วันเสาร์, 27 กรกฎาคม 2567

ทำไมเป็ดต้องเดินส่ายไปส่ายมา และ 7 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสัตว์

25 มี.ค. 2018
5946

 

1.ทำไมเป็ดต้องเดินส่ายไปส่ายมา

เป็ดมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ ร่างกายของเป็ดจึงมีลักษณะเด่นกับการใช้ชีวิตในน้ำหลายประการ เป็นต้นว่านิ้วเท้า 3 นิ้ว จะเชื่อมติดกันด้วยพังผืด ทั้งนี้เพื่อที่จะเพิ่มที่ในการสัมผัสน้ำ ทำให้ใช้เท้าพุ้ยน้ำได้ดี เพิ่มแรงผลักดันน้ำได้ดีมากขึ้น และเนื่องจากเป็ดใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเกือบตลอดเวลา ตำแหน่งเท้าของเป็ดจึงย้ายไปด้านหลัง ฉะนั้นเมื่อเวลาเป็ดขึ้นมาจากน้ำ เท้าของมันจึงไม่ได้อยู่ตรงศูนย์กลางของร่างกาย ทำให้เวลาเดินจึงมีลักษณะส่ายไปมา เนื่องจากว่าพังผืดที่นิ้วค่อนข้างจะกว้างในขณะที่ขากลับมีขนาดเล็กและสั้นทำให้การเดินจึงเป็นอย่างที่เราเห็นกัน ขณะที่เป็ดกำลังเดินอยู่นั้น ถ้าหากบางทีเกิดอาการตกใจมันก็จะใช้ปีกที่ไม่ค่อยได้ใช้บินช่วยกระพือเต็มกำลังแล้วรีบวิ่งหนีในทันที นอกจากเป็ดที่เดินส่ายไปส่ายมาแล้วยังมีนกเพนกวินอีกที่มีลักษณะการเดินแบบเดียวกัน

 

2.ทำไมนกเค้าแมวหากินตอนกลางคืน

นกเค้าแมวหรือนกฮูกนั้นไม่ได้ออกหากินในเวลากลางวัน สาเหตุที่มันเปลี่ยนเวลาออกหากินตอนกลางคืนเพราะแสงไฟตอนกลางวันจ้าเกินกว่าที่ดวงตาของมันจะรับได้นั่นเอง อีกทั้งนกเค้าแมวเป็นนกที่ไม่อาจสู้กับนกล่าเหยื่อในเวลากลางวัน อย่างพวกเหยี่ยวหรือนกอินทรีย์ได้ และบางครั้งยังถูกนกที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างนกเอี้ยงหรือนกกิ้งโครงไล่จิกตีอีกต่างหาก ทำให้ต้องออกหากินในเวลากลางคืนแทน นกเค้าแมวจึงมีดวงตาที่ใหญ่โตและรูม่านตาที่เปิดกว้างเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในยามค่ำคืน นอกจากนี้หูของนกเค้าแมวนั้นมีความไวมากเป็นพิเศษสำหรับการฟังเสียงในเวลากลางคืนและหาเหยื่อ มีขนปีกที่อ่อนนุ่ม จึงทำให้นกเค้าแมวนั้นมีความสามารถพิเศษที่จะบินได้เงียบเพื่อไม่ให้เหยื่อของมันรู้ตัว

 

3.ทำไมกบถึงรู้ว่าฝนจะตก

นับเป็นความช่างสังเกตของคนโบราณ ที่เห็นว่าเมื่อไหร่ที่กบส่งเสียงร้องระงมเซ็งแซ่นั้น อีกไม่นานฝนก็จะตกลงมา ในความเป็นจริงแล้วเป็นเพราะคุณสัมผัสได้ถึงความชื้นในอากาศที่มีสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นช่วงเวลาดีที่เหมาะสำหรับการออกหาอาหารนั่นเอง

เพราะฉะนั้นการที่กบส่งเสียงร้องจึงเป็นเหมือนสัญญาณบอกว่าฝนกำลังจะตก และนอกจากกบใช้ปอดช่วยหายใจแล้วยังใช้ผิวหนังหายใจได้อีกด้วย ผิวหนังของกบจึงเปียกและชื้นอยู่ตลอดเวลา แต่ช่วงก่อนฝนตกในอากาศมีความชื้นสูง แม้กบจะขึ้นมาจากน้ำแล้วผิวหนังของกบก็ยังไม่แห้ง ดังนั้นในวันที่ฝนตกหรือวันที่มีอากาศความชื้นสูงก่อนฝนตกกบจึงส่งเสียงร้องเพราะอารมณ์ดี นอกจากนี้กบยังส่งเสียงร้องเพื่อบ่งบอกความเป็นพวกพ้อง และเพื่อเรียกร้องความสนใจจากบรรดาเหล่าตัวเมียเมื่อต้องการผสมพันธุ์นั่นเอง

 

4.ทำไมสุนัขหอนเมื่อได้ยินเสียงระฆัง

ในทางการแพทย์ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าหูของสุนัขยังสามารถรับเสียงได้ถึง 40,000 เฮิร์ตซ์ ในขณะที่มนุษย์สามารถรับเสียงที่มีความถี่สูงสุดประมาณ 20,000 เฮิร์ตซ์ ซึ่งต่ำกว่าสุนัขมาก จึงทำให้สุนัขหูไวกว่ามนุษย์ แม้กระทั่งเสียงย่องเดินที่เบากริบ และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้นิยมเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืนด้วยเหตุที่หูไวและรับความถี่ได้สูงนี่เอง ทำให้เมื่อได้ยินเสียงดังๆ และมีความถี่สูงสุนัขหอนตอบโต้ทันที

เนื่องจากเสียงนั้นดังเข้าไปกระทบประสาทหูฟังมันอย่างรุนแรงนั่นเอง ไม่เพียงแต่ละเสียงระฆังเท่านั้น แม้แต่เสียงหวูดรถไฟหรือเสียงแตรรถยนต์ สุนัขก็มักจะหอนตอบโต้เช่นกัน สุนัขมักจะหอนในเวลากลางคืนด้วยเหมือนกัน เนื่องจากว่ากลางคืนนั้นเงียบมาก ขณะที่มนุษย์นอนหลับกันได้สบาย แต่สุนัขของเราจะสามารถได้ยินเสียงต่างๆ แม้ว่าเสียงนั้นจะเบาและอยู่ไกล มันจึงหอนรับเสียงนั้น นอกจากนี้สุนัขมักจะหอนในช่วงฤดูผสมพันธุ์เช่นกัน

 

5.ทำไมหมีขาวขั้วโลกเหนือไม่หนาว

เมื่อพูดถึงบริเวณขั้วโลกเหนือสิ่งแรกที่ทุกคนต้องนึกถึงนั่นก็คือความหนาว พื้นที่บนโลกของเรานี้คงไม่มีที่ไหนจะหนาวได้เท่ากับบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ได้อีกแล้ว ด้วยอุณภูมิความหนาวมากมายขนาดนั้น แต่ว่าเจ้าหมีขาวแห่งขั้วโลกเหนือนั้นมันอาศัยอยู่ในขั้วโลกเหนือได้อย่างสบาย ไม่มีความรู้สึกหนาว และที่หมีขาาวสามารถดำรงชีวิตอยู่บนพื้นที่ที่หนาวเหน็บขนาดนี้ได้เป็นเพราะหมีขาวจะมีขนที่ละเอียดและแน่นไปทั้งตัว และพิเศษกว่าสัตว์ชนิดอื่นคือ ร่างกายของมันจะมีขนอยู่ 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะมีลักษณะที่ตั้งตรงและหยาบ ซึ่งสามารถดูดซับแสงจากดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี ส่วนคนชั้นในนั้นจะมีลักษณะเป็นคนอ่อนสั้นๆ แต่ละเอียด ระหว่างขนทั้ง 2 ชั้น จะเต็มไปด้วยอากาศ จึงช่วยเก็บความร้อนรักษาอุณหภูมิภายในร่างกายของมันเอาไว้ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้หมีขาวจึงสามารถอาศัยอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือที่แสนหนาวนี้ได้อย่างสบายใจ

 

6.ทำไมไก่ถึงขันตอนเช้า

สาเหตุที่ไก่ต้องขันทุกเช้าเพราะไก่ขันตอนพระอาทิตย์ขึ้น เป็นเพราะมันเป็นสัตว์ปีกที่ไวต่อแสงมาก ในสมองของสัตว์ปีกจะมีต่อมที่เรียกว่า “ต่อมไพเนียล” ซึ่งเป็นอวัยวะรับแสง จะทำหน้าที่เหมือนกับนาฬิกาบอกให้เราได้รู้ว่าเช้าแล้ว ไก่ที่ขันคือไก่ตัวผู้ มันจะเขียนบอกเวลาตอนเช้าตรู่ เกิดขึ้นจาก “นาฬิกาทางชีววิทยา” ภายในตัวของมันเองที่ทำให้มันรู้ว่าถึงเวลาเช้าแล้ว ไม่ใช่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกแต่อย่างใด มีการค้นคว้าและวิจัยได้พบว่า ไก่จะขันตรงเวลาในตอนเช้าไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สภาวะแสงเช่นไร บางครั้งจะพบว่าไก่ตัวผู้ขันในเวลาอื่น และแสดงอาการขันตอบสนองต่อแสงและขันตอบการขันของไก่ตัวผู้อื่นๆ แต่การขันดังกล่าวเหล่านั้นไม่จริงจังและแข็งแรงเท่ากับการขันเพื่อบอกเวลาในตอนเช้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลไกเชิงชีววิทยาในตัวไก่สามารถบอกระยะเวลารอบ 24 ชั่วโมงได้ ในทำนองเดียวกับที่ร่างกายของคนเราหลั่งอินซูลินเพื่อย่อยอาหารลดน้อยลงในตอนกลางคืนนั้นเอง

 

7.ทำไมมดจึงย้ายที่อยู่เมื่อฝนตก

หลายคนคงเคยได้ยินว่า กบเขียดจะส่งเสียงร้องเมื่อฝนตก มดจะหนีน้ำเมื่อมีน้ำท่วม นกจะบินกลับรังเมื่อมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือหากมีแมงเม่าออกมาบินว่อนเมื่อไร จะเป็นสัญญาณบอกว่าอีก 1 – 2 วัน จะต้องมีฝนตกแน่นอนหลายๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมสัตว์ต่างๆ เหล่านี้จึงรู้ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติล่วงหน้า ตามสัญชาตญาณของสัตว์มีประสาทการรับรู้ที่ดีกว่าคน โดยสัตว์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือสัตว์ที่อาศัยอยู่บริเวณผิวดิน ในยามที่ฝนใกล้จะตกบริเวณพื้นดินและอากาศโดยรอบจะมีความชื้นเพิ่มมากขึ้น ทำให้รังมดเกิดความชื้นแฉะ และในช่วงก่อนที่ฝนจะตกความกดอากาศก็จะลดต่ำลง แก๊สสกปรกที่ปกติจะถูกกดอยู่ในดินก็จะลอยออกมาตามผิวดิน เพราะความกดอากาศข้างนอกต่ำจึงลอยออกมาได้ พวกมด ปลวก และแมลงที่อาศัยอยู่บริเวณผิวดินทั้งหลายจึงไม่สามารถทนต่อความชื้นและแก๊สสกปรกต่างๆ ได้ พวกมันจึงจำเป็นต้องยกขบวนการขนย้ายออกมาจากรังเดิมไปหาที่อยู่ใหม่

 

ที่มาและการอ้างอิง

100 เรื่องสงสัย รู้ไหม ทำไมสัตว์   โดย  กนก-ณัฐ