วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

บันได 10 ขั้น สู่ความสุขในวัยเกษียณ

03 ก.ค. 2017
2126

ความสุขในวันเกษียณ

 

 

เราจะเกษียณอย่างมีความสุขในอนาคตได้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือเอาจริง ๆ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่เรียนจบแล้วหางานทำได้นั่นแหละ แต่หากเราเริ่มเก็บออมตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ ไม่ได้ แล้วมาเริ่มตอนอายุมากขึ้นก็ต้องยอมรับว่ามันจะมีความเหนื่อยมากขึ้น เราไม่ดูกันว่า บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ มีอะไรกันบ้าง บางทีอาจจะช่วยให้คุณมีไอเดียในการออมเพิ่มมากขึ้นก็ได้

 

ขั้นที่ 1 รู้จักตนเอง

คือการดูถึงความพร้อมของตนเองในทุกๆด้าน เพื่อประเมินตนเองและกำหนดการวางแผนการออมหรือการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง โดยก่อนเริ่มออมเราควรประเมินว่า

  • มีทรัพย์สินขณะนี้เท่าไร
  • ทรัพย์สินเหล่านี้ สิ่งใดสามารถขายได้เมื่อมีความจำเป็น
  • ทรัพย์สินอะไรที่ขายไม่ได้
  • ทรัพย์สินแต่ละอย่างให้ผลตอบแทนเท่าไรในแต่ละเดือน
  • เราสามารถเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินได้อย่างไร

นอกจากนี้เรายังต้องดูรายได้แต่ละเดือนของครอบครัวความมั่นคงของรายได้และแหล่งของรายได้ตลอดจนค่าใช้จ่ายของครอบครัว ทั้งสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็นหรือค่าใช้จ่ายรายการใดๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังประเมินตัวเองแล้วเราจะทราบว่าทรัพย์สินที่มีอยู่และการดำเนินชีวิตอย่างที่เป็นอยู่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายในวัยเกษียณที่เราคาดหวังไว้ได้หรือไม่

 

ขั้นที่ 2 เริ่มออมทันทีและมีวินัย

ในการออมให้สม่ำเสมอ คำถามที่มักพบเสมอคือ การออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณควรจะเริ่มเมื่อไรคำตอบคือ เริ่มออมทันทีที่รู้ถึงความจำเป็นในการออมเพื่อวัยเกษียณ เพราะการออมเป็นการสะสมเงินเพื่อใช้สำหรับช่วงชีวิตประมาณ 25-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงปลายของชีวิตที่เราจะไม่มีรายได้ แต่กลับมีค่าใช้จ่ายอยู่ในระดับสูง เช่น ค่าดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งเงินก้อนที่เราจะต้องมีเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้คิดเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก

  • หากคุณใช้จ่ายเดือนละ 10,000 บาทในช่วงเวลา 25 ปีหลังเกษียณ (สำหรับผู้ชาย) ควรมีเงินก้อนเวลาที่เกษียณประมาณ 2.14 ล้านบาท หรือ 2.88 ล้านบาท สำหรับช่วง 29 ปีหลังเกษียณ (สำหรับผู้หญิง)
  • หากคุณเกษียณอายุ 60 ปีและเริ่มออมเมื่ออายุ 50 ปีสำหรับผู้ชาย ด้วยการฝากเงินที่ธนาคาร ที่ดอกอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี คุณต้องออมเงินเดือนถึงเดือนละ 15,300 บาท แต่หากคุณเริ่มออมเมื่ออายุ 20 ปี คุณจะออมเพียงเดือนละ 2,300 บาทเท่านั้น

ดังนั้นหากเราไม่เริ่มออมตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างมีวินัย การออมเพื่อให้ได้เงินจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมสร้างภาระในการออมให้เราได้หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมีเงินก้อนจำนวนมากเช่นนี้

 

 

ขั้นที่ 3 ตั้งเป้าหมาย

ว่าคุณต้องการมีเงินเท่าไหร่ภายหลังเกษียณ ตามตำราเกี่ยวกับการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแนะนำว่า จำนวนเงินที่พอเหมาะสำหรับการใช้จ่ายในช่วงเกษียณแต่ละเดือนควรจะประมาณร้อยละ 70 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในช่วง 5 ปีสุดท้ายที่ทำงาน เช่น หากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในช่วง 5 ปีสุดท้ายเท่ากับ 10,000 บาท คุณควรมีเงินใช้จ่ายในช่วงเกษียณประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน จึงจะมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกษียณ หากเรากำหนดได้แล้วว่าต้องการมีเงินใช้จ่ายเดือนละเท่าไรหลังเกษียณ แล้วจะสามารถคำนวณได้ว่าต้องมีเงินออมเท่าใดในปีที่เกษียณอายุจึงจะเพียงพอ เมื่อนำไปลงทุนในเงินฝากประจำหรือกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งย่อมให้ผลตอบแทนต่ำด้วย แล้วเราจะมีรายได้เพียงพอ ที่จะดำรงชีวิตในแบบที่ตั้งเป้าหมายไว้และเพื่อให้เงินบางส่วนที่ออมไว้ ไม่ลดค่าลงไปเรื่อยๆเพราะเงินเฟ้อเราจะได้มีเงินออมสำหรับใช้จ่ายอย่างเพียงพอตลอดช่วงชีวิตหลังเกษียณ

 

อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือ จำนวนปีที่เราคาดว่าจะมีอายุต่อไปในช่วงหลังเกษียณ ซึ่งตัวเลขอ้างอิงจากข้อมูลอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยผู้ชายจะอยู่ที่อายุ 60 ปี และมีชีวิตเฉลี่ยต่อไป 25 ปี ส่วนผู้หญิงอายุ 60 ปี และมีชีวิตต่อไปเฉลี่ย 29 ปี คุณสามารถคำนวณเงินออมภายหลังเกษียณ เพื่อจะได้ทราบว่าได้หลังเกษียณอายุ คุณควรมีเงินออมจำนวนประมาณเท่าใด และจะเพียงพอต่อการใช้ในช่วงเกษียณหรือไม่ด้วย

 

ขั้นที่ 4 ศึกษาและเลือกประเภทตราสาร

หรือหลักทรัพย์หรือกองทุนรวมที่เหมาะสม หากปัจจุบันคุณอายุ 45 ปีและประเมินแล้วว่าควรมีเงินก้อนนะเวลาเกษียณที่อายุ 55 ปีจำนวน 4 ล้านบาท และปัจจุบันมีเงินออม 5 แสนบาท ซึ่งทั้งหมดอยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี คุณต้องออมเงินเดือนละ 25,000 บาท ถึงจะเพียงพอสำหรับเป้าหมายที่วางไว้ หากความสามารถในการออมของคุณมีเพียงเดือนละ 10,000 บาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คุณควรหาทางเพิ่มผลตอบแทนของเงินออมให้มากขึ้น โดยลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงิน เช่น หุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น มักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน

 

การเข้าใจตนเองในขั้นตอนแรกของการมีความสุขทางด้านการเงินหลังวัยเกษียณ จะช่วยให้เราทราบถึงความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ดี ส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เราควรศึกษาถึงธรรมชาติและความเสี่ยงของหลักทรัพย์นั้น เพื่อประเมินผลกระทบและความเหมาะสมกับการออมเงินของเรา เช่น อาจลงทุนกองทุนรวมประเภทต่างๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงอายุ ซึ่งช่วงอายุของคนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายๆปัจจัย ที่ใช้ในการประเมินการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลเท่านั้น หากเราสามารถพิจารณาปัจจัยอื่น ที่กล่าวถึงในขั้นตอนการรู้จักตนเองประกอบด้วย จะช่วยให้สามารถวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

 

 

ขั้นที่ 5 วิเคราะห์หาทางเลือกต่างๆ

ซึ่งให้ผลตอบแทนเพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องคือ ระยะเวลาในการออม จำนวนเงินออม และผลตอบแทนของเงินออม ตัวอย่างเช่น หากคุณอายุ 40 ปี ตั้งใจจะเกษียณอายุเมื่อ 55 โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีเงิน 5 ล้านบาทเมื่อเกษียณ และออมได้เดือนละ 10,000 บาท จะคำนวณได้ว่า เงินที่ออมต้องนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปีขึ้นไป ต้องมาดูว่าควรลงทุนในตราสารหรือกองทุนประเภทไหนจึงจะได้ผลตอบแทนในระดับนี้ ซึ่งดูจากข้อมูลในอดีตมีแต่การลงทุนในหุ้น ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 17 ปี ที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 17.35 ต่อปี

 

หากรับความเสี่ยงได้ไม่มาก อาจลงทุนในตราสารหนี้ หรือลงทุนในทุนหุ้นทุนบางส่วน และอีกส่วนหนึ่งลงทุนในตราสารหนี้ หากรับความเสี่ยงได้ต่ำมาก ควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือพันธบัตร และเงินฝากเท่านั้น แต่เนื่องจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ พันธบัตร หรือเงินฝากให้ผลตอบแทนไม่ถึงร้อยละ 12 ต่อปี จึงต้องเพิ่มจำนวนเงินออมต่อเดือนให้มากกว่า 10,000 บาท เช่น หากนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรมีผลตอบแทนประมาณร้อยละ 10 ต่อปี จะต้องออมเงินประมาณ 20,320  บาทต่อเดือนเป็นต้น จะเห็นได้ว่าทางเลือกของการลงทุนหากไม่เหมาะสมหรือเราไม่สามารถรับความเสี่ยงได้มาก เราจะต้องชดเชยด้วยการปรับตัวแปรอื่นๆ เช่น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือ พยายามหารายได้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนเงินออมในแต่ละเดือนให้มากขึ้น

 

ขั้นที่ 6 การกระจายความเสี่ยง

การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง หากคาดหวังผลตอบแทนที่สูง ขึ้นย่อมมีความเสี่ยงสูงขึ้น ด้วยการเลือกลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์ประเภทต่างๆนั้น เราจะต้องจัดสัดส่วนการลงทุนให้ดี โดยควรกระจายการลงทุนไปในตราสารและหลักทรัพย์ให้หลากหลายประเภทและหลากหลายผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนลงไปได้มาก ดังคำพังเพยที่ว่า “อย่าวางไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว”  การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เราควรกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์หลายประเภท และหลายๆตัวเพื่อกระจายความเสี่ยง หากหลักทรัพย์ใดเกิดปัญหา เงินออมของเราจะถูกกระทบเฉพาะส่วนที่ลงทุนในหลักทรัพย์นั้น แต่ไม่กระทบไปทั้งหมด

 

วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งของการกระจายความเสี่ยงคือ ลงทุนในกองทุนรวม เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ทำให้สามารถแบ่งเงินไปลงทุนในตราสารและหลักทรัพย์จำนวนมากได้ หากนักลงทุนแต่ละคนจะลงทุนเองโดยตรงอาจลงทุนได้ไม่กี่หลักทรัพย์เป็นต้น

 

 

ขั้นที่ 7 ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มที่

ปัจจุบันภาครัฐสนับสนุนการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการออมในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือล่าสุด กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งโดย ให้ผู้ซื้อหน่วยลงทุนที่ต้องการออมเงินระยะยาวเพื่อไว้ใช้ในการในยามเกษียณ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการออมเพื่อเกษียณ เนื่องจากผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างมากมาย ดังนั้นจึงควรใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อการออมให้มากที่สุด

 

ขั้นที่ 8 ตัดสินใจลงทุน

เมื่อวางแผนหรือมีข้อมูลที่จะใช้ประกอบการวางแผนแล้ว เราควรตัดสินใจว่าจะลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์โดยตรง หรือลงทุนในกองทุนรวม เพราะหากเราเลือกอย่างหลัง สิ่งที่เราควรพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อหน่วยลงทุนคือ เลือกบริษัทที่จะมาทำหน้าที่บริหารเงินออมของเรา โดยทั่วไปหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกบริษัทจัดการนั้นเราควรพิจารณาปัจจัยต่างๆดังนี้

  1. ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของทีมงาน ทั้งทีมผู้จัดการกองทุน และผู้วางแผนการลงทุนและความพร้อมของระบบการจัดการกองทุน
  2. จรรยาบรรณของบริษัทจัดการ ดูได้จากประวัติด้านจรรยาบรรณและการปฏิบัติตามกฎหมาย ในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
  3. ความมั่นคงของบริษัทจัดการนั้นๆ เช่นฐานะทางการเงินผู้ถือหุ้น ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทดังกล่าวสามารถจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสามารถลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็นได้เต็มที่
  4. ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนภายใต้การจัดการของบริษัทนั้น เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้วัดผลงาน เช่น กองทุนประเภทหุ้นทุน ใช้ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ ตลอดจนเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของกองทุนประเภทเดียวกันของทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันและควรวัดผลในระยะยาวพอสมควรโดยดูความสม่ำเสมอของการดำเนินงานด้วย
  5. ดูทรัพย์สินภายใต้การจัดการ หรือจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุน ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการนั้น ซึ่งสามารถเป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งได้ว่า ถ้ามีจำนวนมากแสดงว่าบริษัทจัดการนั้นมีผู้ไว้วางใจมาก ตลอดจนได้รับความไว้วางใจจาก นักลงทุน สถาบันการเงิน นักลงทุนสถาบันมักมีเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกบริษัทจัดการที่ละเอียดกว่านักลงทุนรายย่อย
  6. บริการให้คำปรึกษาการลงทุนที่ดีและความสะดวกในการซื้อขายหน่วยลงทุน เพราะเราควรเข้าใจการลงทุนอย่างดีก่อนตัดสินใจลงทุน หากบริษัทได้มีบริการที่สามารถทำให้เราซื้อขายหน่วยลงทุนได้สะดวก และสามารถซื้อแบบหักบัญชีธนาคารแบบสม่ำเสมอได้ จะช่วยให้เราสามารถทยอยการออมและบังคับตนเองให้มีวินัยในการออมได้
  7. การมีกองทุนครบทุกประเภทให้เลือก นอกจากจะทำให้เรามีทางเลือกครบและได้รับความสะดวกในการโอนย้ายการลงทุน ยังเป็นเครื่องชี้วัดอย่างหนึ่งที่แสดงว่า บริษัทจัดการนั้นมีความพร้อมและประสบการณ์ในการบริหารหลักทรัพย์ประเภทต่างๆที่หลากหลาย ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อเงินออมของเราด้วยเช่นกัน

 

ขั้นที่ 9 เลือกประเภทกองทุน

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเราคือ ขอคำแนะนำจากผู้วางแผนการลงทุนซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทจัดการ หรือตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ด้านการวางแผนการลงทุน จึงสามารถให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดีว่าเราควรจะลงทุนในกองทุนประเภทไหน และกระจายการลงทุนอย่างไร เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการออมเพื่อเกษียณอายุ

 

ขั้นที่ 10 ติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของหลักทรัพย์

ร่วมกันทบทวนและปรับการลงทุนให้เหมาะกับชีวิตที่เปลี่ยนไป และมีความสุขในวัยเกษียณได้นั้น ดูเหมือนจะต้องมีขั้นตอนการวางแผนมากมาย ซึ่งอาจจะดูยุ่งยากแต่หากพิจารณาจริงๆแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือการลงมือปฏิบัติโดยอ้อมทันทีตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเราจะไม่ประสบปัญหาเงินออมไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย และจะมีความสุขในวัยเกษียณ เพราะฉะนั้นควรเริ่มออมตั้งแต่วันนี้เพื่อที่ทุกอย่างจะได้ไม่สายเกินไป