วันศุกร์, 3 พฤษภาคม 2567

เจ้ากรรมนายเวรคือใคร ทำอย่างไรให้หมดกรรมต่อกัน

แม้ว่าในอดีตจะเคยเป็นคู่แค้นกัน แต่ในปัจจุบันชาติที่มาพบกันใหม่แล้วรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักใช้สติ เหตุการณ์เลวร้ายย่อมไม่เกิด ทุกขเวทนา ที่สรรพสัตว์ได้รับอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น ล้วนแต่เกิดจากผลแห่งกรรมที่ได้กระทำมา

 

 

เมื่อเรารู้จักกรรมกันดีพอสมควรแล้ว ก็อยากจะอธิบายถึงเรื่องของเจ้ากรรมนายเวร ที่เป็นส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะเขาเป็นเจ้าหนี้ตัวจริง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมานกันมากมายในทุกวันนี้ นอกจากกรรมในปัจจุบันที่เราทำเอง เจ้ากรรมนายเวร ก็คือ คน สัตว์หรือวิญญาณ ที่เคยมีความเกี่ยวข้องกันกับเรามาในอดีต หลายคนอาจจะเป็นพี่ เป็นน้อง พ่อแม่ เป็นเพื่อน หรือกระทั่งเป็นคน เป็นสัตว์ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย

 

แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ๆ หนึ่งหรือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องมาเกี่ยวพันกัน อาจจะเป็นเรื่องที่เรานั้นตั้งใจและไม่ตั้งใจก็ตาม แล้วเขาก็มีการอาฆาต เขายังมีความต้องการให้เราต้องชดใช้ ในบางคน อาจจะเคยทำกรรมอะไรไว้ที่เบาบาง และคนที่ถูกเรากระทำนั้น เขาไม่ติดใจเอาความ ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ไม่เข้าข่ายและไม่ใช่เจ้ากรรมนายเวร

 

แม้ว่าในอดีตจะเคยเป็นคู่แค้นกัน แต่ในปัจจุบันชาติที่มาพบกันใหม่แล้วรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักใช้สติ เหตุการณ์เลวร้ายย่อมไม่เกิด ทุกขเวทนา ที่สรรพสัตว์ได้รับอยู่ ณ ปัจจุบัน ล้วนแต่เกิดจากผลแห่งกรรมที่ได้กระทำมา ซึ่งทุกขเวทนา หรือความทุกข์นั้น เกิดจากเหตุแห่งกรรมชั่ว มีผลทำให้เกิดทุกข์ แต่สิ่งที่ได้ยินได้ฟังกันอยู่นั้น มักจะบอกว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเจ้ากรรมนายเวรเป็นเหตุ

 

เจ้ากรรมนายเวรที่หลายต่อหลายคนคิดนั้น คือ ผู้ที่เราเคยกระทำไม่ดีกับเขามาก่อนในอดีต แล้วต้องมาชดใช้กรรมให้กันในชาตินี้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นดวงจิตดวงวิญญาณ เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์ด้วยยกันก็ดี ที่ทำให้เราเป็นทุกข์หรือได้รับความเดือดร้อน ก็จะมักเหมารวมว่า คือ เจ้ากรรมนายเวร

 

แต่ “เจ้ากรรมนายเวร” ที่แท้จริงนั้นคือ ผลแห่งการกระทำ ที่บุคคลนั้นพึงได้รับจากการกระทำของตนเองไม่ว่าจะเป็นการกระทำในอดีต หรือ ปัจจุบัน ที่ส่งผลเร็วหรือช้าต่างกัน เพราะไม่ว่าผู้ที่เรากระทำไม่ดีต่อเขา เขาจะอาฆาตพยาบาท หรือจองเวรเราหรือไม่ เราย่อมได้รับผลกรรมนั้น

 

เช่น เราฆ่าปลาอยู่เป็นประจำ ปลาเหล่านั้นไม่ได้โกรธหรือเกลียดเรา ไม่ได้อาฆาตพยาบาท แต่ผลของการกระทำบาปนั้นย่อมตกที่เรา ทำให้เวลาใกล้ตายอาจจะเห็นภาพปลาหลายๆ ตัวมารุมกัดรุมทึ้ง หรือมีอาการเจ็บปวดทุรนทุรายที่บริเวณศีรษะคล้ายกับที่เคยทุบหัวปลามาก่อน เป็นต้น ซึ่งกรณีเช่นนี้ แม้ผู้ที่เรากระทำนั้นไม่ได้อาฆาตพยาบาท แต่กฎแห่งกรรมย่อมเป็น “กฎ” ที่ยุติธรรมที่สุด ที่ให้ผลกับผู้กระทํานั้นๆ

 

 

ในกรณีที่เรากระทำไม่ดีต่อเขา และเขาเกิดความอาฆาตพยาบาท หรือจองเวร ไม่ว่าดวงจิตนั้นจะยังคงอยู่ในภพภูมิที่ต่ำ เป็นวิญญาณที่ตามอาฆาตมาในทุกภพทุกชาติ หรือ เป็นพวกแบคทีเรีย เชื้อโรคต่างๆ ที่มาทำให้เจ็บป่วย ก็เพราะดวงจิตที่อาฆาตเหล่านี้ มักจะเกิดในภพภูมิที่ต่ำ เนื่องด้วยจิตที่มีความอาฆาต ทำให้ดวงจิตหม่นหมอง จึงเกิดในภพภูมิที่ต่ำ

 

ไม่เฉพาะแต่เพียงดวงจิตที่เกิดในภพภูมิต่ำเท่านั้น หากแต่ดวงจิตที่อาฆาตพยาบาท ก็สามารถเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ เนื่องด้วยในชาติใดชาติหนึ่ง เขาเคยได้ประกอบกรรมดีไว้และกรรมดีนั้นถึงเวลาส่งผล ก็ทำให้มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ และยังมีอีกหลายเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน

 

อย่างไรก็ดี หากดวงจิตนั้นยังไม่ละในความอาฆาตพยาบาท หรือมีสัญญา ความจำฝังใจใดๆ เกี่ยวกับการกระทำที่ผู้อื่นทำไม่ดีต่อตนไว้ และได้โอกาสเกิดเป็นมนุษย์ แล้วนำความทุกข์ความเจ็บปวดมาให้กับผู้ที่เคยกระทำต่อตน ผู้นั้นอาจจะเป็นญาติ พี่น้อง เป็นเพื่อนฝูง หรืออาจจะเป็นคนที่ไม่รู้จักกันก็ได้ แต่เมื่อเห็นหน้ากันก็กลับไม่ชอบหน้า เช่น บางคนแค่เหยียบเท้ากัน หรือ ขับรถปาดหน้ากัน ก็ทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายกันจนถึงขั้นสูญเสียชีวิตก็มี

 

หากแต่ใช่ว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดจากเหตุในอดีตเสมอไปแต่ย่อมเกี่ยวกับปัจจุบันด้วย เพราะแม้ว่าในอดีตจะเคยเป็นคู่แค้นกัน แต่ในปัจจุบันชาติที่มาพบกันใหม่แล้วรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักใช้สติ เหตุการณ์เลวร้ายย่อมไม่เกิด เช่น อย่างที่กล่าวไปว่า หากเหยียบเท้ากันขึ้นมาแล้วเกิดโทสะ แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้จักระงับอารมณ์ พร้อมขอโทษ ให้อภัย หรือหลีกเลี่ยงการตอบโต้ ก็ย่อมไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือสูญเสียชีวิตจากการไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ

 

ในบางครั้งดวงจิตที่อาฆาตนั้นก็จะมาเกิดเป็น สัตว์เดรัจฉาน ได้ แต่สัตว์นั้นก็ทำให้เราได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เช่น จู่ๆ เราเดินผ่านซอยในหมู่บ้านก็กลับถูกหมากัด ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปทำร้ายอะไรเลย

 

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรานั้นหาใช่ความบังเอิญไม่ ทุกสิ่งอย่างย่อมมีเหตุในตัวของมันเอง อย่างไรก็ดี การปรากฏผลแห่งกรรมนั้นไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้ที่เราเคยกระทำไม่ดีไว้เท่านั้นที่จะมาเอาคืน แต่ผลของกรรมจะสามารถปรากฏในลักษณะอื่นๆ ได้ เช่น ในอดีตชาติหรือปัจจุบันชาติก็ดี เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามาก ฆ่าทั้งคนและสัตว์ ทำให้ชาตินี้ต้องประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนเสียชีวิต และเป็นการเสียชีวิตก่อนอายุขัยอย่างนี้ เป็นต้น

 

ไม่ใช่ว่าคนหรือสัตว์ที่เขาเคยฆ่านั้น จะอาฆาตพยาบาทเสมอไปเพราะไม่ว่าแรงอาฆาตนั้นจะมีหรือไม่ แต่ผลของกรรมก็ย่อมปรากฏในลักษณะนี้อยู่ดี

 

ฉะนั้น เมื่อทำกรรมใดไว้ ย่อมต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น แต่ผลกรรมจะบรรเทาได้ก็ต่อเมื่อปลดปล่อยการจองเวร ด้วยการอโหสิกรรม และเร่งสร้างบุญสร้างกุศลอย่างสม่ำเสมอ แล้วกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลที่สร้างนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ทำพร้อมกับการให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนาอยู่เนืองนิตย์

 

source : หนังสือกรวดน้ำแก้กรรม  แก้วธารา  ผู้เขียน

ทำไมต้องกรวดน้ำหลังจากการทำบุญ