วันจันทร์, 7 ตุลาคม 2567

16 ข้อควรรู้ เข้าใจผู้ป่วยโรคจิตเภทเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ Ep.53

ในบรรดาความผิดปกติของโรคจิตทั้งหลาย โรคที่คนกลัวจะเป็นกันมากคือโรคจิต Psychosis ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยไม่ค่อยยอมรับว่าตนป่วยเป็นโรคอะไร มีการเสียการรับรู้ต่อสภาพความเป็นจริง Reality ทำให้อยู่ในโลกแห่งความเพ้อฝันและมักมีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและบุคลิกภาพจนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติเหมือนคนธรรมดาได้

 

 

1.โรคจิตเกิดจากสาเหตุทางกายและทางใจ

โรคจิตเภท Sehizophrenia เป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่พบได้ถึงเกือบร้อยละหนึ่งของประชากรทั่วไปเป็นได้ทั้งชายและหญิงเท่าๆกัน และมักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นหนุ่มสาวหลังจากอายุ 45 ปีขึ้นไปแล้วจะไม่ค่อยพบ อาการของโรคจิตเภทเป็นการแสดงออกของความผิดปกติของความคิด อารมณ์และพฤติกรรมร่วมกัน ความคิดของผู้ป่วยโรคจิตเภทมักเป็นความคิดแบบเพ้อฝันไม่อยู่กับร่องกับรอย คิดเอาเองตามใจชอบ หรือตามปัญหาที่เขามีอยู่ โดยที่ผู้อื่นไม่เข้าใจในความคิดของเขา จึงมักฟังดูแปลกๆไม่มีเหตุผล เรียกง่ายๆว่าความคิดบ้าบ้าบอบอหรือเพี้ยน

ความคิดแบบนี้ถ้าเกิดเป็นเรื่องราวหรือความเชื่อถือที่ฝังแน่นโดยไม่มีรากฐานของความเป็นจริง เราเรียกว่าอาการหลงผิด Delusion ผู้ป่วยอาจคิดว่าว่าตนเป็นคนมีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แต่งงานกับเจ้าฟ้าชาย เจ้าฟ้าหญิง หลงผิดว่าตนมีเจ้าพ่อเจ้าแม่สิงอยู่ในร่าง หลงผิดคิดว่ามีคนคิดทำร้ายตน กระทำทางไสยศาสตร์ ใช้อำนาจจิตโทรจิตหรือส่งอำนาจพิเศษมาควบคุมความคิดความรู้สึกและการกระทำของตน ทำให้ตนเองเป็นเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์หรือด้วยอำนาจลึกลับ บางทีลงผิดว่าอวัยวะภายในของตนสูญหายไป เช่น คิดว่าตนเองไม่มีสมอง ไม่มีตับ ไม่มีกระเพาะอาหาร หรือหลงผิดว่าตนเป็นมะเร็ง เป็นต้น

 

2.ผู้ที่มีอาการโรคจิตจะมีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย

ความคิดที่ผิดปกติอาจเกิดร่วมกับสัมพันธ์ที่ผิดปกติ คือ อาจมีการรับสัมผัสโดยที่ไม่มีตัวกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นทางหูทางตาทางจมูกทางลิ้นหรือทางผิวหนังอาการแบบนี้เราเรียกว่า ประสาทหลอน (Hallucination) อาการประสาทหลอนที่พบบ่อยที่สุดในโรคจิตเภทคือประสาทหลอนทางหูหรือที่เราเรียกง่ายๆว่าหูแว่ว Auditory hallucination ผู้ป่วยอาจคิดแล้วได้ยินเสียงความคิดตัวเอง อาจได้ยินเสียงคนมาด่าหรือมาชม อาจได้ยินเสียงคนหลายๆคนโต้เถียงกัน บางทีก็เป็นเสียงสั่งให้ผู้ป่วยทำอะไรได้ แม้แต่สั่งให้ไปฆ่าตัวตาย จนผู้ป่วยต้องจบชีวิตตนเองลง มีบางครั้งก็อาจมีประสาทหลอนทางตาหรือเห็นภาพหลอน Visual hallucination ผู้ป่วยอาจเห็นภาพคนที่ตายไปแล้วหรือเห็นนางฟ้า เทวดา พญายม มาเรียกหาโดยที่เป็นสิ่งอยู่ในจิตไร้สำนึกของตน

 

3.ผู้ป่วยโรคจิตจะมีความคิดไม่ปะติดปะต่อกัน

ความคิดของผู้ป่วยโรคจิตเภทอาจกระเจิดกระเจิงจนไม่ปะติดปะต่อกัน เวลาคุยกับเขาจึงอาจคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยไปคุยมาก็กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน ทำอย่างตอบอย่าง พูดวกวนเฉียดไปเฉียดมาไม่เข้าเป้า เอาเรื่องนี้ไปต่อกับเรื่องโน้น โดยไม่เกี่ยวเนื่องกันเลย หรือใช้คำใหม่ภาษาใหม่ที่แปลกๆไม่มีใครรู้เรื่อง อารมณ์ของผู้ป่วยโรคจิตเภทจะมีความผิดปกติ ซึ่งสังเกตเห็นได้ไม่ยาก ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับความคิด อยู่ดีๆก็หัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ บางทีกำลังคุยกันเรื่องธรรมดาหรือเรื่องน่าเศร้า ผู้ป่วยกลับยิ้มหัวเราะ บางครั้งอารมณ์ของผู้ป่วยกลับกลายเป็นแบบเมินเฉยไร้อารมณ์ เป็นลักษณะที่ไม่ยินดียินร้ายหรือไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อม บางรายอาจมีอารมณ์โกรธหรือแสดงความก้าวร้าวได้

 

4.พฤติกรรมของผู้ป่วยโรคจิตเภทจะชอบแยกตัวออกจากสังคม

พฤติกรรมของผู้ป่วยโรคจิตเภทมักเป็นไปในลักษณะชอบแยกตนเองออกจากสังคม พอใจที่จะอยู่ตามลำพังคนเดียวไม่สุงสิงกับใคร ไม่สนใจตนเองและสิ่งแวดล้อม มีบุคลิกภาพเปลี่ยนไปทางเสื่อมลง ไม่อาบน้ำอาบท่าไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าหรือแต่งเนื้อแต่งตัวแปลกๆไม่เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม สามารถพูดคนเดียวหรือหัวเราะคนเดียว ร้องไห้คนเดียว โต้ตอบกับประสาทหลอน ทำอะไรซ้ำๆในลักษณะแปลกๆ เช่น เดินถอยหน้าถอยหลังหรือยืนหรือนั่งอยู่ในท่าเดียวนานๆ คล้ายหุ่นขี้ผึ้งอาจมีการไปยืนเพ่งดูดวงอาทิตย์หรือมีกิริยาท่าทางที่แปลกประหลาด บางครั้งมีอาการซึมเฉยไม่พูดไม่จาไม่กินอาหาร บางครั้งก็กลับพูดมาก แก้ผ้าแก้ผ่อน อาระวาดหรือทำร้ายคนอื่น ในด้านการงานหรือการเรียนมักเสียความสามารถไป เพราะผลจากอาการป่วย ทำให้ไม่สามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้เหมือนเดิม ในรายที่เป็นนานๆ มักจะกลายเป็นคนขี้เกียจไม่สนใจทำอะไรเลย ชอบที่จะอยู่เปล่าๆในโลกแห่งความฝันของพวกเขา พวกนี้บางรายเราอาจเห็นแต่งตัวสกปรก ผมเผ้ารุงรัง เดินเก็บเศษอาหารกิน หรือนอนกระดิกเท้าเกาสะดืออยู่ตามข้างถนนก็มี

 

5.ระดับสติปัญญาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคจิตเภท

ในด้านความจำและเชาวน์ปัญญาของผู้ป่วยจิตเภท บางคนอาจเข้าใจผิดว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ความจริงแล้วผู้ป่วยจิตเภทยังสามารถรับรู้ต่อเวลาสถานที่และบุคคลได้ปกติ ความจำไม่ได้เสียแต่ประการใด แต่หากเขาจะจำอะไรไม่ได้ก็เป็นเพราะเขาไม่ได้สนใจ หรือมัวแต่วุ่นวายกับความคิดที่ปกติหรือประสาทหลอน จนไม่ได้สนใจกับสิ่งแวดล้อม ปัญญาระดับไหนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยในการเป็นโรคจิตเภทแต่อย่างใด จะโง่หรือฉลาดก็สามารถเป็นได้ทั้งนั้น แต่การแสดงออกเท่านั้นที่อาจแตกต่างกัน ความจริงแล้วเรามีผู้ป่วยจิตเภทที่สติเฟื่องกว่าคนทั่วไปอยู่ไม่น้อย

 

6.โรคจิตเภทเชื่อว่ามีสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม

สาเหตุของโรคจิตเภทเชื่อว่าเป็นเพราะสาเหตุทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม โรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตเวชอื่นๆอีกหลายอย่าง มีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้คนในสายเลือดเดียวกันมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป องค์ประกอบทางชีวเคมีในสมองคนซึ่งอาจมีจุดบกพร่องทำให้เกิดอาการจิตได้ง่าย เป็นสิ่งที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดเพราะพฤติกรรมของคนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย

 

7.การเลี้ยงดูในครอบครัวที่ไม่เหมาะสมเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเภท

มีการศึกษาพบว่าในครอบครัวที่มีลูกเป็นโรคจิตเภทมีลักษณะการเลี้ยงดูบางอย่างที่ไม่เหมาะสม และไม่มีปัญหาในด้านการสื่อความหมายไปทางโรคด้วย ครอบครัวบางครอบครัวอาจมีพ่อหรือแม่ที่ไม่ปกติอยู่ด้วย โดยเฉพาะมีลักษณะของแม่อยู่แบบหนึ่งที่พบว่า มีลูกเป็นโรคจิตเภทได้มาก แม่แบบนี้ส่วนมากเลี้ยงลูกในลักษณะประคบประหงมมากเกินไป คอยดูแลลูก ทำอะไรให้ลูก คิดอะไรให้ลูก ตัดสินใจแทนลูกทุกอย่าง ราวกับว่าลูกยังเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง แม่บ้างคนอาบน้ำให้ลูกจนเป็นหนุ่มเป็นสาว บางทีเวลาป่วยยังไม่ยอมให้ลูกไปหาแพทย์ แต่แม่มาพบแพทย์แทน หรือพาลูกมาตรวจแต่แพทย์ถามอะไรลูกก็ไม่ตอบ แม่แทนให้หมด เหมือนกับรับรู้อะไรทั้งหมดเกี่ยวกับลูกด้วยตนเอง

บางครอบครัวมีการสื่อความหมายไปยังโรคในลักษณะที่กำกวมอยู่เสมอ ทำให้ลูกไม่แน่ใจในเจตนาของพ่อแม่ เช่น ปากพูดว่ารักลูก แต่การกระทำกลับแสดงถึงเจตนาร้ายต่อลูก บางทีทำให้ลูกเกิดความสับสนอยู่เสมอ ว่าของอย่างนั้นเป็นของดีหรือไม่ดีควรทำหรือไม่ควรทำ พ่อแม่ชอบหรือไม่ชอบหรืออยากให้ทำอย่างไรกันแน่ โดยการสื่อความหมายที่ลูกนั้นได้จำความไม่แน่นอนเอาไว้ เด็กจะเรียนรู้ท่าทีแบบนี้เข้าไว้ในตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกสองฝักสองฝ่ายไปเสียทุกเรื่อง แม้แต่ความรู้สึกต่อพ่อแม่ ซึ่งเป็นทั้งรักทั้งเกลียดในเวลาเดียวกัน การเจ็บป่วยเป็นโรคจิตเภทจึงเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางชีวเคมีที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมกับปัจจัยทางด้านการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม

 

8.โรคจิตเภทพบเจอในครอบครัวฐานะไม่ค่อยดีมาก

นอกจากทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เรายังพบว่าโรคนี้เป็นกันในครอบครัวที่มีฐานะไม่ค่อยดี มากกว่าในครอบครัวที่มีฐานะดี ทั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องของการศึกษาด้วย เพราะในครอบครัวที่มีฐานะและการศึกษาดี ย่อมมีโอกาสได้รู้จักระมัดระวังกันและป้องกันรวมทั้งการวางแผนครอบครัวด้วย ในครอบครัวของผู้ป่วยโรคจิตเภทบางรายพบว่า พ่อแม่เลิกกันแล้วต่างคนต่างแต่งงานใหม่อีกหลายครั้ง จนผู้ป่วยเองลำดับไม่ถูกว่าตนเป็นลูกใครกันแน่

 

9.โรคจิตเภทควรได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้น ๆ

โรคจิตเภทเป็นโรคที่ควรได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ระยะแรกที่เริ่มเป็นไม่ควรปล่อยไว้จนเรื้อรัง หรือมัวแต่รักษาด้วยพิธีกรรมทำน้ำมนต์ จนโรคเกิดกำเริบจึงมารักษา ญาติของผู้ป่วยโรคนี้มักไม่ค่อยยอมไปรักษาเพราะคิดว่าตนไม่เป็นอะไร ดังนั้นญาติและผู้ใกล้ชิดจะต้องหาวิธีเกลี้ยกล่อมพูดจาให้มารักษาแต่โดยดี หรือไม่อาจต้องใช้มาตรการบังคับ ในรายที่ไม่ยอมร่วมมือเลยหรือมีอาการมากอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือต่อผู้อื่น อาจต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาลสักระยะหนึ่งก่อนตามดุลพินิจของแพทย์จนกว่าจะมีอาการเป็นที่น่าพอใจ

 

10.โรคจิตเภทรักษาได้ด้วยการใช้ยากินอย่างต่อเนื่อง

การรักษาที่สำคัญและขาดไม่ได้สำหรับโรคจิตเภทคือ การใช้ยารักษาโรคจิตถ้าผู้ป่วยยอมร่วมมือดี ก็ให้ยากิน แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมกินอาจให้ยาฉีด ซึ่งมีทั้งที่ออกฤทธิ์ระยะสั้นและออกฤทธิ์นานเป็นเดือน การรักษาด้วยยาเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพราะทำให้โรคเดิมที่รักษาไม่ได้ต้องปล่อยตามบุญตามกรรมหรือล่ามโซ่ไว้ใกล้ๆ มีโอกาสหายได้เป็นปกติ การกินยาจะต้องกินขนาดไหนขึ้นกับอาการของโรคและพื้นฐานของแต่ละคน บางรายหยุดกินยาได้เมื่อกินต่อเนื่องติดต่อกันระยะหนึ่ง แต่บางรายก็มีอาการเกิดขึ้นอีกเมื่อหยุดยา จึงต้องกินยาคุมไว้ ยารักษาโรคจิตถึงจะกินนานแค่ไหนก็ไม่มีการเสพติดแต่อย่างใด การกินยาต้องใช้คำสั่งแพทย์เท่านั้น การเพิ่มยา ลดยาหรือหยุดยา ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง บางคนไปซื้อยากินเองหรือแบ่งปันกับเพื่อนกินซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

 

11.โรคจิตเภทรักษาได้ด้วยการใช้ไฟฟ้า

การรักษาอีกอย่างหนึ่งที่ได้ผลดีและรวดเร็วสำหรับโรคจิตเภทคือการรักษาด้วยไฟฟ้า ซึ่งเหมาะสมกับผู้ป่วยที่ซึมเฉยๆมากๆ ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ให้ยาลำบาก หรือในรายที่คุ้มคลั่งมากๆควบคุมไม่ได้ จิตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดควรจะใช้การรักษาด้วยไฟฟ้า จึงจะได้ผลดีที่สุด การรักษาด้วยไฟฟ้าเป็นวิธีที่ได้ผลเร็วและประหยัดปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยหรือทำให้สมองเสื่อมแต่ประการใด

 

12.โรคจิตเภทรักษาด้วยการพูดคุยและการทำกิจกรรมกลุ่ม

การรักษาด้วยการพูดคุยและการบำบัดแบบกิจกรรมกลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย ช่วยให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้มีสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ให้มีแนวความคิดและการตัดสินใจเหมาะสมขึ้น ให้มีการยอมรับการเจ็บป่วยของตนเอง และร่วมมือในการรักษาที่ดีขึ้น สามารถปรับตัวในสังคมได้ดีและมีความคิดที่จะทำการทำงานให้เป็นประโยชน์ ไม่ทำตัวให้เป็นภาระแก่คนอื่น

 

13.ผู้ป่วยที่มีสาเหตุชัดเจนจะรักษาง่ายกว่าที่เป็นแบบสะสมมาเรื่อย ๆ

ผลการรักษาจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่นความรุนแรงของโรค อายุที่เริ่มเป็น สาเหตุที่ทำให้ป่วย ความรุนแรงของโรค การตอบสนองต่อการรักษา ความร่วมมือของผู้ป่วยและญาติ เป็นต้น ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการตั้งแต่อายุน้อย มักจะรักษายากกว่าผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเมื่ออายุมาก หรือเคยทำการงานและการประสบความสําเร็จในชีวิตมาบ้าง ผู้ป่วยที่เป็นมาจนเรื้อรังแล้ว ก็มีโอกาสหายน้อยกว่าผู้ป่วยที่เป็นอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่มีสาเหตุชัดเจนมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ อาจรักษาได้ง่ายกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีสาเหตุชัดเจนและป่วยแบบค่อยเป็นค่อยไป การที่ผู้ป่วยยอมรับการเจ็บป่วยของตนเองและร่วมมือในการรักษามีส่วนทำให้มีโอกาสหายมากขึ้น

 

14.ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยผู้ป่วยให้หายได้

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือความร่วมมือและช่วยเหลือของญาติผู้ป่วย ในการรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท เราจะรักษาแต่เพียงผู้ป่วยโดยไม่สนใจครอบครัวเขาเลยไม่ได้ บางครั้งญาติผู้ป่วยเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยให้เขาหายได้ โดยการให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ และช่วยดูแลในการให้ผู้ป่วยกินยาอย่างสม่ำเสมอ บุคคลในครอบครัวอาจต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์บางอย่างกับผู้ป่วยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วย และช่วยให้เขาปรับตัวในสังคมได้ดีขึ้น

 

15.ควรป้องกันโรคจิตเภทตั้งแต่ยังเด็กด้วยการเลี้ยงดูให้ถูกต้อง

การป้องกันสำหรับโรคจิตเภทต้องทำตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยการเลี้ยงดูที่ถูกต้อง ให้ความรักความอบอุ่นอย่างพอเหมาะ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ช่วยให้เด็กเติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตที่ดี มีความมั่นคงในบุคลิกภาพ สร้างภูมิคุ้มกันโรคจิตเภทให้แก่เด็กตั้งแต่เล็ก ในคนที่ป่วยเป็นโรคจิตเภทอยู่แล้วต้องคำนึงถึงการถ่ายทอดทางพันธุกรรมด้วย

 

16.การแต่งงานในผู้ป่วยบางรายอาจสร้างภาระตามมาได้

การแต่งงานและการมีบุตรควรปรึกษาจิตแพทย์เป็นรายๆไป สำหรับบางคนอาจแต่งงานได้ ถ้าพิจารณาเห็นแล้วว่าเป็นการดีสำหรับจิตใจของผู้ป่วยและคู่สมรสยอมรับ แต่บางรายจิตแพทย์แนะนำไม่ให้แต่งงาน เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ญาติผู้ป่วยบางคนไปฟังเขามาว่าเป็นโรคนี้ต้องแต่งงานจึงจะหาย จึงแอบพาผู้ป่วยไปแต่งงานโดยที่แพทย์ได้ชี้แนะแล้วว่าไม่ควรแต่ง จึงลงเอยด้วยการหย่าร้างแถมยังมีลูกติดมาเป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม ซ้ำยังเป็นเด็กที่มีโอกาสจะเกิดปัญหาทางด้านจิตใจ เพราะผู้ป่วยเองก็ไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่เหมาะสมได้

การเป็นพ่อแม่ความจริงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเป็นพ่อแม่ที่ดีเป็นเรื่องที่ยากมาก การเลี้ยงลูกให้ดีมีทั้งคุณภาพ คุณวุฒิ คุณธรรมเป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก ดังนั้นเราจึงต้องมาช่วยกันเพิ่มคุณภาพของประชาชนชาวไทย ด้วยการรู้จักตนเองและลูก เมื่อมีความพร้อมในทุกๆด้านสุขภาพของสังคมก็จะดีไปด้วย

 

ที่มาและการอ้างอิง

อาการและการบำบัด โรคจิต โรคประสาท โดย นพ. เกษม ตันติผลาชีวะ