สำหรับผู้ที่ชอบเถียงพ่อแม่ จัดว่าเป็นการทำความชั่วที่หนักหนาสาหัส เมื่อลูกผู้นั้นเริ่มเข้าสังคมจะโดนผู้อื่นว่าร้าย ถกเถียงชนิดคำต่อคำ พ่อแม่เคยเจ็บช้ำจากการเถียงของลูกเช่นไร ลูกคนนั้นก็จะโดนสังคมบีบคั้นเช่นกัน กรรมนี้สามารถพบเห็นในภพชาตินี้แน่นอน ส่วนทางร่างกายนั้น ลูกที่เถียงพ่อแม่ที่มีกรรมหนักมาก จะมีอาการลิ้นสั้นจุกปาก พูดจาไม่ถนัด พูดลิ้นพันกัน ลิ้นแข็ง ฯลฯ
รู้จักกรรมหนักที่พึงระวัง
ก่อนจะเข้าใจเรื่องกรรมหนัก ก็ควรทำความเข้าใจคำว่า “กรรม” เสียก่อน เพราะเมื่อกล่าวถึงเรื่องเวรกรรมขึ้นมา เรามักมีความเข้าใจกันในแง่ลบ มองเรื่องกรรมนั้นเป็นของไม่ดี เป็นของที่ต้องหลีกเลี่ยง ซึ่งความจริงแล้วกรรมเป็นคำกลางๆ ออกได้ทั้งสองด้าน คือทั้งดีและไม่ดี กรรมนั้นหากแปลให้เข้าใจอย่างง่ายที่สุดก็น่าจะแปลได้ว่า “กิจการที่คนกระทำด้วยกาย วาจา ใจ ที่ประกอบด้วยเจตนา” พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรากล่าวเจตนา (ความจงใจ) ว่าเป็นกรรมเพราะคนจงใจ คือมีใจมุ่งแล้วจึงทำ ทั้งทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ฉะนั้นกรรมจึงเป็นกิจที่บุคคลจงใจทำด้วย “เจตนา” ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เรียกว่ากรรม ยกตัวอย่างเช่นว่า หากไม่มีเจตนาจะเหยียบมดให้ตาย แต่ไปเผลอเหยียบเข้าจนมันตาย ก็ไม่ถือว่าเป็นการสร้างกรรม ถ้าใครเผลอทำอะไรอย่างนี้ก็ถือว่ารอดตัวไป เพราะการกระทำนั้นไม่ได้เป็นการจงใจสร้างกรรมให้กับคนอื่น แม้จะมีวิบากเป็นผลตามมาภายหลังก็ตามคืออาจจะมีเหตุให้ต้องเกิดความเดือดร้อนไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ บ้าง
ส่วนการจัดจำแนกกรรมใดๆ ว่าหนักหรือเบานั้น พระพุทธเจ้าสอนให้ดูกันที่องค์ประกอบ 3 ประการ อันได้แก่
- วัตถุ หมายถึง คน สัตว์ สิ่งของ หรือเรื่องที่เป็นตัวทำกรรม เช่น ถ้าฆ่าคนหรือสัตว์เดรัจฉาน คนหรือสัตว์ที่เราฆ่านั้นจัดเป็นวัตถุ ผู้ที่เราฆ่านั้นเป็นผู้ที่มีคุณมากหรือผู้มีคุณน้อย เป็นสัตว์ใหญ่หรือสัตว์เล็ก ถ้าฆ่าคนที่มีคุณงามความดีมาก เช่น ผู้ที่ถือศีล พระอริยสงฆ์ พ่อแม่ ผู้มีพระคุณ ผู้มีคุณธรรมสูง บาปที่เกิดขึ้นก็จะมากตาม ถ้าฆ่าคนที่มีคุณความดีน้อย เช่น โจร คนชั่วทั้งหลาย บาปก็น้อยตามลงไป
- ประโยค หมายถึง “ความพยายาม” ถ้ามีความพยายามในการทำกรรมดีมาก บุญก็จะมากตาม แต่ถ้ามีความพยายามมากในการทำกรรมชั่วให้สำเร็จ บาปนั้นก็จะมากตามไปตามความพยายามนั้น
- เจตนา หมายถึง ความจงใจ ความตั้งใจในการทำกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วเช่นกัน ตั้งใจในกรรมไหนมาก กรรมนั้นก็จะส่งผลมาก
กรรมจะดีหรือไม่ดีก็สุดแต่ผลที่เกิดขึ้นจากกรรมนั้นๆ ถ้ากรรมนั้นทำให้เกิดผลเป็นคุณเกื้อกูลแก่ตนเองและผู้อื่นก็จัดเป็นกรรมดีที่เรียกว่า “กุศลกรรม” ส่วนกรรมที่ทำให้เกิดผลเป็นโทษเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนนั้นเป็นกรรมชั่วเรียกว่า “อกุศลกรรม” กุศลกรรมหรือกรรมดี พระพุทธศาสนายกย่องถือว่าเป็นสิ่งที่คนฉลาดใฝ่หากระทำกัน ในขณะที่อกุศลกรรมคือกรรมชั่ว เป็นกิจของคนโง่และคนบาป
ที่สำคัญกรรมนั้นจะมีการ “ให้ผลแห่งกรรม” อยู่เสมอไม่อาจจะหลีกเลี่ยงผลได้เลย ด้วยผลกรรมนั้นถูกประมวลเป็นหลักใหญ่ได้ 3 ข้อ ได้แก่
- ใครทำดีก็เป็นบุญกุศลติดตัวอยู่ และใครที่ทำชั่วก็จะเป็นอกุศลกรรมติดตัวอยู่เช่นกัน
- มีกรรมแล้วย่อมมีกรรมวิบาก คือผลของกรรม หมายถึงผลที่ดีเกิดจากกรรมที่ดี ผลที่ชั่วเกิดจากกรรมที่ชั่ว เหมือนอย่างผลไม้ใดออกดอกออกผลจากต้นใด ก็ต้องเป็นผลไม้ตามชนิดของพืชชนิดนั้น ไม่มีการออกดอกออกผลผิดประเภท ปลูกข้าวและจะต้องได้ข้าว ไม่ใช่ปลูกข้าวแล้วได้อ้อย
- พระพุทธศาสนาแสดงว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน คือตัวเราเองทุกคนเป็นเจ้าของกรรมที่เราทำและเป็นเจ้าของผลกรรมนั้นๆ ด้วย จะตัดกรรมที่ตัวเราเองทำหรือผลกรรมที่เราทำให้พ้นตัวออกไปหาได้ไม่ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อกรรมของตนเองเพียงอย่างเดียว
พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้หมั่นนึกคิดอยู่เสมอว่า
“เรามีกรรมเป็นของตน เป็นกรรมทายาท คือเป็นผู้รับผลกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ และมีกรรมเป็นที่อาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและดีต่างๆ กัน”
จากคำกล่าวที่พระพุทธองค์ได้ให้ความหมายถึงเรื่องการนี้อย่างชัดเจนซึ่งชี้ให้เห็นว่าอะไรคือกรรมดี อะไรคือวิบากกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมไม่ดีที่ได้ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้มีพระคุณ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ด้วยแล้วก็ยิ่งให้ผลกรรมหนักตามไป และสิ่งที่เป็นบาปหนักเรียกว่า “อนันตริยกรรม” คือกรรมที่ให้ผลมากแบบประมาณไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีอยู่ 5 ประการด้วยกัน คือ
-
สังฆเภท
คือ การที่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูป ได้กระทำการทำให้คณะสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปมีความเห็นผิดตามคำยุยงแห่งตนไปกระทำกิจกรรมของสงฆ์ที่เรียกว่า “สังฆกรรม” ต่างหาก ไปสวดพระปาฏิโมกข์ต่างหาก หรือพยายามทำให้คณะสงฆ์แตกแยกกัน ไม่สามัคคีกันนั้น เป็นกรรมที่หนักอย่างยิ่ง
เป็นที่เข้าใจว่าผู้ที่ทำสังฆเภทนั้นหมายเฉพาะเอาแต่พระสงฆ์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงถ้าผู้กระทำการยุยงเป็นสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ชาวพุทธทั่วไป หรือคนภายนอกพุทธศาสนา เป็นนักปราชญ์ ขี้เหล้าเมายา หรือใครก็ตาม แม้จะไม่นับว่าเป็นกรรมสังฆเภท แต่เมื่อใดที่ได้ทำกรรมที่มีลักษณะการยุยงผู้อื่นให้แตกความสามัคคี ก็มีผลแห่งบาปหนักที่เสมอกับ “อนันตริยกรรม” เช่นเดียวกัน
การกระทำที่เป็นสังฆเภทนั้นเกิดจากกรรม “ทางวาจา” เป็นเหตุ คือการพูดจาส่อเสียด และมีความประสงค์จะให้คนอื่นเขาแตกร้าวกัน เมื่อมีการเข้าใจผิดกันและไม่ยอมรับฟังเหตุผลของกันและกัน ก็ทำให้มีอันต้องทะเลาะเบาะแว้งและแตกแยกกันไป ในบรรดาอนันตริยกรรมนี้ สังฆเภทนับเป็นกรรมที่หนักที่สุด ให้ผลก่อนอนันตริยกรรมประเภทอื่นๆ และมีผลสิ้นสุดลงในชาติหน้า เพราะฉะนั้นถ้าหากใครได้ทำอนันตริยกรรมไว้หลายอย่าง ก็จะได้รับผลของสังฆเภทอันเป็นกระทงที่หนักที่สุดก่อน คือชีวิตจะอยู่ไม่เป็นสุขทั้งในชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงาน ทำมาหากินไม่ขึ้น และไม่สามารถปฏิบัติธรรมใดๆ ให้บรรลุมรรคผลได้ และเมื่อตายไปแล้วก็ต้องไปรับโทษในนรกอเวจีอีกนานแสนนาน
อาจสงสัยว่าเด็กๆ ในความปกครองของเราจะไปมีโอกาสทำสังฆเภทได้อย่างไร คำตอบคือ หากเด็กถูกสอนมาให้มีความเห็นผิด คือเห็นการที่คนแตกคอกันเป็นเรื่องสนุก ยิ่งสามารถทำให้คนทะเลาะกันได้มากเท่าไรก็มีความสุขเท่านั้น อย่างนี้เป็นความเห็นผิดที่อันตราย ในตอนแรกๆ การพูดยุแยงให้คนอื่นแตกกันในแบบเด็กๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร เพราะทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน แต่ถ้าความรู้สึกสนุกมันฝังเข้าไปในกมลสันดานของเด็กแล้ว เมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็จะเห็นว่าการทำให้คนแตกแยกกันเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์นั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย เขาก็จะสามารถทำได้โดยไม่รู้สึกผิด และมันจะติดเป็นนิสัยที่แก้ยากทีเดียว
มีตัวอย่างเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าไว้เรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับนิสัยที่แก้ไม่หายของคนที่ชอบพูดจาให้คนอื่นแตกแยกกันมักจะมีทุคติเป็นที่ไป คือเรื่องราวของนางปิสุณาวาที ซึ่งชื่อของนางก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นคนที่มีวิสัยพูดจาส่อเสียดให้คนแตกแยก
เรื่องมีอยู่ว่าในหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีครอบครัวหนึ่งมีลูกสาวสามคน ซึ่งลูกสาวแต่ละคนก็ล้วนมีนิสัยที่เลวร้ายต่างกัน 3 อย่าง คนแรกชื่อนางปิสุณาวาที ซึ่งก็มีพฤติกรรมไม่ดีสมชื่อ เป็นคนที่มีนิสัยชอบยุยงให้คนแตกกัน ทุบตีกัน ยิ่งเห็นใครที่ไหนทะเลาะกันด้วยฝีปาก ตัวเองจะรู้สึกมีความสุขมาก ส่วนลูกสาวคนที่ 2 มีนิสัยชอบลักขโมย เห็นอะไรขวางมือเป็นไม่ได้ต้องเกิดอาการคันไม้คันมือขึ้นมา ต้องขโมยไปเสียทุกอย่าง ส่วนลูกสาวคนที่สามมีนิสัยตะกละตะกราม เรียกว่ากินทุกอย่างที่ขวางหน้า อาหารจะดีเลวอย่างไรไม่สนใจ แถมยังมีกิริยาในการกินมูมมามเสียงดังน่าเกลียดมาก
ด้วยนิสัยสุดจะทนของลูกสาวทั้งสามนี้พ่อแม่จึงไม่อาจจะทนเลี้ยงดูต่อไป แม้ท่านทั้งสองจะมีความรักให้ฉันพ่อแม่ลูก แต่เพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียงกันนั้นไม่เอาด้วย เพราะสุดจะทนต่อพฤติกรรมของหญิงสาวทั้งสามคน ด้วยวิสัยอันเดียวร้ายทำให้คนในหมู่บ้านต้องทะเลาะเบาะแว้งตีกันทุกวันหรือนี้ของหายทุกวัน อีกทั้งยังเสียสุขภาพจิตเมื่อได้เห็นความมูมมามจากการกินไม่เลือกอีก จึงต้องจับหญิงสาวทั้งสามคนนี้ไปลอยแพในทะเล แพของหญิงสาวทั้งสามได้ลอยไปเจอกับเรือโจรสลัดเข้า นายโจรเห็นหญิงสาวทั้งสามคนจึงรับขึ้นเรือมา นายโจรก็ยังมีความข้องใจว่าเพราะเหตุใดจึงมาโดนลอยแพ แต่ก็สงสัยอยู่ได้ไม่นานก็รู้ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด
นายผู้เป็นหัวหน้าโจรคิดว่านิสัยคนเราต้องมีหนทางแก้ไขกันได้ เพราะตัวเขาเองยังสามารถปกครองสมุนโจรลูกน้องทั้งมาตั้งมากมายได้ จึงคิดแก้นิสัยโดยให้นางตะกละไปเป็นแม่ครัว ซึ่งก็ได้ผลดีทีเดียวเพราะในครัวมีทุกสิ่งทุกอย่างที่นางอยากกิน พอได้หยิบได้จับกินอาหารตามใจทุกๆ วัน ไม่นานนางก็เลิกนิสัยกินแบบตะกละตะกลามได้ ส่วนหญิงสาวที่มีนิสัยขี้ขโมยนั้น นายโจรก็มอบพวงกุญแจคลังสมบัติให้ดูแล ถึงอยากขโมยก็เชิญตามสบาย เพราะอยู่ในเรือจะเอาออกไปใช้ที่ไหนก็ไม่ได้อยู่ดี เมื่อนางเห็นสมบัติสร้อยแหวนเงินทองทุกวัน อยากหยิบจับของมีค่าอะไรได้ทั้งนั้นไม่นานก็เกิดความเบื่อหน่าย ขโมยไปแล้วก็ไม่เคยได้ใช้ทรัพย์ที่ขโมยมาสักที จึงเลิกนิสัยขี้ขโมยไปได้เช่นกัน
ส่วนนางปิสุณาวาทีลูกสาวคนโตนั้น นายโจรพยายามหาทางวิธีการอย่างไรก็แก้ไม่ตก เพราะนางชอบไปพูดยุแหย่ลูกเรือคนโน้นคนนี้ให้แตกคอกัน เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ชกต่อยตีกันวุ่นวายไปหมดทั้งลำเรือ ทำให้นายโจรหนักใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยหมดหนทางจะแก้ไขแล้ว ก็เลยให้ลูกน้องจับตัวนางปิสุณาวาทีนั้นใส่แพลอยต่อไป คราวนี้นางต้องลอยไปคนเดียว บังเอิญได้ไปเจอนกอินทรีใหญ่สองตัวผัวเมียบินมาหากินในทะเล เห็นนางลอยแพมาก็นึกสงสารจึงตั้งใจเข้าไปช่วยเหลือ โดยช่วยกันแกะไม้แพมาอันนึงให้นางปิสุณาวาทีเกาะตรงกลางแล้วพาบินเข้าหาฝั่ง
ระหว่างบินอยู่กลางอากาศนั่นเอง นางปิสุณาวาทีก็ดันเกิดคันปากอยากจะพูดยุแหย่ให้นกอินทรีย์ 2 ผัวเมียแตกคอกัน ก็เลยยื่นปากไปทางนกอินทรีย์ตัวผู้แล้วทำเป็นกระซิบกระซาบอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ยื่นหน้าไปทางนกอินทรีย์ตัวเมียแล้วกระซิบข้างหูเบาๆ ว่า “สามีของเธอน่ะเจ้าชู้จริงๆ เห็นฉันเดี๋ยวเดียวก็กล้วฉันเข้าซะแล้ว” นกอินทรีย์ตัวเมียได้ยินดังนั้นก็โกรธโมโหเลือดขึ้นหน้า เกิดอาการหึงหวง ก็ปล่อยไม้แพนานแล้วหันไปตบนกผัวทันที ฝ่ายนกผัวก็ไม่ยอมเพราะแก่แล้ว จึงมีโทสะว่า อยู่ดีๆ ก็โดนเมียตบ ว่าแล้วนกอินทรีผัวเมียเลยตบตีกันกลางอากาศ ส่วนนางปิสุณาวาทีรับผลกรรมทันที คือตกลงมากลางทะเลจมน้ำตายไป ณ ตรงนั้นนั่นเอง
อีกตัวอย่างหนึ่งในสมัยพุทธกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ มีเรื่องราวหนึ่งสะท้อนถึงผลการให้เกิดจากการพูดทำให้คนแตกแยกเอาไว้ว่า
มีพระมหาเถระ 2 รูป รูปหนึ่งพรรษา 60 พรรษาแล้ว อีกรูปหนึ่งมีพรรษา 59 พรรษา ทั้งสองสนิทและรักกันมาก จำพรรษาอยู่ในอาวาสแห่งหนึ่งที่สมบูรณ์ด้วยลาภสักการะ ต่อมามีพระธรรมกถึก (ผู้เป็นเลิศในด้านการแสดงธรรม) รูปหนึ่งมาขออยู่ในอาวาสนั้นด้วย เพราะเห็นว่าเป็นวัดที่มีลาภสักการะมากคงจะอยู่ได้อย่างสบายไม่ลำบาก พออยู่ไปนานๆ เข้าจึงเกิดความโลภคิดขับไล่พระเถระทั้งสองรูปนั้น โดยทำให้ทั้งสองแตกแยกกันโดยเข้าไปหาทีละรูปแล้วพูดว่า “เมื่อวันกลับผมมาที่นี่ พระเถระรูปนั้นบอกผมว่าคุณเป็นคนไม่ดี จะคบหาสมาคมกับพระมหาเถระต้องพิจารณาให้ดีก่อน ท่านพูดเหมือนกับรู้ความลับความเสียหายของท่าน” เสร็จแล้วภิกษุรูปนี้ก็เข้าไปหาอีกรูปหนึ่งพูดอย่างเดียวกัน ในตอนแรกๆ ภิกษุทั้ง 2 รูปไม่เชื่อ แต่เมื่อเวลาผ่านเนิ่นนานไป ด้วยแรงยุยงบ่อยครั้งจึงเกิดความบาดหมางกัน ในที่สุดก็แตกแยกกัน ต่างคนต่างออกจากวัดศิษย์รูปนี้จึงได้ครองวัดนั้นแต่เพียงรูปเดียว
เมื่อพระธรรมกถึกนั้นมรณภาพแล้วจึงต้องไปเกิดในนรกชั้นอเวจี พ้นจากนรกนั่นแล้วไปเกิดเป็นเปรต ร่างกายเหมือนมนุษย์แต่มีศีรษะเหมือนสุกร ต้องเสวยทุกข์อยู่ที่เขาคิชฌกูฏอยู่เป็นเวลานาน นี่คือผลกรรมที่ตามไล่ล่าคนพูดจาส่อเสียดมุ่งทำลายความสามัคคี กรรมหนักเรื่องคำพูดเป็นสิ่งที่เด็กๆ สามารถทำขึ้นได้ง่ายที่สุด ดังนั้นคนที่เป็นพ่อแม่ต้องระมัดระวังคอยอบรมสั่งสอนบุตรในเรื่องการพูดจา อย่าใช้วาจานี้ไปทำลายให้ใครต้องแตกแยกกันโดยเด็ดขาด
-
โลหิตตุปบาท
กรรมในข้อนี้ก็คือ การทำร้ายพระพุทธเจ้าจนเกิดอาการห้อเลือดขึ้นไป เรื่องนี้มีความโด่งดังมากอยู่แล้วในสมัยพุทธกาล คือพระเทวทัตได้เป็นผู้กระทำอนันตริยกรรมข้อปุโลหิตตุปบาทนี้จนถูกธรณีสูบตกนรกอเวจีไป โดยขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏและพยายามกลิ้งหินศิลาลงมา เหตุการณ์นี้ทำให้พระพุทธเจ้าทรงได้รับบาดเจ็บที่พระบาทจนถึงกับห้อพระโลหิต กรรมข้อนี้เราอาจจะนอนใจได้ว่าในสมัยปัจจุบันไม่มีพระพุทธเจ้าอยู่แล้วก็คงไม่มีการจะไปทำร้ายพระพุทธองค์ได้อีก แต่ความจริงแล้วมีบาปหนักชนิดหนึ่งที่เสมอในอนันตริยกรรมข้อนี้เช่นกัน
ผู้ที่มีเจตนาชั่วร้ายไฝ่หากรรมอันเป็นบาปหยาบช้า ชอบทำลายล้างวัตถุที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เช่น การทำลายพระพุทธรูป ทำลายเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทำลายต้นศรีมหาโพธิ์ ด้วยทำไปเพราะความโลภคือสามารถตัดเศียรพระพุทธรูปได้ ทำลายพระพุทธรูปโดยการทุบพระ ตัดแขนทำลายขาเพื่อนำชิ้นส่วนไปประกอบใหม่และจำหน่ายเป็นวัตถุโบราณ พระพุทธรูปนั้นแม้จะเป็นอิฐปูนหรือโลหะก็ตาม ถือเป็นตัวแทนในลักษณะ “รูปธรรม” อันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนน้อมจิตใจเข้าสู่พระศาสนา การไปทำลายเศียรหรือส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปเมื่อต้องการเงินนั้น จึงเป็นการกระทำที่ใกล้เคียงกับการทำร้ายพระพุทธองค์
เด็กๆ ที่เติบโตไปทำเรื่องเลวร้ายอย่างการตัดเศียรพระ หรือทุบทำลายพระได้ ก็เพราะเขาไม่ได้รับการปลูกฝังให้เคารพในพระศาสนา ไม่เชื่อในบุญบาป เห็นแก่ได้ในลาภยศชื่อเสียง โดยมีพื้นฐานทั้งหมดเกิดจากการที่เขามีความชื่นชอบในความรุนแรง เห็นการใช้กำลังในทางที่ผิดเป็นเรื่องปกติ เห็นเรื่องการลักขโมยเป็นของธรรมดา จนกลายเป็นเหตุให้ทำกรรมหนักขึ้นได้
-
อรหันตฆาต
การฆ่าพระอรหันต์เป็นบาปหนักอีกประการหนึ่ง บุคคลผู้ใดมีเจตนาชั่วร้ายฆ่าพระอรหันต์ ได้ชื่อว่าเป็นอรหันตฆาตทั้งนั้น หรือแม้แต่เป็นคฤหัสถ์ที่เป็นคนที่บรรลุธรรมแล้วในเพศฆราวาสแต่ยังไม่ทันได้บวชเป็นพระสงฆ์ก็ตาม ผู้ใดฆ่าก็ถือเป็นอนันตริยกรรม หรือจะเป็นกรณีที่ท่านเหล่านั้นยังไม่ได้บรรลุธรรม แต่กำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ หากท่านถูกทำร้ายด้วยอาวุธ ยาพิษในน้ำดื่มหรืออาหารทำให้เกิดทุกขเวทนา แล้วท่านได้กำหนดเอาทุกขเวทนามาเป็นบาทแห่งวิปัสสนาจนเกิดมรรคผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วดับผลสู่นิทานในขนาดนั้นเลย ผู้ที่ทำร้ายย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์เช่นเดียวกัน
เด็กที่จะเติบโตขึ้นมาและมีจิตใจเหี้ยมหาญผิดมนุษย์จนถึงขนาดถ้าพระภิกษุหรือนักบวชได้นั้น เรียกได้ว่าน้อยรายจริงๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องให้ความระมัดระวังอย่าให้เขาได้เคยชินกับความรุนแรงจนเป็นปกติวิสัย เพราะเมื่อความรุนแรงมันถูกซึมซับเข้าไปในกมลสันดานแล้ว เมื่อเติบโตขึ้นมาเขาอารมณ์ที่ทำร้ายใครก็ได้ที่มีคุณธรรมสูงเทียบเท่าพระอรหันต์ โดยไม่รู้ดีชั่ว ซึ่งก็ทำให้ได้รับผลกรรมหนักไม่แพ้กัน
-
มาตุฆาต
คือการฆ่าแม่บังเกิดเกล้าของตนเอง ซึ่งโดยข้อกำหนดที่บัญญัติหมายถึงแม่แท้ๆ เท่านั้น แม่เลี้ยง แม่บุญธรรม หรือแม่ยาย ไม่เข้าข่ายเป็นมาตุฆาต แต่ก็มีผลใกล้เคียงกับมาตุฆาต หากท่านเป็นผู้ที่มีบุญคุณเสมอกับแม่ของตนเอง และที่สำคัญการฆ่าแม่นั้นถึงแม้ว่าจะสำคัญผิดหรือทำไปก็ไม่รู้ก็จัดเป็นอนันตริยกรรมเช่นเดียวกัน
การที่เด็กจะทำมาตุฆาตได้นั้นในสังคมปัจจุบันก็ยังมีให้เห็น คือฆ่าแม่ทั้งเป็นด้วยการตบตีทำร้าย อาจเป็นเพราะตัวของแม่นั้นเคยทำรุนแรงกับลูกไว้ก่อนจนกลายเป็นความเก็บกด ความแค้นฝังใจ หรือลูกบางคนก็อาจหลงผิดคิดฆ่าแม่ได้เพราะความโลภในทรัพย์สมบัติ ซึ่งกรณีที่ลูกพยายามฆ่าแม่นั้นในสังคมมีอยู่น้อยราย แต่ก็ใช่ว่าไม่มี ดังนั้นพ่อแม่ก็ควรให้ความรักความใจใส่กับลูกให้ดีที่สุด
-
ปิตุฆาต
การฆ่าพ่อบังเกิดเกล้าซึ่งเป็นนัยเดียวกับมาตุฆาต แต่ต่างกันตรงที่กรรมหนักใดจะเป็นผู้ให้ผลก่อน ธรรมดาแม่ผู้เป็นรูปผู้อุ้มท้องลูกในครรภ์ มีจิตใจอ่อนโยนและเอ็นดูอุ้มชูเลี้ยงลูก และได้รับความลำบากมากกว่าพ่อ ถึงจะชั่วช้าเลวทรามขนาดไหน ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณแก่ลูกมากอยู่ดี เพราะฉะนั้นถ้าแม่กับพ่อเป็นคนดีมีศีลธรรมเสมอกัน มาตุฆาตย่อมให้ผลก่อนปิตุฆาต ยกเว้นในกรณีที่พ่อเป็นผู้มีคุณธรรมมีศีลธรรมมากกว่าแม่เท่านั้น ปิตุฆาตจึงจะให้ผลก่อนมาตุฆาต
การฆ่าพ่อแม่ยังสามารถทำได้ด้วยวิธีการฆ่าโดยทางอ้อม คือการทำให้ “พ่อแม่เกิดความทุกข์ใจในด้านต่างๆ เรียกว่าทำให้ท่านตายทั้งเป็น” แม้จะไม่มีผลกรรมที่หนักเท่ากับการฆ่าด้วยการทำให้ท่านจึงแก่ชีวิต แต่ก็มีผลกรรมที่หนักหนาไม่อาจทำให้ชีวิตของผู้กระทำเจริญก้าวหน้าและมีความสุขได้เลย
อนันตริยกรรมทั้ง 5 ประการนี้มีพลังโทษมาก เมื่อได้กระทำลงไปแล้วแม้ภายหลังจะรู้สึกสำนึกตนแล้วก็ตาม หรือแม้จะพยายามสร้างกุศลที่เป็นบุญใหญ่มากเพียงใด จะสร้างเจดีย์ที่ประกอบด้วยทองคำอันสูงใหญ่มากมายเต็มจักรวาล จะถวายทานแก่พระอริยสงฆ์ที่มีอยู่ในโลกทุกวันนี้ หรือได้โชคดีพบพระพุทธเจ้าแล้วเข้าอุปัฏฐากรับใช้พระพุทธองค์อย่างใกล้ชิดจนสิ้นชีพก็ไม่มีพลังอำนาจพอที่จะลบล้าง “อนันตริยกรรม” ทั้งห้าเหล่านี้ได้
ผู้ที่เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ดีที่สุด คงจะไม่พ้นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยพุทธกาลอย่างพระเจ้าอชาตศัตรู พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นเป็นราชบุตรของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ กับพระนางเวเทหิราชธิดาของพระเจ้ามหาโกศล ก่อนที่พระองค์จะเกิดมานั้นมีการทำนายว่า พระโอรสผู้นี้จะเกิดมาเป็นผู้ฆ่าพ่อ ด้วยเหตุที่พระนางเวเทหิแพ้ท้องและต้องการดื่มเลือดของพระสวามีเพียงอย่างเดียว พระนางเวเทหิทราบถึงคำทำนาย ด้วยความรักในตัวพระสวามีจะทำแท้งหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จในที่สุดก็คิดจะฆ่าลูกในวันที่คลอดเสีย แต่เพราะพระนางได้ทอดพระเนตรพระโอรสเท่านั้นก็ทรงเกิดความรักจนไม่อาจลงมือฆ่าลูกอย่างที่เคยตั้งใจเอาไว้ได้ ความจริงแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูนั้นเป็นคนที่มีจิตใจดีอยู่พอสมควรทรงเติบโตขึ้นมาอย่างดีแต่เพราะครั้งหนึ่งหลงเชื่อในคำยุยงของพระเทวทัตเข้า จึงได้พยายามลงมือสังหารบิดาของตนคือพระเจ้าพิมพิสาร แต่ไม่สำเร็จพระองค์ถูกจับได้และถูกพิพากษาให้รอรับโทษจากพระบิดา
พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดานั้นเป็นผู้ที่มีเมตตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถามเหตุผลในการฆ่าพ่อจากลูกชาย พอทราบความว่าลูกต้องการราชสมบัติก็ส่งยกให้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจใดๆ เพราะความรักลูก แต่นั่นกลับกลายเป็นการยื่นอาวุธให้พระเจ้าอชาตศัตรูได้หลงทำผิดมากยิ่งขึ้น พระเจ้าอชาตศัตรูได้รับคำแนะนำจากพระเทวทัตให้ฆ่าพระราชบิดาทางอ้อมโดยการจับไปขังคุก ให้อดอาหารและรมควันด้วย ห้ามผู้ใดเข้าเยี่ยมนอกจากพระนางเวเทหิ ซึ่งพระนางเวทีหิก็ใช้กลอุบายเอาอาหารไปให้พระเจ้าพิมพิสารหลายวิธี แต่สุดท้ายก็โดนจับได้หมด ไม่ว่าจะเอาซ่อนในมวยผม เอาซ่อนในรองเท้า เอาไปทาไว้ที่พระวรกายก็ตาม
พระเจ้าพิมพิสารทรงใช้วิธีการเดินจงกรมกำหนดสมาธิในการดำรงชีวิตอยู่ ทำให้ไม่ตายง่ายๆ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงสั่งให้มหาดเล็กใช้มีดโกนกรีดที่เท้าแล้วทาด้วยน้ำมันผสมเกลือ และเอาไฟย่างเท้าด้วยการเอาถ่านไม้ที่ติดไฟจนไม่มีเปลวแล้วไปย่างเท้าของพ่อตนเองได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส พระเจ้าพิมพิสารได้รับความทุกข์ทรมานจนถึงขีดสุดจนในที่สุดก็ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูคือ “เจ้าชายอุทัยภัทรราชกุมาร” ประสูติพอดี
ความรักลูกเกิดท่วมท้นในไปทั่วในหัวใจของพระเจ้าอชาตศัตรู ทำให้พระองค์นึกขึ้นได้ว่าเมื่อครั้งที่เราเกิดมา พระเจ้าพิมพิสารก็ส่งให้ความรักความอบอุ่นเมตตาของพระองค์ดังนี้เช่นกัน ทำให้รู้ซึ้งถึงคุณของพระราชบิดาขึ้นมาทันที แต่ก็นับว่าสายเสียแล้วสำหรับพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าพิมพิสารเสด็จสวรรณคตในวันประสูติของหลานพอดี พระองค์รู้สึกเหมือนตกไปในหุบเหวที่ลึกสุดแสน เมื่อทราบถึงการสวรรณคตแล้วก็รีบไปเข้าเฝ้าพระราชมารดาทันที แม้แต่พระราชมารดาก็ไม่อาจอภัยให้พระเจ้าอชาตศัตรูได้
พระเจ้าอชาตศัตรูต้องทนทุกข์ทรมานฝันร้ายทุกคืนได้ไม่อาจข่มตานอนหลับได้เลย จะสามารถนอนหลับได้สนิทก็ต่อเมื่อได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสนาแล้วเท่านั้น พระพุทธองค์มีโอกาสได้แสดงธรรมแก่พระเจ้าอชาตศัตรูในบท “สามัญญผลสูตร” เป็นบทสวดแห่งการทำความดี ย่อมเกิดความสุขทางใจขึ้น เมื่อฟังธรรมจบ พระเจ้าอชาตศัตรูก็เสด็จกลับ ด้วยที่พระพุทธองค์ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าพระเจ้าอชาตศัตรูไม่ทรงกระทำปิตุฆาตแล้วในวันนี้จักได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน”
พระเจ้าอชาตศัตรู ตลอดชีวิตได้พยายามทำบุญกุศลโดยตลอด ทรงเป็นส่วนสำคัญฝ่ายฆราวาสในการจัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และทรงบรรจุพระธาตุรวมไว้ในสถูปในแคว้นมคธได้สำเร็จ รวมทั้งทรงเป็นผู้ที่ได้กระทำในการสร้างสังคายนาพระไตรปิฎกที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาจนกระทั่งแล้วเสร็จอีกด้วย ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปได้ 17 ปี พระเจ้าอชาตศัตรูได้ย้ายราชธานีจากเมืองราชคฤห์ ไปยังเมืองปาฏลีบุตรเข้าเมืองราชคฤห์อยู่ในหุบเขา ขยายเมืองได้ยาก ส่วนเมืองปาฏลีบุตรอยู่ติดกับแม่น้ำคงคา ทำให้สะดวกต่อการคมนาคม
การย้ายเมืองทำให้แคว้นมธคกลายเป็นแคว้นที่มีอำนาจเข้มแข็งที่สุดกว่าทุกอาณาจักร และไม่ล่มสลายง่ายเหมือนกับอาณาจัรกอื่นๆ แต่ก็คงอยู่ในราชบัลลังก์แม้นาน 32 ปี ก็ถูกเจ้าชายอุทัยภทร พระราชโอรสปลงพระชนเช่นเดียวกับที่พระองค์เคยทำกับพระราชบิดา
พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการสอนให้ลูก “เลือกที่จะคบคน” ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า พระเจ้าพิมพิสารไม่ได้ทรงห้ามปรามพระเจ้าอชาตศัตรูคบหากับพระเทวทัต ยิ่งไปกว่านั้นพระเจ้าพิมพิสารเองก็ตัดสินใจอย่างปัจจุบันทันด่วนเกินไปที่จะยกราชบัลลังก์ให้กับลูกในช่วงวัยหนุ่มฉกรรจ์เช่นนั้น จนทำให้พระองค์หลงในอำนาจมากขึ้น เจ้าชายชาติศัตรูขณะที่ขึ้นครองราชย์ยังมีความเห็นผิดอยู่มาก เพราะถูกยุแยงจากคนชั่วหรือยังไม่สามารถเลิกคบหากับพระเทวทัตได้ ท้ายที่สุดเมื่ออำนาจตกไปอยู่ในมือคนที่หลงผิด พระเจ้าพิมพิสารจึงต้องมีจุดจบที่น่าสงสัยเช่นนั้น
จากตัวอย่างของพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าอชาตศัตรูจะเห็นได้ว่า “พ่อแม่ มีส่วนสำคัญมากในการห้ามปรามไม่ให้ลูกทำชั่ว และให้พึงรักษาสร้างแต่ความดี” เพราะพ่อแม่ถือเป็นครูคนแรกของลูก เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกมากที่สุดกว่าครูอาจารย์คนใดๆ ผู้ที่เป็นพ่อแม่จึงควรสอนลูกโดยชี้ให้เห็นถึงกรรมบาปหนักทั้งหลายที่ไม่พึงทำ และควรเป็นผู้ชี้แนะให้เขาทำความดีด้วยตนเอง ลูกก็จะรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ได้ดูแลเอาใจใส่เขาเป็นอย่างดี ทำให้เกิดความรักความอบอุ่นในครอบครัวมากยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าลูกที่ทำร้ายพ่อแม่ ในศาสนาพุทธนั้นสอนว่า ลูกที่ทำร้ายพ่อแม่ตายไปแล้วจะไปเกิดในขุมนรกชื่อตปะนรก มีลักษณะเป็นบัวกรดเผาทำลายอยู่เป็นนิจ มียมบาลคอยเอาค้อนทุบหัวอยู่ร่ำไป แต่ถ้าจะให้เห็นในชาติปัจจุบันแม่ชีธนพรบอกว่า คนที่ทำร้ายพ่อแม่อกุศลกรรมจะทำให้คนผู้นั้นถูกคนรักทำร้าย เช่น อาจจะเป็นสามี ภรรยา บุตรหรือคนที่สนิททำร้ายได้ แม้กระทั่งลูกที่ใช้ให้พ่อแม่บริการตัวเองหรือพ่อแม่เต็มใจบริการลูกๆ เพราะรักลูกมาก เช่น ซักผ้า ล้างจาน ทำกับข้าวให้ จะถือว่าเป็นกรรมที่พ่อแม่ทำให้เกิดกับลูกทั้งสิ้น ทำให้เมื่อลูกออกไปใช้ชีวิตในสังคมจะต้องไปเป็นขี้ข้าผู้อื่น ถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบ เป็นต้น
ที่มาและการอ้างอิง
กรรมที่พ่อแม่ต้องรู้ ลูกต้องหยุดทำ ผู้แต่ง ญาณกร จิตตวชิระ ผู้แต่งร่วม