วันอังคาร, 8 ตุลาคม 2567

เรื่องเล่าจากหลวงพ่อจรัญ เพราะกุศลแห่งการเจริญภาวนา ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยแท้

มีครอบครัวหนึ่งค่อนข้างมีฐานะ มีที่นาทำกินอยู่ 80 ไร่ พ่อแม่หัวหน้าครอบครัวเป็นคนใจบุญใจกุศล ชอบทำบุญทำทาน แต่เป็นการทำบุญโดยไม่รู้ว่าแก่นแท้ของบุญและทานนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเป็นการทำบุญเอาหน้า ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เสียเท่าไหร่เท่ากันไม่มีเสียดาย

 

 

ครอบครัวนี้มีลูกเขย 2 คน ขอเรียกว่าเขยใหญ่กับเขยเล็ก เขยใหญ่เป็นคนทางภาคอีสาน มารับจ้างทำนาให้กับครอบครัวนี้ตั้งแต่อายุ 17 – 18 เป็นคนดี ขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ จนเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของพ่อแม่ก็หัวหน้าครอบครัว ครั้นอายุครบบวชนายจ้างก็บวชให้และจำพรรษาอยู่ที่วัดพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นลูกศิษย์กรรมฐานคนหนึ่งของ หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธัมโม ซึ่งขณะนั้นท่านยังจำพรรษาอยู่ที่วัดพรหมบุรี

 

หลังจากสึกหาลาเพศไปแล้วเกิดชอบพอรักใคร่กับลูกสาวคนโต กระทั่งได้แต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยา ต่อมาลูกสาวคนเล็กก็แต่งงานไปอีกคน บ้านนี้จึงมีทั้งเขยใหญ่และเขยเล็ก แต่พ่อตาแม่ยายรักใคร่เอ็นดูเขยเล็กมากกว่าเพราะเขยเล็กมีฐานะทางครอบครัวพอๆ กัน ทั้งยังเป็นคนประจบประแจงเอาใจเก่ง ส่วนเขยใหญ่นั้นเป็นแค่ลูกจ้างทำงานในบ้าน ฐานะชาติตระกูลก็ยากไร้ ไม่มีหน้ามีตาต้องร่อนเร่พเนจรรับจ้างทำงานต่างบ้านต่างเมือง อุปนิสัยใจคอก็ทื่อๆ ซื่อๆ เอาใจใครไม่เป็น มีแต่ความขยันขันแข็งเพียงอย่างเดียว

 

ความที่ไม่ชอบหน้าเขยใหญ่ แต่รักใคร่เขยเล็ก พ่อตาแม่ยายจึงลำเอียง แบ่งที่ดอนซึ่งเป็นที่นาไม่ดีให้เขยใหญ่ไปทำ ส่วนที่นาลุ่มซึ่งเป็นมาดีปลูกได้ทั้งข้าวหนักข้าวกลางยกให้เขยเล็กไปทำ สมัยนั้น คลองชลประทานไม่มี การทำนาต้องพึ่งพาฟ้าฝนช่วยทั้งหมด ปลูกข้าวแล้วก็ต้องอาศัยน้ำท่วมเข้ามาท่วมข้าว ที่นาเขยเล็กซึ่งเป็นมาลุ่มหมดปัญหา เพราะน้ำไหลเข้ามาสะดวกสบายอยู่แล้ว แต่ที่นาของเขยใหญ่เป็นที่นาดอนได้แต่ข้าวเบา สองผัวเมียต้องช่วยกันทำคันเก็บกักน้ำเอาไว้เพราะน้ำไม่ท่วม

 

แม้เขยใหญ่จะรู้ว่าพ่อตาแม่ยายมีอคติก็ไม่ได้คิดน้อยอกน้อยใจโวยวายอะไร ให้ทำนาดอนอย่างไรก็ตั้งหน้าทำไปจนสุดความสามารถ อาศัยความขยันหมั่นเพียรทำจนเต็มที่ หยุดงานนากลับมาถึงบ้านก็สอนให้เมียนั่งสมาธิเจริญกรรมฐานอุทิศกุศลให้พ่อตาแม่ยาย และเขยเล็กด้วยใจบริสุทธิ์ สองผัวเมียปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรเรื่อยมา

 

ด้วยจิตอันเป็นกุศลประกอบความขยันขันแข็ง ใช้สติปัญญาหาทางแก้ไขปัญหา นาดอนซึ่งเป็นที่นาไม่ดี กลับกลายเป็นว่าให้ข้าวดีงาม ถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็ได้ข้าวมาก สองผัวเมียทำนาดอนอยู่ 2-3 ปีก็มีเงินเหลือเก็บ สามารถซื้อที่นามาเป็นของตัวเองได้อีก 1 แปลง และปลูกบ้านอีก 1 หลัง

 

ส่วนกลุ่มของเขยเล็กปลูกข้าวไม่ได้ผล ไม่คุ้มทุนไม่มีเงินเหลือ เพราะเวลาน้ำหลากเข้านา กระแสน้ำพัดพาเอาผักบุ้งผักปอดไหลทะลักเข้ามาด้วย ทำให้ต้นข้าวเสียหายไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เมื่อเขยใหญ่กับเมียไปทำบุญที่วัด หลวงพ่อจรัญสอบถามว่าข้าวได้ผลดีไหม เขยใหญ่ก็กราบเรียนถวายว่าได้ผลดี ตอนนี้ซื้อนาปลูกบ้านได้แล้ว หลวงพ่อถามต่อไปว่าทำอย่างไรนาจึงได้ผลดีเพราะทำนาดอนนั้นไม่ค่อยจะเห็นผลกัน เขยใหญ่ก็เล่าให้ท่านฟังว่าตนและเมียหาทางแก้ไขปัญหาอย่างไร พร้อมกันนั้นก็ได้นั่งเจริญกรรมฐานตรงที่นานั้นเมื่อหยุดพักการทำงานทั้งผัวทั้งเมีย

 

หลวงพ่อก็พลอยอนุโมทนาที่สองผัวเมียมีความเจริญรุ่งเรืองในทางที่ถูกที่ควร ทั้งยังยึดมั่นต่อการปฏิบัติธรรมอันเป็นการเจริญสติให้เกิดปัญญาเป็นประจำ

 

การที่เขยใหญ่และลูกสาวคนโตทำนาดอนได้ผลและมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม แทนที่พ่อตาแม่ยายจะพลอยยินดีไปด้วย กลับมองไปว่าที่เขยโตทำนาได้ผลดีหรือเคราะห์ที่นาดีอำนวยประโยชน์ให้ ความที่ลำเอียงเข้าข้างเขยเล็กและลูกสาวคนเล็ก ตัวแม่ยายถึงกับเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการเรียกเขยใหญ่มาบอกให้ไปทำนาลุ่มแทน และเปลี่ยนให้คยเล็กขึ้นไปทำนาดอน

 

เขยใหญ่กับเมียเป็นคนไม่มีปากมีเสียง เมื่อพ่อแม่สั่งให้ทำอะไรก็ทำตาม ยอมย้ายไปทำนาลุ่มแทน ครั้นฤดูน้ำหลากน้ำไหลเข้านา ผักบุ้งผักปอดก็ไหลตามกระแสจะเข้าไปในทุ่ง เขยใหญ่กับเมียกลัวข้าวจะเสียหาย รีบช่วยกันนำไม้มาผูกโยงต่อๆ กันแล้วปล่อยให้เป็นแพลอยน้ำขวางกั้นป้องกันผักบุ้ง ผักปอดไหลเข้านาได้ ซึ่งก็ได้ผล เมื่อข้าวไม่เสียหายผลผลิตจึงได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เป็นอันว่าข้าวนาลุ่มเก็บเกี่ยวได้มาก มีข้าวเก็บเข้ายุงมากมาย ผิดกับที่เขยเล็กเคยทำไม่ได้ผลมาแล้ว

 

ส่วนเขยเล็กซึ่งขึ้นไปทำนาดอนกลับไม่ได้ผล เพราะไม่สนใจเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้ ประกอบกับขี้เกียจ ไม่เอาใจใส่ดูแลอย่างถี่ถ้วน การทำนาดอนจึงล้มเหลวอีก เก็บเกี่ยวแล้วได้ข้าวไม่พอเอามากินตลอดปีเสียด้วยซ้ำ ครอบครัวนี้จะมาทำบุญทำทานที่วัดพรหมบุรีบ่อยๆ เมื่อหลวงพ่อจรัญมีโอกาสพบเขยเล็กท่านได้สนทนาสอบถามเรื่องทำมาหากิน ทราบว่าทำนาดอนไม่ได้ผล จึงแนะนำว่าควรมาลองเจริญกรรมฐานดูบ้าง บางทีทุกสิ่งทุกอย่างอาจจะดีขึ้น แต่เขยเล็กไม่สนใจ เขาปฏิเสธด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า “ผมไม่ชอบ” คำเดียว

 

ความล้มเหลวของเขยเล็กในการทำนาลุ่มนาดอนถึงสองครั้งสองหน แทนที่พ่อตาแม่ยายจะเห็นเป็นความบกพร่องผิดพลาด แล้วเรียกได้ว่ากล่าวตักเตือนกลับชี้ให้เห็นถึงข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไขในการทำนาครั้งต่อไป กลับคิดเข้าข้างเขยเล็กและลูกสาวอย่างไม่ลืมหูลืมลืมตา โดยเฉพาะตัวแม่ยายออกจะไม่ชอบหน้าเขยใหญ่หนักกว่าเพื่อน เมื่อเห็นเขยใหญ่ทำนาลุ่มได้ผล มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ พลอยทำให้ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วยเรื่อยๆ ก็ยิ่งไม่พอใจหนักเข้าไปอีก ตัวพ่อตาเองก็ไม่ได้ทำตัวเป็นหลักของครอบครัว เมียเป่าหูให้เป็นอะไรก็ลำเอียงเป็นไปตามคำเอาง่ายๆ ในที่สุดพ่อตาแม่ยายก็ยกทั้งนาลุ่มนาดอนให้ลูกเขยคนเล็กทำหมด ให้เขยใหญ่กับลูกสาวคนโตไปทำงานซึ่งหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง

 

เขยใหญ่กับเมียเจอเข้ากับความอยุติธรรมถึงเพียงนี้รู้สึกเสียใจและสะเทือนใจอย่างรุนแรง ทั้งสองได้พากันมาเล่าเรื่องคับแค้นใจของตนให้หลวงพ่อจรัญฟังอย่างไม่ปิดบัง หลวงพ่อจึงให้สติไปว่า “เอาให้เขาเถอะ เขาอยากได้ มันไม่ใช่ของเรา เราก็ซื้อมา 5 ไร่ 1 แปลงก็ดีแล้ว สองคนสามีภรรยาค่อยๆ ทำไปเถอะ”

 

เขยใหญ่ลูกศิษย์หลวงพ่อและเมียก็เชื่อฟัง ตั้งหน้าทำงานต่อไปในที่ดินของตนด้วยความขยันขันแข็งเช่นเดิม ทำนาไปก็เจริญกรรมฐานไปและอุทิศส่วนกุศลให้เขยเล็ก พ่อตาแม่ยายและทุกคนด้วยจิตอันบริสุทธิ์ไม่โกรธเคืองแม้แต่น้อย เขยเล็กกับเมียเห็นเขยใหญ่และพี่สาวไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร คงดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นปกติก็เกิดความอิจฉาริษยายิ่งกว่าเดิม ความอิจฉาอันเป็นโทสะเลวร้ายที่สุมรุมเขยเล็กกับเมียนับวันก็ยิ่งเร่าร้อนรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงกับร่วมกันคิดชั่วคิดจะวางยาพิษเขยใหญ่กับเมียให้ตายไปเสีย นอกจากกำจัดเขยใหญ่ไปให้พ้นหูพ้นตา ยังจะได้ที่นาของเขยใหญ่มาฟรีๆ อีก

 

เขยใหญ่กับเมียแม้จะแยกไปปลูกบ้านอยู่กันตามลำพัง แต่ยังไม่ได้แยกจากเรือนใหญ่ พอถึงตอนเย็นเขยใหญ่กับเมียยังต้องขึ้นมากินข้าวร่วมกับพ่อแม่อยู่ เขยเล็กก็วางแผนจะใส่ยาพิษในข้าวและอาหารที่เขยใหญ่กับเมียกินในวันพรุ่งนี้ คืนนั้นเขยใหญ่และเมีย ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็เจริญกรรมฐานเช่นทุกวันที่ผ่านมา ระหว่างนั่งกรรมฐานได้เกิดนิมิตขึ้นมาว่า พรุ่งนี้เย็นอย่าไปกินข้าวที่เรือนใหญ่ ให้แผ่ส่วนกุศลแก่เจ้ากรรมนายเวรเสีย สองผัวเมียไม่เคยมีนิมิตเช่นนี้ก็สะดุ้งตกใจ เชื่อว่าจะต้องมีอะไรที่ไม่ชอบมาพากลแน่ หากคืนไปกินข้าวที่เรือนใหญ่ จึงตัดสินใจไม่ไปอย่างแน่นอน

 

วันรุ่งขึ้น พอถึงตอนเย็น เขยเล็กซึ่งรู้กันกับเมียก็แอบเอายาพิษใส่อาหารที่จัดไว้ให้เขยใหญ่และพี่สาวจะกิน และก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ถึงเวลากินข้าวร่วมกัน เขยใหญ่กับเมียก็ไม่มา พ่อตาแม่ยายรอไม่ไหวก็กินก่อน แม่ยายเห็นกับข้าวเขยใหญ่เหลือเกิดเสียดายจึงกินเข้าไป ลูกสาวคนเล็กไม่รู้ว่าผัวใส่ยาพิษในกับข้าวอะไรบ้าง ก็เกิดผลอกินอาหารใส่ยาพิษเข้าไปอีกคน

 

แม่ยายกับลูกสาวคนเล็กกินอาหารใส่ยาพิษเข้าไปเต็มที่ทั้งคู่ เลยล้มลงชักดิ้นชักงอตายไปอย่างน่าอนาถ ความเลยแตกว่ามีการใส่ยาพิษจะฆ่าเขยใหญ่ ทว่าแม่ยายกับลูกสาวคนเล็กรับเคราะห์ไปแทน แต่เขยเล็กไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนใส่ยาพิษ พ่อตาจึงไล่ออกจากบ้านไปในที่สุด สมบัติพัสถานก็ตกเป็นของเขยใหญ่กับลูกสาวคนโตหมดทั้งๆ ที่ไม่อยากได้ใคร่ดี ไม่มีความโลภแม้แต่น้อย

 

จากนั้นเขยใหญ่ก็สร้างฐานะจนมั่งคั่งร่ำรวย ดำเนินชีวิตต่อมาด้วยความสุข และตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมไม่เคยบกพร่อง ได้เป็นผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของวัดอัมพวันอีกคนหนึ่ง บุตรหลานของเขยใหญ่ทุกคนล้วนเป็นคนดีมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และมีฐานะเป็นปึกแผ่นเหมือนกันหมด เขยใหญ่และเมียรอดชีวิตจากยาพิษมาได้ เพราะกุศลแห่งการเจริญภาวนา ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยแท้

 

ที่มาและการอ้างอิง

วาระสุดท้ายของกรรมชั่ว – นที  ลานโพธิ์ เรียบเรียง