วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

มัมมี่ Mummy ปริศนาทางการแพทย์ เหตุใดศพนั้นจึงไม่เน่าเปื่อยและคงสภาพยาวนานกว่า 4,000 ปี

09 พ.ย. 2017
2942

เคยมีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่า ในสมัยก่อนตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ มีการฝังพระศพบรรดาฟาโรห์ มเหสี และขุนนางอียิปต์ในสุสาน แต่เหตุใดศพนั้นจึงไม่เน่าเปื่อยและคงสภาพเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 4,000 ปี

 

ในอดีต ชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อเรื่องวิญญาณหลังความตายและเชื่อว่าเมื่อตายไปแล้ว วิญญาณจะยังคงอยู่และรอการกลับคืนสู่ร่างเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการรักษาสภาพไม่ให้เน่าเปื่อย โดยการนำศพมาผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่เรียกว่า “การทำมัมมี่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าผู้ตายมีความสำคัญมากเท่าใด ก็ต้องมีการเตรียมการอย่างวิจิตรพิสดารและละเอียดมากขึ้นเท่านั้น จากนั้นจึงนำศพนั้นไปเก็บไว้ในห้องบรรจุศพในสุสานพร้อมกับทรัพย์สมบัติจำนวนมากมาย คำว่า “มัมมี่” มาจากภาษาอาหรับว่า “มูมียา” แปลว่า “น้ำมันดิน” ซึ่งน่าจะมาจากการที่ชาวอียิปต์นำน้ำมันดินมาอาบศพ เพราะเชื่อว่าน้ำมันดินจะทำให้ศพไม่เน่าเปื่อย และผลจากการศึกษาร่างมัมมี่โดยบรรดานักวิทยาศาตร์ระหว่าปี ค.ศ. 1967-1978 ด้วยการใช้เครื่องเอกซเรย์วิเคราะห์มัมมี่ของราชวงศ์อียิปต์กว่า 10 ร่าง พบว่าฟาโรห์และมเหสีหลายองค์ ประชวรด้วยโรคไขข้ออักเสบ โรคปอด โรคฟัน เป็นต้น

 

 

การเก็บรักษาร่างคนที่เสียชีวิตไปแล้ว ทำโดยการเอาเกลือใส่เข้าไปเพื่อดูดความชื้นภายในร่างของศพ เมื่อประกอบกับความแห้งของอากาศในทะเลทรายแล้ว จะทำให้ความชื้นที่มีอยู่ในศพนั้นหมดไป และหลังจากที่ร่างยังแห้งดีแล้วก็จะถูกนำมาชำระล้างให้สะอาดแล้วทาทับด้วยยางไม้สน ก่อนจะเคลือบด้วยขี้ผึ้งและห่อหุ้มด้วยผ้าลินินยาวหลายร้อยเมตร เวลาทั้งหมดที่ใช้ในการทำมัมมี่นี้กินเวลาประมาณ 70 วัน บางครั้งพบว่ามีการต่อเติมเคราให้กับมัมมี่บางร่าง ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อที่ว่าเคราเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าหรือกษัตริย์ การเติมเคราเข้าไปแสดงให้เห็นความหวังของผู้ตายที่จะได้ไปอยู่ร่วมกับชนชั้นสูง ส่วนวิธีการทำมัมมี่ก็สามารถวิเคราะห์ของออกมาได้ว่า ชาวอียิปต์โบราณได้พัฒนาเทคนิคในการทำมัมมี่มาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงเวลาราว 2,800 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึง ค.ศ.. 640 แต่ช่วงแรกๆ การทำมัมมี่มีวิธีและขั้นตอนที่ละเอียดมาก ต่อมาภายหลังประมาณ 450 ปีก่อนคริสต์ศักราช เป็นช่วงที่ชาวอียิปต์มีทักษะในการทำมัมมี่เสื่อมลง จึงได้แบ่งระดับการทำมัมมี่ออกเป็น 3 แบบ และแต่ละแบบราคาค่าทำข้อแตกต่างกัน

 

 

เฮโรโดตุส (Herodotus) นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้เคยเขียนไว้ในบันทึกของเขาว่า การทำมัมมี่ใช้เวลาประมาณ 70 วัน แบบแพงที่สุดคือการดูดเอาสมองออกมาจากทางจมูก และใช้มีดกรีดข้างลำตัวเพื่อควักอวัยวะภายในออกมา (ยกเว้นหัวใจ) หลังจากนั้นจึงนำร่างไปตากให้แห้ง ส่วนแบบที่สองราคาถูกลงมาหน่อย ไม่ต้องควักอวัยวะภายในออกแต่ใช้น้ำมันซีดาร์ฉีดเข้าไปในร่างก่อนนำไปตากแห้ง แบบที่สามราคาถูกที่สุดก็ไม่ตั้งต้องทำอะไร เพียงแต่ตากร่างให้แห้งเท่านั้น การทำมัมมี่ในยุคแรก เมื่อดูดสมองและควักอวัยวะภายในออกแล้วจะใช้วัสดุประเภทขี้เลื่อย โคลน และผ้าลินินยัดเข้าไปในร่าง แต่ช่วงที่การพัฒนาการทำมัมมี่เจริญสูงสุด อาจมีการแยกวัสดุดังกล่าวไว้ใต้ผิวหนังด้วย โดยการกรีดผิวหนังให้เป็นรอยเล็กๆ หลายๆ รอย ก่อนนำศพไปตากให้แห้ง จะมีการใช้สารประกอบประเภทเกลือชื่อว่า สารเนตรอน โรยบนศพแล้วนำศพไปทาน้ำมัน ตกแต่ง พันผ้า ตลอดจนทำพิธีตามความเชื่อ ผ้าที่ใช้พันชั้นนอกจะชโลมด้วยขี้ผึ้งก่อนแล้วจึงนำมาห่อศพ โดยแปะให้ติดกันด้วยวุ้นหรือเจลาติน ระยะการตากนี้กินเวลาประมาณ 40 วัน

 

ส่วนอวัยวะภายในก็ทำเช่นเดียวกัน แล้วจึงบรรจุลงให้หรือภาชนะที่มีฝาปิดผนึกให้สนิท ซึ่งมักนำไปวางไว้ข้างๆ ร่างของมัมมี่แต่ก็มีบางสมัยนิยมอวัยวะมาหอแล้วยัดเข้าไปในร่างตามเดิม จากนั้นจึงทำหน้ากากสำหรับคลุมหน้าและส่วนอกด้วยผ้าลินินพอกปูนปลาสเตอร์และปิดทอง ฝังวัสดุประดับที่ตาและบริเวณคิ้ว นอกจากนี้บางทีก็มักบรรจุมัมมี่ลงในโรงไม้ที่แกะสลักเป็นรูปร่างของผู้ตาย ก่อนนำใส่ในโรงไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอีกครั้งหนึ่ง ไม่เพียงเท่านี้เขายังบรรจุลงไม้ลงในหีบชั้นนอกสุดที่มักทำจากหินแข็ง และจารึกคาถากำกับไว้ด้วย เพราะเชื่อว่าคาถานั้นจะพิทักษ์ดวงวิญญาณขณะเดินทางสู่ปรโลกได้

 

รู้หรือไม่ ชาวอียิปต์โบราณนับถือเทพเจ้าพาชต์ (Pasht) ที่มีหัวเหมือนแมว เมื่อแมวตายพวกเขาจึงเอาไปทำมัมมี่ไว้ด้วย ในสมัยนั้นการฆ่าแมวจึงถือเป็นความผิดมหันต์ มีโทษถึงตายทีเดียว