๆ จึงปล่อยไทรอยด์ฮอร์โมนที่อยู่ภายในเซลล์ออกมาและเข้าสู่กระแสเลือด จนส่งผลให้เกิดอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

อาการที่อาจพบได้ เช่น หิวบ่อย หงุดหงิดง่าย กระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล มือสั่น น้ำหนักตัวลดลง ท้องเสีย ผิวหนังชื้น ผิวหนังอุ่น เหงื่อออกมากผิดปกติ หัวใจ/ชีพจรเต้นเร็ว ทนอากาศร้อนไม่ได้ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณเป็นเดือน หรือส่วนน้อยที่มีอาการนานเป็นปี หลังจากนั้น เมื่อต่อมไทรอยด์กลับมาเป็นปกติ อาการเหล่านี้ก็จะหายไป

10.ต่อมไทรอยด์โต

การสังเกตเห็นหรือคลำได้ก้อนโตที่ต่อมไทรอยด์ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยพอสมควร ราวร้อยละ 5 ของประชากรทั่วไป โดยมักพบในสุภาพสตรีวัยกลางคน ก้อนที่พบส่วนใหญ่มักไม่มีความร้ายแรง โดยเกิดจากเนื้อไทรอยด์โตผิดรูปโดยไม่ทราบเหตุ (nodular goiter) , การอักเสบภายในต่อมไทรอยด์, เนื้องอกต่อมไทรอยด์ชนิดไม่ร้าย มีเพียงส่วนน้อยราวร้อยละ 5 เกิดจากมะเร็งของต่อมไทรอยด์

11. มะเร็งต่อมไทรอยด์

ผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่ มักมีอาการไม่รุนแรง อาการแสดงทั่วไปไม่มีความแตกต่างกันชัดเจน การวินิจฉัยโรคจึงมีความสำคัญ ต้องแยกกลุ่มผู้ป่วยที่อาจเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์ ออกจากกลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ ให้ได้ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้อง

โดยอาจใช้แนวทางการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยละเอียด การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ การสุ่มเจาะเนื้อเยื่อจากต่อมไทรอยด์ไปตรวจ และการตรวจโดยใช้อัลตราซาวด์หรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ในบางกรณี

12.ไทรอยด์ขึ้นตา

โรคคอพอกตาโปน หรือ โรคเกรฟส์ เป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีลักษณะเด่น คือ คอพอก , ตาโปน , ผิวเหมือนเปลือกส้ม และมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism) มีสาเหตุมาจากแอนติบอดีในปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง แต่สิ่งกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวยังไม่ทราบชัดเจน

โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินที่พบมากที่สุดในโลก และเป็นภาวะต่อมไทรอยด์โตที่พบมากที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในยุโรปบางประเทศเรียกโรคนี้ว่า โรคเบสโดว์ (Basedow’s disease) หรือ โรคเกรฟส์-เบสโดว์ (Graves-Basedow disease)

โรคคอพอกตาโปน มีอาการเด่น คือ อาการต่อมไทรอยด์โตขึ้น และปัญหาของดวงตา อาการแสดงที่ดวงตาของโรคนี้ พบมากในผู้สูบบุหรี่ และอาจแย่ลงหลังจากการรักษาอาการที่ไทรอยด์ด้วยไอโอดีนรังสี (radioiodine) ดังนั้น อาการแสดงที่ดวงตาจึงไม่ได้เกิดจากตัวต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน

ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดเพราะว่า ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจากสาเหตุอื่นๆ ทำให้หนังตาบนหดรั้งขึ้นไป (eyelid lag หรือ hyperthyroid stare) แต่ลูกตาไม่ได้โปนยื่นออกมา ซึ่งทำให้สับสนกับอาการตาโปนที่ลูกตาทั้งลูกยื่นออกมา อย่างไรก็ตามสภาวะทั้งหนังตาบนหดรั้งขึ้นไป และตาโปน อาจเกิดขึ้นพร้อมกันในผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินร่วมกับโรคเกรฟส์

13.โรคไทรอยด์เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่

โรคที่เกี่ยวกับไทรอยด์สามารถเกิดขึ้นเอง โดยไม่ต้องมีกรรมพันธ์ุก็เกิดได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของตัวต่อมไทรอยด์เอง เช่น ภาวะหรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะหรือโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคคอพอก โรคปุ่มเนื้อต่อมไทรอยด์ และโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งภาวะหรือโรคเหล่านี้เกิดมาจากหลายสาเหตุที่ต่างกัน

14.ไทรอยด์กับการตั้งครรภ์

โรคของต่อมไทรอยด์ที่พบในหญิงตั้งครรภ์ จะเหมือนกับที่สามารถพบได้ในคนทั่วไป คือ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป, ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป, และคอพอก แต่ที่จะมีความแตกต่างคือ หญิงตั้งครรภ์สามารถพบโรคของต่อมไทรอยด์หลังคลอดได้ คือมีการอักเสบชั่วคราวเกิดขึ้นที่ต่อมไทรอยด์หลังคลอดหรือหลังแท้งบุตร

ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่ได้รับการรักษา จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการตายของทารกในครรภ์ หรือทำให้การเจริญเติบโตของทารกช้ากว่าปกติ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงที่มารดาจะพบภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น โลหิตจาง, ครรภ์เป็นพิษ และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

อาการของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากไป ที่มีอาการไม่มาก จะคล้ายกับอาการปกติที่พบได้ระหว่างตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการอย่างเด่นชัด เช่น น้ำหนักลด, อาเจียน, ความดันโลหิตสูงขึ้น, หัวใจเต้นเร็วตลอดเวลา ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือไม่

15.คอพอกในหญิงตั้งครรภ์ 

เป็นเรื่องปกติที่จะพบคอพอกเล็กน้อยได้ในหญิงตั้งครรภ์ และจะพบมากขึ้นถ้าผู้หญิงคนนั้นพักอาศัยในบริเวณที่มีการขาดธาตุไอโอดีน การขาดธาตุไอโอดีนอาจเกิดขึ้นจากการที่บางคนหลีกเลี่ยงการรับประทานนม ไข่ และเกลือผสมไอโอดีน

วิตามินสำหรับบำรุงขณะตั้งครรภ์ ไม่ใช่ทุกตัวที่จะมีไอโอดีนเป็นส่วนผสม ดังนั้น จึงมีคำแนะนำให้รับประทานวิตามินบำรุงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีส่วนผสมของไอโอดีนด้วย เพื่อป้องกันการขาดไอโอดีน หากพบต่อมไทรอยด์โตเป็นก้อนระหว่างตั้งครรภ์ คำแนะนำในการรักษาปัจจุบันคือ ไม่ควรรอจนคลอด แต่ให้เข้ารับการตรวจประเมินและเจาะดูดชิ้นเนื้อไปตรวจให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

16.โรคของต่อมไทรอยด์หลังคลอด

ในผู้หญิงบางรายอาจพบภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบชั่วคราวหลังคลอด หรือที่เรียกว่า postpartum subacute thyroiditis ซึ่งมักพบในช่วง 3-6 เดือนหลังคลอด หรืออาจเกิดขึ้นหลังจากแท้งบุตร

อาการที่พบได้บ่อยคือ ผู้หญิงรายนั้นจะมีอาการเริ่มแรกคือ อาการของต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน ได้แก่ ใจสั่น วิตกกังวล และน้ำหนักตัวลดลง หลังจากนั้นจะตามด้วยอาการของต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ได้แก่ อ่อนเพลีย ท้องผูก และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และปิดท้ายด้วยต่อมไทรอยด์กลับมาทำงานปกติได้ประมาณ 90% ของผู้หญิงที่มีภาวะนี้ทั้งหมด

ในผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหลังคลอดได้ถึง 25% ให้ปรึกษาแพทย์ถ้าคุณมีอาการของต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป หรือต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป หลังจากคลอด หรือหลังจากแท้งบุตร

17.กลืนแร่รักษาไทรอยด์ (ข้อควรระวังไทรอยด์กับการตั้งครรภ์)

เนื่องจากว่าสารไอโอดีน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์ การให้สารไอโอดีนที่เป็นสารกัมมันตรังสี (Radioactive iodine) จะทำให้รังสีทำลายเนื้อมะเร็ง การรักษาโดยวิธีนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานสารไอโอดีนรังสี ซึ่งอาจจะทำเป็นรูปสารละลาย หรือแคปซูล I-131 นี้จะไปจับกับเนื้อไทรอยด์อย่างรวดเร็ว และเริ่มทำลายเนื้อไทรอยด์ โดยจะเห็นผลใน 6-18 สัปดาห์ ก่อนได้รับสารนี้ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนทุกครั้ง

ห้ามใช้ Radioactive iodine ในคนท้อง หญิงให้นมบุตร ควรตรวจการตั้งครรภ์ก่อนให้สารนี้ และควรจะคุมกำเนิดหลังจากได้ยานี้อีก 6 เดือน

18.การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่ได้รับน้ำแร่รักษาไทรอยด์

หลักการรักษาผู้ป่วยด้วยน้ำแร่ไอโอดีนรังสี คือการให้ผู้ป่วยรับประทานสารไอโอดีนรังสี เพื่อรักษาโรค เมื่อกินน้ำแร่ไอโอดีนรังสี ต่อมไทรอยด์จะจับสารไอโอดีนรังสีดังกล่าวไว้ ซึ่งจะให้รังสีทำลายต่อมไทรอยด์ แม้ว่ารังสีที่ได้รับจะมีปริมาณไม่มาก แต่ท่านควรป้องกันคนใกล้ชิดของท่าน มิให้ได้รับรังสีนั้น

ผู้ที่รับน้ำแร่รักษาไทรอยด์ ควรอยู่ไกลผู้อื่น ช่วง 2-3 วันแรก ให้แยกตัวจากผู้อื่น โดยการแยกห้องนอน งดการกอด หรือมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงคนท้องและเด็ก ลดระยะเวลาที่ต้องสัมผัสกับผู้อื่น เนื่องจากปริมาณรังสีที่ได้รับขึ้นกับระยะเวลาที่สัมผัส

ดังนั้นควรอยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นให้น้อยที่สุด รักษาสุขลักษณะให้ดีที่สุด ให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ ให้กดชักโครก 3-4 ครั้ง แยกถ้วยชามอาหารในระยะแรก ล้างห้องน้ำหรืออ่างล้างหน้าทุกครั้งที่เปื้อนน้ำลายหรือเหงื่อของผู้ป่วย

ข้อควรระวัง ถ้าหากตั้งครรภ์ควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับน้ำแร่ หากเลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง ให้งดให้นมบุตร เนื่องจากน้ำแร่สามารถผ่านทางน้ำนมได้

19.การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid function test)

แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ Invitro study คือ การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์จากฮอร์โมนในเลือด ด้วยวิธีทางห้องปฎิบัติการ เช่น การวัดระดับซีรัม T3, T4 และ TSH เป็นต้น และ Invivo study คือ การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ภายในตัวผู้ป่วย เช่น การตรวจการจับไอโอดีนรังสีที่ต่อมไทรอยด์(thyroid uptake) และไทรอยด์สแกน เป็นต้น

20.วิธีรักษาไทรอยด์ด้วยวิธีธรรมชาติ

ผู้ที่มีอาการไทรอยด์ สามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยการออกกำลังกาย เพราะจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของอิมมูนซิสเต็มได้เป็นอย่างดี ทำให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวที่มีคุณภาพ

รับประทานอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพ ที่ผ่านการปรุงแต่งน้อย เพราะจะคงคุณค่าสารอาหารไว้ได้มากที่สุด เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ แป้งไม่ขัดขาว พืชผักผลไม้ในท้องถิ่นตามฤดูกาล (รสไม่หวาน) โดยเฉพาะกล้วยมีสารที่ช่วยลดแล็คติค เอซิด ( Lactic Acid) ช่วยลดอาการเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคไทรอยด์

สำหรับผู้ที่ทีดื่มชากาแฟ ให้ลองเปลี่ยนมาดื่มน้ำชาสมุนไพรแทน เช่น ตะไคร้ ขิง ดอกคำฝอย ก็จะช่วยเป็นทั้งยาและเครื่องดื่ม ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรงสดชื่นได้ ฝึกให้ตนเองมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ จะช่วยรักษาสมดุลจิตใจของคนที่ป่วยเป็นโรคไทรอยด์ได้ดี วิธีนี้ช่วยลดความวิตกกังวล และความฟุ้งซ่านได้

นอกจากนี้ ไม่ควรเก็บตัวเงียบคนเดียว ควรมีเพื่อนไว้พูดคุยคลายทุกข์ ระบายสิ่งต่าง ๆ ออกมาให้กับครอบครัว หรือเพื่อนที่รู้ใจได้รับรู้บ้าง โดยเฉพาะเพื่อนที่มีปัญหาเดียวกัน เพราะจะคอยรับฟังและดูแลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี รวมถึงหากิจกรรมทำเพื่อความเพลิดเพลิน ไม่ว่าการวิธีเขียนไดอารี่ วาดภาพ อ่านหนังสือ ท่องเที่ยวแบบเบา ๆ เป็นต้น


21.การผ่าตัดไทรอยด์

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือ Thyroidectomy เป็นวิธีการทางศัลยกรรมที่ค่อนข้างพบได้ทั่วไป โดยปกติจะเป็นการผ่าตัดเอาบางส่วนของต่อมไทรอยด์ออก มักจะใช้ในการรักษาเนื้องอกของต่อมไทรอยด์ แต่บางครั้งก็อาจใช้ในการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วย

เนื่องจากตำแหน่งของต่อมไทรอยด์มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างต่างๆ คือ ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid glands) และเส้นประสาทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกล่องเสียงและคอหอย จึงต้องระมัดระวังในการผ่าตัดเป็นพิเศษ ผลข้างเคียงของการผ่าตัดอาจทำให้เกิดอาการเสียงแหบ (hoarseness) หรืออาการกลืนลำบาก (dysphagia) เนื่องจากเส้นประสาทในบริเวณต่อมไทรอยด์ได้รับความเสียหายบางส่วน

ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิกการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้อง ซึ่งในปัจจุบันมีความนิยมมากขึ้น เนื่องจากแผลเล็ก ซ่อนแผลไว้ได้ เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว แต่ข้อเสียคือ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญในเรื่องการผ่าตัดผ่านกล้อง

การผ่าตัดผ่านกล้องทำเพื่อหลีกเลี่ยงแผลเป็นที่คอ โดยจะเปิดแผลเล็กๆที่บริเวณอื่นแทน เช่น รักแร้ หน้าอก ลานหัวนม หลังหู หลังผ่าตัดคนไข้จะไม่มีเป็นแผลเป็นที่คอ แต่จะเป็นแผลเป็นที่อื่นแทน เช่น รักแร้ หน้าอก เป็นต้น โดยขนาดแผลก็มีตั้งแต่ 5 mm – 3 cm แล้วแต่ชนิดการผ่าตัด (ในประเทศไทยที่แพร่หลาย ก็คือ ผ่าตัดผ่านกล้องผ่านทางรักแร้ และรักแร้-หน้าอก)

เทคนิคล่าสุดของการผ่าตัดไทรอยด์คือ คือ การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องผ่านทางช่องปาก โดยจะเปิดแผลเล็กๆในช่องปาก ขนาด 5 mm และ 10 mm สอดกล้อง+เครื่องมือเข้าไปผ่าตัด คีบต่อมไทรอยด์ออกมา แผลจะถูกซ่อนไว้ในช่องปากแทน โดยที่หลังผ่าตัดคนไข้ไม่มีแผลเป็นที่ผิวหนังแม้แต่นิดเดียว

แผลในปากจะสมานแผลเร็วมาก 2 วันก็ทานได้ตามปกติ และหายเจ็บแผล การผ่าตัดผ่านช่องปากจะเจ็บน้อยกว่าแบบอื่น และในแง่ของความสวยงามจะดีที่สุดเมื่อเทียบกับวิธีอื่น ทั่วโลกในตอนนี้มีทำการผ่าตัดแบบนี้ที่เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน และที่เมืองไทยมีทำที่แรกและที่เดียวที่ กลุ่มงานศัลยกรรม รพ.ตำรวจ

22.สมุนไพรรักษาไทรอยด์

คำถาม : ทราบข้อมูลว่ามีสมุนไพรไทย เช่นใบญ่านาง ลูกยอ เห็ดหลินจือ รักษาโรคไทยรอยด์ได้ แต่ไม่รู้ว่าตัวที่กินแล้วได้ผลดีที่สุด ตอนนี้หมอให้กินยาที่เป็นเคมี ประมาณ 2 ปี จึงอยากได้สมุนไพรมาเป็นตัวเสริม (Date : 26/8/2554)

คำตอบ : โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ เป็นการเสียสมดุลของฮอร์โมนไทรอยด์ โดยไม่ทราบสาเหตุ จนทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติ และปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าใบย่านาง ลูกยอ และเห็ดหลินจือช่วยรักษาอาการไทรอยด์เป็นพิษหรือออกฤทธิ์เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ จึงไม่แนะนำให้รับประทาน

สำหรับสมุนไพรที่มีการศึกษาว่ามีฤทธิ์ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ได้แก่ สารสกัดกระเทียม ลูกซัด และวุ้นของว่านหางจระเข้ แต่ยังเป็นเพียงการทำในสัตว์ทดลอง ยังไม่ทราบขนาดและเป็นพิษในคน แนะนำให้คุณอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนปัจจุบัน

หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ น้ำนมถั่วเหลือง และผักจำพวกกระหล่ำปลี ผักกาดใบเขียว เนื่องจากมีรายงานว่าเป็นพิษกับต่อมไทรอยด์ รวมทั้ง รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอจะช่วยควบคุมอาการไทรอยด์เป็นพิษได้

23.อาหารเสริมรักษาไทรอยด์

มีคำถามว่า “ไทรอยด์เป็นพิษกินวิตามิน อาหารเสริมได้ปกติหรือไม่” เรามีคำตอบจากแพทย์มาแนะนำ

รัตน์พล อ่ำอำไพ (แพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวช) กล่าวว่า ” … โดยปกติแล้วไม่มีความจำเป็นต้องได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มเติมครับ การรับประทานอาหารอย่างเพียงพอและครบห้าหมู่ก็เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันแล้วครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่มีไทรอยด์ต่ำจากการรักษาด้วยการกลืนแร่ไปแล้วนั้น การรักษาคือทานฮอร์โมนไทรอยด์เสริมได้เพียงอย่างเดียวครับ อาหารเสริมมักไม่ได้มีส่วนช่วยใดๆ ส่วนในกรณีที่ต้องการทานอาหารเสริมจริงๆ ก็แนะนำว่าให้ระมัดระวังเรื่องแร่ธาตุไอโอดีนครับ… “

ศิรินทิพย์ ผอมน้อย (นักจิตวิทยาคลินิก) กล่าวว่า  ” … การทานอาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน เผื่ออาจมีผลกับอาการของผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีปฏิกริยาตอบสนองต่ออาหารเสริมเหล่านั้นแตกต่างกันค่ะ ทางที่ดีคือทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผ่านการปรุงแต่งน้อย เช่น ข้าวกล้อง แป้งไม่ขัดขาว เพราะจะคงคุณค่าของสารอาหารไว้มาก ทานผักผลไม้เยอะ ๆ โดยเฉพาะกล้วย เพราะในกล้วยมีสารช่วยลดแลคติก เอซิด(Lactic Acid) ที่ช่วยลดอาการเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไทรอยด์

รวมทั้งยังควรทานเนื้อสัตว์ประเภทโปรตีนไขมันต่ำ เช่น อกไก่ เนื้อปลา เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษมักจะมีความรู้สึกอยากอาหาร ทานแล้วน้ำหนักก็ไม่ค่อยขึ้น การทานโปรตีนไขมันต่ำ จะช่วยให้อิ่มอยู่ท้องได้นานขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารต้องห้าม อันได้แก่ อาหารที่มีไอโอดีน สังกะสี ซีลีเนียมสูง พบได้มากในอาหารทะเล ปลา เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ กระเทียม เห็ด เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง และธัญพืชต่างๆ นมและผลิตภัณฑ์จากนม, กาเฟอีน, แอลกอฮอล์, อาหารที่แพ้ เป็นต้น …”

24.ไทรอยด์เป็นพิษห้ามกินอะไร

มีคำถามว่า “ไฮเปอร์ไทรอยด์ (ไทรอยด์สูง – ไทรอยด์ผอม) หรือไทรอยด์เป็นพิษห้ามกินอะไร” เรามีคำตอบจากแพทย์มาแนะนำ

รัตน์พล อ่ำอำไพ (แพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวช) กล่าวว่า ” … กรณีเข้าใจว่าเป็นไทรอยด์เป็นพิษใช่ไหมครับ โดยตัวฮอร์โมนไทรอยด์มีการสร้างมากขึ้น ควรทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดครับ นอกจากนี้อาการไทรอยด์เป็นพิษที่พบได้คือ หัวใจเต้นเร็ว ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้หัวใจเต้นเร็ว เช่น คาเฟอีน ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อลดอาการใจสั่นมือสั่นได้ครับ และหลีกเลี่ยงอาหารทะเลหรืออาหารที่มีส่วนผสมของไอโอดีนสูง เนื่องจากอาจจะทำให้มีการนำไปสร้างไทรอยด์ได้ครับ … “

มีคำถามว่า ไฮโปไทรอยด์ (ไทรอยด์ต่ำ – ไทรอยด์อ้วน) มีอาหารหรือสมุนไพรอะไรบ้าง ที่เหมาะต่อโรคดังกล่าว เรามีคำตอบดังนี้

คำตอบ : ภาวะเหล่านี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และต้องระวังเรื่องอาหาร ในส่วนของสมุนไพรคงทำได้เพียงเสริมการรักษาเท่านั้น เช่น การรับประทานกล้วย ทั้งกล้วยหอม กล้วยน้ำว้า และกล้วยไข่ เพราะกล้วยเป็นผลไม้ที่มีแมกนีเซียมและโพแทสเซียมสูง แต่ควรทานแต่พอดี (ประมาณวันละ 1-2 ลูก) และหากมีโรคไต ต้องระมัดระวังไม่ควรทานเยอะ 

นอกจากนี้ การทานกล้วยอาจทำให้เกิดอาการแน่นท้องและท้องอืดได้ ในส่วนของไทรอยด์ คงแนะนำให้หลีกเลี่ยงพืชบางชนิดมากกว่า เช่น พืชตระกูล กะหล่ำปลี หัวผักกาดต่างๆ เมล็ดพรรณผักกาดชนิดต่างๆ เนื่องจาก พืชตระกูลนี้มีสารที่เป็นพิษกับต่อมไทรอยด์หากรับประทานดิบ ดังนั้นควรทานแบบผ่านการทำให้สุกเสียก่อน

นอกจากนี้ การป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์ที่เกิดจากการขาดธาตุไอโอดีน เป็นภาวะที่พบได้มากในประเทศไทย สามารถป้องกันได้ด้วยการรับธาตุไอโอดีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเลือกซื้อเกลือเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ที่เสริมแร่ธาตุไอโอดีน เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส และเกลือปรุงอาหาร เพื่อเอาไว้ประกอบอาหารสำหรับรับประทาน

ธาตุไอโอดีนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้ ร่างกายไม่สามารถผลิตแร่ธาตุนี้ได้เอง จึงควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไอโอดีนเพื่อช่วยในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ อาหารที่มีไอโอดีนสูงได้แก่ เกลือไอโอดีน อาหารทะเล สาหร่ายทะเล ปลาทะเล ไข่ และผลิตภัณฑ์เนยนม


source :

https://th.wikipedia.org/wiki/โรคไทรอยด์

https://www.pobpad.com/ไฮโปไทรอยด์

https://th.wikipedia.org/wiki/ต่อมไทรอยด์

https://www.honestdocs.co/ask/6001616

https://www.honestdocs.co/ask/57299644

https://www.honestdocs.co/ask/36438018

http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5804

http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6322

เอกสารคำสอน in vivo TFT อ.อจลญา.pdf

https://il.mahidol.ac.th/e-media/hormone/chapter4/parathyroid_hormone.htm

https://www.honestdocs.co/thyroid-disease-found-in-pregnant-women