วันพุธ, 11 ธันวาคม 2567

เรื่องเล่าจากป่าคำชะโนด ผีจ้างหนัง ต้องฉายหนังให้จบก่อนตีสี่และจงออกไปจากที่นี่ก่อนฟ้าสาง และอีก 12 เรื่องเล่าน่าอ่านจากแดนอิสาน

 

1.ผีจ้างหนัง: ต้องฉายหนังให้จบก่อนตีสี่และจงออกไปจากที่นี่ก่อนฟ้าสาง

นอกจ้างเรื่องวังพญานาคแล้ว ที่ป่าคำชะโนดยังมีตำนานเกี่ยวกับเรื่องผีที่จ้างคนให้ไปฉายหนังให้ดูอีกด้วย

ตำนานเล่าว่าธงชัย แสงชัย เจ้าของกิจการรับจ้างฉายหนังกลางแปลงได้รับว่าจ้างให้ไปฉายหนังที่งานวัดแถวป่าคำชะโนด อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โดยผู้ว่าจ้างมีเงื่อนไขว่าจะต้องฉายหนังให้จบก่อนตีสี่และออกไปจากวัดก่อนฟ้าสาง แม้ฟ้งดูแปลก ๆ แต่ธงชัยกับลูกน้องอีกจำนวนหนึ่งก็เดินทางไปฉายหนังในงานวัดตามสถานที่ที่นัดไว้  คณะฉายหนังของธงชัยขับรถไปถึงบริเวณป่าคำชะโนด แต่ยิ่งขับเข้าไปลึกก็ยิ่งมืด และไม่เห็นวี่แววว่าจะมีบ้านคน จู่ ๆ ก็มีผู้หญิง 2 คนใส่ชุดดำมายืนเรียกและนำทางธงชัยไปที่วัด เมื่อไปถึงเขากับลูกน้องก็พบเหตุการณ์น่าประหลาดใจ

ธงชัยมาถึงงานวัดตอนหัวค่ำ แต่งานวัดที่นี่เงียบสงบไม่มีร้านรวง ไม่มีวงดนตรี หรือประดับแสงสี มีเพียงชาวบ้านที่พอกหน้าขาวแต่งชุดขาวดำเริ่มทยอยมานั่งรอดูหนัง ผู้ชายใส่ชุดขาว ผู้หญิงใส่ชุดดำ นั่งแยกแบ่งฝั่งชายหญิงชัดเจน หนังที่ธงชัยนำมาฉายนั้นมีทั้งหนังสงคราม หนังตลกและหนังสยองขวัญ ช่วงที่ฉายหนังตลก แม้ธงชัยจะใส่มุกเสริมให้เรื่องดูมีรสชาติแค่ไหน ก็ไม่มีชาวบ้านคนใดหัวเราะเลย แต่พอถึงช่วงฉายหนังสยองขวัญ บรรยากาศโดยรอบกลับยิ่งวังเวง น่ากลัวขนหัวลุกเพิ่มเป็นเท่าตัว หลังหนังฉายเสร็จตอนตีสอง ธงชัยกลับลูกน้องช่วยกันเก็บของขึ้นรถ ชาวบ้านเริ่มทยอยกลับ เวลาผ่านไปไม่นาน ชาวบ้านก็หายไปหมด ราวกับไม่เคยมีคนอยู่มาก่อน

เมื่อเก็บของเสร็จ ธงชัยขับรถออกจากงานวัดมา โดยมีผู้หญิงคนเดิมติดรถมาส่งด้วย พอถึงปากทางเข้าป่า เขาก็ให้ผู้หญิงทั้งคู่ลงและขับรถไปต่อ ธงชัยรู้สึกเอะใจจึงหันกลับไปดูอีกทีปรากฏว่าผู้หญิง 2 คนนั้นหายไปแล้ว ธงชัยข้องใจเรื่องงานวัดนี้มาก จึงเช็กประวัติของผู้ว่าจ้างว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เมื่อรู้ว่ามีตัวตนอยู่จริงจึงติดต่อไปหาและสอบถามเรื่องวันนั้นอีกครั้ง แต่ธงชัยก็ถูกปฏิเสธว่าไม่เคยจ้างคณะหนังกลางแปลงของเขาสักครั้ง ทำให้ธงชัยยิ่งสงสัยมากขึ้น เขาไปถามเจ้าอาวาสที่วัด เพราะคิดว่าพระสงฆ์ไม่น่าพูดโกหก แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาทำให้ธงชัยทั้งอึ้ง ทึ่ง และขนลุกเพราะวัดแห่งนี้ไม้ได้จัดงานในคืนที่เขาฉายหนัง…แล้วคืนนั้นเขาฉายให้ใครดูกันเล่า

ตำนาน “ ผีจ้างหนัง ’’ จึงกลายเป็นเรื่องเล่ากันปากต่อปากมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก็ยังมีชาวบ้านบางส่วนเชื่อว่า ธงชัยอาจถูกพวกนาคที่แปลงร่างเป็นคนมาจ้างเขาก็ได้ 

 

 2.ปู่สังกะสา ย่าสังกะสี: ตำนานการสร้างโลกและมนุษย์ชายหญิงคู่แรก

แต่ละประเทศหรือแต่ละท้องถิ่นต่างมีความเชื่อเรื่องกำเนิดโลกและมนุษย์คู่แรก ซึ่งอาจแตกต่างกันไปบ้าง ทางภาคอีสานและภาคเหนือมีความเชื่อเรื่องนี้คล้ายกัน เชื่อกันว่า ในอดีตแสนนานมาแล้ว จักรวาลที่ว่างเปล่าเริ่มมีธาตุพื้นฐานต่างๆ เกิดขึ้น ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้งสี่มาหมุนวนจนเกิดเป็นมหาสมุทรและเกิดแผ่นดินขึ้น ต่อมาแผ่นดินแยกออกเป็น 2 ส่วน แล้วลอยห่างกัน แผ่นดินหนึ่งเกิดมนุษย์ชายชื่อว่า ไกยสา แผ่นดินอีกผืนเกิดมนุษย์เพศหญิง ชื่อว่า ไกยสี

เวลาผ่านไป แผ่นดินทั้งสองกลับมารวมกันอีกครั้ง ไกยสาและไกยสีได้พบกัน และร่วมกันหยิบดินมาปั้นเป็นมนุษย์หญิงชาย และสัตว์ต่าง ๆ มากมาย เมื่อแรกนั้นเชื่อว่า มนุษย์มีอายุยืนยาว ไม่แก่ไม่เจ็บแต่ต่อมามนุษย์เกิดตัณหาทำให้มนุษย์เจ็บและตาย ชื่อสังกะสาและสังกะสีเป็นชื่อเรียกหลังจากที่ไกยสาและไกยสีตาย คำว่า “สัง” นั่นใช้เรียกวิญญาณ และคำว่า “ปู่และย่า” ที่นำหน้าชื่อก็เพื่อแสดงว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเกิดจากปู่ย่าคู่เดียวกัน คือ ปู่สังกะสาและย่าสังกะสี

 

3.ผาแดง นางไอ่:ตำนานรักสามเส้าของคนกับพญานาคที่เชื่อมโยงกับประเพณีบุญบั้งไฟ มีอยู่ว่า

พระยาขอมแห่งเมืองเอกธีตา มีธิดาสาวสวยชื่อว่า นางไอ่คำ กิตติศัพท์ความงดงามของนางเลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ จนไปเข้าหูท้าวผาแดงแห่งเมืองผาโพง ท้าวผาแดงอยากพิสูจน์ว่านางไอ่คำงดงามจริงหรือไม่ จึงขี่ม้าแอบมาดูหน้านาง พอได้เห็นเพียงครั้งแรกท้าวผาแดงก็หลงรักนางไอ่คำจนถอนตัวไม่ขึ้น ฝ่ายนางไอ่คำเมื่อได้เห็นท้าวผาแดงก็ชอบใจเหมือนกัน ทั้งคู่ผูกสมัครรักใคร่ ท้าวผาแดงสัญญากับนางไอ่คำว่าจะยกขันหมากมาสู่ขอแล้วกลับเมืองผาโพงไป

เมื่อเข้าสู่เดือนปลูกข้าวทำนา เมืองเอกธีตาจะจัดงานขอฝน พระยาขอมจึงส่งข่าวไปบอกเมืองต่าง ๆ ให้นำบั้งไฟมาร่วมงานบุญ พอท้าวผาแดงรู้ข่าวก็รีบสั่งให้ทำบั้งไฟไปร่วมงานที่เมืองเอกธีตาด้วย ในงานนี้พระยาขอมประกาศให้มีการแข่งขันยิงบั้งไฟ บั้งไฟของเมืองไหนยิงได้สูงกว่าของพระองค์ ก็จะมอบทรัพย์สมบัติและนางสนมกำนัลให้ แต่ถ้าบั้งไฟของท้าวผาแดงชนะ พระองค์จะมอบนางไอ่คำให้ การแข่งขันดำเนินไปอย่างสนุกสนาน เมืองต่าง ๆ ยิงบั้งำฟขึ้นหมด แต่บั้งไฟของพระยาขอมกลับยิงไม่ขึ้น ส่วนบั้งไฟของท้าวผาแดงแตกกลางอากาศ ท้าวผาแดงจึงรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้อภิเษกกับนางไอ่คำ

ขณะนั้น ท้าวพังคี โอรสของสุทโธนาคแปลงกลายเป็นมนุษย์แอบมาร่วมงานบุญและได้เห็นนางไอ่คำก็เกิดหลงรัก ครั้นกลับไปยังเมืองบาดาลก็เกิดเพ้อถึงนางไอ่คำไม่เป็นอันกินอันนอน จนทำให้สุทโธนาคกังวลใจ และคัดค้านไม่ให้พระโอรสขึ้นไปเมืองมนุษย์อีก ท้าวพังคีไม่ฟังคำพระบิดา แอบหนีขึ้นไปเมืองมนุษย์พร้อมบริวาร แล้วแปลงเป็นกระรอกเผือกไปแอบดูนางไอ่คำ เมื่อนางไอ่คำเห็นกระรอกเผือกก็อยากได้ นายพรานจึงอาสาจับมาถวาย แต่เกิดความผิดพลาดขึ้นทำให้กระรอกเผือกตาย ก่อนตาย ท้าวพังคีอธิษฐานขอให้เนื้อของตนอร่อยและมีมากพอเลี้ยงคนทั้งเมือง ชาวเมืองจึงแบ่งเนื้อกระรอกกันกิน บริวารของท้าวพังคีเห็นดังนั้นก็รีบกลับไปแจ้งสุทโธนาค พญานาคโกรธแค้นมนุษย์มากจึงยกทัพไปล้างแค้นให้ลูกชาย

ฝ่ายท้าวผาแดงตัดสินใจยกขันหมากมาสู่ขอนางไอ่คำตามที่เคยให้สัญญาไว้ เมื่อถึงเมืองเอกธีตา พระยาขอมต้อนรับเป็นอย่างดี นางไอ่คำนำเนื้อกระรอกเผือกมาให้ ท้าวผาแดงรู้ทันทีว่าเป็นเนื้อพญานาค จึงเตือนให้นางไอ่คำรีบหนี แต่สุทโธนาคกับบริวารก็ขึ้นมาถึงเมืองมนุษย์เสียแล้ว ทัพพญานาคถล่มเมืองเอกธีตาจมหายใต้พื้นน้ำ เกิดเป็นบึงใหญ่ ส่วนท้าวผาแดงขี่ม้าพานางไอ่คำหลบหนีแต่ไม่ทันสุทโธนาคใช้หางตวัดรัดตัวนางไอ่คำนำลงไปเมืองบาดาลได้

ท้าวผาแดงโกรธแค้นและเสียใจที่ช่วยนางไอ่คำไม่ได้ จึงกลั้นใจตายกลายเป็นหัวหน้าผียกทัพไปชิงตัวนางไอ่คำคืน ทัพของทั้ง 2 เมืองต่อสู้กันอย่างดุเดือดและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาห้ามทัพ พระอินทร์สั่งให้ท้าวผาแดงยกทัพกลับเมือง และสั่งให้นางไอ่คำอยู่ที่เมืองบาดาลต่อไป รอจนกว่าจะถึงยุคพระศรีอาริยเมตไตรย์ เพื่อให้ท่านเป็นผู้ตัดสินว่านางไอ่คำจะได้อยู่ที่ไหน สุดท้ายแล้วความรักของท้าวผาแดงก็ยังไม่สมหวังต่อไป

 

4.ผีฟ้าพญาแถน: ประเพณีการรักษาโดยเชิญผีฟ้าลงมาฟ้อนรำ

แถนเป็นคำภาษาถิ่นอีสาน โดยทั่วไปหมายถึง เทวดา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ผีฟ้า แถนป็นผีที่อยู่ระดับสูงกว่าผีทั่วไป และคอยช่วยเหลือมนุษย์ที่เดือดร้อนได้ เช่น รักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย ซึ่งเกิดจากการล่วงเกินผีหรือบรรพบุรุษ

การรักษาอาการเจ็บป่วยก็จะทำพิธีฟ้อนผีฟ้า โดยผู้เกี่ยวข้องกับพิธีนี้มี 4 ส่วน คือ หมอลำ (คนทรงหรือเรียกว่านางเทียน) ผีฟ้า หมอแคน และผู้ป่วย

หมอลำมักจะเป็นผู้หญิง แน่จริง ๆ แล้วอาจเป็นได้ทั้งหญิงสาว ชายหนุ่ม หรือเด็กก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วหมอลำจะต้องสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มหมอลำ

หมอแคนหรือหมอม้า จะเป็นผู้เป่าแคนตลอดพิธี ดังนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การเป่าแคนเป็นอย่างดี สำหรับผู้ป่วยนั้นจะมีการแต่งกายตามพิธี คือมีผ้าขาวม้าหรือผ้าไหมพาดบ่า ทัดหูด้วยพวงดอกมะละกอ

ขั้นตอนการรักษาจะเริ่มจากการที่หมอลำรำอัญเชิญผีฟ้า จากนั้นจึงรำส่อง (รำวินิจฉัยโรค) เพื่อดูว่าผู้ป่วยไปทำอะไรผิดไว้ แล้วจะทำพิธีเสี่ยงไข่ เพื่อดูว่าจะรักษาหายหรือไม่ ต่อมาก็จะรำเรียกขวัญ รำรักษา และรำสั่งสอน สุดท้ายก็จะเป็นการรำส่งผีฟ้า

 

5.พญาคันคาก : พญาคันคากเป็นนิทานชาดกของภาคอีสาน

กล่าวถึงพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นคางคกจนเกิดตำนานบั้งไฟรูปพญานาค นานมาแล้ว นางสีดา พระมเหสีของพระเจ้าเอกราชแห่งเมืองชมพูประสูติพระโอรสเป็นคางคก ผิวพรรณเหลืองอร่ามดั่งทองและตั้งชื่อให้ว่า พญาคันคาก แม้นางสีดาจะไม่ชอบใจ แต่โหรหลวงก็ทำนายไว้ว่า พระโอรสมีบุญญาธิการ ภายภาคหน้าจะเป็นที่พึ่งพาของทุกคน

เมื่อโตเป็นหนุ่ม พระโอรสประสงค์อยากมีชายาสิริโฉมงดงาม แต่ด้วยรูปกายอัปลักษณ์ จึงตั้งอธิษฐานขอพรด้วยบุญบารมีที่สะสมมา พระอินทร์จึงเนรมิตปราสาทกลางเมืองเสกให้พระโอรสมีรูปร่างงดงาม และมอบนางอุดรกุรุทวีปผู้มีสิริโฉมงามให้เป็นชายา พญาเอกราชรู้สึกปีติยินดีในบุญบารมีของพระโอรสจึงสละราชบัลลังก์ ยกเมืองชมพูให้พญาคันคากปกครองพญาคันคากปกครองเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ไม่นานเจ้าเมืองต่าง ๆ รวมถึงบรรดาสรรพสัตว์ก็มาสวามิภักดิ์ต่อพระองค์

ฝ่ายพญาแถน เทวดาบนสวรรค์ชั้นฟ้าอิจฉาและไม่พอใจที่มนุษย์ต่างก็เคารพบูชาพญาคันคาก จึงกลั่นแกล้งไม่ให้พญานาคลงเล่นแม่น้ำสีทันดร ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ข้าวปลูกไม่ได้ จนเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง เดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ชาวเมืองจึงไปขอร้องให้พญาคันคากช่วย เมื่อรู้สาเหตุที่ฝนไม่ตก พญาคันคากจึงจัดทัพทหารพญานาค และบรรดาสัตว์ต่าง ๆ ไปรบกับพญาแถน พญาคันคากส่งกองทัพพญานาคขึ้นไปก่อน แต่พ่ายแพ้ ถูกพญาแถนใช้ดาบฟันเป็นลายตามตัวเป็นสาเหตุให้บรรดานาคมีลายอย่างที่เห็นตามรูปปั้นหรือภาพวาดในปัจจุบัน

ต่อมาพญาต่อพญาแตนอาสาไปรบต่อ แต่ก็แพ้กลับมาแถมยังถูกฟันเป็นลายตามตัวเหมือนกับพญานาคอีกด้วย เมื่อเห็นทัพทั้งสองแพ้มา บรรดาสัตว์ และทหารก็เริ่มท้อ พญาคันคากจึงตัดสินใจออกรบเอง แต่ก่อนรบ พญาคันคากวางแผนตัดกำลังศัตรู โดยสั่งให้พญาปลวกสร้างจอมปลวกทำถนนไปถึงเมืองพญาแถน แล้วส่งมอดขึ้นไปกัดเจาะอาวุธจนเสียหาย จากนั้นจึงส่งสัตว์มีพิษอย่างแมงป่องกับตะขาบเข้าไปแอบซ่อนในเสื้อผ้าของพญาแถน

เมื่อเตรียมการเสร็จ พญาคันคากจึงท้าพญาแถนรบ แต่พอต่อสู้กันได้ไม่นาน พญาแถนก็เริ่มเจ็บแสบตามร่างกายเพราะโดนแมงป่องต่อยกับตะขาบกัด อาวุธก็ใช้ไม่ได้ ทำให้กองทัพพญาคันคากได้รับชัยชนะในที่สุด พญาแถนยอมแพ้และสัญญาว่าจะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล แต่ต้องให้มนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นมาบอกก่อน พญาแถนจึงจะให้พญานาคเล่นน้ำ ทำให้ฝนตก ถ้าพญาแถนได้ยินเสียงกบหรือเขียดร้องก็จะรู้ว่ามนุษย์ได้รับฝนแล้ว ฝ่ายเมืองมนุษย์หากได้รับฝนเพียงพอต่อการทำนาแล้ว ก็จะทำอูดติดหัวว่าวดุ๋ยดุ่ยชักขึ้นท้องฟ้าเป็นสัญญาณ พญาแถนก็จะหยุดปล่อยฝนให้มนุษย์ได้เก็บเกี่ยวข้าวต่อไป

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เมืองเข้าสู่ช่วงฤดูทำนา ชาวเมืองชมพูจะส่งพญานาคไปกับบั้งไฟ ขึ้นไปบอกพญาแถนก่อนเสมอ ตำนานนี้จึงเป็นที่มาของบั้งไฟรูปหัวพญานาค และกลายเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน

 

6.พญาจันทราช นางฟ้าหยาด:ตำนานรักเจ้าหญิงเมืองฟ้าแดดกับเจ้าชายเมืองเชียงโสม

พญาฟ้าแดด เจ้าเมืองฟ้าแดด มีเมืองหลวงชื่อเมืองสงยาง พญาฟ้าแดดมีพระธิดาโฉมงามชื่อนางฟ้าหยาด เป็นที่หมายปองของเจ้าเมืองที่อยู่รายล้อมแต่พญาฟ้าแดดหวงพระธิดามาก จึงสร้างปราสาทกลางน้ำให้พระธิดาอยู่ ห่างออกไปไม่ไกลนักมีเมืองเชียงโสมตั้งอยู่ วันหนึ่งพญาจันทราชเจ้าเมืองเชียงโสมออกป่าล่าสัตว์มาจนถึงเมืองฟ้าแดดและหลงเข้าไปถึงปราสาทของนางฟ้าหยาด เมื่อพญาจันทราชได้พบนางฟ้าหยาดก็ตกหลุมรักและเข้าไปเกี้ยวพาราสี นางฟ้าหยาดก็ตอบรับรัก   พญาจันทราชจึงรีบกลับเมือง พร้อมแต่งทูตและเครื่องบรรณาการมาสู่ขอนางฟ้าหยาดทันที แต่พญาฟ้าแดดปฏิเสธ จึงทำให้เกิดศึกสงครามขึ้น

พญาจันทราชยกทัพมาตีเมืองฟ้าแดด พญาฟ้าแดดจึงให้เมืองสงยางมาช่วยทำยุทธหัตถี ศึกครั้งนี้ พญาจันทราชพ่ายแพ้โดนฟันคอขาดบนหลังช้าง เมื่อนางฟ้าหยาดรู้ข่าวก็ตรอมใจตายตามคนรักไป พญาฟ้าแดดเสียใจมากจึงนำพระศพของทั้งคู่บรรจุลงหีบทอง ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติและสร้างเจดีย์คู่เป็นอนุสรณ์ความรักของทั้ง 2 พระองค์

 

7.พระธาตุขามแก่น: พระธาตุขามแก่นตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่นเป็นที่บรรจุพระอังคารธาตุของพระพุทธเจ้า มีตำนานเล่าว่า

หลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพาน เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จ พระบรมสารีริกธาตุถูกนำไปประดิษฐานไว้ในสถานที่ต่าง ๆ กษัตริย์เมารยะแห่งเมืองปิปผลิรู้ข่าวการแบ่งพระธาตุช้นกว่าเมืองอื่น จึงได้แต่พระอังคารธาตุกลับเมือง เวลาผ่านไป กษัตริย์เมารยะรู้ว่ากำลังมีการก่อสร้างพระธาตุพนม พระองค์และคณะพระอรหันต์จึงออกเดินทางอัญเชิญพระอังคารธาตุไปบรรจุไว้ที่พระธาตุแห่งนั้น

ระหว่างทาง คณะเดินทางของกษัตริย์เมารยะได้แวะพักแรม ณ ที่แห่งหนึ่ง ใกล้กันนั้นมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่นอยู่ต้นหนึ่ง พระองค์จึงนำพระอังคารธาตุวางพักไว้บนแก่นต้นมะขามนั้น พอรุ่งเช้าก็ออกเดินทางต่อ คณะของกษัตริย์เมารยะไปถึง ปรากฏว่าพระธาตุพนมสร้างเสร็จและบรรจุพระอังคารธาตุไม่ได้แล้ว พระองค์จึงอัญเชิญพระธาตุกลับเมืองตามเดิม พอเดินทางมาถึงบริเวณต้นมะขามที่เคยแวะพักแรมพระองค์เห็นต้นมะขามนั้นผลิดอก ออกผล แตกกิ่งก้านเขียวชอุ่ม จึงคิดว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ พระองค์โปรดให้สร้างพระธาตุครอบต้นมะขามและบรรจุพระอังคารธาตุไว้ภายใน และเรียกพระธาตุนี้ว่า พระธาตุขามแก่น

 

8.พระธาตุศรีสองรัก: อนุสรณ์สถานแห่งไมตรีระหว่างกษัตริย์ไทยกับลาว

พระธาตุศรีสองรักตั้งอยู่ในอำเภอด้านซ้าย จังหวัดเลย เป็นศิลปะแบบล้านช้าง ก่ออิฐถือปูน มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง สูงประมาณ 30 เมตร สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2103 สมัยกรุงศรีอยุธยา พระธาตุศรีสองรักเป็นสักขีพยานในไมตรีและคำสัญญาของกษัตริย์ไทยกับลาว คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชของลาว ทั้งสองพระองค์ตกลงจะร่วมกันทำศึกกับพม่า รวมถึงไทยกับลาวจะไม่ล่วงล้ำดินแดนกันและจะรักผูกพันกันสืบไป

เมื่อพระธาตุแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ จึงมีข้อกำหนดว่าห้ามนำสีแดงเข้าไปในพระธาตุศรีสองรัก เนื่องจากสีแดงเหมือนสีของเลือด และแสดงถึงความรุนแรงหรือสงครามซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ในการสร้างพระธาตุศรีสองรัก บางคนเชื่อว่าในการสร้างพระธาตุนั้น นายมั่นและนายคงได้สละชีวิตเพื่อเฝ้าพระธาตุชั่วนิรันดร์

ยังมีอีกเรื่องเล่าหนึ่งว่า มีชายหญิงคู่หนึ่งโดนกีดกันในความรัก จึงหนีออกจากบ้าน ระหว่างหลบหนีได้ซ่อนในพระธาตุที่กำลังสร้าง ช่างไม่รู้จึงได้ก่อปูนปิดทางเข้า ทั้งสองจึงกลายเป็นวิญญาณรักษาองค์พระธาตุ

 

9.วังพญานาค:ตำนานหนึ่งเล่าว่าป่าคำชะโนดคือวังนาคินทร์คำชะโนดเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่อาศัยของพญาค

ชาวบ้านบ้านเชื่อว่าป่าคำชะโนดในจังหวัดอุดรธานีเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์เพราะเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง มีเพียงป่าคำชะโนดที่น้ำท่วมไม่ถึง จึงเชื่อกันว่าน่าจะเป็นที่สิงสถิตของพญานาค โดยมีที่มาอยู่ว่า สุทโธนาคกับสุวรรณนาค ปกครองเมืองหนองกระแสคนละครึ่ง โดยมีกฎว่าห้ามออกหาอาหารพร้อมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้แย่งอาหารและทะเลาะกัน แต่เมื่อหาอาหารได้แล้วต้องนำมาแบ่งกันคนละครึ่ง ทำให้ทั้งคู่ปกครองเมืองร่วมกันอย่างสงบสุข

กระทั่งวันหนึ่งสุทโธนาคล่าช้างได้ก็แบ่งให้สุวรรณนาคตามปกติพร้อมมอบขนช้างให้เพื่อยืนยันว่าเป็นเนื้อช้างจริง วันต่อมาสุวรรณนาคล่าเม่นได้ก็แบ่งเนื้อและมอบขนให้สุทโธนาค ในตอนนั้นสุทโธนาคสังเกตว่าขนเม่นใหญ่กว่าขนช้างจึงคิดว่าเม่นน่าจะตัวใหญ่ด้วย ตนกลับได้ส่วนแบ่งเนื้อเม่นนิดเดียว ทำให้รู้สึกไม่พอใจและคิดว่าสุวรรณนาคไม่ซื่อสัตย์ แม้สุวรรณนาคพยายามอธิบาย แต่สุทโธนาคก็ไม่ฟัง จึงเกิดสงครามระหว่างพญานาคขึ้น

สงครามนี้ร้อนถึงพระอินทร์ต้องลงมาห้ามศึก โดยเสนอให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำแข่งกัน หากฝ่ายไหนสร้างแม่น้ำไปถึงทะเลได้ก่อน ก็จะให้ปลาบึกไปอาศัยอยู่ที่แม่น้ำของฝ่ายนั้นเป็นรางวัลตอบแทน สุทโธนาคเลือกสร้างแม่น้ำไปทางทิศตะวันออกของเมืองหนองกระแส สุทโธนาคใจร้อน เมื่อเจอสิ่งกีดขวางก็จะหลบหลีกไปเรื่อย ๆ จนถึงทะเล ทำให้แม่น้ำสายนี้คดไปโค้งมา จึงเรียกว่าแม่น้ำโค้ง ก่อนเพี้ยนมาเป็นแม่น้ำโขง

ฝ่ายสุวรรณนาคสร้างแม่น้ำไปทางทิศใต้ สุวรรณนาคใจเย็นและมีความละเอียด ทำให้แม่น้ำที่สร้างขึ้นนั้นตรงกว่าแม่น้ำโขงและเรียกแม่น้ำสายนี้ว่าแม่น้ำน่าน ถึงแม้ว่าแม่น้ำทั้ง 2 สายจะไปถึงทะเลเหมือนกัน แต่สุทโธนาคสร้างเสร็จก่อน พระอินทร์จึงประทานปลาบึกให้อยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว

นอกจากจะได้ปลาบึกเป็นรางวัลแล้ว สุทโธนาคยังได้ขอทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองมนุษย์ 3 แห่ง หนึ่งในนั้นคือบริเวณป่าคำชะโนดและขอให้ตนกับบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ ปลูกบ้านเเรือนตั้งเมืองอยู่ที่ป่าแห่งนั้นได้ ด้วยเหตุนี้สุทโธนาคกับบริวารจึงได้อาศัยอยู่บนโลกในช่วงวันข้างขึ้น 15 วัน ส่วนวันข้างแรม 15 วัน จะกลายร่างเป็นนาคกลับไปอาศัยอยู่ที่เมืองบาดาลตามเดิม  นอกจากนี้ในป่าคำชะโนดมีบ่อน้ำเล็ก ๆ อยู่บ่อหนึ่ง มีน้ำไหลซึมออกมาตามธรรมชาติตลอดเวลา ไม่เคยแห้งเหือด ชาวบ้านเชื่อว่านี่อาจเป็นทางขึ้นลงระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองบาดาล

 

10.สุพรหมโมกขาไข่ฟ้า: ตำนานความรักประจำอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

สุพรหมโมกขาเป็นลูกชายคนเดียวของพรานป่า สองพ่อลูกอาศัยอยู่ในกระท่อมชายป่า โดยเลี้ยงสุนัขเก้าหางไว้ ต่อมาบิดาเสียชีวิต สุพรหมโมกขาได้ประกอบอาชีพนายพรานต่อจากพ่อ เนื่องจากไม่อยากฆ่าสัตว์ จึงยังชีพโดยขุดหัวเผือกหัวมันหรือหาของป่า พระอินทร์รับรู้ถึงความดีของเขาจึงส่งนางไข่ฟ้าลงมาช่วยเหลือ โดยเสกให้นางไข่ฟ้าอยู่ในไข่ฟองโต วางไว้ในป่ากระทั่งสุนัขเก้าหางมาพบ สุพรหมโมกขาจึงนำไข่ฟองนั้นกลับบ้าน

จากนั้นก็เกิดเรื่องประหลาด เพราะเมื่อสุพรหมโมกขากลับจากทำงานจะพบว่าบ้านสะอาดเรียบร้อยและมีอาหารเตรียมไว้พร้อม ด้วยความสงสัยเขาจึงซ่อนตัว กระทั่งนางไข่ฟ้าออกมา สุพรหมโมกขาเมื่อเห็นนางก็รู้สึกชอบพอ จึงนำไข่ไปซ่อน และขอนางไข่ฟ้าแต่งงานอยู่กินฉันสามีภรรยา

ต่อมาความงามของนางไข่ฟ้าเลื่องลือถึงหูของเจ้าเมืองตุตระนคร เจ้าเมืองวางแผนลักพาตัวนางไข่ฟ้า สุพรหมโมกขาจึงตามไปช่วย เมื่อถึงแม่น้ำพองสุนัขเก้าหางให้นายของตนเกาะหางว่ายข้ามไป พอถึงฝั่งก็สิ้นใจตาย ภายหลังสุพรหมโมกขาช่วยนางไข่ฟ้าสำเร็จ ส่วนท้าวตุตระโดนฟ้าผ่าตาย ชาวเมืองเห็นว่าทั้งสองเป็นคนมีบารมีจึงอัญเชิญให้ขึ้นครองเมืองตุตระนครสืบไป

 

11.หินหัวสุนัข หาดหินสีและปู่จกปู: 3 ตำนาน ณ สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี

ตำนานหินหัวสุนัข เล่าไว้ว่าลูกพญานาคในลำน้ำโขง ต้องการขุดทางเพื่อให้เกิดลำน้ำอีกแห่งหนึ่งข้างแม่น้ำโขงที่พ่อแม่สร้างไว้ แต่ต้องใช้เวลานาน ลูกพญานาคจึงมอบหมายให้สุนัขเฝ้าปากทางไม่ให้ใครมารบกวน เวลาผ่านไปทางน้ำยังขุดไม่เสร็จ แต่อายุขัยสุนัขหมดลงเสียก่อน มันจึงกลายเป็นหินคอยเฝ้าปากทางแทน

ตำนานหาดหินสี เล่าไว้ว่าพญานาคผัวเมียคู่หนึ่งขุดทางให้แม่น้ำโขงไหลผ่าน ลูกพญานาคอยากขุดทางบ้าง จึงขุดเกือบทะลุไปถึงแม่น้ำโขง ระหว่างนั้นลูกพญานาคพบแร่หินคล้ายทองคำ จึงขุดขึ้นมากองไว้บนหาด ใช้พื้นที่มากถึง 2 ไร่ บริเวณแห่งนั้นจึงกลายเป็นหาดหินสี

ตำนานปู่จกปู มีอยู่ว่าวันหนึ่งปู่กับหลานออกหาปลาด้วยกันแถวริมน้ำโขง ปู่ตกปลาอยู่นานก็ไม่มีปลามากินเบ็ดเสียที รู้สึกร้อนใจไม่อยากรอ จึงใช้มือล้วงตามซอกหินแทน พอล้วงไปเจอปูซ่อนอยู่มากมาย ทั้งคู่ดีใจช่วยกันล้วงหาปูอย่างสนุกสนาน ทุกจุดที่ล้วงไปนั้นเกิดเป็นหลุมหินหลายพันหลุมหรือที่เรียกว่าโบก

 

12.อุทยานแห่งชาติผาแต้ม: ภาพเขียนสีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่หลายคนคิดว่าเป็นหลักฐานว่ามนุษย์ต่างดาวเคยมาที่นี่

อุทยานแห่งชาติผาแต้มอยู่ในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอุทยานแห่งชาติที่อยู่ทางสุดแดนตะวันออกของประเทศไทย จึงเป็นจุดที่พระอาทิตย์ขึ้นให้รับชมเป็นทีแรก ในอดีตชาวบ้านเชื่อว่า ผาแต้มเป็นเขตต้องห้าม เป็นภูผาศักดิ์สิทธิ์ เป็นภูผาแห่งความตาย ใครล่วงล้ำเข้าไปมักมีอันเป็นไป อาจเจ็บไข้ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิต

เมื่อดูจากภูมิประเทศแล้ว บริเวณผาแต้มเป็นพื้นที่สูงชันและอันตราย หากเข้าไปอาจพลาดตกหน้าผาได้ กลุ่มที่เข้าไปสำรวจและเสนอให้เป็นอุทยานแห่งชาติ คือคณะอาจารย์และนักศึกษาภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งได้เข้ามาสำรวจและค้นพบภาพเขียนสีตามแนวริมหน้าผายาวติดต่อกันประมาณ 180 เมตร โดยมีภาพเขียนมากกว่า 300 ภาพ ซึ่งนับว่ามีจำนวนมากที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ภาพเขียนสีเหล่านี้มีทั้งภาพช้าง วัว หมา ปลาบึก และเต่า แต่ภาพบางภาพ เช่น ภาพที่ดูคล้ายไซจับปลา หลายคนจินตนาการว่าอาจเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูง หรือภาพคนสวมเสื้อคลุมสามเหลี่ยม บางคนมองว่าเป็นภาพผีตาโขน แต่บางคนคิดว่าเป็นมนุษย์ต่างดาว